ปีนี้ วันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติของจีนหรือที่คนไทยเรียกกันว่า “ตรุษจีน” มาเร็วกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา คือวันที่ 23 มกราคม 2555 ขณะที่ปีก่อนๆ อย่างเร็วก็ปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์
ตรุษจีนทุกๆ ปี หนึ่งในประเด็นที่สื่อจีนและสื่อ มวลชนทั่วโลกต้องหยิบยกขึ้นมารายงานถึงก็คือ เรื่องการเดินทางกลับบ้านของชาวจีนนับพันล้านคน เนื่องจากเทศกาลซึ่งกินเวลาราวหนึ่งเดือนนี้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่มวลหมู่มนุษยชาติเดินทางย้ายถิ่นกันครั้งมโหฬารที่สุดในรอบปี โดยในปี 2553 มีรายงานว่าช่วงเทศกาลตรุษจีน คนจีนเดินทางกัน 2,200 ล้านเที่ยว มาถึงตรุษจีนปี 2555 มีการคาดการณ์ว่าชาวจีนน่าจะเดินทางกันเพิ่มขึ้นทะลุ 3,000 ล้านเที่ยว
ในทัศนะของผม “เทศกาลตรุษจีน” ของชาวจีน โพ้นทะเลในเมืองไทยกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ดูจะมีความผิดแผกแตกต่างกันไม่น้อย แม้ตรุษจีนของคนจีนจะมีความคล้ายคลึง “สงกรานต์” ของคนไทย หรือ คริสต์มาสของฝรั่ง แต่ตรุษจีนจริงๆ แล้วเป็นมรดกตก ทอดมาจากจีนในยุคสมัยของสังคมกสิกรรม ขณะที่ปัจจุบันสังคมกสิกรรมในจีนหดตัวเล็กลงเรื่อยๆ เพราะ ถูกรุกรานด้วยสังคมอุตสาหกรรมและสังคมเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ว่ากันว่าตรุษจีนคือ ช่วงเวลาที่อากาศหนาวที่สุดของปีและไม่สะดวกต่อการทำการเพาะปลูก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวจีนจึงถือเอาเทศกาลนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง ช่วงเวลาของครอบครัว ช่วงเวลาของการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา นั่งล้อมวงกันในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ร่วมกันทำอาหาร ล้อมวงรับประทานอาหารแกล้มสุราแก้หนาว รวมไปถึงช่วงเวลา แห่งการพบปะญาติผู้ใหญ่ มิตรสหาย และเพื่อนบ้านอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของสังคมกสิกรรม
ผมเชื่อว่าในห้วงหนึ่งของเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ไม่ว่าจะของชนชาติใด ศาสนาใด หรือวัฒนธรรมใด ล้วนแล้วแต่มีคำสอนให้ทบทวนเรื่องราวในอดีต ในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นบทเรียนของการก้าวไปสู่อนาคต ในปีต่อไปด้วยกันทั้งสิ้น
ก่อนตรุษจีนปีนี้ ผมมีโอกาสชมคลิปวิดีโอชิ้นหนึ่งจาก “หว่างอี้” หรือ “NetEase (www.163.com)” หนึ่งในเว็บท่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ซึ่งทีมข่าวของเน็ตอีสสรุปรวบรวมจากการไปสัมภาษณ์สามัญชนคนจีนธรรมดาๆ จากหลากหลายอาชีพ หลากหลายเมืองทั่วประเทศ คัดเลือกและสรุปรวบรวมมาจนเหลือเพียงหกคน พร้อมกับตั้งชื่อให้คลิปวิดีโอชิ้นนี้ว่า "ชีวิตที่ดีที่สุด" ขณะที่ภาษาอังกฤษกลับใช้ชื่อว่า “ผู้รอดชีวิต (The Survivors)”[1]
โจทย์ง่ายๆ ของคลิปวิดีโอดังกล่าวก็คือการสอบถามคนแต่ละคนว่า “เป้าหมายของชีวิตที่ถือว่าเป็น ความฝันอันสูงสุดของพวกเขาคืออะไร?”
