ลองจินตนาการดูนะครับ สมมุติว่า วันหนึ่งเว็บไซต์อย่าง วิกิพีเดีย กูเกิล หรือแม้แต่เฟซบุ๊กต้องถูกปิดตัวลงไป เราจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไร
ล่าสุดมีประเด็นร้อนในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งส่งผลสั่นสะเทือนไปทั่วโลกเช่นกัน เมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายที่เรียกว่า SOPA และ PIPA ผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาโดยเป็นร่าง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และการปลอมแปลงต่างๆ ผ่านเครือข่ายออนไลน์ แต่ร่างกฎหมาย นี้ก็ทำให้เหล่าเว็บไซต์ต่างๆ ออกมาต่อต้าน เนื่องจากกฎหมายมีอำนาจครอบคลุมกว้างไกล และดูเหมือนจะมากระทบการดำเนิน ธุรกิจของเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยมีผลทั้งต่อผู้สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้และผู้ต่อต้านกฎหมาย ซึ่งนำ ไปสู่การแต่งดำไว้ทุกข์ของเว็บไซต์ต่างๆ เฉียดหนึ่งหมื่นเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ และที่ไม่เป็นทางการอีกนับไม่ถ้วน รวมถึงการออกมาประท้วงบนท้องถนนด้วย
SOPA และ PIPA ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มทุนส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรง กำลังจะมาสร้างจุดหักเหที่สำคัญในอุตสาหกรรมไอทีและอินเทอร์เน็ตอีกครั้ง แน่นอนว่า กฎหมาย ของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้ส่งผลต่อประเทศไทยโดยตรง แต่ผลโดยอ้อมนั้นก็หนักหนามากพอแล้ว เราจะปรับตัวอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าคิด และหน่วยงานไม่เพียงแต่เจ้าของเว็บไซต์เท่านั้น ที่ต้องคิดพิจารณา ภาครัฐก็จะต้องเข้ามามีส่วนด้วยเช่นกัน
SOPA หรือ Stop Online Piracy Act เป็นร่างกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรโดยนาย Lama S. Smith ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรจากรัฐเทกซัส เพื่อเพิ่มศักยภาพให้การบังคับใช้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถต่อสู้กับการละเมิดสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์แบบออนไลน์ รวมถึงการปลอมแปลงสินค้าต่างๆ ด้วย ซึ่งร่างกฎหมายนี้ครอบ คลุมถึงการร้องขอให้ศาลสามารถออกคำสั่งระงับเครือข่ายป้ายโฆษณารวมถึงระบบอำนวยความสะดวกของธุรกรรมทางการเงินที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ที่ละเมิดกฎหมายนี้ได้ด้วย ซึ่งรวม ถึงเหล่าเสิร์ชเอ็นจิ้นที่กฎหมายนี้ก็จะบังคับไม่ให้เชื่อมโยงไปที่เว็บไซต์เหล่านั้น
นอกจากนี้ศาลยังสามารถสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไอเอสพี บล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์เหล่านั้นด้วย ร่างกฎหมาย ฉบับนี้ยังขยายขอบเขตของกฎหมายอาญาที่มีอยู่ให้ครอบคลุมถึง การดาวน์โหลดไฟล์ที่มีลิขสิทธิ์แบบผิดกฎหมายให้มีโทษสูงสุดคือ จำคุก 5 ปีด้วย
ซึ่งเหล่าผู้สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ช่วยในการปกป้องตลาดสินค้าที่มีสิทธิบัตร รวมถึงอุตสาหกรรม งานและรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่มีสิทธิบัตร เหล่านี้ นอกจากนี้ยังพยายามที่จะให้กฎหมายมีผลบังคับต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะบรรดาเว็บไซต์นอกประเทศสหรัฐ อเมริกา โดยที่กฎหมายปัจจุบันยังไม่มีผลครอบคลุมไปถึงเว็บไซต์ ที่ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของและตั้งอยู่ภายนอกประเทศสหรัฐอเมริกา
