ปี 2555 สำหรับธุรกิจค้าปลีกไทย นับว่าเป็นปีแห่งความท้าทายของบรรดาผู้ประกอบการแทบทุกรายที่โลดแล่นอยู่ในสมรภูมิค้าปลีกที่ปัจจุบันสูงถึง 680,000 ล้านบาท (ประเมินมูลค่าโดย ค่ายนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช)โดยเฉพาะเซกเมนต์ค้าปลีกขนาดเล็ก หรือร้านสะดวกซื้อ มินิสโตร์ทั้งหลาย จัดเป็นเซกเมนต์ที่คาดว่ามีอัตราการเติบโตสูงกว่าทุกเซกเมนต์ขึ้น คาดการณ์กันว่า ปีนี้ มีแนวโน้มเติบโตมากหรือเพิ่มขึ้นเกือบ 1 พันแห่ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ไม่มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมายผังเมือง และเงินลงทุนต่ำ
“ปีนี้การขยายสาขาของร้านค้าปลีกขนาดเล็กหรือร้านสะดวกซื้อ (Convenience Stores) มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 900 แห่ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ทำให้นิยมซื้อสินค้าใกล้บ้าน อีกทั้งทำเลของร้านค้าปลีกขนาดเล็กไม่มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมายผังเมืองทำให้สามารถหาพื้นที่ที่เหมาะสมได้ง่ายกว่าและอาศัยเงินลงทุนไม่มากนัก” นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ วิเคราะห์
ทั้งนี้ จากการรวบรวมแผนการขยายสาขาในปีนี้ของ 3 บิ๊กแบรนด์ในธุรกิจค้าปลีก อาทิ 7-Eleven เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส และมินิบิ๊กซี ซึ่งหากรวมจำนวนของ 3 แบรนด์หลัก กับเป้าหมายการเพิ่มจำนวนสาขาค่อนข้างชัดเจน พบว่า มีจำนวนประการ 900-100 แห่ง โดย 7-Eleven แบรนด์ผู้นำตลาดที่ครองส่วนแบ่งมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของตลาดรวมค้าปลีกร้านสะดวกซื้อมูลค่านับหมื่นล้านอย่างของกลุ่มซีพี ออลล์ มีแผนขยายสาขาทั่วประเทศ 500 สาขา
ขณะที่ค้าปลีกขนาดเล็กของกลุ่มผู้ประกอบการไฮเปอร์มาร์เกตอย่าง มินิบิ๊กซี ของกลุ่มบิ๊กซี-คาร์ฟูร์นั้น มีแผนขยายสาขาเพิ่มไม่น้อยกว่า 200-300 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ 58 สาขา ขณะที่เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ประมาณการว่าเพิ่มจำนวนสาขาไม่น้อยกว่า 200 สาขาทั่วประเทศเช่นกัน
7-Eleven เร่งเพิ่มสาขาป้องแชมป์
ประเดิมต้นปีกับแผนเชิงรุกของกลุ่มซีพี ออลล์กับการประกาศทุ่มทุน 5 พันล้านบาทในปีนี้ สำหรับการขยายสาขาร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ 7-Eleven อีก 500 สาขาทั่วไทย จากปัจจุบันมีอยู่ 6,300 สาขา ลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท โดย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กำหนดให้เป็น 1 ใน 5 แผนหลัก สำหรับแผนการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจค้าปลีกสะดวกซื้อ นอกจากจากการขยายศูนย์กระจายสินค้าเพิ่ม 1 แห่ง เพื่อกระจายสินค้าบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจระหว่างชลบุรี และพัทยา เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท
พร้อมกับการปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ ในส่วนของสำนักงาน และศูนย์กระจายสินค้า(D.C.) ลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท และการปรับปรุงซ่อมแซม (renovate) ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเก่าที่เปิดดำเนินการมาแล้ว 6 ปี ลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้ามียอดรายได้เติบโตร้อยละ 15 จากปีก่อนที่ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยการเติบโตจะมาจากยอดขายสาขาเดิม รวมถึงการขยายสาขาใหม่
