ปีนี้นับเป็นอีกปีที่ธุรกิจโรงพยาบาลต้องมีการปรับตัวเองเพื่อรองรับการแข่งขันที่เชื่อว่าจะรุนแรงมากขึ้น และยังเป็นปีที่โรงพยาบาลต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับ AEC หรือการเปิดเขตการค้าเสรีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า
“ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ “นพ.ดุลย์ ดำรงศักดิ์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาล BNH ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ 3-4 เดือน ถึงแนวทางการปรับตัว และทิศทางการขยายตัวของโรงพยาบาลในอนาคต พร้อมกับการรับมือภาวะสมองไหลของแพทย์และพยาบาลหลังเปิด AEC
ปรับโพซิชั่นใหม่หมด
ปีนี้ BNH มีอายุครบ 114 ปี จึงรีโนเวตโรงพยาบาลใหม่ทั้งภายในและภายนอก โดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี ขณะนี้ทำมาได้ 1 ปีแล้ว นอกจากนี้ ปีนี้เรื่องของงานบริการก็จะมีการปรับเปลี่ยนซึ่งเซอร์วิสของ BNH จะต้องเหนือกว่าคนอื่นๆ โดยใช้งบในการปรับปรุงพื้นที่ 250-300 ล้านบาท งบในการลงทุนเครื่องมือ 200 ล้านบาท
“ห้องพักของเราจะปรับให้เป็นแบบโคโลเนียล การบริการ อย่าง ศูนย์ทางเดินอาหารก็ขยายบริการเป็น One Stop Service เรายังขยาย ICU จาก 7 เตียงเป็น 14 เตียง เครื่องไม้เครื่องมือใหม่หมด บรรยากาศของห้องก็เหมือนกับอยู่บ้าน ทุกห้องจะติดหน้าต่าง คนไข้ ญาติ จะได้เห็นวิวด้านนอก”
นอกจากนี้ BNH ได้ปรับโพซิชั่นของตัวเองจากเดิมที่เด่นในเรื่องของการรักษาเด็ก และแผนกสูตินารี ก็จะเพิ่มในเรื่องของความงามโดยจะเปิดศูนย์ความงามที่ทันสมัยและใหญ่เพื่อมาจับตลาดกลุ่มคนทำงานและสูงวัย ศูนย์นี้จะให้บริการทั้งด้านเลเซอร์ ศัลยกรรมพลาสติก ฯลฯ โดย BNH จะเลือกหมอที่ชำนาญหรือดังในด้านนั้นมาทำงาน อย่างไรก็ดี การที่แบรนด์ BNH เป็นแบรนด์ที่ดังทำให้หมอเหล่านี้สนใจที่จะมาทำงานร่วมกัน โดยศูนย์ความงามนี้ BNH วางโพซิชั่นจับตลาดบน แต่ราคาไม่สูงจนเกินไป
“เราจะสร้างศูนย์มะเร็งเต้านมช่วงกลางปีหรือไตรมาส 3 เราได้อาจารย์หมอรศ.นพ.กฤษณ์ จาฏามระ ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งในการรักษามะเร็งเต้านม ศูนย์นี้จะแตกต่างจากร.พ.อื่นที่ต้องไปตรวจแต่ละแผนก แต่ของเราเอาหมอที่เกี่ยวข้องกับการตรวจมารวมไว้ที่นี้ คนที่มาผ่าตัดกับเรา เราจะดูถึงการรักษารูปทรงของหน้าอกให้กลับมาเหมือนเดิมด้วย คนไหนที่ต้องผ่าตัดมากก็ต้องใช้ซิลิโคนเข้าช่วย อันนี้เรามองเป็นการรักษาด้านจิตใจ”
