Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์9 กุมภาพันธ์ 2553
เข็มทิศ CSR ปี 2555 เครื่องมือรับความเสี่ยงรอบด้าน             
 





เร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยทิศทาง CSR ภายใต้แนวคิด CSR & Sustainability ปี 2555 เพื่อเป็นข้อมูลให้ธุรกิจใช้เป็นแนวทางในการเสริมความแข็งแกร่งทางกลยุทธ์ CSR เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนแก่องค์กรเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนจากความเสี่ยง วิกฤต และภัยพิบัติในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2555 

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางกลยุทธ์ CSR และ Sustainability ขององค์กร จะเป็นไฮไลท์สำคัญที่ธุรกิจจะหันกลับมาให้ความใส่ใจทั้งในเรื่องแผนงานหรือมาตรการ CSR ในช่วงเผชิญเหตุและฟื้นฟู (Response and Recovery) และในช่วงของการลดความเสี่ยงและการเตรียมความพร้อม (Risk Reduction/Mitigation and Readiness/Preparedness)

และนี่คือ 6 ทิศทางที่จะใช้เสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กรเพื่อต่อสู้กับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น

ทิศทางที่ 1. โฆษณาประชาสัมพันธ์ในเชิง CSR จะปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้น (More Publicity on CSR) 

ในช่วงต้นปี 2555 หลังจากที่องค์กรธุรกิจหลายแห่งได้เสร็จสิ้นภารกิจในการเข้าร่วมช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย จะมีการประมวลภาพความช่วยเหลือและกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบต่างๆ ทั้งในเชิงของการนำเสนอช่วงเวลาแห่งการร่วมทุกข์ร่วมสุข การให้กำลังใจผู้ประสบภัย การแสดงความขอบคุณ และการสื่อถึงความเป็นองค์กรที่พร้อมร่วมเดินเคียงข้างในภาวะวิกฤต ปรากฏในหลากหลายสื่อเพิ่มมากขึ้น โดยมีความมุ่งหมายที่จะสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสังคมกลุ่มเป้าหมาย และเสริมสร่างภาพลักษณ์ขององค์กรหรือตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของสังคมเพิ่มมากขึ้นจากการที่องค์กรได้เข้ามีส่วนช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ในเหตุการณ์

การเผยแพร่ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือการโฆษณากิจกรรมเพื่อสังคมเหล่านี้ จัดเป็นเครื่องมือในการสื่อสารชนิดหนึ่งขององค์กรที่สามารถใช้สร้างความผูกพัน (Engagement) กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสังคมในวงกว้างที่หลายองค์กรเหมารวมว่าเป็น CSR หรือจัดให้อยู่ในงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายของการทำ CSR ด้วย ซึ่งหากพิจารณาตามสภาพความเป็นจริง ต้องถือว่าเป็นการสื่อสารเพื่อองค์กร หรือควรจัดเป็นงบค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อองค์กร ที่เป็นการนำเสนอภาพการทำกิจกรรม CSR หรือใช้กิจกรรม CSR เป็นตัวเดินเรื่อง แทนการนำเสนอสินค้าหรือบริการตามปกติ 

เม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาของไทยโดยรวมในปี 2554 ทั้งตลาดมีอยู่ราว 1 แสนล้านบาท (เกือบร้อยละ 60 เป็นโฆษณาทางโทรทัศน์) หากนำการเติบโตที่ประมาณการสำหรับปี 2555 ทั่วโลก ของเซนิธ ออฟติมีเดีย ที่ร้อยละ 3.1-4.7 และของกรุ๊ปเอ็ม ที่ร้อยละ 5-6.4 รวมทั้งตัวเลขการเติบโตของไทยในปี 2554 เทียบกับปีก่อนหน้าที่ซึ่งเผยแพร่โดยนีลเสน ที่ร้อยละ 3.59 กับตัวเลขการเติบโตเฉลี่ยของตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ร้อยละ 15 ของปี 2554 มาพิจารณารวมกันกับปัจจัยการฟื้นตัวของตลาดหลังจากสถานการณ์อุทกภัย ก็น่าเชื่อได้ว่า ตลาดโฆษณาในปี 2555 จะมีความคึกคักเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6-13 หรือมากกว่าหากไม่มีวิกฤตอื่นซ้ำเติม 

