Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มกราคม 2555
มณีเมืองกาญจน์             
โดย ธนิต วิจิตรพันธุ์
 


   
search resources

Entertainment and Leisure




จังหวัดกาญจนบุรีพื้นที่ส่วนใหญ่คือพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยพืชพรรณไม้มากมายรวมถึงสัตว์ป่า อากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ฤดูร้อนกลางวันร้อนมาก แต่กลางคืนจะหนาวเหมือนอยู่ในฤดูหนาว

เดือนก่อนหนีอุทกภัยในกรุงเทพฯ ที่เป็นมหันตภัยที่สุดในชีวิตที่เคยพบเจอ ไปปักหลักอยู่ที่หัวหิน ไม่วายที่คนกรุงเทพฯ พกพาความวุ่นวายไปให้ชาวต่างจังหวัด ชุมชนที่ไปพักอาศัย ไม่ว่า จะเป็นเรื่องปัจจัยหลัก คือ น้ำ อาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค ตื่นตระหนกกลัวจะขาดแคลน พากันซื้อตุนอาหารจนชั้นวางของในร้านสะดวกซื้อตามห้างไปจนถึงร้านโชว์ห่วยก็ไม่เว้น มีแต่ชั้นว่างเปล่า

ขับรถออกจากกรุงเทพฯ ตามถนนพระราม 2 ร้านสะดวกซื้อตามสถานีบริการน้ำมันไม่มีสินค้าเหลือให้ซื้อหาเลย โดยเฉพาะ น้ำ ประเภทอาหารแห้งก็แทบหมด ทำให้รู้ถึงการตลาดของอาหาร ยอดนิยมประเภทกึ่งสำเร็จรูป ว่าชนิดไหนเป็นที่นิยมของผู้บริโภคเลยทีเดียว

แม้จะเกิดอัตคัดขัดสน มีเงินซื้อแต่ไม่มีของขาย

เมื่อไปอาศัยอยู่ที่หัวหิน ทำให้ประทับใจในเรื่องราวต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะได้ไปร่วมงานย้อนอดีตหัวหิน 100 ปี เมื่อรถไฟวิ่งไปถึงสถานีหัวหินเป็นครั้งแรก ณ สวนสาธารณะโผน กิ่งเพชร ซึ่งมีการแต่งตัวย้อนยุคย้อนอดีต มีการจัดขบวนรถไฟวิ่งจากสถานีรถไฟชะอำมายังสถานีหัวหิน เป็นการย้อนความเป็นมา ให้นึกถึงหัวหินเมื่อร้อยปี ด้วยการนำความเจริญมาสู่หัวหิน โดยมีการจัดการเสวนาและกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายให้ชมด้วยความประทับใจเป็นที่สุด

เมื่อได้รู้และสัมผัสเรื่องราวเกี่ยวกับรถไฟ ทำให้นึกถึงเส้นทาง รถไฟสายประวัติศาสตร์ ที่เรียกกันว่า “เส้นทางรถไฟสายมรณะ”

เมื่อกลับเข้ากรุงเทพฯ ในสภาวะที่เข้ารูปเข้ารอยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คอลัมน์นี้จึงถือโอกาสพาไปเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี

เส้นทางรถไฟสายมรณะ หรือรถไฟสายพม่า สร้างขึ้นในสมัย ที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงกำลังพลอาวุธ ยุทโธปกรณ์ผ่านไปยังประเทศพม่า สร้างเมื่อเดือนตุลาคม 2485 ใช้เวลาสร้างเกือบ 1 ปี หลังจากสงครามยุติแล้ว ทางรถไฟบางส่วนถูกรื้อทิ้งไป บางส่วนจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์