ส่วนแผนกสูตินารีมีการนำเทคนิคใหม่มาใช้ในการทำหมันหญิงเทคนิคนี้ทำให้ไม่เกิดบาดแผล และมีการลงทุนในเรื่องเครื่องมือใหม่ๆ สำหรับแผนกเด็กก็จะเพิ่มพื้นที่ของ OPD อีกเท่าตัว เพื่อรองรับคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการ ปัจจุบันคนไข้เด็ก OPD มีวันละ 200 คน
“เรามีหมอที่ชำนาญการรักษาโรคเด็กครบทุกสาขา เด็กมาคลอดที่เรามาก เดือนหนึ่งประมาณ 100 คน ขณะที่คนอื่น 40-60 คน เรายังเด่นเรื่องการให้นมลูกคนไข้ที่ผ่าตัดปรกติเขาไม่ให้นมลูกกัน แต่เราจะมีเทคนิคที่ทำให้คนไข้สามารถให้นมลูกได้ และที่เราเน้นเรื่องผู้หญิงมากขึ้น เพราะจากวิจัยที่เก็บข้อมูลมา 5 ปี ผู้หญิงมาใช้บริการกับเรา 60% ของคนไข้ทั้งหมด ร.พ.เรามีพื้นที่แค่ 4 ไร่เท่านั้น เราก็ต้องเลือกในส่วนที่เราเห็นว่าเป็นจุดเด่น แต่ศูนย์ความงามเรารองรับทั้งผู้ชายและผู้หญิง เพราะผู้ชายปัจจุบันเขาก็ให้ความสำคัญเรื่องความสวยงาม”
นอกจากนี้ จะมีการทำศูนย์เพื่อดูแลผู้สูงอายุโดยศูนย์นี้จะรวมแพทย์ทุกแผนกเข้ามาร่วมกัน อย่าง คนไข้ที่เป็นโรคไตและมีโรคอื่นร่วมด้วย เดิมเขาจะต้องไปพบหมอโรคไตแล้วค่อยไปพบหมอรักษาโรคอื่น เขาก็จะได้ยาจำนวนมาก เพราะต่างคนต่างจ่ายยา ก็ปรับเป็นมาที่ศูนย์นี้หมอที่รักษาโรคที่เขาเป็นทุกโรคจะมาปรึกษาหารือกันถึงแผนการรักษา และการจ่ายยา ซึ่งจะช่วยลดปริมาณยาให้กับคนไข้ได้มาก คาดว่าเดือนเมษายนนี้ศูนย์นี้จะเปิดให้บริการ ขณะนี้ศูนย์ยังอยู่ระหว่างการทดลอง
เจาะคนไทยเป็นหลัก
สำหรับกลุ่มลูกค้าของ BNH จะเป็นคนไทย 75% ต่างชาติที่มีรากฐานหรือทำงานในไทย 25% ส่วนตลาดต่างประเทศนั้น BNH ไม่ได้เน้น แต่มีชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาประมาณ 20% ของสัดส่วนต่างชาติที่มีรากฐานหรือทำงานในไทย เนื่องจากเขาชอบความเป็นส่วนตัวของร.พ. และการได้พบหมอแบบหนึ่งต่อหนึ่ง โดยกลุ่มเป้าหมายของ BNH คือ ระดับบีบวกถึงเอบวก
“ตลาดต่างประเทศเราไม่โพกัสจะมีเข้ามาหาเราบ้าง อย่าง มาหาเรื่องมีบุตรยากคนจีนนิยม เพราะเขาต้องการลูกที่สมบูรณ์และแข็งแรงที่สุด ตอนนี้เวียดนามกับพม่าก็สนใจเข้ามาใช้บริการด้านนี้ กระดูกสันหลังก็มีคนญี่ปุ่นกับจีนมาหา เพราะเรามีชื่อเสียงด้านนี้”
โดยกลยุทธ์สำคัญในการทำตลาด คือ คุณภาพดี ระบบดี การรักษาถูกต้อง นอกจากนี้ การบริการต้องดีด้วย อย่างเมื่อ 6-7 ปีก่อน BNH เป็นเจ้าแรกที่เปิดประตูรถให้กับคนไข้ขณะนี้ร.พ.ทุกแห่งก็มีบริการตรงนี้หมดแล้ว หรือการบริการน้ำดื่ม BNH ก็ทำมานานแล้ว
ยึดโมเดลทำคลินิก
สำหรับการขยายสาขาร.พ.นั้น BNH ไม่มีแนวคิดที่จะขยายเป็นรูปแบบร.พ. แต่ที่ผ่านมามีการขยายในรูปแบบคลินิก ซึ่งเปิดไปแล้ว 2 แห่ง คือ BNH @ All Season Clinic เปิดมาได้ 5 ปีแล้ว และ BNH @ Nara 24 Clinic เปิดมาได้ 3 ปี