ส่วนผู้ต่อต้านก็ชี้ว่า ร่างกฎหมายนี้ได้คุกคามเสรีภาพในการพูดและส่งผลต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย รวมถึงการทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีผลต่อการบล็อกการเข้าถึงทั้งโดเมน เนมเพียงเพราะการโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์แค่ 1 บล็อกหรือหนึ่งหน้าเว็บเพจเท่านั้น หลายคนเข้ามาเตือนถึงเรื่อง ที่ว่า Proxy server และเว็บไซต์ที่เก็บคอนเทนต์หรือเนื้อหาที่ผู้ใช้ งานเป็นคนโพสต์เนื้อหาหรือรูปภาพเอง เช่น Etsy, Flickr และ Vimeo กำลังจะกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของร่างกฎหมายฉบับนี้ เช่นเดียวกับสมาคมห้องสมุดที่เริ่มกังวลว่า การให้ความสำคัญกับ การบังคับใช้ของกฎหมายฉบับนี้อาจจะทำให้ห้องสมุดมีความเสี่ยง จะถูกฟ้องไปด้วย
นอกจากนี้เหล่าผู้ต่อต้านการออกกฎหมายฉบับนี้ยังชี้ว่า การบังคับให้บริษัทเสิร์ชเอ็นจิ้นต้องลบโดเมนเนมที่มีปัญหาตามกฎหมายนี้จะถือเป็นการเริ่มต้นของการเซ็นเซอร์เว็บไซต์และเป็น การละเมิดสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญของประชาชนชาวสหรัฐ อเมริกาในเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา การพูด และการตีพิมพ์โฆษณา
โดยในวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา เว็บไซต์กว่า 7,000 แห่ง รวมถึงวิกิพีเดียด้วยได้ร่วมกันสวมชุดดำไว้ทุกข์ให้กับกฎหมาย SOPA นี้โดยการทำหน้าเว็บให้ดำมืด หรือบางเว็บไซต์อย่างกูเกิล ก็เอาป้ายสีดำมาคาดที่สัญลักษณ์กูเกิลของบริษัท รวมถึงการใส่ลิงค์และภาพที่แสดงการต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ นอกจากนี้การประท้วงยังต่อเนื่องไปถึงกฎหมายอีกฉบับที่กำลังพิจารณาในวุฒิสภาที่เรียกว่า PROTECT IP Act หรือ PIPA โดยการประท้วงมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตื่นตัวให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเหล่าผู้ใช้กว่า 160 ล้านคนที่จะเห็นผ่านโฆษณาในวิกิพีเดีย รวมถึงอีกหลายร้อย พันล้านที่เห็นผ่านเว็บไซต์อื่นๆ ที่เข้าร่วมประท้วงด้วย โดยเฉพาะ ผู้ใช้งานผ่านกูเกิล
นอกจากนี้ยังมีการรวมเป็นกลุ่มก้อนของการประท้วงในลักษณะอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ในขณะที่กูเกิลก็แจ้งว่า พวกเขาได้รวบ รวมรายชื่อประชาชนกว่า 7 ล้านคนที่จะบอยคอตต์เหล่าบริษัทที่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อประท้วง อย่างเป็นทางการในนครนิวยอร์ก
สำหรับ PROTECT IP Act หรือ Preventing Real Online Threats to Economic Creativity and Theft of Intellectual Property Act หรือ PIPA เป็นกฎหมายที่จะเพิ่มเครื่องมือให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและผู้ถือครองลิขสิทธิ์ในการควบคุมการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือปลอมแปลงสินค้า โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งเหล่าเว็บไซต์ที่ลงทะเบียนนอกประเทศสหรัฐอเมริกา โดย PIPA เขียนขึ้นจากร่างกฎหมายอีกฉบับ คือ COICA (Combating Online Infringement and Counterfeits Act) ซึ่งไม่ผ่านสภาเมื่อปี 2010
ซึ่งกลุ่มสมาคมอุตสาหกรรมการบันทึกเสียงแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลสูงโดยเฉพาะในอุตสาหกรรม บันเทิงก็ได้ออกมาท้วงติงเหล่าผู้ประท้วงในทำนองว่า เป็นเรื่องที่อันตรายและกำลังทำให้ปัญหายุ่งยากหนักหน่วงขึ้นเมื่อแพลทฟอร์ม ที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นประตูสู่ข้อมูลข่าวสารกำลังบิดเบือนข้อมูลเสียเอง และทำให้ผู้ใช้งานได้รับสารที่ผิดๆ ถือเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันการส่งข่าวสารข้อมูลที่ผิดๆ นั้นเมื่อผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลกลับกลายเป็นคนที่เป็นเจ้าของแพลทฟอร์มเสียเองด้วย
