แม้เพิ่งเปิดการซื้อขายมาได้เพียง 1 ปี มีบริษัทจดทะเบียนอยู่เพียง 2 แห่ง แต่ก็ปรากฏเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นขึ้นกับตลาดหลักทรัพย์ลาวจนได้
จากช่วงสายของวันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม 2553 เสียงเพลง “ตลาดทุน” ได้ดังก้องกระหึ่มบริเวณลานด้านหน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาว (LSX) ในพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ LSX จนถึงช่วงสายของวันอังคารที่ 11 มกราคม 2554 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการซื้อขาย หุ้นใน LSX เป็นวันแรก
ทันทีที่เสียง “หม่ง” ดังจากฆ้องซึ่งถูกตีโดยสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายก รัฐมนตรี ผู้ประจำการรัฐบาล สปป.ลาวในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ค.ล.ต.) ดังกังวานขึ้น
เสียงปรบมือแสดงความยินดีบวกกับเสียงฮือที่ดังอื้ออึงขึ้นบนลานชั้นลอยของ อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเห็นหุ้นของ EDL-GEN และ BCEL ซึ่งเป็น 2 บริษัทนำร่องที่เข้าจดทะเบียนใน LSX มีราคาวิ่งสูงขึ้นเกินกว่าราคาจองซื้อเมื่อครั้งทำ IPO ในวินาทีแรก
มาในปีนี้ ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันพุธที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีของการเปิดซื้อขายหุ้นใน LSX สถานการณ์ในอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินไปตามปกติ
“เราไม่มีพิธีรีตองอะไร มีแต่จัดการ แข่งขันกีฬากระชับมิตรของ 4 ฝ่าย คือตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงาน ค.ล.ต. บริษัท สมาชิก และบริษัทจดทะเบียน” เดชพูวัง มูลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้อำนวยการใหญ่ LSX บอกกับผู้จัดการ 360 ํ
การแข่งขันกีฬา 4 ฝ่าย จัดขึ้นตลอดทั้งวันเสาร์ที่ 14 มกราคม หรืออีก 3 วันถัดมา
(อ่านเรื่อง “กิจกรรมในวาระครบรอบ 1 ปี” ประกอบ
ตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาว ได้เปิดการซื้อขายหุ้นมาครบ 1 ปีเต็มแล้ว แต่แม้จะเป็นเวลาเพียง 1 ปี ผู้บริหารของ LSX ก็ได้เรียนรู้ถึงกลไกของตลาดรองในตลาดทุนในระบบสากลมากพอสมควร
บทเรียนแรกได้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนแรกของการเปิดการซื้อขายหุ้น
ในวันเปิดการซื้อขายอย่างเป็นทาง การ เมื่อวันที่ 11 มกราคมปีที่แล้ว ตลาด หลักทรัพย์แห่ง สปป.ลาวมีหุ้นซื้อขายเพียง 2 บริษัท คือ บริษัทผลิตไฟฟ้าลาว (EDL-GEN) และธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL)
ทั้ง 2 บริษัท เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลลาว โดย EDL-GEN เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจที่เคยอยู่ภายใต้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) แต่เมื่อจะต้องนำ EDL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำเป็นต้องแยกธุรกิจเฉพาะส่วนที่ทำกำไร คือเขื่อนและโรงไฟฟ้า 3 แห่งออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนใน การซื้อหุ้นที่นำออกมาทำ IPO
ส่วน BCEL เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐทำหน้าที่ให้สินเชื่อสนับสนุนธุรกรรม ที่เกี่ยวพันกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ
