|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“โอ้วัดโพธิ์เป็นวัดกษัตริย์สร้าง ไม่โรยร้างรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์” (นายมี: นิราศพระแท่นดงรัง) แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานกว่า 212 ปี วัดโพธิ์ก็ยังคงมีชีวิตชีวาจนถึงทุกวันนี้ เป็น The Great Cultural Destination ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเดินทางมาชมมากที่สุด ถึงกับได้รับการจัดลำดับที่ 24 ของโลก จากสถิติเฉลี่ยมีคนเข้าชมวัดเดือนละแสนคน หรือตกปีละ 1.2 ล้านคน แต่สถิติที่เคยทำสูงสุดในปี 2549 มากถึง 8.15 ล้านคน!
วัดเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารหรือ “วัดโพธิ์” แห่งนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีพระราชศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ใหม่ทั้งอาราม โดยใช้เวลาถึง 7 ปี 5 เดือน 28 วัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2336 และโปรดฯ ให้จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนไว้เป็นศิลาจารึกจดหมายเหตุให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้จดจำ (ปัจจุบันจารึกโบราณขนาด ใหญ่ที่มีอายุ 200 กว่าปีนี้ยังประดับให้เห็นอยู่ที่ผนัง พระวิหารทิศพระพุทธโลกนาถ)
30 ปีต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้บูรณปฏิสังขรณ์ยิ่งใหญ่และมีพระราชดำริให้วัดโพธิ์เป็น “มหาวิทยาลัยประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย” โดยนำเหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยกันชำระตำรับตำราแพทย์แผนโบราณ ตำรายาไทย ประวัติศาสตร์ ศาสนา ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี อักษรศาสตร์ ภาษาศาสตร์ เวชศาสตร์ และสุภาษิต จารึกลงแผ่นศิลาประดับไว้ตามที่ต่างๆ ในวัดโพธิ์ และยังมีแผ่นศิลาใหญ่ จารึกพระราชดำริว่าด้วยการสร้างพระพุทธไสยาสที่งดงามและใหญ่ที่สุดด้วย
ล่าสุด 24 ธันวาคม 2554-2 มกราคม 2555 วัดโพธิ์ได้จัดงานฉลองเก้าวันเก้าคืนข้ามปี ในวาระโอกาสที่ “จารึกวัดโพธิ์” ขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World Register) จากองค์การยูเนสโก
โดยในวันแรก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับเชิญเสด็จฯไปทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และสดับพระธรรมเทศนามหาชาติ กัณฑ์มหาราช ที่แสดงธรรมโดยพระครูวินัยธรมานพ กนฺตสีโล ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ ด้วย
งานเฉลิมฉลองจารึกวัดโพธิ์นี้ให้บรรยากาศย้อนยุค แกะรอยตามจารึกเก่าแก่ ในรัชกาล 1 ที่เคยจัดงานฉลองยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2344 หลังเสร็จสิ้นงานบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ เช่น วัฒนธรรมการละเล่น ร้องรำทำเพลง การแสดงโขน การรำโคม ตลาดเก่าร้อยปี ฯลฯ
ใครที่พลาดก็น่าเสียดายที่ไม่ได้เก็บรูปเก็บความทรงจำไว้ เพราะงานนี้จัดเต็มทั้งให้ความรู้คู่บันเทิงที่จำลองตามแบบแผนไทยโบราณจริงๆ ใครใคร่ฟังวงเสวนาวิชาการก็มี หรืออยากฟังธรรมจากเทศน์มหาชาติกัณฑ์ต่างๆ ก็ดี หรืออยากจะชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยตามเวทีสำคัญๆ ก็มีหลากหลายการละเล่น เช่น เวทีแสดงโขนราว เวทีลานหอระฆังก็แสดงงิ้ว เวทีแปดเหลี่ยมมีเพลงฉ่อย และที่ศาลาแม่ซื้อก็มีหนุ่มสาวขับขาน ทำนองเสนาะอ่านฉันท์กาพย์กลอนโคลง รำไทยที่หาชมยาก วงปี่พาทย์ไม้แข็งที่เล่นโดยเด็กประถม และขบวนแห่พุ่มเทียนรอบพระอุโบสถยามพลบค่ำก็สวยงาม ท่ามกลางฉากอันเมลืองมลังของวัดโพธิ์
นอกจากนี้ยังแสดงคติไทยๆ ที่สนุกและน่าสนใจติดตาม เช่น คติคนโบราณที่เชื่อ ว่า “แม่ซื้อ” คือเทวดาคุ้มครองทารกทั้งเจ็ดวัน ในงานนี้ได้จัดให้การระบำแม่ซื้อมาให้ชมด้วย นอกจากนี้ยังมีการแสดงของฤษีดัดตนโดยจำลองท่ามาจากรูปปั้น ปัจจุบันรูปปั้นฤษีดัดตนที่วัดโพธิ์เหลืออยู่เพียง 24 ท่าจากเดิม 80 ท่า และยังมีการแสดงชุดชาติพันธุ์ต่างถิ่นต่างภาษา 12 ชาติพันธุ์ที่จารึกไว้แต่ครั้งโบราณ แสดงว่าคนไทยรู้จักโลกานุวัตน์ Globalization มาเป็นร้อยๆ ปีแล้วนั่นเอง!
