เปิดมุมมองเซียนธุรกิจมือถือบนโอกาสการต่อยอดบริการ 3G จุดพลิกเกมการตลาดที่ใครสามารถฉกฉวยได้ สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ดันยอดผู้ใช้งานพุ่งโกยรายได้มหาศาล เชื่อ 3G เต็มรูปแบบโมบายบรอดแบนด์เกิดดันปริมาณการใช้ข้อมูลเติบโตหลายเท่าตัว
3จี ถือเป็นความหวังของเหล่าผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่จะสร้างรายได้เพิ่มในอนาคต เพื่อชดเชยรายได้ด้านเสียงที่นับวันหดลงต่อเนื่อง
เห็นได้ชัดว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่บรรดาโอเปอเรเตอร์ทุกค่ายต้องเผชิญความท้าทายหลากหลาย โดยเฉพาะความพยายามเสาะหาแนวทางสร้างรายได้เพิ่ม 3จี จึงคือคำตอบ นั่นก็เป็นเพราะว่า ความเร็วของโครงข่ายดังกล่าว จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดบริการด้านดาต้าใหม่ๆ ทำให้โอเปอเรเตอร์สามารถต่อยอดแพกเกจการให้บริการใหม่ๆ และดันรายได้เพิ่มขึ้น
ปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บอกว่า การมีเครือข่าย 3G และสมาร์ตโฟน จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับวงการโทรคมนาคมไทย เนื่องจากพฤติกรรมการใช้งานผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป หันมาใช้งานด้านดาต้าเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายวิดีโอละเอียดขึ้น และการอัปโหลดขึ้นสู่เครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นต้น
ดังจะเห็นได้จากตัวเลขหลังเปิดให้บริการ 3G พบว่า ปริมาณการใช้งานดาต้าบนเครือข่ายวันเดียว เท่ากับปริมาณการใช้งานดาต้าในระบบ 2.5G EDGE/GPRS ถึง 8 เดือน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้งานดาต้าของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
ผลจากปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้น 2 เท่า ทำให้แนวทางการตั้งราคาของผู้ให้บริการต้องมีความเหมาะสม โดยต้องคิดตามจำนวนที่ลูกค้าใช้งานจริง เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสบายใจในการใช้งานต่อเนื่อง
ขณะที่ พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการธุรกิจนอนวอยซ์และ 3G บริษัท ทรูมูฟ จำกัด บอกว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อเกิดการใช้งานข้อมูลเพิ่มขึ้นมหาศาล ก็คือ การบริหารจัดการ ไม่เช่นนั้นโอเปอเรเตอร์อาจจะตกอยู่ในสถานะลำบากมากกว่าจะสร้างรายได้เพิ่ม
ดังเช่น ในช่วงแรกที่เปิดให้บริการ และมีการตั้งราคาแบบไม่จำกัด ผลปรากฏว่ามีปริมาณการใช้งานสูงถึง 600 GB ใน 1 เดือน คิดเป็นกว่า 60% ของระบบ ดังนั้นโอเปอเรเตอร์จึงจำเป็นต้องมีข้อตกลงจำกัดปริมาณการใช้งานเกิดขึ้น
“ในต่างประเทศ เมื่อมีการเปิดให้ใช้งาน 3G ได้มีการยกเลิกการให้บริการแบบไม่จำกัด แต่เชื่อว่าในไทยยังไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถคำนวณปริมาณการใช้งานดาต้าของตนเองได้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีการปรับรูปแบบการคิดค่าบริการดาต้ามาเป็นแบบตามปริมาณการใช้งานก็ตาม”
อย่างไรก็ตาม โจนาห์ พรานสกี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาดแบบเจาะลึก แอมด็อคส์ ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารชั้นนำของโลก บอกว่า หากดูตัวเลขการเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยช่วงปี 2554 จะพบว่า มีอัตราการเติบโต 22.8% ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเชื่อว่า จะทำให้การพัฒนาไม่หยุดแค่ระบบ 2-3จี โดยในอนาคตจะเห็นการพัฒนาเพิ่มเป็น 3.5จี หรือ 4จี