EDL-GEN มีทุนจดทะเบียน 2,600 พันล้านกีบ นำหุ้นออกมากระจายขายให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 16-27 ธันวาคม 2553 ในราคาหุ้นละ 4,300 กีบ
ส่วน BCEL มีทุนจดทะเบียน 682 พันล้านกีบ นำหุ้นจำนวน 15% ของทุนจดทะเบียนมาทำ IPO โดยใช้วิธีการประมูล จากราคาตั้งต้นที่หุ้นละ 5,000 กีบ ได้ราคา ล่าสุดก่อนการซื้อขายจริงที่หุ้นละ 5,910 กีบ
หากนับเป็นจำนวนหุ้นเพื่อคำนวณ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) EDL-GEN มีจำนวนหุ้นสูงถึงกว่า 800 ล้านหุ้น ขณะที่ BCEL มีจำนวนหุ้นเพียง 180 กว่าล้านหุ้น
หุ้นของ EDL-GEN มีบริษัทหลักทรัพย์ BCEL-KT บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท หลักทรัพย์เคที ซีมิโก้ จากประเทศไทยกับ BCEL เป็นที่ปรึกษา ผู้จัดจำหน่ายและ รับประกันการจำหน่าย
ส่วนหุ้น BCEL มีบริษัทหลักทรัพย์ล้านช้าง บริษัทร่วมทุนระหว่าง Sacom Bank จากเวียดนาม กับธนาคารพัฒนาลาว (ธนาคารของรัฐ) เป็นที่ปรึกษา ผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
ทั้ง BCEL-KT และบริษัทหลักทรัพย์ ล้านช้าง เป็น 2 ใน 3 ของบริษัทสมาชิก LSX โดยอีกบริษัทหนึ่ง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์เอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารส่งเสริมกสิกรรม (ธนาคาร ของรัฐ) กับบริษัทข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นบริษัทของคนลาว
เมื่อเริ่มเปิดการซื้อขายในวินาทีแรก ราคาหุ้น EDL-GEN เปิดที่ 4,700 กีบ ส่วน BCEL เปิดที่ราคา 8,000 กีบ เป็นราคาที่สูงกว่า IPO ทั้งคู่
แต่บรรยากาศในวันแรกของการเปิดซื้อขายว่าดูตื่นเต้นแล้ว ยังไม่เท่ากับอีกหลายวันต่อมา
ด้วยความที่เป็นตลาดเปิดใหม่ คนทั่วไปอาจยังไม่เข้าใจหลักและกลไกในการ ลงทุนมากนัก เหล่าบริษัทสมาชิกของ LSX จึงพยายามกระตุ้นบรรยากาศการซื้อขายให้คึกคัก ส่งผลให้ราคาหุ้นของทั้ง 2 บริษัท พุ่งขึ้นอย่างแรง โดยเฉพาะหุ้นของ EDL-GEN
จากราคาหุ้นตอนทำ IPO ที่ 4,300 กีบ เปิดตลาดวันแรก ขึ้นไปที่ 4,700 กีบ หลังเปิดตลาดไปได้เพียง 1 เดือนเศษ ราคาหุ้น EDL-GEN ขึ้นไปสูงสุดที่ 8,000 กีบในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ หรือขึ้นไปมากเกือบ 100% ของราคา IPO
ด้วยความที่เป็นบริษัทที่มีจำนวนหุ้นมากถึงกว่า 800 ล้านหุ้น ส่งผลให้ดัชนี ราคาหุ้น LSX จากฐานที่ 1,000 จุด ในวันที่ เปิดการซื้อขายวันแรก (11 มกราคม) ได้วิ่งขึ้นไปสูงสุดที่ 1,876 จุด ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์เช่นกัน
“ทำไมถึงขึ้นในช่วงนั้น เป็นเพราะการกระตุ้นของบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ อยากสร้างความตื่นเต้น ก็ทำให้พวกเราตกอกตกใจกันล่ะ ผลสุดท้ายเขาก็หยุด เรา เองก็เตรียมพร้อมที่จะบอก จะเตือนเขาแล้ว ว่าอย่าทำ เพราะมันไม่ได้ขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นเพราะการไปกระตุ้นมัน แต่เพราะเขาอยากทำให้ตลาดมันคึกคัก ซึ่งไม่ควร เขาก็เลยปล่อยให้ลง ทำให้มันเป็นธรรมชาติ ของมันดีกว่า เพราะว่าอะไรที่มันไม่ได้เป็น ธรรมชาติ แต่เราไปทำมัน มันก็จะทำให้เกิดการสูญเสีย มันก็จะมีผู้ได้กับผู้เสีย ผล สุดท้ายคือ พอเราปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ มันก็ลงมาตามธรรมชาติของมัน” เดชพูวังบอก
ถือเป็นบทเรียนที่ปรากฏขึ้นมาในเดือนแรกของการเปิดซื้อขายเลยทีเดียว