ยิ่งกว่านั้น ความเป็นเลิศทางอักษรศาสตร์ก็ปรากฏในจารึกวัดโพธิ์ โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส รัตนกวีและปราชญ์แห่งแผ่นดินสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นอธิบดีสงฆ์องค์ที่สองสืบต่อจากสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) และได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก เป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในวาระครบ รอบ 200 ปีแห่งวันคล้ายวันประสูติ งานพระนิพนธ์ของท่านมีทั้งร้อยกรอง เช่น โคลงภาพฤษีดัดตน ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ลิลิตตะเลงพ่าย สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย ส่วนงานร้อยแก้ว เช่น พระปฐม สมโพธิกถาซึ่งให้ทั้งอรรถรสภาษาและวรรณคดีจากเนื้อหาพุทธประวัติ
ตำราฉันท์ที่จารึกวัดโพธิ์มีลักษณะ เด่นที่สุดตรงกำหนดคำ ครุ (เสียงหนัก) ลหุ (เสียงเบา) ถือเป็นตำราการประพันธ์ยอดเยี่ยม เพราะเป็นอัจฉริยลักษณ์พิเศษของภาษาไทยที่เดียวในโลกที่สามารถเลือก สรรคำแต่งฉันท์ได้กว้างขวางไพเราะเพราะพริ้งชั้นสูง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ในรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จ พระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จารึกสรรพตำราหมวดวรรณคดีและอักษรศาสตร์ไว้ เช่น กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ตำราฉันท์วรรณพฤติ ฉันท์มาตราพฤติ ซึ่งคงเหลือไว้ที่วัดโพธิ์เพียงแห่งเดียว
“พฤศภกาษร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสนงคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตยทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา” (ฉันท์กฤษณาสอนน้อง: กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)
ดังนั้น “จารึกวัดโพธิ์: มรดกความทรงจำแห่งโลก” จึงหมายถึง ความรู้ ความคิด ประสบการณ์ จินตนาการ เรื่องราวของมนุษยชาติในประเทศไทยที่จารึกลงบนแผ่นศิลาด้วยภาพ ลายลักษณ์อักษรไทยอันสวยงาม ถึงวัฒนธรรม ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และเชื้อชาติหลากหลายแตกต่างที่อยู่ในไทย เพื่อกันลืม และเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เข้าถึง-เรียนรู้-ใช้ประโยชน์เต็มที่
ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นคือ จารึกวัดโพธิ์เป็นความทรงจำ แห่งโลกที่มีความพิเศษแตกต่างจากที่อื่นๆ คือ เป็นศิลาจารึกที่อุดมปัญญาแผนไทยมากกว่า 1,440 รายการ ถูกประดับไว้ตามอารามเปิดโล่งให้คนทั่วไปได้เรียนรู้ มิได้เป็นเอกสารแห่งความทรงจำที่ถูกเก็บไว้ในหอสมุด หรือหอจดหมายเหตุ หรือในพิพิธภัณฑ์อันมืดทึบ
วัดโพธิ์จึงเปรียบเสมือน “มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก” ของประเทศไทย ที่กษัตริย์สร้างระบบการศึกษาเพื่อประชาชนได้เข้าถึงภูมิปัญญาไทยจากจารึกวัดโพธิ์ 1,440 รายการและได้รับการยกย่องจากนานาชาติ ถึงความสำคัญและครอบคลุมครบถ้วนภูมิปัญญาไทยทั้ง 6 หมวดที่ควรรู้ขณะเดินเที่ยววัดโพธิ์ ได้แก่
หนึ่ง-หมวดพระพุทธศาสนา (310 แผ่น) มี 12 เรื่อง คือ เรื่องมหาวงษ์ พระสาวกเอตทัคคะ พระสาวิกา เอตทัคคะ อุบาสิกาเอตทัคคะ พาหิรนิทาน ทศชาติชาดก เวสสันดรชาดก อรรถกถาชาดก ญาณ 10 นิรยกถาและ เปรตกถา
สอง-หมวดเวชศาสตร์ (608 แผ่น) มี 9 เรื่อง ได้แก่ ตำรายา แผนเส้น แผนฝี แผนปลิง แม่ซื้อ ลำบอง ราหู โองการปัดพิษแสลง อาธิไท้โพธิบาท และโคลงภาพ ฤษีดัดตน
