แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ จากมือถือธรรมดามาเป็นโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ตโฟน พบว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จทางการตลาดเสมอไป หากกิจกรรมการตลาดที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ตโฟนไม่ได้แสดงความอัจฉริยะให้เพียงพอต่อความน่าเชื่อถือด้านบริการรูปแบบใหม่ สมรรถนะของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของสมาร์ตโฟนแบรนด์นั้นๆ
ตามรายงานการวิเคราะห์ทางการตลาดของ Analysys Mason ที่ทำการสำรวจผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ พบว่า 46% หรือเกือบครึ่งหนึ่งหันมาใช้สมาร์ตโฟนแล้ว แต่ความรู้สึกหลังจากการใช้สมาร์ตโฟน ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าตนได้แรงจูงใจในการยกระดับอัจฉริยะในการใช้งานโทรศัพท์มือถือให้สมกับชื่อสมาร์ตโฟนแต่อย่างใด
นอกจากนั้น การศึกษาของ TMT ที่เป็นส่วนหนึ่งของรายงานใน Analysys Masonที่มาจากการสอบถามผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 7,485 คน ใน 6 ประเทศทางยุโรปและสหรัฐ ระบุว่า ราคาที่แพงลิ่วของสมาร์ตโฟน และการตัดสินใจซื้อสมาร์ตโฟนโดยไม่เข้าใจเกี่ยวกับฟังก์ชั่นการใช้งานที่ล้ำหน้าอย่างเพียงพอ กลายเป็นจุดที่ทำให้การรับรู้และทัศนคติของผู้ใช้สมาร์ตโฟนไม่ได้เห็นการเพิ่มความอัจฉริยะของสมาร์ตโฟนตามชื่อไปด้วย
การสอบถามครั้งนี้ ได้แจกแจงประเด็นของฟังก์ชั่นที่เพิ่มขึ้นของสมาร์ตโฟน อย่างเช่น โมบายบรอดแบนด์ โมบายวอยซ์ บริการให้ชมทีวีและวิดีโออย่างละเอียด
ผลการศึกษาทำให้ได้ข้อสรุปว่า แม้แต่ประชากรในยุโรปและสหรัฐที่ชื่อว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้ว ยังไม่เห็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของสมาร์ตโฟนจากโทรศัพท์มือถือปรกติ หรือธรรมดา เพราะผู้ใช้งานยังมีความสับสนเกี่ยวกับความแตกต่างของเน็ตเวิร์ก เจเนอเรชั่นของเซลลูลาร์ และสมาร์ตโฟนที่สามารถแสดงภาพได้อย่างมีศักยภาพมากกว่า
อย่างเช่นงานการตลาดไอโฟน 4 ของแอปเปิล ทำให้ลูกค้าเพียง 46% รู้สึกว่าตนมีศักยภาพเหนือกว่าคนอื่นในการใช้ 4G เพราะคนส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลทางการตลาดเกี่ยวกับ 4G น้อยเกินไป และนั่นส่งผลต่อการรับรู้ในความอัจฉริยะของสมาร์ตโฟนต่ำกว่าความคาดหมายของผู้ประกอบการและนักการตลาดที่วางจำหน่ายสินค้าสมาร์ตโฟนอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับการสำรวจผู้ใช้สมาร์ตโฟนทำให้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้มือถือได้เหมือนกัน อย่างเช่น
ประการแรก ผู้ใช้มือถือใช้มือถือในการเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ในการสื่อสารนานมากขึ้น และมีการส่งข้อมูล (data) มากขึ้นในระหว่างการสื่อสารกัน โดยระยะเวลาเฉลี่ยเพิ่มเป็น 8.8 ชั่วโมงต่อวัน
ประการที่สอง แล็ปทอปกลายเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการฟังเพลงมากขึ้นเป็น 64% ของคนที่ตอบแบบสำรวจ มากกว่าการฟังเพลงจากระบบสเตอริโอที่มีสัดส่วนเพียง 54% แสดงว่าอุปกรณ์ในการฟังเพลงในอนาคตอาจจะเปลี่ยนแปลงไป
ประการที่สาม สมาชิกของบรอดแบนด์ระบุว่าตนจะเปลี่ยนผู้ให้บริการใน 6 เดือนข้างหน้าเพราะเหตุผลว่าไม่พอใจในการให้บริการของผู้ให้บริการรายเดิม ไม่ใช่เพราะความเร็วที่ต่ำกว่าหรือราคาแพงกว่า
ประการที่สี่ 27% ของคนที่สำรวจใช้ซอฟต์แวร์ VoIP โดยโปรแกรม Skype มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดราว 78%
ประการที่ห้า การสื่อสารข้ามประเทศโดยใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นมาก เป็น 67% และใช้ส่งเป็นข้อความ text message ในระหว่างการพำนักในต่างประเทศ และการใช้บริการของไวไฟก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ข้อมูลเหล่านี้คงทำให้ผู้บริโภคต้องเร่งเรียนรู้และแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับสมาร์ตโฟนมากขึ้น ไม่ใช่ซื้อมาแบบตามกระแสหรือเท่ๆ อย่างเดียว
ขณะเดียวกัน นักการตลาดคงต้องหาทางปิดช่องว่างของการรับรู้ของสมาร์ตโฟน ให้เห็นว่ามีความอัจฉริยะ และใช้ประโยชน์อย่างไรให้คุ้มค่าเงินที่ซื้อไป