ปีนี้เชื่อว่าเป็นอีกปีที่ธุรกิจการบินจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์จากเดิมที่มีเพียง 3 สาย ปีนี้น้องใหม่ที่ชื่อ “ไทยสมาย” ภายใต้การบริหารงานของการบินไทย กำลังจะออกจากไข่มาให้เห็นตัว
“แอร์เอเชีย” จะอยู่นิ่งเฉยได้อย่างไร เมื่อมีตำแหน่งผู้นำตลาดนี้ค้ำคออยู่
แอร์เอเชียในขวบปีที่ 8 นี้ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวกับการแข่งขันของธุรกิจการบินที่นับว่ารุนแรงมากขึ้น
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ “แอร์เอเชีย” สามารถท้าชนกับคู่แข่งรายอื่นได้ คือ โปรโมชั่นที่แรงแบบ 0 บาท 9 บาท 10 บาท 99 บาท 999 บาท ฯลฯ
และปีนี้จะมีการออกโปรโมชั่นใหม่ๆ และเพิ่มความถี่มากขึ้นด้วย เรียกได้ว่าปีหนึ่งมี 52 สัปดาห์ “แอร์เอเชีย” วางไว้ว่าจะปล่อยโปรโมชั่น 45-50 สัปดาห์เลยทีเดียว
นอกจากนี้ เส้นทางที่มีเปิดใหม่ตลอดเวลาทำให้ “แอร์เอเชีย” มีตัวเลือกให้กับนักเดินทางมากขึ้น เพียงแค่ก้าวเข้าสู่ปี 2555 ไปได้เดือนเดียว “แอร์เอเชีย” ก็ออกมาทำตลาดสายการบินโลว์คอสต์ให้เดือดอีกครั้ง ด้วยการเปิดเส้นทางบินใหม่ 3 เส้นทาง คือ บินตรงทุกวัน กรุงเทพฯ-ตรัง, กรุงเทพฯ-นครพนม และ 1 เส้นทางระหว่างประเทศ กรุงเทพฯ-ศรีลังกา (โคลัมโบ)
เป้าหมายของการเปิด 3 เส้นทางนี้ “ทัศพล แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ต้องการให้แอร์เอเชียเน้นการสร้างเครือข่ายการบินที่เข้มแข็ง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางที่สะดวกสบายในราคาประหยัดให้กับทุกคนอย่างต่อเนื่อง
อย่าง กรุงเทพฯ-นครพนม บินเริ่มต้น 700 บาทต่อเที่ยว กรุงเทพฯ-ตรัง บินเริ่มต้น 800 บาท กรุงเทพฯ-ศรีลังกา (โคลัมโบ) บินประหยัดเพียง 2,290 บาทต่อเที่ยว
“แอร์เอเชีย” เลือกเปิด 3 เส้นทางนี้ เพราะล้วนแต่เป็นเส้นทางเศรษฐกิจท่องเที่ยวสำคัญ และมีเสียงเรียกร้องการให้บริการมากที่สุด
ปีนี้ “แอร์เอเชีย” มีแผนที่จะรับเครื่องบินใหม่อีก 5 ลำ ทำให้มีเครื่องบิน 23 ลำ และจะมีการรับเครื่องบินอย่างต่อเนื่อง การมีฝูงบินมากขนาดนี้ การหาเส้นทางใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
แอร์เอเชียยังเล็งเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ อีกหลายเส้นทาง อาจจะเป็นไตรมาสละ 2-3 เส้นทางเลยทีเดียว ซึ่งปีนี้จะมีเปิดเส้นทางบินใหม่ทั้งในประเทศ และเส้นทางระหว่างประเทศทั้งตลาดจีน และปลายทางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งใหม่ต่างๆ รวมทั้งรองรับการเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินยอดนิยม ซึ่งเส้นทางใหม่ที่ “แอร์เอเชีย” อยากเข้าไปบิน คือ เส้นทางเวียงจันทน์ รวมถึงเส้นทางเวียดนามก็มีแผนที่จะขยาย จึงมั่นใจได้ว่าปีนี้ “แอร์เอเชีย” จะรุกหนักเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตอย่างดีที่สุด
