|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
จีนตั้งเป้าเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศในทศวรรษหน้า
ปกติแล้วโครงการอวกาศมักจะมีเป้าหมายเป็นการเดินทางไปยังที่ที่ยังไม่เคยมีใครไปถึงมาก่อน แต่ดูเหมือนว่าโครงการอวกาศของจีนจะคิดต่าง โดยจีนมีแผนที่จะเดินทางไปยังส่วนของอวกาศที่มีคนเคยไปมาแล้ว
จีนเพิ่งเปิดเผยนโยบายอวกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งปรากฏว่าจีนต้องการจะส่งคนไปยังดวงจันทร์ มนุษย์คนล่าสุดที่ได้ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์คือ Eugene Cernan ชาวอเมริกัน ตั้งแต่เมื่อปี 1972 หากดูจากนโยบายอวกาศ ใหม่ล่าสุดของจีนดังกล่าว ซึ่งเป็นนโยบายอวกาศอย่างเป็นทางการ ของจีนเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา มนุษย์คนต่อไป ที่จะได้ไปเหยียบดวงจันทร์คงจะเป็นคนจีน
ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศของจีนได้ถกกันถึงภารกิจเหยียบดวงจันทร์นี้มานานแล้ว และครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่จีนยอมรับอย่างเป็นทางการว่า มีแผนการจะส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์จริงๆ ไม่ได้เพียงอวดโอ่แต่อย่างใด ในเอกสารนโยบายดังกล่าว จีนระบุแผนการนี้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างจริงจัง หากดำเนินการสำเร็จ จีนจะกลายเป็นมหาอำนาจทางอวกาศเทียบชั้นสหรัฐฯ และรัสเซีย
เป้าหมายสำหรับ 5 ปีต่อจากนี้ จีนจะปรับปรุงจรวด Long March ของจีนเอง ซึ่งเป็นจรวดตัวหลักที่จีนใช้ในการส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศ จรวด Long March-5 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด จะถูกปรับปรุงให้สามารถบรรทุกได้ถึง 25 ตัน ขึ้นไปสู่วงโคจรระดับต่ำของโลก ซึ่งเป็นน้ำหนักบรรทุกที่มากกว่ากระสวยอวกาศของสหรัฐฯ บรรทุกได้กว่า 600 กิโลกรัม
นโยบายอวกาศใหม่ของจีน ระบุต่อไปว่า จะยกระดับเครือข่าย ดาวเทียมของจีน โดยมีแผนจะส่งดาวเทียมสำรวจโลกความคมชัด สูงหลายดวงตลอด 5 ปีข้างหน้า และภายในไม่เกินปี 2020 ระบบดาวเทียมนำทางและระบุพิกัดบนพื้นโลกของจีน ที่มีชื่อว่า Beidou ซึ่งจะประกอบด้วยดาวเทียมทั้งหมด 35 ดวง และเทียบได้กับระบบดาวเทียมระบุพิกัด GPS (Global Positioning System) ของสหรัฐฯ น่าจะพร้อมใช้งานได้ นั่นจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ ของกองทัพจีนในการควบคุมและบัญชาการ
จีนยังมีแผนจะสร้างความก้าวหน้าให้แก่ Tiangong-1 สถานีอวกาศที่จีนเพิ่งส่งขึ้นไปยังอวกาศ และจีนจะส่งยานอวกาศไร้มนุษย์ขึ้นไปยังดวงจันทร์หลายเที่ยว โดยจะเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับมาด้วย รวมทั้งจะส่งยานอวกาศพร้อมนักบินขึ้นไปใช้ชีวิตในวงโคจร เพื่อทดสอบระบบสนับสนุนการมีชีวิตในอวกาศ
อย่างไรก็ตาม มีอย่างหนึ่งที่จีนคงไม่กล้าจะแตะต้อง นั่นคือ สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ซึ่งริเริ่ม โดยสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ดูเหมือนจะไม่อยากให้จีนมายุ่ง เพราะไม่ต้องการเปิดเผยเทคโนโลยีให้จีนรู้ นโยบายอวกาศของจีนล่าสุด นี้ จะว่าไปก็ดูเหมือนจะเป็นการประชดอเมริกาอยู่กลายๆ ว่า จีนขอทำในสิ่งที่อเมริกาไม่ทำแล้ว อย่างเช่นการส่งคนไปดวงจันทร์ หรือเพียงโครงการอวกาศที่ส่งคนขึ้นไปอยู่ในวงโคจรได้เท่านั้น
แม้ว่าการส่งคนไปยังอวกาศจะเป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์ เพราะภารกิจทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญทุกอย่างบนอวกาศนั้น สามารถใช้หุ่นยนต์ทำแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด แต่หากมนุษย์คนต่อไปที่จะเหยียบดวงจันทร์เป็นคนจีน หลายคนก็อาจจะมองเรื่องนี้เป็นชัยชนะในเชิงสัญลักษณ์ของจีนที่สามารถแซงหน้าสหรัฐฯ ได้อีกครั้ง
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์
|
|
|
|
|