“ปีนี้เราจะขยายคลินิก BNH เพิ่มอีกหนึ่งสาขาในกรุงเทพฯ ที่เราเลือกเปิดคลินิก เพราะต้นทุนถูกกว่าการทำร.พ. และร.พ.เรามีพื้นที่แค่ 4 ไร่ เราขยายตัวมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว คลินิกก็จะช่วยรองรับคนไข้เคสเบาๆ แต่ถ้าเป็นหนักก็ส่งต่อมาที่ร.พ.ได้เลย ส่วนร.พ.เราจะเอาไว้รองรับคนไข้เคสหนักๆ แทน คนไข้มั่นใจได้ว่าการรักษา บริการ อุปกรณ์ไม่ได้แตกต่างจากร.พ.เลยเชื่อว่าโมเดลคลินิกนี้จะมีร.พ.เอกชนรายอื่นๆ สนใจเปิดเช่นกัน”
ตลาดนี้โตอีกมาก
สำหรับตลาดด้านสุขภาพเชื่อว่ายังสามารถเติบโตได้อีกนาน เนื่องจากผู้สูงอายุมีมากขึ้นการใช้บริการก็เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ การศึกษาที่มากขึ้นทำให้คนรู้จักการดูแลสุขภาพของตัวเอง ด้วยปัจจัยนี้ทำให้บริการเช็กอัพ (ตรวจสุขภาพ) เป็นที่นิยม และการที่ร.พ.รัฐบาลไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการได้เพียงพอทำให้ร.พ.เอกชนมีโอกาสในการเติบโตมากขึ้น
ส่วนตลาดความงามเชื่อว่าปีนี้น่าจะเติบโต 20% แม้คลินิกด้านความงามจะมีมากก็ตาม แต่เชื่อร.พ.เอกชนยังสามารถเข้าแข่งขันในตลาดนี้ได้
“ความเข้มงวดของแพทยสภาอาจจะทำให้คลินิกมีการปิดตัวมากขึ้น ตลาดคลินิกจะลดลง ทำให้ร.พ.ที่เปิดด้านความงามจะดีขึ้น”
ด้านรายได้ปีที่ผ่านมา BNH มีรายได้ 1,600 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,800 ล้านบาท การที่ตั้งเป้าไว้ไม่สูงมาก เพราะปีนี้จะมีการก่อสร้างมากทำให้การรองรับคนไข้อาจจะไม่ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ คนไข้ OPD ของร.พ.อยู่ที่ 1,000 คนต่อวัน ซึ่งร.พ.ยังพร้อมรองรับได้อีก 20-30%
อย่างไรก็ดี การเลือกใช้บริการของคนไข้ส่วนหนึ่งมองโลเกชั่นเป็นหลัก เพราะหากเป็นเพียงไข้หวัดเปอร์เซ็นต์การเลือกร.พ.ที่ใกล้บ้านหรือที่ทำงานมีสูง แต่หากเป็นการรักษาโรคร้ายแรงคนไข้จะเลือกร.พ.ที่ดีที่สุด
ไม่หวั่น AEC
สำหรับการเปิด AEC หรือเขตการค้าเสรีนั้น ในมุมมองของ นพ.ดุลย์ แล้วถือว่าเป็น Hot Topic เลยทีเดียวเพราะมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะสมองไหลของกลุ่มแพทย์ พยาบาล นักกายภาพ ฯลฯ โดยเฉพาะกลุ่มพยาบาลที่ภาษาดีมีโอกาสสมองไหลมาก เพราะรายได้พยาบาลที่ต่างประเทศได้มากกว่าที่ไทยถึง 2 เท่าตัว
“เราวางแผนตรงนี้ไว้เรา เราจะเพิ่มเรื่องสวัสดิการ ส่งเสริมการศึกษา มีการส่งไปดูงาน และการที่เราเป็นหนึ่งในกลุ่มโรงพยาบาลในเครือดุสิตเวชการ กลุ่มมีคณะกรรมการดูแลแพทย์และพยาบาลซึ่งเขาจะเข้ามาดูแลด้วย อย่าง ไปดูงานกลุ่มก็มีให้ทุนเป็นหลัก 10 ล้านบาท ของเราเองก็ให้ทุนแพทย์พยาบาลไปดูงานหลายล้านบาท”
