แมคเคน เวิลด์กรุ๊ป บริษัทโฆษณาระดับโลก เผยผลสำรวจล่าสุดเรื่อง “ข้อเท็จจริง 12 ประการเกี่ยวกับโลกโซเชียล”ตอกย้ำพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่นิยมใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กพีอาร์ตัวเอง มีความเป็นแบรนด์ส่วนตัวมากขึ้น ค่านิยมตามกระแสสังคมเป็นพลังการตลาดที่สำคัญ แนะแบรนด์สินค้าควรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตส่วนตัวของผู้บริโภค
เมื่อเร็วๆนี้ในงานอินเตอร์เนชั่นแนล คอนซูเมอร์ อิเล็คโทรนิคส์ โชว์ ลาส เวกัส รัฐเนวาด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดโดยแมคเคน เวิลด์กรุ๊ป ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากการศึกษาวิจัยใน 19 ประเทศ โดยใช้ข้อมูลในการศึกษามาจากกลุ่มสนทนากว่า 30 กลุ่ม และกว่า 12, 000 จากผลการศึกษาออนไลน์ โดยข้อเท็จจริงทั้ง 12 ประการนี้ คือข้อมูลสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าโลกโซเชียลในปัจจุบัน มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคและแบรนด์เท่าๆ กัน
ข้อแรก-นิยามของคำว่า “ส่วนบุคคล” และ “สาธารณะ” ถูกเปลี่ยนแปลงไป
ความนิยมของโซเชียล เน็ตเวิร์คที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและนิยามสำหรับคำว่า ‘ส่วนบุคคล’ และ ‘สาธารณะ’ โดย 75 เปอร์เซ็นต์ของผลสำรวจทั่วโลกเห็นตรงกันว่า ในปัจจุบัน ผู้คนเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์มากจนเกินไป และมีแนวโน้มที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในมากรูปแบบและมากปริมาณ เนื่องมาจากเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นตัวผลักดันทางความคิด
ข้อสอง- การสอดแนมเรื่องของผู้อื่น ไม่ใช่เรื่องน่าขายหน้าอีกต่อไป
การถือกำเนิดขึ้นของ เฟสบุ๊ค โฟร์สแควร์ ทวิตเตอร์ และโซเชียล มีเดียอื่นๆ ทำให้กำแพงกั้นความเป็นส่วนตัวลดลง โดยผลสำรวจของ แมคแคน พบว่า 1 ใน 3 คน มีวิธีค้นคว้าข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่นที่แทบจะเป็นคนแปลกหน้าผ่านกูเกิ้ล ในขณะที่ 1 ใน 4 คนอ่านข้อความต่างๆ ของเพื่อนหรือแฟน
ข้อสาม-คนในยุคปัจจุบันใช้เวลาในเฝ้าสังเกตข้อมูลเกี่ยวกับ “แบรนด์ส่วนตัว” มากขึ้น
ผู้บริโภคทั่วโลกยอมรับว่า ได้สร้างบุคลิกหลายรูปแบบขึ้นบนโลกออนไลน์ โดยจะปรุงแต่งข้อความที่พวกเขาจะส่งขึ้นไปยังโลกออนไลน์ ให้เหมาะสมระหว่างข้อความสำหรับครอบครัวและเจ้านาย และข้อความที่ต้องการสร้างความประทับใจกับเพื่อนหรือคนรู้จักที่อยู่บนโลกออนไลน์ ตัวอย่างของพฤติกรรมนี้ ปรากฎให้เห็นชัดเจนในประเทศอินเดีย โดย 35 เปอร์เซ็นต์ของชาวอินเดีย มีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับตนเองที่ตนสร้างขึ้นบนโลกออนไลน์ผ่านกูเกิ้ล เดือนละมากกว่า 1 ครั้ง ขณะที่ทั่วโลกมีอัตราอยู่ที่ 17 เปอร์เซ็นต์
ข้อสี่- ผู้บริโภคมีวงจรเพื่อนฝูงที่ใหญ่และซับซ้อนกว่าเดิม