เมื่อราคาหุ้นเริ่มปรับตัวเข้าสู่การซื้อขายตามกลไกธรรมชาติ หลังจากวันที่ 22 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา ปรากฏว่าราคาหุ้น EDL-GEN ได้ถูกเทขายออกมา จนในที่สุด ได้หลุดจากระดับราคา 4,300 กีบ เมื่อตอน ทำ IPO ลงมาต่ำสุด เหลือ 4,050 กีบ
การที่ราคาหุ้น EDL-GEN หลุดต่ำกว่าราคา IPO ส่งผลให้ดัชนีราคาหุ้น LSX ได้หลุดจากฐานที่ 1,000 จุดลงมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในวันที่ 9 มกราคม 1 วันก่อนที่ผู้จัดการ 360 ํ มีโอกาสเข้าพบและสนทนา กับเดชพูวัง ราคาหุ้น EDL-GEN ปิดที่ 4,150 กีบ ส่วน BCEL ปิดที่ 7,250 กีบ
ส่วนดัชนี LSX ลงไปต่ำสุดที่ระดับ 886 จุด ในวันที่ 4 มกราคมปีนี้
“1 ปีผ่านมา หากจะสรุปการดำเนิน ของตลาดหลักทรัพย์นั้น ในด้านแผนการ ก็ถือว่าต่ำกว่าแผนการเล็กน้อย เพราะตอน แรกเราคาดว่าดัชนีจะรักษาระดับไม่ให้ต่ำกว่า 1,000 จุดได้แต่มันก็หลุดลง” เป็น การสรุปภาพรวมของเดชพูวัง
จากข้อมูลสถิติของ LSX ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2554 ถึง วันที่ 10 มกราคม 2555 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย 160,052 หุ้นต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ LSX ตั้งไว้ก่อนเปิดการซื้อขาย ว่า ปีแรกน่าจะมีปริมาณการซื้อขายอยู่ในระดับ 2 แสนหุ้นต่อวัน
ดัชนีราคาหุ้น LSX เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1,132.45 จุด
มีนักลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 8,194 บัญชี
ในจำนวนนี้เป็นบัญชีของนักลงทุนต่างประเทศประมาณ 15%
แต่ในแง่ของเม็ดเงินลงทุนที่เข้าไปหมุนเวียนอยู่ใน LSX ว่ากันว่ามากกว่าครึ่ง เป็นเงินของนักลงทุนต่างประเทศ
“ชาวลาวเองก็มี 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ถ้าเทียบทั้งหมด แต่ไม่ใช่เป็นการซื้อขาย เป็นการลงทุนซื้อเก็บ มันก็เลยไม่เคลื่อนไหว คือลักษณะของคนลาว เป็นคนที่ไม่ชอบการ พนัน ทั้งๆ ที่อันนี้ไม่ใช่การพนัน แต่ถ้าหาก อันใดที่เป็นการเสี่ยง เขาจะระมัดระวัง ก็มีส่วนคือความรู้ของพวกเขายังมีไม่เพียงพอ เขาก็เลยระมัดระวัง ซึ่งอันนี้ก็เป็นอันดีให้กับพวกเรา” เดชพูวังอธิบาย
ในจำนวนนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาซื้อขายหุ้นใน LSX นั้น นักลงทุนจาก จีนเป็นชาติที่มีการส่งคำสั่งซื้อขายเข้ามามากที่สุด รองลงมาเป็นนักลงทุนจากไทยและญี่ปุ่นในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ถัดจากนั้น เป็นนักลงทุนจากเวียดนาม
ด้วยความที่เป็นตลาดเปิดใหม่ กระบวนการซื้อขายของ LSX จึงยังไม่เป็นลักษณะ real-time เหมือนกับตลาดหลัก ทรัพย์ในอีกหลายประเทศ แม้ว่าระบบหรือ เทคโนโลยีที่ LSX นำมาใช้สามารถเปิดให้มีการซื้อขายแบบ real-time ได้แล้ว
LSX ใช้กระบวนการซื้อขายโดยวิธีจับ matching ระหว่างคำสั่งซื้อและคำสั่ง ขายเป็นรอบ โดยในช่วงแรกได้เปิดให้มีการ matching เพียงวันละ 2 รอบ คือรอบเช้า และรอบบ่าย
แต่หลังจากวันที่ 10 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี ของการเปิดตัว LSX ได้ขยายความถี่ของการ matching เพิ่มเป็นวันละ 6 รอบ
โดยนักลงทุนต้องโทรศัพท์เพื่อส่งคำสั่งซื้อหรือขายมายังโบรกเกอร์ แล้วโบรกเกอร์จะส่งต่อคำสั่งดังกล่าวเข้าไปยังระบบของ LSX ก่อนจะถึงรอบที่มีการ matching