“สำหรับกลยุทธ์บริหารจัดการสินค้าในปีนี้ มีแผนจะเน้นสินค้าพวกน้ำ อาหาร และเครื่องดื่ม เนื่องจากในปีที่ผ่านมาเรามียอดขายผลิตภัณฑ์อาหารกล่องตรา “อีซี่โก” ดีมากเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว ดีกว่ายอดขายพวกอาหารแช่เข็ง ดังนั้น ในปี 2555 จึงมีแผนจะดันยอดขายอาหารพร้อมทาน (Ready to eat) เหล่านี้เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์พวกเบเกอรี่ กาแฟ และผลไม้ปั่น รวมถึงแผนที่จะวางขายอาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ทำการทดลองมาหลายปีแล้ว ขณะนี้เราพร้อมที่จะวางขายเชิงพาณิชย์แล้ว โดยจะวางขายในเขตกรุงเทพก่อน” ปิยะวัฒน์กล่าว
บิ๊กซี VS โลตัสสู้ศึกไซส์เล็ก
ด้านกลุ่มไฮเปอร์มาร์เกตอย่าง มินิบิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ซึ่งถือเป็นแบรนด์คู่แข่งโดยตรง เพราะทั้งโมเดลขนาดสาขา การบริหารจัดการสินค้าภายในร้าน และกลุ่มเป้าหมาย จัดว่าอยู่ในเซกเมนต์เดียวกัน ในปีนี้ทั้งสองแบรนด์ยังคงเดินหน้าเชิงรุกขยายสาขาทุกรูปแบบ แต่ก็ให้น้ำหนักมากขึ้นสำหรับค้าปลีกขนาดเล็ก โดยกลุ่มบิ๊กซีนั้นเน้นไปที่รูปแบบขนาดกลาง (ไฮเปอร์มาร์เกตไซส์เล็กและบิ๊กซี มาร์เกต) และขนาดเล็ก (มินิบิ๊กซี) เป็นหลักในการขยายสาขาต่อจากนี้
อีกทั้งยังสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่เน้นมีขนาดของครอบครัวเล็กลง ทำให้ปริมาณการซื้อสินค้าต่อครั้งลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ การที่ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่ลูกค้าจะไปใช้บริการในห้างหรือโมเดิร์นเทรดที่ใกล้บ้านเป็นหลัก ทำให้ร้านค้าปลีกขนาดเล็กสามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ เพราะห้างขนาดใหญ่มีอุปสรรคในการหาทำเลในการเปิดร้านมากกว่า
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดที่ได้จากการเปิดเผยของผู้บริหารของ BIGC ระบุว่าภายใน 4 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าหมายว่าจะมุ่งเน้นไปยัง มินิบิ๊กซี และบิ๊กซี มาร์เกต เป็นหลัก โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีจำนวนทั้งสิ้น 950 แห่ง และ155 แห่ง จากจำนวนปัจจุบันที่ 58 แห่งและ 11 แห่งตามลำดับ ขณะที่ห้างไฮเปอร์มาร์เกตตั้งเป้าว่าจะมีจำนวนทั้งสิ้น 145 แห่งจากที่มีอยู่ 106 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของฝ่ายวิจัย เอเชีย พลัส หรือ ASP ได้ตั้งสมมติฐานที่ยึดหลักอนุรักษ์นิยมกว่า โดยกำหนดให้มีการเปิดสาขาจำนวนต่ำกว่าแผนที่บริษัทเสนอ เนื่องจากเห็นว่ายังมีอุปสรรคอีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องของทำเลที่ตั้งดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ ตามสมมติฐานของ ASP ให้มีการเปิดต่อปี คือมินิบิ๊กซี 100 แห่ง รองลงมา บิ๊กซี มาร์เกต 10 แห่ง และ ไฮเปอร์มาร์เกต 4 แห่ง
นอกจากนี้ BIGC ยังมีแผนขยายสาขาในต่างประเทศ อาทิ ลาว, กัมพูชา ซึ่งคาดจะเริ่มเปิดสาขาแรกในลาว และหากประสบผลสำเร็จอาจจะเป็นปัจจัยผลักดันให้บริษัทขยายสาขาเชิงรุกได้ตามเป้าหมาย โดยฝ่ายวิจัยได้รวมแผนการเปิดสาขาไว้ในประมาณการเพียง 1 สาขา
ด้านกลุ่มเทสโก้ โลตัส ก็เช่นกัน หลายปีที่ผ่านมา ได้ขยายแนวรบค้าปลีกไปยังกลุ่มค้าปลีกสะดวกซื้อเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนรุกคืบของ "เทสโก้ โลตัส" ช่วงปีที่ผ่านมาทำการตลาดเข้มข้น รุกหนักเปิดตลาดไซส์เล็กเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลชนิดครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ มาปีนี้เปิดศักราชใหม่ด้วยการบุกหนักของการเข้าขยายพื้นที่แบบไซส์เล็ก “เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส” ในตลาดภูธรมากขึ้น กำหนดขยายสาขาเพิ่มไม่น้อยกว่า 200 แห่ง ปัจจุบันเทสโก้ โลตัส เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส คอนวีเนียนสโตร์ กว่า 150 แห่ง
