สินค้าอุปโภค-บริโภคคือสินค้าที่เราใช้อยู่ประจำวัน ข้อมูลที่นำมาอ้างอิงในการอภิปรายได้มาจาก
4 แห่ง คือบริษัทดีมาร์แห่งประเทศไทย, สถาบัน บี ไอ ซี อาร์, จากกระทรวงต่าง ๆ
และข้อมูลจากการพบปะสังสรรค์ระหว่างนักการตลาด
การวัดภาวะสินค้าอุปโภค-บริโภค สามารถวัดได้จาก Total Market ของตลาดสินค้าอุปโภค-บริโภค
ซึ่งปรากฏว่าในปี 2528 ไม่หดตัวลงกลับมีการขยายตัวมากในบางตลาดและขยายตัวน้อยในบางตลาด
ซึ่งขึ้นอยู่กับขั้นตอนการพัฒนาของสินค้านั้น ตลาดเท่าที่สังเกตจะขยายตัวประมาณ
3-5% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่สูงเกินกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ต้องประหยัด
การขยายตัวของตลาดขึ้นอยู่กับองค์ประกอบคือ รายได้ การแข่งขันความสร้างสรรค์
ในการขยายตัวของตลาด
รายได้ของคนที่หายไปเพราะนักวิชาการบอกว่าคนไทยขายข้าวไม่ได้ราคา แต่ในภาคปฎิบัตินั้นอาจจะไม่จริงเพราะในขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในระดับ
4% นั้น ถือว่าสูงแล้วจนสามารถเลี้ยงอุตสาหกรรมอุปโภค-บริโภคได้ดีพอประมาณ
โดยมีการทดสอบแบ่งเขตเป็นกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยต่างจังหวัดแบ่งเป็นเขตเทศบาลและเขตชนบท
ปรากฏว่าการใช้จ่ายของประชากรในเขตชนบทนั้นมีการขยายตัวสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้และการขยายตัวนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี
2523 ถึงปัจจุบัน อาจเป็นได้ว่าผลผลิตการเกษตรของเรามีปัญหา แต่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้คิดถึงว่าเกษตรกรอาจมีการเพิ่มผลผลิตโดยที่เราไม่ทราบ
เช่น เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หรือตะวันออกกลางแล้วนำเงินกลับมา ดังนั้นตามทฤษฎีแล้วคนชนบทจนไม่มีเงินซื้อของ
แต่ในเมื่อเขามีเงินซื้อของได้นั้นเขาอาจจะไม่จนอย่างที่เราคิดไว้ก็ได้
เรื่องการแข่งขันในปี 2528 นั้นมีมากพอประมาณ เช่น มีการเตือนความจำเรื่องสินค้าอยู่เสมอ
รายการพิเศษกระตุ้นคนใช้เพิ่มขึ้น การแจกฟรีสำหรับสินค้าประเภทใหม่ บางประเภทมีการตัดราคากันมากเพื่อให้ร้านค้าสต๊อกของมากขึ้น
การแข่งขันเหล่านี้ทำเพื่อพยายามขยายตลาด
กิจกรรมการตลาดนั้นมุ่งที่จะขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้นมากกว่าจะนำของเข้าร้านค้า
เพราะการนำของเข้าร้านค้าคือการย้ายสินค้าที่ผลิตแล้วเข้าไปยังร้านค้า ถ้าสินค้านั้นขายไม่ออกเปรียบเสมือนนำทรัพย์สินไปตกค้างในร้านค้า
จะสังเกตว่ามีการสร้างภาพลักษณ์ของสินค้ามากกว่าที่จะไปหลอกผู้บริโภคโดยการตัดคุณภาพแต่ขายในราคาคงที่
จะมีการยืนหยัดคุณภาพของสินค้าเก่าแทนที่จะนำสินค้าไม่ดีมาขายเป็นการรักษาภาพลักษณ์
ผู้ประกอบการด้านสินค้าอุปโภค-บริโภคต่างช่วยกันแทนที่จะรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล
การแข่งขันในตลาดสินค้าอุปโภค-บริโภคมีสูงมากและต้องใช้เงินจำนวนมาก เงินเหล่านี้มาจาก
1. ความสามารถในการขยายปริมาณการผลิต ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าลดลง
2. วัตถุดิบถูกลง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของความสมดุลของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ
เช่น ราคาน้ำมันมะพร้าวของชาวสวนมะพร้าวถูกลงเมื่อนำมาผลิตน้ำมันพืช จึงทำให้ราคาน้ำมันพืชถูกลงด้วย
3. การยอมสละกำไรเพื่อทรงไว้ในเรื่องปริมาณ คือเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี การต้องการกำไรคงที่เป็นเรื่องที่ทำลำบากมาก
4. เพิ่มสมรรถภาพในการทำงาน โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้
ในสถานการณ์ทางการเงินของสินค้าประเภทนี้ไม่ค่อยดี เพราะมีเช็คเด้งมาก และตลาดนี้เป็นตลาดที่นายธนาคารไม่สนใจจึงไม่ค่อยปล่อยสินเชื่อให้พ่อค้าปลีก
ดังนั้นผู้ผลิตสินค้าประเภทนี้จึงต้องทำตัวเป็นธนาคารให้กับพ่อค้าปลีกโดยการปล่อยเครดิตจากเดิม
30 วันเป็น 60-90 วันในปัจจุบัน
ในเรื่องการขาดดุลการค้ามีผลกระทบต่อตลาดในส่วนนี้คือการสั่งห้ามนำเข้าของจากต่างประเทศซึ่งกระทบต่อตลาดอย่างมาก
และนโยบายประกันราคาข้าว ถ้าถึงมือชาวนาจริง ๆ จะทำให้การขายดีขึ้น
ค่าโฆษณาตามสื่อต่าง ๆ ขึ้นราคาสูงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโทรทัศน์ จนทำให้ผู้ผลิตเริ่มคิดว่าถ้าต้นทุนด้านสื่อสูงเพิ่มขึ้นทุกปี
จะต้องหาทางออกอย่างอื่นที่ไม่ต้องใช้สื่อโทรทัศน์
การแข่งขันอุตสาหกรรมจะน้อยลงในปีหน้าเพราะในปีนี้บางแห่งได้กำไร ในขณะที่บางแห่งขาดทุน
แต่ละแห่งคงจะต้องแข่งกันพอประมาณ
ในตลาดสินค้าอุปโภค-บริโภค ถ้ามีการขยายตัวในระดับอัตราปีละ 4% นับว่าธุรกิจนี้สามารถอยู่ได้
แต่จะต้องอาศัยผลผลิตประมาณ 3-4%
สภาวะที่ตลาดขยายตัวไม่แน่นอนนั้น ควรจะต้องบริหารกิจการด้วยความระมัดระวังอย่างมากถ้าใครต้องการผลิตสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด
สายป่านในธุรกิจต้องยาวและต้องเตรียมสภาพจิตเพื่อการต่อสู้ให้ดี มิฉะนั้นการออกยี่ห้อใหม่ในสภาพเช่นนี้อาจจะไม่เข้าเป้าอย่างที่ตั้งไว้
สิ่งที่ขอให้รัฐบาลช่วยคือ ระงับเรื่องการที่จะโอนการจัดเก็บภาษีการค้าสำหรับสินค้าอุปโภค-บริโภคบางชนิดจากกรมสรรพากรไปให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บแทน
โดยขอให้เลื่อนไปสัก 2-3 ปี
และในแต่ละบริษัทควรปรับปรุงโครงสร้างใหม่คือ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เพราะในการแข่งขันนั้น บริษัทใดมีต้นทุนถูกที่สุดจึงจะสามารถอยู่ได้ อีกประการคือการสร้างสินค้าตัวใหม่ๆเป็นสิ่งจำเป็นมากในธุรกิจนี้
และประการสุดท้ายต้องนึกถึงคุณภาพของการจัดการและคุณภาพของการบริหารธุรกิจ