ทางรถไฟสายนี้ เริ่มต้นมาจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ข้ามแม่น้ำแควใหญ่ โดยข้าม สะพานข้ามแม่น้ำแควไปทางทิศตะวันตกถึงด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อให้ถึงปลาย ทางที่เมืองทันบูซายัด ประเทศพม่า เป็น ระยะทาง 415 กิโล เมตร โดยมีระยะทาง ที่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 304 กิโล เมตร

ปัจจุบันเส้นทางรถไฟสายนี้มีปลายทางอยู่ที่สถานีน้ำตกหรือบ้านท่าเสา ซึ่งมีระยะทางจากสถานีกาญจนบุรีประมาณ 77 กิโลเมตร

จุดที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบคือเส้นทางที่คดเคี้ยว ลดเลี้ยว ลัดเลาะไปตามหน้าผา และมีธรรมชาติที่งดงาม

จุดที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำ แควและโค้งมรณะ หรือถ้ำกระแซ ซึ่งเป็นสะพานโค้งเลียบแม่น้ำแควน้อย ความยาวประมาณ 400 เมตร

จากคำเล่าขานถึงเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์แห่งนี้คือ ความโหดร้าย ทารุณ ความยากลำบากของเหล่าผู้คนที่ต้องใช้แรงงานในการก่อสร้าง “หากนับไม้หมอนหนุนรางรถไฟ มีเท่าไร จำนวนผู้คน-เชลยศึกที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายนี้ก็ตายไปเท่านั้น”

เมื่อปลายปี 2484 สงครามแปซิฟิกเริ่มก่อตัวขึ้น กองทัพญี่ปุ่นบุกโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ เกาะฮาวาย บุกเข้ามาเลเซีย ตอนกลางปี 2485 จากนั้นกองทัพญี่ปุ่นต่อสู้กับกองทัพอังกฤษในพม่า แต่เป้าหมายคือการรุกรานเข้าอินเดีย

ญี่ปุ่นรู้ดีว่า หากใช้เส้นทางเดินเรือขนอาวุธ ยุทโธปกรณ์ เป็นการเลี่ยงต่อการถูกโจมตีทางอากาศ จึงตัดสินใจสร้างทางรถไฟตัดผ่านประเทศไทยที่ในขณะนั้นเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น

งานก่อสร้างในตอนแรกใช้แรงงานกรรมกรที่รับจ้างด้วยความสมัครใจ ทั้งชาวจีน ญวน ชวา มลายู ไทย พม่า อินเดีย แต่เนื่องจากต้องเผชิญกับความยากลำบาก โรคระบาด ทำให้ต้องเสียชีวิตจำนวนมากจึงพากันทิ้งงาน เมื่อคนมีไม่เพียงพอ ญี่ปุ่นจึงเกณฑ์แรงงานจากเชลยศึกที่เป็นชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย ไอซ์แลนด์ ดัตช์ และอเมริกัน ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ

สาเหตุการตายของผู้คนที่เป็นแรงงานก่อสร้าง จากการขาดแคลนอาหาร แพทย์มีไม่เพียงพอ ทั้งยังได้รับการปฏิบัติอย่างป่าเถื่อนโหดร้ายจากผู้คุม

แต่ญี่ปุ่นไม่มีโอกาสได้ใช้เส้นทางสายนี้ด้วยการยอมจำนนต่อความพ่ายแพ้สงคราม เพราะระเบิดปรมาณูของฝ่ายพันธมิตรได้ทำลายเมืองฮิโรชิมา นางาซากิ จนราบเป็นหน้ากลอง

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง การรถไฟแห่งประเทศไทยซื้อเส้นทาง รถไฟสายนี้จากพันธมิตรเป็นจำนวนเงิน 50 ล้านบาท โดยรัฐบาล ญี่ปุ่นได้ซ่อมแซมสะพานที่ถูกระเบิดพังเสียหายให้ใหม่ เพื่อเป็น การใช้หนี้สงคราม

