|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
Bulu Imam คือใคร ชาวอินเดียส่วนใหญ่ก็คงตอบคำถามนี้ไม่ได้ แม้บางคนอาจผ่านตาข่าวที่เขาได้รับรางวัล Gandhi Foundation International Peace Award ประจำปี 2011 ร่วมกับ Dr.Binayak Sen นักสิทธิมนุษยชนทั้งสองท่านต่างอุทิศตนทำงานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชนพื้นเมืองเดิม (Tribal people) หรือที่เรียกกันว่า “อดิวาสี” ในรัฐเล็กๆ ทางตะวันออกของอินเดีย โดยหมอบินายักทำงานด้านสาธารณสุขชุมชนในรัฐฉัตติสการ์ ส่วนบูลู อิมามรณรงค์ต่อต้านการทำเหมืองถ่านหิน และงานอนุรักษ์ศิลปะดั้งเดิมของชาวอดิวาสีในรัฐฌาร์ขัณฑ์
ชีวิตและการทำงานของหมอบินายักนั้นเคยได้นำเสนอไว้ในฉบับเดือนมิถุนายน 2551 โดยล่าสุด เมื่อเดือนเมษายน 2011 เขาได้รับการปล่อยตัวโดยคำสั่งของศาสสูง หลังจากถูกจองจำในข้อหาเป็นภัย ต่อความไม่สงบของประเทศมาเป็นเวลาเกือบสี่ปี ใน ที่นี้จึงใคร่นำเสนอเรื่องราวของบูลู อิหม่าม อาจารย์ นักเขียนและนักต่อสู้ด้านสิทธิ ผู้ทำงานปิดทองหลังพระอยู่ใน Hazaribagh ของฌาร์ขัณฑ์
ฮาซารีบาคห์เป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่เหนือหุบเขา Damodar ตอนบน ที่ซึ่งแม่น้ำดาโมดาร์ไหลผ่าน แวดล้อมด้วยเนินเขาและป่าอันเป็นถิ่นที่อยู่ของเสือและช้าง ทั้งมีชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่กว่า ร้อยหมู่บ้าน ขณะที่ในหุบเขาดาโมดาร์ตอนล่างมีการ ให้สัมปทานทำเหมืองถ่านหินมาตั้งแต่หลังอินเดียประกาศเอกราช จนกระทั่งปี 1985 รัฐบาลเริ่มเปิดสัมปทานให้แก่ Whyte Industries บริษัทจากออสเตรเลียเข้ามาบุกเบิกพื้นที่เขตดาโมดาร์ตอนบน และมีแผนที่จะเปิดสัมปทานอีกกว่า 12 เหมือง บูลู อิหม่ามซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของ Indian National Trust for Art and Cultural Heritage (INTACH) องค์กรพัฒนาเอกชนก่อตั้งโดยอดีตนายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี ได้เริ่มรณรงค์ต่อต้านการทำเหมืองในเขตดาโมดาร์ตอนบน ด้วยเห็นว่าจะส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ และมรดกวัฒนธรรมของชาวอดิวาสีในเขตนั้น
หลังการสำรวจเพื่อทำรายงานถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทีมของบูลู อิหม่ามพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยร่องรอยทางโบราณคดีที่สำคัญ อาทิ ซากกระดูกมนุษย์จากยุคหินเก่า หลักฐานบ่งบอกถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์จากยุคหินกลาง และร่องรอยงานศิลปะบนผนังหินจากยุคหินกลาง อันมีอยู่ถึง 14 แห่ง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาเข้ามาร่วมศึกษาเพิ่มเติม การศึกษาเปรียบเทียบนิทานพื้นบ้าน และคติความเชื่อของชนเผ่าพื้นเมืองในเขตนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ยังถือผี หรือนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติ คติความเชื่อที่มีอยู่เดิมก่อนการเข้ามาของศาสนาฮินดูหรืออื่นๆ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาคือกลุ่มชนที่สืบสายวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่ง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ศิลปะการเขียนผนังและตกแต่งบริเวณบ้านที่ชาวบ้านยังถือปฏิบัติกันในสองวาระสำคัญ คือพิธีแต่งงานและฤดูการเก็บเกี่ยว ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลป์ชี้ว่ามีต้นแบบทั้งในแง่โมทีฟ และสไตล์จากศิลปะบนผนังหินอายุร่วมหมื่นปีที่ค้นพบศิลปะ การเขียนผนังดังกล่าวเป็นสิ่งที่สืบทอดอยู่ในหมู่ผู้หญิงและเขียนโดยหญิงที่แต่งงานแล้ว งานเขียนผนังสำหรับพิธีแต่งงานที่นิยมจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า Khovar อันหมายถึงเรือนหอมาจากคำว่า โค แปลว่าถ้ำ วาร์ แปลว่าเจ้าบ่าว มักเป็นรูปพืชพรรณ สัตว์ป่าและสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ให้ดอกออกผล
ส่วนการเขียนตกแต่งบริเวณบ้านในฤดูเก็บเกี่ยวเรียกว่า Sohrai มีรากศัพท์ จาก โซโร หมายถึงการต้อน หรือปิดประตู ซึ่งนักมานุษยวิทยาชี้ว่าสื่อถึงการเริ่มเลี้ยง สัตว์ในยุคหินกลาง โมทีฟสำคัญของภาพเขียนคือ Tree of Life ในเช้าของวันฉลอง เทศกาลโซห์ไร หญิงชาวบ้านจะใช้สีผสมน้ำข้าวเขียน ประดับตกแต่งลานบ้าน ต่อมาในตอนบ่ายพวกเขาจะช่วยกันต้อนฝูงวัวควายที่ปล่อยออกไปหาอาหารตามละเมาะไม้ใกล้หมู่บ้าน ให้กลับเข้าคอกโดยเดินผ่านลานบ้านที่วาดไว้อย่างงดงามดั่งการต้อนรับนั้น นอกจากนี้ Godna หรือรอยสักที่ผู้หญิงเผ่า Malhar นิยมสักตามแขนขาไว้เป็นเครื่องรางป้องกันสิ่งชั่วร้าย ก็มีรูปรอยเหมือนกับสัญลักษณ์ที่พบในภาพเขียนผนังหินยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่ง
ต่อมาบูลู อิหม่ามได้ก่อตั้ง Sanskriti Centre ขึ้นทางตอนเหนือของเมือง เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ กิจกรรม สำคัญด้านหนึ่งคือ Tribal Women Artists Cooperative (TWAC) ที่สนับสนุนให้ผู้หญิงชาวอดิวาสีจากหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองถ่านหินได้สืบทอดมรดกงานศิลปะของตนและมีรายได้เสริม โดยหันมาถ่ายทอดทักษะฝีมือและจินตนาการบนกระดาษ ผืนผ้า และงานผ้าปักรูปแบบต่างๆ กิจกรรม อีกด้านของศูนย์คืองานพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมบันทึก ทางโบราณคดีในเขตดังกล่าว นับจากยุคหินเก่าตอนต้น จนถึงปัจจุบัน ทั้งมีหอศิลป์จัดแสดงภาพเขียนจากเทศกาลโควาร์และโซห์ไรไว้ถึง 15 สไตล์ และภาพเขียน ฝีมือศิลปินชนเผ่ากลุ่มต่างๆ รวมกว่า 300 ชิ้น
