|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

การอวยพรส่งความสุขในวาระศุภมงคลขึ้นปีใหม่มักปรากฏถ้อยคำในบัตร ส.ค.ส.ที่อาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกดลบันดาลให้มีพลานามัยสมบูรณ์นั้น มีความคล้ายคลึงกับคำอวยพรใน Nengajo* ของชาวญี่ปุ่น คงสืบเนื่องมาจากตรรกะที่ว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามต่างปรารถนาด้วยกันทั้งสิ้น
การได้มาซึ่งลาภอันประเสริฐสมดั่งคำอวยพร นี้ไม่มีสูตรสำเร็จใดที่ตายตัว ถึงอย่างไรโดยทั่วไปเราทุกคนอาจเริ่มต้นที่การใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่องในภาวะที่ร่างกายยังแข็งแรงปราศจากโรคภัยเบียดเบียน นั่นไม่เพียงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นวิธีการที่มีต้นทุนต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนสูง ในขณะเดียวกันเป็นหลักประกันถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
แนวคิดลักษณะเช่นนี้ได้ปลูกถ่ายสู่นโยบายสาธารณสุขมูลฐานระดับชาติ (National Primary Health Care) ภายใต้ความรับผิดชอบโดยตรงของกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเสริมสร้างความรู้พื้นฐานที่มุ่งหมาย ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงผลดีของการป้องกันก่อนที่โรคภัยไข้เจ็บจะเกิดขึ้น
สิ่งสำคัญที่ผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติของนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจากความขวนขวาย ในการดูแลสุขภาพของตนเองโดยเฉพาะการประยุกต์ภูมิปัญญาชาวบ้านในเรื่องอาหารการกินของชนชาติญี่ปุ่นแต่อดีตมาปรับให้เข้ากับยุคสมัย และยังสำทับด้วยรายการส่งเสริมสุขภาพในโทรทัศน์และวิทยุหลาย ช่องที่แข่งขันกันออกอากาศนำเสนอสาระความรู้ทาง การแพทย์ที่มีประโยชน์โดยละเอียดในช่วงไพร์มไทม์ที่ผู้ชมส่วนใหญ่ติดตามได้อย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งสินค้าและบริการในเชิงสุขภาพที่มีอยู่อย่างหลากหลายรอบตัวนับแต่อุปกรณ์ไฮเทคทุกรูปแบบที่พบเห็นในชีวิตประจำวันไปจนถึงเครื่องดื่ม หรือขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนผสมของวิตามิน เป็นต้น ปัจจัยเสริมเหล่านี้ล้วนช่วยตอกย้ำและกระตุ้นให้เกิดการเฝ้าระวังและรักษาสุขภาพอยู่เสมอจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวญี่ปุ่นครองสถิติการมีอายุขัยเฉลี่ยยาวนาน ที่สุดในโลก (ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ปี 2005-2010)
เมื่อกลางปี 2011 ตำราอาหารญี่ปุ่น Tanita Recipe เป็นตัวอย่างหนึ่งที่กระตุ้นเทรนด์เรื่องสุขภาพ ขึ้นมาอีกด้วยยอดขายกว่า 4 ล้านเล่มในเวลาสั้นๆซึ่งพิมพ์จำหน่ายตามคำเรียกร้องจากเสียงลือเสียงเล่า อ้างว่า “พนักงานของบริษัท Tanita ทุกคนประสบผลสำเร็จในการควบคุมน้ำหนัก และไม่มีใครเข้าข่ายภาวะ Metabo โดยใช้ชีวิตปกติตามกิจวัตรประจำวัน ไม่ต้องอดอาหาร อีกทั้งไม่ต้องไปฟิตเนส ในทางกลับ กันสามารถรับประทานอาหารญี่ปุ่นรสอร่อยได้ทุกมื้อ
คำว่า Metabo ที่ใช้ในภาษาญี่ปุ่นย่อมาจาก ศัพท์การแพทย์ในภาษาอังกฤษคือ Metabolic Syndrome หมายถึงภาวะผิดปกติของการเผาผลาญ อาหารและสะสมไขมันของร่างกายอันเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเบาหวานและโรคของระบบหลอดเลือดและ หัวใจซึ่งเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับอาการแสดงของโรคอ้วน
คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกับชื่อ Tanita มานานกว่าครึ่ง ศตวรรษแล้ว Tanita Corporation เริ่มกิจการตั้งแต่ปี 1923 เป็นร้านค้าทั่วไปจำหน่ายเครื่องปิ้งขนมปัง กริ่งรถ จักรยาน กล่องใส่บุหรี่ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาทำ ธุรกิจผลิตเครื่องชั่งในปี 1944 และเริ่มวางจำหน่ายเครื่องชั่งน้ำหนักสำหรับใช้ในครัวเรือนเป็นครั้งแรกใน ญี่ปุ่นในปี 1959