ถือได้ว่า ทางรถไฟสายนี้เป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงเหตุการณ์ ในสงครามโลกครั้งนั้น โดยส่วนหนึ่งคือเกิดจากน้ำพักน้ำแรงการ ก่อสร้างเป็นของทหารเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรนั่นเอง

สิ่งที่คู่กับเส้นทางรถไฟที่ต้องพูดถึง คือสะพานข้ามแม่น้ำแคว นั่นเอง ทางจังหวัดได้ตั้งชื่อสะพานที่ท่ามะขามให้เป็นสะพานแม่น้ำ แคว เพื่อนักท่องเที่ยวที่ชอบตามหาความจริง ซึ่งทางอเมริกาได้มาถ่ายทำเป็นเรื่องราวในภาพยนตร์ สะพานเดิมนั้นเป็นเหล็กโค้ง และมีการซ่อมแซมเป็นสี่เหลี่ยม ผู้เที่ยวชมสามารถเดินเที่ยวชมบนสะพาน ในทุกมุมมองของสะพานข้ามแม่น้ำแควได้

สถานที่ใกล้เคียงสะพานข้ามแม่น้ำแควหรือทางรถไฟสายสันติภาพ คือประติมากรรมที่สร้างขึ้นด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งเรียกกันว่า นาฬิกาแดด

วัดตามแนวโค้งยาว 23.80 เมตร ส่วนกว้างที่สุด 9.95 เมตร ส่วนแคบที่สุด 6.25 เมตร ขนาด 0.80 เมตร เข็มรับแสงอาทิตย์ทำให้เกิดเงา หล่อด้วยโลหะผสมขนาดยาว 6.50 เมตร กว้าง 1 เมตร ตั้งหันหน้าลงทิศใต้ แผ่นหน้าปัดเอียง 23.6 องศา ที่เส้นรุ้ง 140 24’ 32’ เหนือเส้นแวง 190 7’ 3’ ตะวันออก บนผิวหน้าปัดปิดด้วยกระเบื้องเคลือบสีเทาขาวประกอบด้วยสัญลักษณ์อักษรย่อบอกเดือนต่างๆ

เส้นสีน้ำเงินแก่ บอกเดือนมกราคม-มิถุนายน

ส่วนน้ำเงินอ่อน บอกเดือนกรกฎาคม-ถึงธันวาคม

เส้นแดงเข้ม บอกเวลาของเดือนมกราคมถึงมิถุนายน

เส้นสีเหลือง บอกเวลาของเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม

สำหรับตัวเลข 07.00 น. ถึง 18.00 น.ปลายเส้นสีแสดและสีส้มบอกชั่วโมง เงาจากปลายเข็มจะทาบลงที่พื้นหน้าปัดให้ดูเวลา เดือน และฤดูกาลตามเส้นทางต่างๆ

เขื่อนศรีนครินทร์หรือเขื่อนเจ้าเณรในชื่อดั้งเดิม สร้างเมื่อปี 2516 แล้วเสร็จในปี 2523 เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง สร้างขึ้นบนแม่น้ำแควใหญ่ ตำบล บ้านเจ้าเณร อำเภอศรีสวัสดิ์

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสร้างขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์ในการส่งเสริมระบบชลประทาน ผลิตพลังงานไฟฟ้า เก็บ กักน้ำในฤดูฝน ช่วยบรรเทาอุทกภัย ใช้เป็นเส้นคมนาคมทางน้ำ แหล่งเพาะพันธุ์ปลา และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม

ลักษณะของเขื่อนและโรงไฟฟ้านั้นมีลักษณะเป็นหินถมแกน ดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสูงจากฐานราก 140 เมตร สันเขื่อนขาว 600 เมตร กว้าง 15 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 419 ตารางกิโลเมตร โรงไฟฟ้าเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กติดตั้ง เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 5 เครื่อง กำลังผลิต 720,000 กิโลวัตต์