บูลู อิหม่ามเชื่อในแนวคิดสัตยาเคราะห์ทางปัญญา (Intellectual Satyagraha หรือ Satyagraha of the Mind) ที่เน้นการสื่อสารแลกเปลี่ยนทางความคิด เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม โดยเห็นว่าการประท้วงขัดขืนทางกายแม้จะทำโดยอหิงสาก็ก่อให้เกิดการเผชิญ หน้าที่อาจตามมาด้วยความรุนแรง และนี่คือช่องทางที่จะใช้เปิดโปงความฉ้อฉลของบรรดาบรรษัทที่มีรัฐบาลคอยช่วยเหลือ ในการยึดครองที่ดินของประชาชนผู้ยาก จนที่สุดและไร้ทางสู้ที่สุดของประเทศ
รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีนับพันหน้า ภาพถ่ายและวิดีโออีกนับไม่ถ้วนที่บันทึกร่องรอยทางประวัติศาสตร์และความหลากหลายทางชีวภาพของป่าศักดิ์สิทธิ์ ที่ชนเผ่าพื้นเมืองดูแลรักษามาคล้ายคติดอนผีปู่ตาในบ้านเรา รวมถึงศิลปะการเขียนตกแต่งบ้านที่หญิงชาวอดิวาสีสืบทอดจากบรรพบุรุษมาจนถึงทุกวันนี้ คือหลักฐานหรือนัยหนึ่งอาวุธในวิถีทางของสัตยาเคราะห์ ทางปัญญาที่บูลู อิหม่ามใช้บอกแก่ประชาคมโลกว่า ผืน ดินและวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองที่ธุรกิจเหมืองถ่านหิน กำลังขุดทึ้งทุบทำลาย เป็นสายวัฒนธรรมจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องและยังมีชีวิต และชาวบ้านที่ถูก โยกย้ายจากถิ่นที่อยู่เดิม รวมถึงผู้หญิงและเด็กที่มีชีวิตอยู่ในความหวาดผวาว่าบ้านตนจะถูกรื้อถอน ถูกละเมิด สิทธิตามคำประกาศขององค์การสหประชาชาติปี 2007 ว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมืองเดิม
ที่ผ่านมา บูลู อิหม่ามมีโอกาสนำเสนอกรณีผลกระทบของการทำเหมืองในเขตดาโมดาร์ตอนบน ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการด้านสิทธิของชนพื้นเมือง ของยูเอ็น และยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์กรด้านสิทธิและวัฒนธรรมระดับสากลหลายองค์กร จนมีผลให้ธนาคารโลกถอนการให้กู้ก้อนใหญ่แก่ Coal India ในปี 2000 ขณะเดียวกันผลงานศิลปะของผู้หญิงชาวอดิวาสีในกลุ่ม TWAC ยังได้ไปจัดแสดงในหอศิลป์สำคัญหลายแห่งในสวีเดน ออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมนี แคนาดา และอิตาลี
ในการต่อสู้กว่าสองทศวรรษ แม้จะยังผลให้นักลงทุนจากออสเตรเลียถอนโครงการ หยุดยั้งการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไปได้หนึ่งโครงการ ชะลอการ ให้สัมปทานเหมืองและโครงการตัดทางรถไฟได้ในบางส่วน แต่ก็มีเหมืองถ่านหินที่ดำเนินการแล้วด้วยการโยกย้ายชาวบ้านกว่าร้อยหมู่บ้านถึง 3 เหมือง และที่จ่อรอการอนุมัติสัมปทานอีกร่วม 30 โครงการ
หากความเป็นธรรมไม่อาจได้มาด้วยปัญญา ถ้าวันหนึ่งสายวัฒนธรรมอายุกว่าห้าพันปีจะเหลือร่องรอย เพียงเส้นสีบนแผ่นกระดาษและผ้าปัก ลุ่มแม่น้ำเขียวขจีที่สมณโคดมเสด็จผ่านก่อนไปประทับใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในตำบลคยา จะกลายเป็นหลุม เหมืองไร้ชีวิต บูลู อิหม่ามก็ได้ทำหน้าที่ของเขาแล้ว ในการบันทึกผลพวงของแนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่อินเดียเลือก
|
|
|
|
|