ความหมายของคำว่า ‘เพื่อน’ สำหรับคนรุ่นใหม่ได้ถูกเปลี่ยนไปแล้ว คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะสร้างวงจรเพื่อนฝูงที่ใหญ่และมีความหลากหลายมากขึ้น กล่าวคือ คนรุ่นใหม่ชอบที่จะมีเพื่อนหลากหลายกลุ่มแต่ก็เชื่อมโยงกันในวงสังคม ค่านิยมของการมีเครือข่ายเพื่อนกลุ่มใหญ่ ได้เข้ามาแทนที่ความต้องการที่จะมีเพื่อนสนิทเป็นกลุ่มเล็กเพียงไม่กี่คน แมคแคนยังสำรวจพบว่า 47 เปอร์เซ็นต์ของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกต้องการเป็นที่จดจำในฐานะบุคคลที่มีเครือข่ายเพื่อนฝูงมาก ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ
ข้อห้า- แม้วงจรเพื่อนจะซับซ้อนบนโลกออนไลน์ แต่ผู้บริโภคยังคงสามารถแยกแยะได้ว่า ใครคือมิตรแท้
โลกออนไลน์ทำให้เกิดเพื่อนปลอมขึ้นมามากมาย ซึ่งในประเทศสิงคโปร์มีคำศัพท์เฉพาะสำหรับเพื่อนกลุ่มนี้ว่า “เพื่อนใช้แล้วทิ้ง” ในขณะที่ชาวออสเตรเลียเรียกว่า “เพื่อนตามหน้าที่” อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจได้แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนว่าคุณสมบัติข้อใดแสดงความเป็นเพื่อนแท้ คนรุ่นใหม่ 42 เปอร์เซ็นต์ใช้คำว่า “จริงใจ” ในการนิยามคำว่าเพื่อนแท้ ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่าคำว่า “แท้” ซึ่งได้รับการเลือกเป็นลำดับที่สองที่ 22 เปอร์เซ็นต์ กว่าเกือบสองเท่า
ข้อหก-ความต้องการในการประชาสัมพันธ์ตนเองยังคงเกิดขึ้นเสมอ
เนื่องจากผู้คนในโลกออนไลน์หันมาให้ความสำคัญกับการจัดการ “แบรนด์ส่วนตัว” ของตนเองบนโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งบางครั้งบทสนทนาเหล่านี้ก็เป็นเหมือนการเขียนแนวกระแสสำนึก วัยรุ่นชาวอินเดียคนหนึ่งบอกว่า “ไม่ว่าฉันจะทำอะไรอยู่ มันจะไม่มีความหมายเลยถ้าไม่มีใครพูดถึงมัน” ผู้บริโภคจากทวีปอเมริกาใต้เองก็กำลังคลั่งไคล้กับเทคโนโลยี และเริ่มที่จะแชร์เรื่องราวในชีวิตของพวกเขามากขึ้น ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ของชาวชิลี และ 77 เปอร์เซ็นต์ ของชาวอินเดียมีความเห็นตรงกันว่าพวกเขาชอบแชร์ความนึกคิดและความคิดเห็นของตนเองกับเพื่อนออนไลน์ ขณะที่มีชาวสหราชอาณาจักร 46 เปอร์เซ็นต์ และชาวญี่ปุ่น 31 เปอร์เซ็นต์ ที่คิดเช่นนั้น
ข้อเจ็ด- ผู้คนในโลกโซเชียลทุกคนมีกลุ่มผู้ติดตามอยู่ไม่มากก็น้อย
บทบาทของแบรนด์สินค้า คือการสร้างสรรค์ประสบการณ์สุดพิเศษให้กับผู้บริโภค เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้เผยแพร่หรือโพสต์เรื่องราวประสบการณ์เหล่านี้บนโลกออนไลน์ แบรนด์สินค้าสามารถชนะได้ด้วยการสร้างวิธีทำให้ผู้บริโภคดูดีและสนุกสนานในหมู่เพื่อนและผู้ติดตามบนโลกออนไลน์ได้
ข้อแปด- อีกไม่นาน ผู้คนจะสนใจแต่เรื่องราวของตัวเองบนโลกออนไลน์
นับตั้งแต่มีการเปิดตัวของเฟสบุ๊ค ไทม์ไลน์ ผู้คนต่างก็ให้มีความสนใจในเรื่องของตนเองบนโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น วัยรุ่นชาวอังกฤษคนหนึ่งกล่าวว่า “เราจะกลายเป็นผู้ปกครองที่ดีกว่าพ่อแม่ของพวกเรา เพราะเมื่อเราโต เราก็ยังจะจำได้ว่า ตอนที่เป็นวัยรุ่นมันเป็นอย่างไร”