อุทยานแห่งชาติเขาแหลม มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอสังขละบุรี และทองผาภูมิ สภาพป่าโดยรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม ประกอบด้วยสัตว์ป่านานาชนิด สถานที่สวยงามน่าศึกษาหาความรู้ เป็นอุทยานแห่งชาติ 1 ใน 5 ของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพื่อการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530

อุทยานแห่งชาติเขาแหลมเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาตะนาวศรี ที่มีความสลับซับซ้อน ทอดตัวตามแนวเหนือถึงใต้ ระดับความสูงประมาณ 100-1,700 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนใหญ่เป็นหินปูน หินทราย และหินดินดาน

จากสภาพที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ก่อให้เกิดลำน้ำที่สำคัญ หลายสายที่ไหลลงแม่น้ำแควน้อยและอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม

อุทยานแห่งชาติเขาแหลมนี้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 497 ตารางกิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติไทรโยค มีเนื้อที่เกือบ 6 แสนไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยภูเขาหินปูน ป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ไทรโยคได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่แห่งเดียวในประเทศไทยที่มีค้างคาวที่เล็กที่สุดในโลกคือ ค้างคาวกิตติ และปูราชินี (ปูสามสี) ปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกอาศัยอยู่

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทรโยคเคยเป็นด่านพักแรมของ ทหารญี่ปุ่น โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือน้ำตกไทรโยคใหญ่ “น้ำตกเขาโจน” เนื่องจากเป็นน้ำตกที่ไหลตกลงมาจากหน้าผาลงสู่แม่น้ำแควน้อยลักษณะกระโจนลงมา

ภายในอุทยานฯ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติหลายเส้นทาง และมีจุดชมวิวสะพานแขวนไทรโยคที่จะเห็นน้ำตกไทรโยคได้ชัดเจน

น้ำตกไทรโยคน้อย เป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งบริเวณ น้ำตกมีสภาพธรรมชาติที่สวยงาม ร่มรื่น ในอดีตเมื่อปี พ.ศ.2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จฯ ประพาสบริเวณน้ำตกไทรโยค นอกจากนี้บริเวณน้ำตกไทรโยคน้อยยังมีการ รำลึกถึงการสร้างทางรถไฟสายมรณะที่สร้างผ่านบริเวณหน้าน้ำตก สู่ประเทศพม่า ด้วยการนำหัวรถจักรไอน้ำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาตั้งไว้อีกด้วย

เจดีย์โบอ่อง ตั้งอยู่บริเวณบ้านโบอ่อง อำเภอทองผาภูมิเป็นเจดีย์โบราณแบบพม่า สร้างบนยอดเขาหินปูนที่มีบ่อน้ำล้อมรอบเจดีย์ บริเวณบ่อน้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่

ข้อจำกัดสำหรับนักท่องเที่ยวสตรี มีป้ายห้ามขึ้นไปชมความงามบนยอดเขาหินปูน ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวบ้านว่าจะทำให้บ่อน้ำแห้งขอด และอาจมีภัยอันตรายแก่ตัวเอง

สะพานมอญเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศประมาณ 850 เมตร ซึ่งสร้างจากแรงศรัทธาของชาวมอญ อยู่ในอำเภอสังขละบุรี

พื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรีส่วนใหญ่ คือพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบไปด้วยพืชพรรณไม้มากมาย รวมถึงสัตว์ป่า อากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ฤดูร้อนกลางวันร้อนมาก แต่กลางคืน จะหนาวเหมือนอยู่ในฤดูหนาว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีเห็ดโคนขึ้นให้ได้เก็บรับประทานกัน ซึ่งเกิดขึ้นเพียงปีละครั้ง ผู้คนนิยมบริโภคกันมาก ทำให้มีราคาแพง

เห็ดโคน เป็นเห็ดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่สามารถปลูกขึ้นเองหรือเพาะพันธุ์ได้