การเพิ่มเครื่องบินใหม่ “แอร์เอเชีย” ยังต้องเพิ่มพนักงานใหม่ๆ เข้ามาอีกด้วย คาดว่าปีนี้จะเปิดรับพนักงานประมาณ 400-500 คน ซึ่งพนักงานต้อนรับของ “แอร์เอเชีย” ถือเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยที่คนพูดถึง “แอร์เอเชีย” รองจากราคาประหยัดและเส้นทางบินหลากหลาย
นอกจากการทำตลาดที่เน้นเรื่องราคา เส้นทางบินแล้ว ปีนี้ “แอร์เอเชีย” ยังใช้กลยุทธ์สปอร์ตมาร์เกตติ้งอีกด้วย โดยที่ผ่านมาให้การสนับสนุนทีมฟุตบอลไปแล้ว 12 ทีม ปีนี้ก็จะมีการเพิ่มทีมที่ให้การสนับสนุนอีก
“ทัศพล” มองว่า ที่ “แอร์เอเชีย” เลือกเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมฟุตบอล หรือคาราบาว เพราะคนขึ้น “แอร์เอเชีย” คือคนระดับกลาง คนกลุ่มนี้เขาฟังเพลงคาราบาว เขาดูบอลไทยพรีเมียร์ลีก ปีนี้ “แอร์เอเชีย” จึงจะขยายไปจับกลุ่มกีฬาใหม่ๆ ด้วย หรืองานประเพณีของแต่ละจังหวัด “แอร์เอเชีย” ก็ให้การสนับสนุน
กลยุทธ์ทั้งหมดที่ “แอร์เอเชีย” ทำจะทำให้โหลดแฟกเตอร์ของ “แอร์เอเชีย” ก้าวเข้าสู่ 85% ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จากที่มีอยู่เฉลี่ย 80% ขณะที่สายการบินโลว์คอสต์ของยุโรปโหลดแฟกเตอร์อยู่ที่ 80-90%
เปรียบกับคู่แข่งรายใหม่ อย่าง “ไทยสมาย” แม้ว่าจะเริ่มทำการบินในปี 2555 เป็นครั้งแรก แต่ประสบการณ์ 50 กว่าปีของพี่ใหญ่ อย่าง “การบินไทย” เชื่อว่าสามารถพา “ไทยสมาย” ฝ่าวิกฤตไปได้อย่างแน่นอน
โดยเส้นทางบินภายในประเทศที่ “ไทยสมาย” จะเปิดให้บริการปีนี้ คือ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น เชียงราย และสุราษฎร์ธานี จะเห็นว่าเส้นทางบินเหล่านี้เป็นเส้นทางบินที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก จากนั้นในปี 2556 “ไทยสมาย” จะเริ่มทำการบินในตลาดต่างประเทศ โดยเน้นตลาดอาเซียน จีน และอินเดีย
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา “ไทยสมาย” ยังสร้างการรู้จักด้วยการคัดเลือกพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงที่มีความแตกต่างในการเฟ้นหาบุคลากรด้วยกิจกรรม “In Search of the Smart Crew for THAI Smile” กิจกรรมที่ให้ผู้สมัครแสดงความสามารถ และกิจกรรมสาธารณประโยชน์ โดยผู้สมัครจะต้องช่วยจำหน่ายเสื้อยืดของมูลนิธิรามาธิบดี ถือเป็นการคัดเลือกพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากที่เคยมีกันทั่วไป เรียกได้ว่าเป็น “Talk of the Town” ไปหลายวัน
การเข้ามาของ “ไทยสมาย” นั้น ในฐานะผู้กุมบังเหียนแอร์เอเชีย “ทัศพล” มองว่า ถ้า “ไทยสมาย” ไม่เข้ามาในตลาดนี้ก็ต้องมีคนอื่นเข้ามา เพราะตลาดการบินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการโตปีละ 2 หลัก การรับมือกับ “ไทยสมาย” ของ “แอร์เอเชีย” ในเส้นทางเดียวกันนั้น อยู่ที่ว่าใครประหยัดกว่า ใครบริการดีกว่า และใครเซ็กซี่กว่า
คงต้องดูกันต่อไปว่า 3 กลยุทธ์หลัก “โปรโมชั่น-เส้นทางบินใหม่-สปอร์ตมาร์เกตติ้ง” จะทำให้ “แอร์เอเชีย” ยังคงครองตำแหน่งความเป็นผู้นำในตลาดโลว์คอสต์ได้อย่างเดิมหรือเปล่า หรืองานนี้จะพ่ายให้กับ “ไทยสมาย” ที่มาทีหลังอาจจะดังกว่าก็เป็นได้