อู๋ ปิ่งเฟิง แรงงานชาวจีนที่ย้ายจากบ้านเกิดในมณฑลหูหนานเข้ามาทำงานในเมืองตงก่วน มณฑลกวางตุ้ง หลายปีแล้วแต่ก็ยังไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ดังนั้นความฝันของเขาคือ “การเป็นคนเมืองจริงๆ”
“สิ่งที่ทำให้ผมสับสนที่สุดก็คือ หลังจากเรียน 3 ปีจบอาชีวศึกษามาแล้ว กลับได้เงินเดือนแค่พันกว่าหยวน ขณะที่ตอนนี้รายได้ของพ่อที่บ้านเกิดก็สามพันกว่าหยวน เรียกได้ว่าเงินเดือนของคนเรียนจบอาชีวะยังสู้ชาวนาไม่ได้เลย” อู๋ยิ้มแห้งๆ พร้อมกับบอกว่าเขาคงไม่มีโอกาสได้เป็นคนเมือง เพราะเงินผ่อนบ้านในตงก่วนขั้นต่ำนั้นอยู่ที่ 1,500 หยวนต่อเดือน ไม่นับรวม กับที่เขาต้องเก็บเงินไว้แต่งงานอีก
“ผมตอนนี้ก็ค่อนข้างเครียด คิดว่ายังไงเราก็คงไม่มีโอกาสกลายเป็นคนเมืองกับเขา เหมือนกับเราใช้ชีวิตอยู่บริเวณ ชายขอบของสังคม” สำหรับวิธีการระบายความเครียดของผมก็คือ การเข้าอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เล่นเกม เดือนหนึ่งๆ ผมใช้เงิน ในเน็ตคาเฟ่ราว (ครุ่นคิด) 2 ร้อยถึง 3 ร้อยหยวน”
ในความหมายของชาวจีน การเป็น "คนเมือง" นั้นมิใช่การได้ทำงานในเมือง แต่คือการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยและได้ทะเบียนบ้านในเมืองนั้นๆ ซึ่งหมายถึงสวัสดิการต่างๆ ที่จะตามมาตั้งแต่ความสะดวกในการหางาน การรักษาพยาบาล โรงเรียนของลูก ฯลฯ ขณะที่สำหรับคนไทยแล้วเรื่องทะเบียนบ้านไม่ใช่ปัญหาสำหรับเรา แต่ในเมืองจีนเรื่องที่ดูง่ายๆ เช่นนี้ กลับกลายเป็น “ความใฝ่ฝันอันสูงสุด” ของพวกเขาเลยทีเดียว
คลิปวิดีโอ “ชีวิตที่ดีที่สุด” นอกจากจะถ่ายทอดความใฝ่ฝันของคนงานหนุ่มในเมืองตงก่วนแล้วยังมีเรื่องราวของหลี่ คุนซาน คนขับแท็กซี่ในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียงที่ทุกเช้าก่อนออกรถจะภาวนาว่าอยากเก็บเงินจากการขับแท็กซี่เพื่อกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดในมณฑลเหอหนาน ทว่า กลับประสบ กับปัญหาราคาน้ำมันแพงจนทำให้หนทางชีวิตของคนขับแท็กซี่ อย่างเขาแคบลงทุกทีๆ
“เดิมทีราคาน้ำมันลิตรละ 4 หยวน ตอนนี้เพิ่มเป็นลิตรละ 7 หยวน ทำให้เดือนหนึ่งๆ ผมมีรายได้ลดลงประมาณ 1,500 หยวน... ครอบครัวผม 4 ชีวิต ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก พอถึงปลายปีจะเอาเงินที่ไหนกลับบ้านตัวผมเองก็ไม่ได้กลับบ้านฉลองตรุษจีนมาสามปีแล้ว”
นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวความฝันของปัญญาชนอย่างลิ่น ฉี จักษุแพทย์ในโรงพยาบาลเด็กปักกิ่ง แม่ของลูกสาววัย 1 ขวบ 2 เดือนที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำเพราะต้องตรวจคนไข้อย่างน้อย 80 คนต่อวัน ต้องทำงาน 24 ชั่วโมงติดต่อกันสัปดาห์ละอย่างน้อย 2 วัน และไม่มีโอกาสได้ลาพักเลยตลอดปี ความฝันเล็กๆ ของเธอคือได้นอนเต็มที่สัปดาห์ละสองครั้ง ส่วนความฝันใหญ่ๆ ของเธอคือ การได้มาเที่ยวเกาะภูเก็ต ในประเทศไทย
“ลูกสาวของฉันตอนนี้ก็ 1 ขวบ 2 เดือน ก็เป็นช่วง เริ่มหัดพูดพอดี คำแรกที่เธอพูดได้ก็คือ ‘พ่อ’ คำที่สองก็คือ ‘แม่’ ส่วนคำที่สามกลายเป็นคำว่า ‘งาน’ (หัวเราะแห้งๆ)... จริงๆ (น้ำตาซึม) ที่รู้สึกเสียใจมากที่สุดก็คือแม่ของฉัน เธอ บอกว่าเสียใจที่ปล่อยให้ฉันทำอาชีพนี้ บ่อยครั้งบ่นว่าฉันต้อง ทำงานหนักเกินไปแล้ว” จักษุแพทย์ลิ่นกล่าวเสียงสะอื้น
ปัญญาชนอีกคนหนึ่งที่แสดงความใฝ่ฝันถึงการหลุด พ้นออกจากวัฏจักรของความลำบากในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมจีนยุคปัจจุบันก็คือ หลิน ซาน พนักงานบริษัทไอทีแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง
ก่อนจะตอบคำถามว่าความใฝ่ฝันอันสูงสุดของเธอคืออะไร เธอบอกว่าหลังจากทำงานในเมืองใหญ่มาหลายปี เธอค้นพบว่า เดิมทีที่คิดว่าเหตุผลของการทำงานหาเงินก็เพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการนั้นเป็นความคิดที่ผิด เพราะความเป็นจริงก็คือ ทุกวันนี้เธอกินข้าวและใช้ชีวิตก็เพื่อที่จะทำงาน
“ตอนที่ฉันทำงานเป็นครูโรงเรียนมัธยม โรงเรียนเปิดสารคดีเกี่ยวกับคุณครูตัวอย่างสองคนให้ดู เนื้อหาของสารคดีเล่าว่าครูสองคนนี้ทุ่มเทและเสียสละให้กับงานมากแค่ไหนจนกระทั่งเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เพราะทำงานหนักเกินไป สารคดีนี้พยายามบอกพวกเราว่าคุณครูทั้งสองคนนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของคุณครูทุกคน... ซึ่งข้อสรุปเช่นนี้ไร้สาระมาก ฉันถามว่าทำไมงานชิ้นเดียวคุณต้องแลกมาด้วยชีวิตของคุณทั้งชีวิต คนอื่นจึงบอกว่าคุณทำหน้าที่ได้ดี ทำหน้าที่ ได้สมบูรณ์?” พนักงานไอทีและอดีตครูมัธยมในวัย 32 ปีตั้งคำถาม
ด้วยเงื่อนไขที่บีบรัดเช่นนี้ หลิน ซานจึงกล่าวกับเน็ตอีสว่า ความใฝ่ฝันของเธอคือการได้ใช้ชีวิตตามที่ตัวเอง ต้องการ ชีวิตที่เรียบง่ายไม่ต้องหรูหรา แต่ในประเทศจีนคนที่สามารถจะทำอย่างนี้ได้ต้องใช้ความพยายามและเสียสละอะไรมากมายมหาศาล นี่เองทำให้เธอเริ่มมีความคิดว่าจะอพยพไปอยู่ต่างประเทศ
ทัศนะของหลิน ซาน และคนอื่นๆ ในคลิปวิดีโอ “ชีวิตที่ดีที่สุด” หากมองให้ลึกลงไปแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงการสูญเสียความเชื่อมั่นในระบบและกลไกในการประสบความสำเร็จของกลุ่มชนชั้นกลางในประเทศจีน กลุ่มประชากรที่กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระบบเศรษฐกิจ ตลาดสังคมนิยม
เมื่อสามปีที่แล้วนิตยสารนิวส์วีกเคยตีพิมพ์รายงานเรื่อง To Save the Chinese Dream ที่กล่าวว่า ความฝัน ของคนจีนส่วนใหญ่ หรือ Chinese Dream ที่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้แตกต่างไปจากความฝันของคนอเมริกัน หรือ American Dream เท่าใดนัก นั่นคือความศรัทธาต่อการเรียนสูงและการทำงานหนักว่าจะทำให้ตนเองประสบ ความสำเร็จ มีครอบครัวที่มีความสุข และมีชีวิตที่สุขสบาย
“อเมริกามี American Dream คือการเรียนสูงๆ ขยันทำงาน แล้วคุณจะประสบความสำเร็จและร่ำรวย จีนก็มีความฝันในแบบของจีนที่ยึดมั่นมานานแล้ว นับตั้งแต่ที่จักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นได้ทรงริเริ่มระบบการสอบจอหงวนเป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการคัดเลือกคนเข้ารับราชการตามสติปัญญาและความสามารถ มิใช่ด้วยชาติกำเนิด Chinese Dream ก็ไม่ต่าง จาก American Dream ซึ่งมีศรัทธามั่นคงต่อการทำงาน หนักเท่าใดนัก แต่ดูเหมือนว่าจีนอาจจะให้ความสำคัญกับคุณค่าของการศึกษามากเป็นพิเศษ การศึกษาเป็นเหมือนเครื่องรับประกันให้คนหนุ่มสาวชาวจีนสามารถถีบตัวเองขึ้นมาจากความยากจน และมีชีวิตที่ดีกว่าทั้งสำหรับตัวพวกเขาเองและพ่อแม่”[2]
สามปีก่อนนิวส์วีกพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาหนึ่ง ที่กำลังจะปะทุในสังคมจีนก็คือ ปัญหาการตกงานของบัณฑิตจบใหม่ในประเทศจีน ซึ่งมีกว่าปีละ 1.5 ล้านคน โดยกล่าวเตือนว่าปัญหาดังกล่าวหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีก็อาจจะลุกลามไปกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และสุดท้ายอาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายแบบจัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 (ค.ศ.1989)