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ LSX มีแผน การจะขยายช่องทางการส่งคำสั่งซื้อ-ขาย โดยนำระบบออนไลน์เข้ามาใช้ เพื่อให้นักลงทุน โดยเฉพาะที่อยู่ในต่างประเทศ สามารถส่งคำสั่งซื้อขายเข้ามาได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องใช้วิธีการโทรศัพท์เข้ามายังโบรกเกอร์ เหมือนในตอนแรก
“นักลงทุนต่างประเทศ เมื่อโทรเข้า มา มันลำบากเขาในเรื่องของเวลา เพราะโบรกเกอร์ก็มีน้อย ทำให้พวกเราต้องรีบศึกษา และคณะกรรมการบริหารก็มีมติเห็นชอบแล้วว่าต้องทำ”
เงินลงทุนจากต่างประเทศที่ส่งเข้ามาซื้อขายหุ้นใน LSX เป็นตัวกระตุ้นให้ LSX ต้องเร่งปรับกระบวนการซื้อขายให้เร็วขึ้น
นอกจากสถิติที่นักลงทุนต่างประเทศ ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นเข้ามาถึงกว่าครึ่งแล้ว ยังมีสถิติที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจของนักลงทุนต่างประเทศที่มีต่อ LSX
นั่นคือมีนักลงทุนจากกว่า 50 ประเทศที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ LSX (www.lsx.com.la)
นอกจากจีน ไทย ญี่ปุ่น และเวียด นามแล้วยังมีนักลงทุนอีกกว่า 20 ประเทศที่ได้ส่งคำสั่งซื้อขายเข้ามายัง LSX
“หากหลังจากเปิดให้มีการส่งคำสั่งซื้อขายผ่านระบบออนไลน์เข้ามาแล้ว ทำให้มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น แผนขั้นต่อไปของเรา ก็คือการนำระบบการซื้อขายแบบต่อเนื่องเข้ามาใช้ โดยไม่ต้องใช้วิธี matching แบบเดิมอีก” เป็นการพัฒนาขั้นต่อไปที่เดชพูวังบอก
นอกจากการปรับกระบวนการซื้อขายให้มีความรวดเร็วขึ้นแล้ว อีกแผนการหนึ่งของ LSX ก็คือการเพิ่มสินค้าให้มีมากขึ้น
ตามแผนการเบื้องต้น ในปีแรก LSX คาดว่าจะมีรัฐวิสาหกิจเข้ามาจดทะเบียนอีก 1 บริษัท คือรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมลาว (Enterprise of Telecommunications Lao: ETL) โดยมีกำหนดการเข้ามาจดทะเบียนตั้งแต่เมื่อปลายปี 2554
ปรากฏว่าในปลายปีที่แล้วได้เกิดวิกฤติหนี้ภาครัฐของประเทศในกลุ่มยุโรปขึ้น โดยเฉพาะประเทศกรีซ ทำให้ผู้บริหาร ETL ต้องขอ ค.ล.ต.เลื่อนกำหนดการนำหุ้น ออกมากระจายขายกับประชาชนทั่วไปออกไปก่อน เพราะเกรงว่าวิกฤติครั้งนั้น อาจส่งผลกระทบไปถึงตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลก และจะมีผลต่อราคาหุ้น ETL ที่จะนำมากระจาย
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร ETL ได้คาด หมายว่าจะสามารถนำหุ้นออกมาทำ IPO ก่อนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนใน LSX ได้ภายในต้นปีนี้
นอกจากนี้ยังมีบริษัทอีกหลายแห่งที่เริ่มแสดงเจตจำนงอยากเข้ามาเป็นบริษัท จดทะเบียนใน LSX
บริษัทเหล่านี้ อาทิ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติไอเต็ค บริษัทการบินลาว บริษัทยูนิเทล (ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่) ฯลฯ
แม้ตัวเลขสถิติบางอย่าง อาจยังบรรลุตามเป้าหมายที่เคยตั้งเอาไว้ ก่อนเปิดตลาด แต่เดชพูวังก็ยังพอใจต่อผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในปีแรกของ LSX
“ปัจจุบันถือว่าการซื้อขายก็เป็นไปตามธรรมชาติที่แท้จริงแล้ว ทำให้พวกเรา พอใจอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ก็ไม่ถึงขั้นว่าดีใจ เนื่องจากว่าเราเป็นตลาดใหม่ มีบริษัท อยู่แค่ 2 แห่ง ก็ถือว่าเป็นปกติ”
ก้าวที่ 2 ของ LSX จะเป็นเช่นไร คงต้องติดตามกันต่อไปในปีนี้
|