นอกจากนี้ เหล่าผู้ที่ต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ได้นำเสนอกฎหมายอีกฉบับในชื่อของ OPEN หรือ Online Protection and Enforcement of Digital Trade Act มาให้เป็นตัวเลือกแทน ซึ่งสุดท้ายในวันที่ 20 มกราคม ทางคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ได้ตัดสินใจเลื่อนแผนที่จะร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไป โดยพวกเขา ยืนยันว่าจะยังคงพยายามหาหนทางที่จะแก้ปัญหาเกี่ยวกับการกระทำผิดออนไลน์เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของชาวอเมริกัน รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ในภายภาคหน้าต่อไป พวกเขาจะเลื่อนการพิจารณากฎหมายสองฉบับนี้ไปจนกว่าจะมีการยอมรับอย่างกว้างขวางต่อแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ถึงแม้ว่า การสนับสนุนให้พิจารณากฎหมาย SOPA และ PIPA จะถือว่า ถูกหยุดไว้ชั่วคราว หรืออาจจะถาวรเลยก็ตาม แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ กฎหมายในลักษณะเดียวกันที่ยังคงอยู่และมี อำนาจไม่ต่างจาก SOPA และ PIPA อย่างเช่นหน่วยงานที่เรียกว่า ICE หรือ Immigration and Customs Enforcement ของสหรัฐอเมริกาที่มีอำนาจในการปิดโดเมนเนมนานแค่ไหนก็ได้ โดย ไม่จำเป็นต้องแจ้งต่อเจ้าของล่วงหน้าโดยอ้างถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือการปลอมแปลงสินค้า ซึ่งล่าสุดก็มีเว็บไซต์ขายส่งเสื้อผ้าโดนปิดไปโดยอ้างถึงการปลอมแปลงเสื้อผ้าโดยไม่ได้สนใจว่าจะขัดแย้ง กับกฎหมายเครื่องหมายการค้าที่มีอยู่
สำหรับประเทศไทย ที่เราคงไม่สามารถหลอกตัวเองว่า เราไม่มีเว็บไซต์ในลักษณะดังกล่าวอยู่เลย มิพักต้องพูดถึงแผงขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์มากมายที่มีกลาดเกลื่อนโดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวของชาวต่างชาติที่หลายๆ คนรวมถึงชาวอเมริกันเองก็เดินทางมาจับจ่ายซื้อสินค้าปลอมแปลงในราคาที่เรี่ยติดดิน เราคงไม่สามารถจัดการกับเรื่องสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์แบบลูบหน้าปะจมูกเหมือนที่ผ่านมาได้ ภาครัฐคงต้องดำเนินมาตรการหลายๆ อย่างเพื่อไม่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแบล็กลิสต์ในฐานะตลาด ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่ต่อเนื่องไปถึงในโลกออนไลน์แล้วด้วย
มาตรการหนึ่งที่อาจจะเป็นไปได้คือการนำเว็บไซต์เหล่านี้เข้าสู่ระบบ นั่นคือ การทำให้การค้าขายออนไลน์มีระเบียบข้อบังคับ ในลักษณะเดียวกับการขายของหน้าร้านอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่า การเก็บภาษีที่เป็นธรรมจะต้องเกิดขึ้นกับโลกออนไลน์เช่นเดียวกัน ซึ่งก็แว่วๆ มาว่า รัฐบาลที่อาจจะต้องถังแตกเพราะพิษภัยจากน้ำท่วมอาจจะเริ่มหันมามองการเก็บภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากตลาดสินค้าออนไลน์กันบ้างแล้ว
ข้อเสนอนี้มิใช่การตามก้นฝรั่ง แต่น่าจะเป็นการจัดระเบียบ และการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับความไม่เท่าเทียมกันของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนในชาติด้วย
หรือไม่ก็ เรามาจัดสัมมนาผลเกือบกระทบจาก SOPA และ PIPA กันก่อนไหม อย่างน้อยเราก็จะมีงานวิจัยหรือเอกสารงานสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้
ซึ่งจะทำให้เราไม่ตกเทรนด์ แต่ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิมต่อไป (ฮา)
อ่านเพิ่มเติม
1. Yglesias, M. (2012), ‘Why Should We Stop Online Piracy?,’ http://www.slate.com/articles/business/small_business/2012/01/sopa_stopping_online_piracy_would_be_a_social_and_economic_disaster_.html
2. McKenna, M. P. (2012), ‘Don’t Stop at SOPA,’ http://www.slate.com/articles/news_and_politics/politics/2012/01/sopa_and_pipa_are_almost_dead_now_can_we_talk_about_the_law_that_already_exists_.html
3. Stop Online Piracy Act, http://en.wikipedia.org/wiki/Stop_Online_Piracy_Act
4. PROTECT IP Act, http://en.wikipedia.org/wiki/PROTECT_IP_Act
|