สาม-หมวดวรรณคดีและสุภาษิต (341 แผ่น) มี 11 เรื่อง ได้แก่ โคลงกลบท โคลงภาพจำหลักเรื่องรามเกียรติ์ โคลงโลกนิติ เพลงยาวกลบท ตำราฉันท์มาตราพฤติ ตำราฉันท์วรรณพฤติ ฉันท์พาลีสอนน้อง ฉันท์กฤษณาสอนน้อง ฉันท์อัษฎาพรนร สุภาษิตพระร่วง และนิทาน 12 เหลี่ยม
สี่-หมวดทำเนียบ (124 แผ่น) มี 3 เรื่อง ได้แก่ ทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง ทำเนียบสมณศักดิ์ และโคลงภาพต่างคนต่างภาษา
ห้า-หมวดประวัติ (21 แผ่น) มี 2 เรื่อง ได้แก่ ประวัติการบูรณปฏิสังขรณ์แต่ละอาคาร และจารึกชื่อเฉพาะต่างๆ ได้แก่ วิหารทิศพระมหาเจดีย์ฯ และสถูป
หก-หมวดประเพณี (36 แผ่น) มี 1 เรื่อง ได้แก่ ริ้วกระบวนแห่พระกฐินทางสถลมารค
ประชาชนได้เข้าถึงศึกษาหาความรู้แผนไทยทั้งหมดได้โดยสามารถคัดลอกจาก “ศิลาจารึกวัดโพธิ์” ที่ประดับอยู่ในวิหารอาราม บริเวณพื้นที่ระเบียงรอบพระอุโบสถ ระเบียงรอบพระมหาเจดีย์ ศาลาคู่หน้าพระมหาเจดีย์ และศาลานวด โดยแยกจารึกได้ออกเป็นหลายสาขาคณะวิชา เช่น แพทย์แผนไทย (เปรียบเสมือนคณะแพทยศาสตร์) ตำราการแพทย์แผนไทยบำบัดรักษาโรคต่างๆ ได้ผลดีจริง เนื้อหาจารึกครอบคลุมทั้งสมุฏฐานของโรค-ตำรายารักษาโรคแม่และเด็ก-ตำราชื่อยาชื่อโรค-ตำราสรรพคุณยา-ตำรานวดที่ใช้มือ คนไทยรู้จักการนำเส้นประธานสิบมาใช้รักษาโรค เส้นประธานสิบเป็นความรู้ทางการแพทย์แผนไทยที่มีการบันทึกในตำราการนวดไทย ต่างๆ หลายตำราที่จารึกไว้ที่วัดโพธิ์
ปัจจุบันจารึกวัดโพธิ์ที่ “คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำ โลก” สำรวจพบเหลือเพียง 1,440 ชิ้น ถือเป็นของแท้ที่ไร้เทียมทาน (Authenticity) ยากจะหาสิ่งใดทดแทนได้ (Unique & Irreplaceable) และมีความสำคัญต่อจิตวิญญาณไทย (Social Spiritual Community Significance) ที่แสดงอัตลักษณ์ของสังคมชุมชน ถือเป็นสมบัติของชาติที่ควรค่าแห่งการอนุรักษ์ ปกป้องมิให้เสื่อมสูญหายไปและสมควรเผยแพร่ให้คนรุ่นต่อไปได้ประจักษ์ถึง ความมั่งคั่งทางภูมิปัญญาไทยที่สามารถเข้าถึงและนำมาปรับใช้ประโยชน์ ในยุคสมัยใหม่ได้อย่างดี (ค้นหาได้จากเว็บไซต์ www.unesco.org/webworld/mdm)
น่ายินดีที่ประเทศไทยมีมรดกทางปัญญาที่องค์การยูเนสโกยอมรับว่าเป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก” ระดับนานาชาติมากถึง 3 รายการ คือ
หนึ่ง-จารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 (ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2546)
สอง-เอกสารจดหมายเหตุการปฏิรูปการบริหารการปกครองประเทศสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2411-2453 (ขึ้นทะเบียน 29 กรกฎาคม 2552)
สาม-จารึกวัดโพธิ์ (ขึ้นทะเบียน 27 พฤษภาคม 2554)
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร และเขาใหญ่ ดงพญาเย็นเป็น “มรดกโลก” (World Heritage) 2 แห่ง เช่นเดียวกับ “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” (World Heritage) ใน 3 จังหวัดคือ 1. สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร 2. อยุธยากับเมืองบริวาร 3. บ้านเชียง
นี่คือมรดกโลก มรดกธรรมที่ตกทอดมาถึงสังคมโลกและคนไทย รุ่นใหม่ เป็นฐานขุมทรัพย์ทางปัญญาความรู้แท้ๆ ที่รุ่นปู่ย่าตายายได้สร้างไว้ให้อนุชนได้นำไปต่อยอดสร้างสรรค์ Creative Economy ได้เต็มที่และเต็มความภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย!!
|
|
|
|
|