เห็ดโคนเมืองกาญจนบุรี จะมีคุณค่าอาหารมาก เพราะเป็นพื้นที่ที่มีแร่ธาตุเหล็กมากและมีรสชาติที่แตกต่างคือ มีความกรอบอร่อย

เห็ดโคนมักจะเกิดขึ้นบริเวณดินปลวกที่มีการทับถมของวัชพืชตามป่าเขาเป็นส่วนใหญ่

เห็ดโคนเมืองกาญจนบุรีจะมีอยู่ในระหว่างเดือนตุลาคม-ต้นเดือนมกราคมของทุกปี

การเก็บรักษาเห็ดโคนไว้รับประทานนอกฤดูกาล

ประการแรก นำเห็ดโคนมาปลอก ขูดเอาดินที่ติดอยู่ออกให้ หมด ต่อด้วยนำไปล้างน้ำทำความสะอาด แล้วจึงนำไปต้มให้สุก ใส่เกลือ นำใส่ขวดโหลที่ฆ่าเชื้อปนเปื้อน เก็บไว้ทานตลอดปี

ถ้าไปนั่งร้านอาหารร้านใด ทุกร้านของเมืองกาญจนบุรีจะมีการนำเสนออาหารปลา คือปลาคังลวกจิ้ม, ยำ, ผัดฉ่า, ต้มยำ และอีกหลากหลายเมนูทีเดียว

ปลาคังเป็นปลาน้ำจืด ขนาดที่โตเต็มที่ประมาณ 1.5 เมตร หนักถึง 100 กิโลกรัม แต่ที่พบขนาดเฉลี่ย 50-60 ซม. ลำตัวสีเทา อ่อนอมฟ้า หรือเขียวมะกอก ท้องสีจาง ครีบหางและครีบอื่นๆ มี สีแดงสด หรือส้มสด ไม่มีแถบขาวบนขอบครีบหาง ส่วนบนเหลือง พบในแม่น้ำทุกภาค และในแหล่งน้ำนิ่งขนาดใหญ่ มีการเพาะเลี้ยง ในกระชังอยู่ริมแม่น้ำสายใหญ่ๆ

สำหรับผู้ที่เคยผ่านการเป็นนักศึกษาวิชาทหาร ทุกคนจะรู้จักเขาชนไก่เป็นอย่างดี เพราะเป็นค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ซึ่ง ตั้งอยู่ที่ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง และเปิดเป็นค่ายฝึกสำหรับ ประชาชนทั่วไป มีกิจกรรมต่างๆ เช่น การโดดหอสูง ยิงปืน การไต่เชือกข้ามลำน้ำ

ชื่อเขาชนไก่ เชื่อกันว่าเป็นบ้านเดิมของขุนไกร บิดาขุนแผน เป็นสถานที่ที่นางทองประศรี แม่ของขุนแผน พาขุนแผนมาหลบราชภัยเมื่อครั้งยังเด็ก เข้ามาตั้งรกรากที่ดอนเขาชนไก่บนยอดเขา ซึ่งมีลานกว้าง มีหลักหินแสดงบริเวณอยู่ เชื่อกันว่าเป็นลานชนไก่ของขุนแผน

พยางค์หนึ่งในคำขวัญของจังหวัดกาญจนบุรีที่บอกความโดดเด่น ความมีเอกลักษณ์ คือมณีเมืองกาญจน์ ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม ไพลิน และนิล พบมากที่อำเภอบ่อพลอย ซึ่งยังมีการทำเหมืองพลอยให้เห็น แต่ถ้าไม่สามารถไปเยี่ยมชมถึงที่ได้ ตลาดค้าพลอยร้านริมสะพานข้ามแม่น้ำแควก็มีให้เลือกมากมาย และยังมีฝั่งตรงข้ามกับส่วนโชว์หัวรถจักร จัดเป็นตลาดพลอยอัญมณี ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ก็นำมาจากอำเภอบ่อพลอยนั่นเอง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us