หากประมาณการสัดส่วนโฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมและการฟื้นฟูหลังอุทกภัยไว้ขั้นต่ำที่ร้อยละ 10 ของตลาด โฆษณา CSR ก็น่าจะมีมูลค่ารวมกันไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นล้านบาทในปี 2555 

ทิศทางที่ 2.แผนงาน CSR จะถูกปรับเพื่อเสริมกำลังสำหรับกิจกรรมการฟื้นฟู (Reinforcing CSR for Recovery)

ด้วยข้อเท็จจริงตั้งแต่เกิดอุทกภัยนับจากเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา องค์กรส่วนใหญ่จำต้องปรับกลยุทธ์ CSR ที่มีอยู่เดิม ซึ่งใช้ในสถานการณ์ปกติให้สามารถสนองตอบต่อเหตุการณ์อุทกภัยซึ่งเป็นภาวการณ์ที่ไม่ปกติ ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมที่เต็มใปด้วยความเร่งด่วนและความกดดันจากเหตุการณ์

ในปี 2555 สถานการณ์หลังอุทกภัยได้สร้างความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คิดเป็นมูลค่านับแสนล้านบาท จะนำไปสู่กระบวนการฟื้นฟูอย่างขนานใหญ่ ความคาดหวังของสังคมที่มีต่อภาคเอกชนจะผลักดันให้องค์กรธุรกิจในทุกขนาดเข้าร่วมในกระบวนการฟื้นฟูตามแต่คุณลักษณะ ถิ่นที่ตั้ง และความเกี่ยวเนื่องของธุรกิจนั้นๆ 

กลยุทธ์การฟื้นฟูจะมุ่งเน้นที่การซ่อมสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ได้รับความเสียหาย การฟื้นสภาพความเป็นอยู่ให้กลับเข้าสู่ปกติ รวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สิ่งท้าทายสำหรับกลยุทธ์การฟื้นฟูในการที่จะคงสภาพการดำรงอยู่ของครัวเรือน การประกอบการขององค์กรธุรกิจ และการจ้างงานในโรงงานให้ดำเนินต่อไปได้ คือ การเชื่อมโยงให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และนำไปสู่การช่วยเหลือตนเองได้ในระยะยาว 

สำหรับกลยุทธ์การฟื้นฟูของภาคธุรกิจที่จะเน้นในปี 2555 นี้จะมีความสอดคล้องกับรูปแบบที่เป็นสากล โดยจำแนกไว้เป็น 3 รูปแบบด้วยกัน คือ รูปแบบของการดำเนินงานฟื้นฟูผ่านกระบวนงานหลักทางธุรกิจ (Core Business Activities) รูปแบบของการให้และกิจกรรมเพื่อสังคมในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ (Social and Philanthropic Activities) และรูปแบบของการเข้าร่วมหารือและผลักดันนโยบายสาธารณะต่างๆ ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง (Policy Dialogue and Advocacy Activities) 

ทิศทางที่ 3 CSR จะถูกนำมาพัฒนาเป็นกลยุทธ์การตลาดทางสังคมเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจ ((Social Marketing over CSR) 

หลังสถานการณ์ภัยพิบัติ การพัฒนารูปแบบทางการตลาดที่คำนึงถึงอารมณ์และความเป็นอยู่ของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจะมีเพิ่มมากขึ้นนับจากนี้ไป เพราะระยะของการฟื้นฟูและบูรณะโดยทั่วไปจะกินเวลาตั้งแต่ 1-3 ปี ขณะที่ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไป กลยุทธ์การตลาดที่หลายองค์กรจะนำมาใช้ในช่วงเวลานี้ คือ “การตลาดทางสังคม” (Societal Marketing) ที่จะถูกนำมาใช้เติมเต็มเป้าประสงค์ทางธุรกิจ ซึ่งมีความแตกต่างจากการตลาดเพื่อสังคม หรือ Social Marketing ที่มุ่งตอบสนองเป้าประสงค์ทางสังคม 