เจฟฟ์ อดัมส์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เคยกล่าวว่า จุดเด่นของ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส เป็นร้านค้าขนาดเล็ก เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เน้นการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว คล่องตัว และใกล้ชิดกับชุมชน โดยจะเปิดให้บริการในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด จากเป้าหมายที่ต้องการให้ลูกค้าจับจ่ายได้อย่างสะดวก เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส จึงจัดรูปแบบร้านเป็นร้านค้าชั้นเดียว และตั้งอยู่ใกล้แหล่งชุมชนหรือจุดแวะพัก ได้แก่ ตามชุมชนต่างๆ หรือตามสถานีบริการน้ำมัน โดยมีขนาดพื้นที่ขาย ตั้งแต่ 150-360 ตารางเมตร พร้อมบริการที่จอดรถ
กลุ่มสินค้าของ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส มีความหลากหลายมาก โดยมีสินค้ากว่า 2,600 รายการ อาทิ น้ำมันพืชและเครื่องปรุง, ผลิตภัณฑ์แปรรูปการเกษตร, บะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูป, อาหารกระป๋อง, แยม มาการีน, ขนมขบเคี้ยว, นมผงและอาหารเสริม, เครื่องดื่ม, อาหารสด เป็นต้น
"บริหารต้นทุน" จุดได้เปรียบค้าปลีกไซส์เล็ก
ด้านนักวิชาการด้านบริหารค้าปลีก ผศ.ดร.เกรียงสิน ประสงค์สุกาญจน์ อาจารย์ภาควิชาปริญญาโท มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) วิเคราะห์ว่า หากพูดถึงค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เกต ที่มีอิทธิพลในเวลานี้ คงเป็น บิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส ที่เน้นแข่งขันกลยุทธ์ราคา โปรโมชั่น และการทำซีอาร์เอ็มในรูปแบบบัตรสมาชิก ซึ่งนอกเหนือจากการแข่งขันในลักษณะดังกล่าว ยังมีการแตกเซกเมนต์ออกรูปแบบค้าปลีกหลายหลายโมเดล ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนไทยในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง
“ในปีนี้ดูเหมือนรูปแบบไซส์เล็กกลายเป็นโมเดลที่ทั้งสองแบรนด์ให้ความสำคัญอย่างมากในการเจาะเข้าไปในชุมชน หมู่บ้าน ในต่างจังหวัด เพื่อหวังให้สาขามีจำนวนสูงสุด อันจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นข้อได้เปรียบ
อย่างไรก็ตาม การขยายสาขาจำนวนยิ่งมาก เข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลายพื้นที่ เป็นข้อได้เปรียบระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญ คือ ความหลากหลายของสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สุขอนามัยที่ดี และระบบการจัดวางสินค้าที่เป็นระเบียบ สะอาด และปลอดภัย ตลอดจนการบริหารต้นทุนที่ดี ตั้งแต่ต้นทุน บริหารสต๊อกสินค้า ระบบการขนส่ง (Logistic) ซึ่งจะมีผลต่อโครงสร้างราคาให้ต่ำลง”
สำหรับเทรนด์ปีนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคในต่างจังหวัด กับการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางค้าปลีกไซส์เล็ก อย่างมินิบิ๊กซี และโลตัส เอ็กซ์เพรส จะให้ความนิยมมากขึ้น อาจด้วยความหลากหลายของสินค้าที่มีครอบคลุมความต้องการ และราคากับคุณภาพก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าร้านค้าดั้งเดิมหรือเทรดดิชันนัลเทรด ก็ยังเป็นช่องทางหลักสำหรับลูกค้าต่างจังหวัดในหมู่บ้านและชุมชน เพราะมีความใกล้ชิดและผูกพันระยะยาวกับผู้บริโภค ซึ่งร้านดั้งเดิมก็ยังไม่ได้ถูกลืม ซึ่งสินค้าบางอย่าง ในร้านค้าทั่วไปอาจไม่มี ทำให้สินค้าในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในรูปแบบมินิไซส์ อาจจะกลายเป็นทางเลือกหนึ่ง
4 ปัจจัยหนุนค้าปลีกไทยโตต่อเนื่อง
ด้านศูนย์วิจัย ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า สาหรับภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2012 นับว่า มีแนวโน้มเติบโตดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวเอเชียที่ยังเติบโตดีก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนธุรกิจค้าปลีก