ข้อเก้า- แบรนด์สินค้าควรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตส่วนตัวของผู้บริโภค
แบรนด์สินค้า ได้สร้างเหตุการณ์และประสบการณ์ต่างๆ ให้กับผู้บริโภค โดยที่ผู้บริโภคก็มีวงจรชีวิตในแต่ละขั้นตอน มีจุดเริ่มต้นจนถึงจุดจบ เริ่มตั้งแต่ความคาดหวัง ประสบการณ์ ควันหลง และความทรงจำเกี่ยวกับแบรนด์สินค้า ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะสะท้อนและถ่ายทอดผ่านโซเชียล มีเดีย
ข้อสิบ- ค่านิยมในการทำตามกระแสสังคมเป็นพลังทางการตลาดที่สำคัญมาก
ค่านิยมในการทำตามกระแสสังคมคือสัญชาตญาณของมนุษย์ในการทำสิ่งที่คนอื่นๆ นิยมทำ ผู้คนทั่วโลกราว 90 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงอายุ 16-30 ปี เห็นตรงกันว่า “หากบริษัทฯ หรือแบรนด์ทำให้ฉันประทับใจได้ในทางใดทางหนึ่ง ฉันก็ใช้ความพยายามในการป่าวประกาศให้เพื่อนรู้” และเนื่องจากกลยุทธ์แบบปากต่อปากและการเขียนรีวิวออนไลน์ยังคงเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลและความน่าเชื่อถืออย่างสูงในกระบวนการตัดสินใจของผู้บริโภค มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่แบรนด์ต่างๆ จะพยายามสร้างชุมชนที่ชื่นชมในแบรนด์และพร้อมที่จะปกป้อง
ข้อสิบเอ็ด- หากว่าแบรนด์จะสร้างปากเสียงให้กับตัวเอง ก็ควรจะหาคนที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ
เมื่อทำการสำรวจกับผู้บริโภคทั่วโลก เราก็ได้พบว่าเราสามารถแบ่งผู้บริโภคออกได้เป็นห้ากลุ่มตามทัศนคติของพวกเขาที่มีต่อความเป็นส่วนตัวและการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์และธุรกิจต่างๆ กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่า “กลุ่มฉลาดช็อป” ที่เข้าใจถึงความสมดุลย์ด้านการแชร์ข้อมูลข่าวสาร คนกลุ่มนี้มีอยู่ราว 37 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลก (และราวๆ 37 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรชาวสหรัฐ) ยินดีที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับแบรนด์และธุรกิจต่างๆ แต่ก็อยากได้บางอย่างเป็นสิ่งตอบแทนบ้าง
ข้อสิบสอง- เวลาที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับแบรนด์ ลูกค้าก็อยากได้สิ่งที่มีค่ากลับมา
ผู้บริโภคทั่วโลกราว 86 เปอร์เซ็นต์ เข้าใจตรงกันว่า มีผลประโยชน์มากมายสำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมกับแบรนด์ด้วยการให้ข้อมูลต่างๆ กับแบรนด์นั้น คนส่วนใหญ่ หรือประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ เผยว่าผลประโยชน์อย่างหนึ่งที่พวกเขาได้รับจากการแชร์ข้อมูลและการเข้าไปมีส่วนร่วมของแบรนด์ นั่นก็คือการได้ซื้อสินค้าในราคาพิเศษหรือราคาโปรโมชั่น (ซึ่งเป็นความนึกคิดที่คล้ายกับ”กลุ่มฉลาดช็อป”) และผู้บริโภคราว 49 เปอร์เซ็นต์ พบว่าคงเป็นการดีที่แบรนด์จะสามารถเสนอสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของพวกเขาแต่ละคนได้