นอกจากนี้ การที่ผู้กำหนดนโยบายอย่างไอซีที พยายามขับเคลื่อนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เข้าสู่คนไทย โดยตั้งเป้าหมายที่จะให้ประชากร 80% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในปี 2558 และเพิ่มขึ้นเป็น 95% ในปี 2563 ก็นับเป็นหัวใจหลักในการผลักดันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในการขยายตัว
ด้าน นิธิน บัท หุ้นส่วนและหัวหน้าคณะที่ปรึกษา บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก บอกว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี 3G/LTE จะเติบโต 2 เท่าทุกๆ 3 ปี โดยที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสาย (บรอดแบนด์) ก็จะเติบโตในอัตราคงที่ 3G/LTE จะเริ่มเจาะตลาดในขณะที่บรอดแบนด์ก็ยังคงขยายการครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ "อินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกสิ่ง" ได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นโอกาสให้ใครก็ตามที่สามารถใช้ประโยชน์การเปลี่ยนแปลงนี้สามารถสร้างธุรกิจใหม่ๆ ได้ โดยเครือข่ายที่ดีขึ้นจะทำให้วิธีการบริโภคข้อมูลเปลี่ยนไปทั้งในด้านการได้รับ วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูล
ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน มั่นใจว่าจำนวนผู้ใช้บริการ โมบายบรอดแบนด์ในไทยมีแนวโน้มว่าจะเติบโตถึง 30 ล้านหน่วย ภายในปี 2557 ส่งผลให้ผู้ให้บริการสามารถให้บริการระบบ 3จี และเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น
“โมบายบรอดแบนด์จะเป็นตัวขับเคลื่อนตลาด ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะโตขึ้นถึง 3 เท่าในปี 2558” บัท กล่าวและว่า “สงครามราคาระหว่างผู้ให้บริการทั้งหลายยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด”
โซลูชั่นใหม่สร้างบริการใหม่
จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ แอมด็อคส์ เดินหน้าผุดโซลูชั่นใหม่ได้แก่ M2M และ Connected Home เพื่อเป็นช่องทางสร้างบริการใหม่ๆ แก่ลูกค้า
เออร์วานน์ โธมัสเซน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แอมด็อคส์ เอเชีย แปซิฟิก บอกว่า โซลูชั่นดังกล่าวเป็นการทำงานบนคลาวด์ คอมพิวติ้ง โดย M2M เป็นโซลูชั่นแบบ pre-packaged ที่เอื้อให้ผู้ให้บริการเครือข่ายนำเสนอบริการและสนับสนุนคู่ค้าที่ให้บริการแอปพลิเคชั่น M2M เช่น รถยนต์เชื่อมต่อกับระบบสื่อสาร (connected car), eReaders,ระบบวัดปริมาณการใช้บริการสาธารณูปโภคอัจฉริยะ (smart utility meters) และเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ Amdocs Connected Home: โซลูชั่นแบบ cloud-based ที่ช่วยให้ผู้บริการเครือข่ายสามารถเปิดตัวบริการประเภท pre-packaged home และ business premise เช่น ความปลอดภัยพลังงาน สุขภาพ และมัลติมีเดีย
ขณะที่ Connected Home เป็นโซลูชั่นที่ช่วยเชื่อมต่ออุปกรณ์เคลื่อนที่เข้ากับเครื่องใช้ไฟฟ้า และระบบรักษาความปลอดภัยในครัวเรือน ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปควบคุม ดูแล และจัดการอุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่อในระบบอย่างระบบเปิด-ปิดไฟ เซ็นเซอร์รักษาความปลอดภัย กล้องวงจรปิด ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ตโฟน แท็บเลตได้
ทั้งนี้ แอมด็อคส์กำลังอยู่ในช่วงพูดคุยกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในไทย ทั้ง เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ เพื่อที่จะนำโซลูชั่นดังกล่าวเข้ามาให้บริการภายในไทย