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของ นพ.ดุลย์ แล้วเชื่อว่า ภาวะสมองไหลจะมีไม่มาก เนื่องจากไม่มีใครที่อยากจะจากครอบครัวไปอยู่ต่างประเทศนานๆ ที่จะมีสมองไหลบ้างจะเป็นคนที่มีครอบครัวอยู่ที่ต่างประเทศ นอกจากนี้ เงินที่จะได้เพิ่มอาจจะไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่ต่างประเทศ หรือหักค่าใช้จ่ายแล้วอาจจะไม่แตกต่างจากการอยู่ประเทศไทย
“ผมมองว่าถ้าจะไปอยู่คงอยู่กันไม่เกิน 5 ปีก็น่าจะกลับมา เพราะอาหาร วัฒนธรรม การใช้ชีวิตที่ต่างประเทศไม่เหมือนกับประเทศไทย ถ้าจะอยู่ได้นานคงเป็นประเทศลาว เพราะมีอะไรใกล้เคียงกัน แต่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะการแพทย์ของลาวยังไม่เจริญ”
ส่วนการเข้ามาของหมอต่างประเทศถือว่าทำได้ยาก เพราะจะต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะ สอบปากเปล่า สอบตรวจคนไข้เป็นภาษาไทย แต่หมอของไทยไปทำงานที่ประเทศอื่นๆ น่าจะมีมากกว่า แต่เชื่อจะเป็นการไปแค่ชั่วคราว
สำหรับการแข่งขันหลังเปิด AEC โดยเฉพาะตลาดคนไข้ต่างประเทศ เชื่อว่าไทยสามารถแข่งขันได้ เพราะคนไข้ที่เข้าไปใช้บริการของร.พ.ที่สิงคโปร์ทั้งเกาะยังมีปริมาณที่น้อยกว่าเข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
“ตลาดประเทศไทยใหญ่กว่าสิงคโปร์ถึง 3 เท่า ลูกค้ารายใหญ่ของไทย คือกลุ่มตะวันออกกลาง เพราะเขาเข้าอเมริกา ยุโรปไม่ได้ตั้งแต่เหตุการณ์บอมบ์ 911 และเช็กอัพที่เราก็ถูกกว่าเขาถึง 1 ใน 3 การจะแข่งขันในด้านนี้ได้หรือไม่ต้องดูเรื่องอื่นด้วย อย่าง ปริมาณของสายการบินที่บินเข้าประเทศ ปริมาณร.พ. อาหารการกิน ฯลฯ ตอนนี้สิงคโปร์ก็หันไปเน้นตลาดระดับไฮเอนด์แทน อย่าง เน้นรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือการรักษาโรคยากๆ”
ควบรวมได้ประโยชน์
โดยความคิดเห็นส่วนตัวของ นพ.ดุลย์ แล้ว มองว่า การควบรวมร.พ.เข้าไปในเครือดุสิตเวชการถือว่าได้ประโยชน์มาก เพราะสามารถแชร์เครื่องมือกันได้ หรือมีอำนาจในการต่อรองการซื้อเครื่องมือและยา
“ถ้าเครื่องมือเราไม่พอเราก็ขอยืมกับร.พ.ในเครือได้ หรือสั่งซื้อเครื่องมือเครื่องละ 30 ล้านบาท ถ้าเราซื้อรวมกัน 3 เครื่องก็ลดลงได้อีก หรือคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งเราก็ส่งไปฉายแสงที่ร.พ.วัฒนโนสถแทน พอฉายแสงเสร็จก็กลับมานอนที่เรา เดิมร.พ.แยกกันอยู่ก็ต่างคนต่างรักษาไม่มีการส่งคนไข้กันอย่างนี้”
สำหรับทิศทางการควบรวมร.พ.ในประเทศไทยนั้น เชื่อว่าปีนี้น่าจะมีให้เห็นอีก เพราะขณะนี้เครือแต่ละแห่งมีเงินสดเหลืออยู่มาก ดังนั้น เขาจะมองว่าจะทำอย่างไรให้เงินสดที่มีสร้างประโยชน์มากที่สุด