การตลาดสังคม เป็นการใช้ประเด็นทางสังคม หรือความรับผิดชอบต่อสังคมมาออกแบบกลยุทธ์การตลาดที่หวังผลในเชิงพาณิชย์ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อองค์กร พร้อมกันกับการคำนึงถึงประโยชน์ที่มีต่อลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้ได้รับความพึงพอใจ (ในสินค้าและบริการ) และคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค (ในระยะยาว) 

ตัวอย่างของการตลาดทางสังคมที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ คือ การจัดหาสินค้าและบริการมาจำหน่ายตามกำลังซื้อของลูกค้าที่ได้รับผลกกระทบ เช่น การให้ส่วนลดพิเศษ หรือจำหน่ายในราคาทุน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการในช่วงเวลาของการฟื้นตัว สถาบันการเงินออกผลิตภัณฑ์เป็นการเฉพาะสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ บริษัทฝึกอบรมจัดโปรแกรมอบรมสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ เป็นต้น 

ทิศทางที่ 4 มาตรฐานการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCM) ฉบับใหม่จะถูกประกาศใช้ (Release of the new BCM standard) 

ธุรกิจของไทยมีความตื่นตัวอย่างจริงจังที่จะจัดทำแผนรองรับภัยพิบัติ นับตั้งแต่การเกิดวินาศภัยจากเหตุการณ์จราจลเมื่อปี 2553 และมาถึงอุทกภัยปี 2554 หลายองค์กรได้มีการนำแผนเหล่านั้นมาใช้ในการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management : BCM) เพื่อมิใช้การดำเนินงานหยุดชะงักจากเหตุการณ์หรือภัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ 

ในบริบทของการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ จะครอบคลุมทั้งเรื่องการฟื้นตัวจากภัยพิบัติ การนำธุรกิจกลับคืนสู่สภาพปกติ การจัดการในภาวะวิกฤต การจัดการอุบัติการณ์ การจัดการในภาวะฉุกเฉิน การเรียกคืนผลิตภัณฑ์ การวางแผนสำรอง หรือที่เรียกกันในภาษีทั่วไปว่า “แพลน บี” ซึ่งการมีระบบบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย (ทั้งผู้ถือหุ้น พนักงานลูกค้า คู่ค้า และอื่นๆ) และรักษาชื่อเสียงขององค์กรที่สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องตามภารกิจและข้อผูกพันตามกฎหมายแม้ในภาวะวิกฤต

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจหลายแห่งได้นำมาตรฐานการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจมาใช้เป็นภาษากลางที่จะสื่อสารระหว่างองค์กรในห่วงโซ่ธุรกิจเพื่อให้เกิดความเข้าใจและให้มีความเข้ากันได้ รวมทั้งเพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง ทำให้ BS 25999 ซึ่งเป็นมาตรฐานแห่งชาติของประเทศอังกฤษ (Britain Standard) ที่นำไปสู่การรับรองและจะมีผลทำให้มาตรฐาน BS 25999 ถูกเพิกถอนโดยสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศอังกฤษ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปยังมาตรฐานระหว่างประเทศในหัวเรื่องเดียวกันแทน 

ทิศทางที่ 5 การพัฒนาที่ยั่งยืนบทใหม่จะเผยโฉมในเวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (The new chapter of sustainable development in Rio +20) 

เมื่อ 20 ปีที่แล้วการประชุมสุดยอดโลก (Earth Summit 1992) หรือในชื่อทางการว่า การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ได้ถูกจัดขึ้นที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เกิดข้อสรุปหลายประการที่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ การยอมรับแผนปฏิบัติการ 21ให้เป็นแผนแม่บทของโลกสำหรับการดำเนินงานในศตวรรษที่ 21 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยระบุถึงการบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และกล่าวถึงกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาบรรลุถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนบทบาทของภาคประชาสังคมในการเข้าไปมีส่วนร่วงมในการดำเนินงานเพื่อให้สามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนตามที่กำหนดไว้ 