เพราะเชื่อว่าโซลูชั่นดังกล่าวจะช่วยให้โอเปอเรเตอร์สามารถสร้างบริการใหม่ให้แก่ลูกค้าได้นอกจากให้บริการด้านเสียง และดาต้าในปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ แอมด็อคส์ได้เปิดให้บริการ 2 โซลูชั่นนี้ในต่างประเทศมาแล้ว และได้รับความนิยมอย่างมาก โดยปัจจุบันมีผู้ใช้ประมาณ 10% ของครัวเรือนในสหรัฐและแคนาดา
ขณะที่ผลสำรวจจาก มาชิน่า รีเสิร์ช คาดว่า บริการเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์มือถือ M2M จะเติบโตจาก 135 ล้านราย ในปี 2011 เป็น 2.3 พันล้านราย ในปี 2020 ส่วนผลวิจัยจากพาร์ก แอสโซซิเอท ระบุว่า ร้อยละ 12 ของผู้บริโภคในสหรัฐ และร้อยละ 9 ของผู้บริโภคในยุโรปตะวันตกมีความสนใจใช้บริการรักษาความปลอดภัยในบ้าน
เออร์วานน์ บอกว่า สำหรับประเทศไทย ถือว่าตลาดเพิ่งเริ่ม แต่เชื่อว่าผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 รายสนใจที่จะลงทุน และให้บริการในที่สุด
เบื้องต้นกลุ่มเป้าหมายหลักจะเน้นบ้านหรู โรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต องค์กร และสถานศึกษา พร้อมเชื่อว่าในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีราคาถูกลง จะทำให้โซลูชั่นเหล่านี้ขยายการใช้งานสู่กลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กเล็กมากขึ้น
เอไอเอสปักธง 4G
ในสังเวียนโทรศัพท์มือถือที่กำลังเดือดพล่าน โดยเฉพาะพื้นที่ 3G บนคลื่นความถี่เดิม (850 และ 900 เมกะเฮิรตซ์) คู่ชกอย่างดีแทคและทรู กำลังเมามันกับการรุกบริการ ทว่าผู้นำตลาด “เอไอเอส” กลับออกมาสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการ ด้วยการเปิดทดสอบบริการ 4G เป็นเจ้าแรก ที่ครั้งนี้เชื่อว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมในตลาดฮัลโหลนับจากนี้อย่างมาก
“วันนี้ผู้ใช้บริการดาต้า โดยเฉพาะในเครือข่ายของเรามีกว่า 10 ล้านราย แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความต้องการด้านนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด การมองหาเทคโนโลยีอนาคตที่จะตอบโจทย์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่กับการให้บริการปัจจุบัน”
วิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าว และบอกว่า แม้วันนี้เอไอเอสจะเปิดทดสอบ 4G ก่อนค่ายอื่น แต่ก็จะต้องเข้าร่วมประมูล 3จี ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีต้องทำควบคู่กันไป
การจุดพลุทดสอบ 4G ในครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังร่วมกันของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด บนเทคโนโลยี Long Term Evolution - LTE หรือชื่อเรียกที่รู้จักกันว่า 4G
สำหรับเทคโนโลยี LTE ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีอนาคต ที่ต่อยอดจาก 3G ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถตอบสนองการใช้งานบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูง โดยทำความเร็วตั้งแต่ 100 Mbps – 1024 Mbps (1Gbps) หรือเร็วจี๊ดกว่า 3G เดิมถึง 7 เท่าทีเดียว
นอกจากความเร็วที่แตกต่างกันแล้ว เทคโนโลยี 4G ยังสามารถทำประชุมทางไกลคุยแบบโต้ตอบได้ทันที ไม่เหมือน 3G ที่จะมีอาการดีเลย์ แถม 4G ยังได้ภาพคมชัดแบบไฮเดฟฟินิชั่น ทั้งยังสามารถถ่ายทอดสดแบบ Live Broadcast แบบ Realtime ตลอดจนการรักษาโรคทางไกล
ขณะที่ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บอกว่า ความเร็วของ 4G ที่แรงกว่า 3G นี้ จะทำให้เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เสมือนกับถนนที่มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น ก็สามารถที่จะรองรับรถได้มากขึ้น และวิ่งเร็วได้มากขึ้นด้วย