ปัจจัยแรก ความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย การปิดสาขาของห้างค้าปลีกและความไม่สะดวกในการเดินทางของผู้บริโภคในช่วงน้ำท่วม ส่งผลให้มี pent-up demand ค่อนข้างมาก ประกอบกับความต้องการสินค้าเพื่อฟื้นฟูและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่กลับมาฟื้นตัวดีจะเป็นปัจจัยสนับสนุนยอดขายของห้างค้าปลีก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดที่อยู่อาศัยและสินค้าตกแต่งบ้านซึ่งมีสัดส่วนถึงราว 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในแถบกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่ภาคกลาง
ปัจจัยสอง ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะข้าวที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีจะผลักดันให้การใช้จ่ายฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทน โดยราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าว น้ำตาล ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปี 2012 จะส่งผลให้รายได้เกษตรกรฟื้นตัวซึ่งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคทำให้ความต้องการจับจ่ายใช้สอยมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการสินค้าคงทนต่างๆ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ในบ้าน ทั้งนี้ จะพบว่าราคาพืชผลเกษตรมีความสัมพันธ์กับดัชนีค้าปลีกในหมวดสินค้าคงทนสูงถึง 70% (รูปที่ 1) ดังนั้น หากราคาพืชผลเกษตรยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้ในบ้านต่างๆ ขยายตัวดี
ปัจจัยสาม การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการจะส่งผลให้ความต้องการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นด้วย โดยข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ผู้บริโภคที่มีรายได้สูงขึ้นมีการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยหากผู้บริโภครายได้ปรับสูงขึ้นจากที่ต่ำกว่า 15,000 บาทเป็นมากกว่า 15,000 บาท จะมีการใช้จ่ายเกี่ยวกับของใช้ในบ้านและเครื่องแต่งบ้าน
อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องนอน และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึงราว 5 เท่า ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้มาสู่ระดับรายได้ขั้นต่ำ (15,000 บาท) ที่สามารถสมัครบัตรเครดิตได้ ทำให้การใช้จ่ายมีความคล่องตัวมากขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่หวือหวามากนัก โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผู้บริโภคมีการจับจ่ายเกี่ยวกับอาหารเพิ่มขึ้นราว 1.5 เท่า
ปัจจัยสี่ นักท่องเที่ยวจากเอเชียยังมีแนวโน้มขยายตัวจะผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกเติบโตดี โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจาก เอเชียซึ่งมีสัดส่วนราว 40% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนและฮ่องกงซึ่งมีสัดส่วนราว 10% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ในปี 2011
คาดว่าในปี 2012 ยังมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องซึ่งจะผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกขยายตัวดีเนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนและฮ่องกงมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น โดยยอดการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 146 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวโดยรวมที่อยู่ที่ประมาณ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่าสัดส่วนการใช้จ่ายด้านการ shopping ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สูงถึงราว 30% ของการใช้จ่ายทั้งหมดและยังสูงกว่าค่าใช้จ่ายในด้านที่พักด้วย