หลังจากล่วงเลยไปสามปี นอกจากปัญหาดังกล่าว จะไม่ได้รับการแก้ไข สถานการณ์การสูญเสียศรัทธาต่อระบบและค่านิยมดังกล่าวดูเหมือนจะรุนแรงยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการประจำปี 2555 ของจีน เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 มีผู้เข้าสอบมากถึง 1.33 ล้านคน ขณะที่มีตำแหน่งที่เปิดรับเพียง ราว 18,000 ตำแหน่ง หรือเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ ก็คือ ในจำนวนผู้เข้าสอบทุก 74 คน จะมีคนที่มีโอกาสได้เข้ารับราชการเพียง 1 คน[3] ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่นับรวมกับการที่ 18,000 ตำแหน่งราชการดังกล่าวต้องถูกเบียดบังไปจากระบบเส้นสาย หรือกวนซี่ ที่นับวันจะขยายตัวตามความใหญ่โตของระบบราชการจีนที่ครอบงำระบบเศรษฐกิจอยู่
นิตยสารนโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy) เดือนธันวาคม 2554 พยายามชี้ให้เห็นว่า นอกจากปัญหา ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ปัญหาใหญ่อีกปัญหาที่ชนชั้นกลางในประเทศจีนกำลังประสบอยู่ก็คือ “ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางโอกาส”
เจ้า จิ้ง เจ้าของนามปากกา “ไมเคิล อันติ” บล็อกเกอร์ชื่อดังและสื่อมวลชนจีนที่สื่อตะวันตกชอบอ้างอิงถึงบ่อยๆ กล่าวกับนิตยสารนโยบายต่างประเทศว่า เวลานี้ในประเทศจีนมีคนกลุ่มหนึ่งที่ร่ำรวยขึ้นเพราะชาติกำเนิดของพวกเขา ไม่ใช่เพราะว่าสิ่งที่พวกเขาลงมือทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จ คนกลุ่มนี้เดินตามกฎที่ผิดแผกแตกต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม
“ทุกวันนี้คนรวยในจีนประพฤติตัวเหมือนสมัยศักดินา ตอนนี้ทุกคนในจีนรับรู้ว่าการจะได้ตำแหน่งๆ หนึ่งนั้นมิใช่เพราะการเรียนหรือการทำงานหนักอีกต่อไปแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าพ่อคุณเป็นใคร... แต่ก่อน มหาวิทยาลัยยังเป็นช่องทางในการช่วยยกระดับตัวคุณให้ขึ้นไปสู่ชนชั้นปกครองได้ แต่ทุกวันนี้ ชนชั้นปกครองกลับยกระดับคนในครอบครัวตัวเองขึ้นแทน” เจ้า จิ้งกล่าว[4]
จริงๆ แล้ว ตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมของสมการอำนาจ อันนำไปสู่ความร่ำรวย หรือความร่ำรวยที่นำมาสู่การแสวงหาอำนาจในประเทศจีนนั้นก็ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนไกล เพราะแม้แต่ครอบครัวของเหล่าผู้นำจีนเอง ก็เข้าข่ายของสมการอำนาจและความร่ำรวยดังกล่าวเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ หู จิ่นเทา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน บุตรชายของเขา หู ไห่เฟิง วัย 40 ปี ในอดีตก็เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ และบริษัทที่เขาเป็นประธานก็มีข่าวเกี่ยวพันกับปัญหาการติดสินบนในหลายประเทศ
ในห้วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจตลาดสังคม นิยม อาจดำเนินมาได้ค่อนข้างราบรื่นกับระบบการปกครองแบบ พรรคเดียวภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีน ทว่า เมื่อชนชั้นกลางของจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นและเพิ่มสัดส่วนกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจีนในอนาคตข้างหน้า พรรคคอมมิวนิสต์จีนคงต้อง เตรียมแผนการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงใหญ่อะไรสักอย่างเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาไว้ซึ่ง “ความฝัน” ของชนชั้นกลางของชาวจีน และความอยู่รอดของตัวเอง
[1] ชมคลิปวิดีโอ "ชีวิตที่ดีที่สุด (The Survivors)" โดย NetEase ได้ทาง http://news.163.com/special 2011 ending/(ภาษาจีน) หรือ http://youtube/GULxJly8mpM (มีบรรยายภาษาอังกฤษ)
[2] To Save the Chinese Dream, Newsweek, 6 Feb 2009.
[3] ชาวจีน 1.33 ล้าน สอบเข้ารับราชการ แย่ง 18.000 เก้าอี้, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2 ธันวาคม 2554.
[4] Christina Larson, The End of the Chinese Dream, Foreign Policy, 21 Dec 2011.
|