และในอีก 10 ปีต่อมาการประชุมสุดยอดระดับโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ถูกจัดขึ้นที่นครโจฮันเนสเบอร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ มีการประกาศปฏิญญาโจฮันเนสเบอร์ก ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเอกสารประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศต่างๆ ที่จะร่วมกันปฏิบัติตามพันธกรณีจากการประชุม Earth Summit 1992 รวมทั้งแผนปฏิบัติการของการประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งกำหนดมาตรการในการช่วยเร่งรัดการอนุวัติตามแผนปฏิบัติ 21 และผลลัพธ์อื่นๆจากการประชุม Earth Summit 1992 ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม

ในปีนี้การประชุมสหประชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า Rio+20 จะถูกจัดขึ้นอีกครั้งที่เมืองรีโอเดจาเนโร ในเดือนมิถุนายน โดยมีวัตถุประสงค์ในการสานต่อพันธกรณีของประเทศต่างๆ ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยที่ประชุมจะมีการประเมินความก้าวหน้าและช่องว่างในการนำผลลัพธ์จากการประชุมหลักที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งก่อนๆ ไปปฏิบัติให้เกิดผล รวมทั้งการนำเสนออประเด็นความท้าทายใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การประชุมครั้งนี้มีการกำหนดธีมไว้ใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ เรื่องเศรษฐกิจสีเขียวในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนและการขจัดความยากจน และเรื่องกรอบการทำงานในเชิงสถาบันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นที่คาดหมายว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนบทใหม่จะเผยโฉมในเวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วยารพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งนี้ 

ทิศทางที่ 6 ช่องว่างแห่งการพัฒนาสู่การเติบโตสีเขียว จะยังเป็นประเด็นท้าทายสำหรับประเทศไทยและธุรกิจไทย (Green Growth Gap) 

แม้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) จะมีการระบุถึงแนวการสร้างฐานทางปัญญาเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับคนและสังคมไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพ ก้าวสู่สังคมและเศรษฐกิจสีเขียวที่มีแบบแผนการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกันแล้ว ยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่การเติบโตสีเขียว (Green Growth) หรือการเตรียมประเทศให้ก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ดูจะมีความห่างชั้นกันมาก

ขณะที่ในภาคธุรกิจหรือภาคผลิต ความแตกต่างในแบบแผนการผลิตและการบริการอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระหว่างองค์กร โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมก็ยังมีช่วงห่างระหว่างกันมาก จนส่งผลต่อการพัฒนาและยกระดับสายอุปทานในห่วงโซ่ธุรกิจของแต่ละอุตสาหกรรม ที่จะรองรับกับการเติบโตสีเขียวหรือการมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวโดยรวม 

ในปีนี้เราจะเห็นภาคธุรกิจที่มีความพร้อมประกาศเดินหน้าพัฒนาองค์กรเพื่อเตรียมพร้อมรองรับกับกระแสการเติบโตสีเขียว และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งได้กลายเป็นวาระหลักของโลก ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่โจทย์ใหญ่ของภาครัฐคือ การวางกลยุทธ์เศรษฐกิจสีเขียวแห่งชาติ (National Green Economy Strategy) และแผนที่นำทางเศรษฐกิจสีเขียวแห่งชาติ ทั้งในมิติของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และในมิติของการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน 

ส่วนภาคประชาสังคมกิจกรรมการรณรงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีปริมาณและความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ทันกับความเสื่อมโทรมและการทำงายล้างทั้งจากภัยพิบัติและที่มนุษย์ก่อขึ้น การคิดค้นนวัตกรรมเพื่อรับมือและป้องกันวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมจึงเป็นประเด็นที่ท้าทายในปีนี้ 

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us