ชื่อเสียงของ Tanita ขยายวงกว้างขึ้นทั้งใน และต่างประเทศด้วยการเปิดตัวเครื่องวัดไขมันใน ร่างกายอัตโนมัติเป็นครั้งแรกของโลก ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดที่แตกไลน์ออกไปจากเดิมเช่นเครื่องนับก้าวเดิน เครื่องตรวจวัดอัตราการเผาผลาญแคลอรีในแต่ละวัน เครื่องตรวจวัดปริมาณกัมมันตรังสี เป็นต้น และล่าสุด Tanita Recipe กลายเป็นสินค้าใหม่ที่ได้รับการกล่าวขวัญในสังคมญี่ปุ่นซึ่งริเริ่มจากแนวคิดของ Senri Tanita ประธานบริษัทคนปัจจุบัน
Senri Tanita เกิดเมื่อ 6 มิถุนายน 1972 เป็นบุตรชายคนรองของ Daisuke Tanita ประธานบริษัทคนก่อน เดิมไม่ได้สนใจธุรกิจของครอบครัวเท่าใดนัก หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมแล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียน เฉพาะทางสาขาโภชนาการและสำเร็จปริญญาตรีจาก Saga University ในปี 1997 จากนั้นได้ทำงานในบริษัทด้าน consulting ก่อนจนกระทั่งปี 2001 จึงย้ายเข้ามาที่ Tanita ตามคำชักชวนของบิดา
อีกนัยหนึ่งแม้ว่ามีฐานะเป็นบุตรชายของประธานบริษัทแต่ก็ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นคำสั่งโยกย้ายไปทำงานที่บริษัทในเครือเช่นเดียวกับพนักงานคนอื่น ในปี 2005 เขา ถูกย้ายไปประจำที่บริษัท Tanita อเมริกาซึ่งเป็นโอกาสได้สั่งสมประสบการณ์อยู่ 2 ปีแล้วย้ายกลับมาที่บริษัทแม่ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานบริษัทรุ่นที่ 3 ของตระกูลในปี 2008 ด้วยวัย 36 ปี
รูปแบบการทำงานของ Senri Tanita ในบทบาทประธานบริษัทมีความโดดเด่นด้วยบุคลิกเฉพาะตัว ตั้งแต่การจัดเวลาหมุนเวียนเข้าไปให้คำปรึกษาพร้อมทั้งร่วมลงมือช่วยแก้ปัญหาในรายละเอียดจนกระทั่งเรื่องอาหารการกิน รวมถึงการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจพนักงานทุกระดับ
เคล็ดลับความสำเร็จในการควบคุมน้ำหนักของ พนักงานบริษัท Tanita อยู่ที่การประยุกต์สูตรอาหารญี่ปุ่นที่เคยใช้ใน Tanita Best Weight Center (สถานที่ซึ่งมุ่งมั่นให้คำแนะนำปรึกษาการควบคุมน้ำหนักและดูแลสุขภาพตามหลักวิชาการ) มาเป็นเมนูในโรงอาหารของบริษัทซึ่งปรุงโดยกลุ่มแม่ครัวนักโภชนาการ ที่ผ่านการสอบใบอนุญาตประกอบอาหารจากกรมสวัสดิการสังคมและสาธารณสุขของกรุงโตเกียว
อาหารทุกชุดภายในโรงอาหารของบริษัท Tanita ได้มาตรฐานถูกต้องตามหลักโภชนาการซึ่งผ่านการคำนวณและควบคุมปริมาณเกลือให้ต่ำกว่า 3 กรัม มีแคลอรีไม่เกิน 500 กิโลแคลอรีด้วยเทคนิค การปรุงอาหารให้ดูน่ารับประทาน รสชาติดี มีเมนูหลากหลายพอให้เลือกได้ตลอดสัปดาห์ ในราคายุติธรรม โดยบริษัทจะแบ่งรับภาระค่าอาหารไว้ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นสวัสดิการสำหรับพนักงาน ดังนั้นพนักงาน แทบทั้งหมดจึงเลือกใช้บริการอาหารทั้ง 3 มื้อที่โรงอาหารของบริษัท
กลายเป็น talk of the town ที่ขยายตัวออก ไปอย่างรวดเร็ว สังคมรอบข้างให้ความสนใจอย่างมาก ประกอบกับเจตนารมณ์ของบริษัทในฐานะผู้ผลิต อุปกรณ์เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนอยู่แล้วการสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบตำราอาหาร Tanita Recipe หลายเล่มจึงได้รับความนิยมไปทั่วญี่ปุ่น
นอกจากนี้ยังมีรายการโทรทัศน์ Come Sta Channel ของบริษัทซึ่งเป็นอีกช่องทางเผยแพร่ความรู้โภชนาการและการดูแลรักษาสุขภาพ รวมถึงการสร้าง Community สำหรับคนรักสุขภาพเปิดกว้างให้สามารถ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านทาง Social Network ยอดนิยมทั้ง Facebook และ Twitter
ล่าสุดประชาชนทั่วไปสามารถทดลองชิมอาหาร ที่ปรุงจากตำรา Tanita Recipe โดยนักโภชนาการของ Tanita ได้ที่ร้าน “Tanita Shokudo” ภายใต้บรรยากาศ Healing Music และกลิ่นหอม Aroma-therapy ซึ่งเปิดบริการเป็นครั้งแรกที่ Marunouchi Building หน้าสถานีรถไฟโตเกียว ฉลองปีใหม่ตั้งแต่เดือนมกราคม 2012 เป็นต้นไป
- ภาพ www.tanita.co.jp
อ่านเพิ่มเติม
- คอลัมน์ Japan Walker นิตยสารผู้จัดการฉบับมกราคม 2549 เรื่อง “Nengajo” http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=44196
|
|
 |
|
|