Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มกราคม 2555
จีนกับเกาหลีเหนือหลังยุค “คิม จองอิล”             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 


   
search resources

คิม จอง อิล
Political and Government




การมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีจีน ระหว่างวันที่ 22-24 ธันวาคม 2554 หรือช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ไม่นับรวมกับภารกิจของสี จิ้นผิง เพื่อลงนาม ความตกลงร่วมกัน 6 ฉบับ การเดินทางมาครั้งนี้หากเปรียบไปก็เหมือนการเดินทางมาแนะนำตัวกับประเทศบ้านพี่เมืองน้องอย่างไทยอย่างเป็นทางการ ก่อนที่สีจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของจีนรุ่นที่ 5 โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีจีนแทนหู จิ่นเทา ในปี 2555

ในห้วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่สี จิ้นผิงมาเยือน ประเทศไทย ข่าวที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คน ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย รวมถึงทั่วโลกก็คือ ข่าวการถึง แก่อสัญกรรมของคิม จองอิล ผู้นำสูงสุดของเกาหลี เหนือ ในวัย 69 ปี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2554 จากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ร่วมกับอาการหัวใจวาย

หลังข่าวการจากไปของคิม จองอิล ถูกเผยแพร่และยืนยันผ่านสื่อทางการของเกาหลีเหนือในวัน 19 ธันวาคม เช้าวันที่ 20 ธันวาคมหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีนอย่าง จีนรายวัน ก็พาดหัวรายงานข่าวดังกล่าวว่า “การจากลาของเพื่อน (A Friend’s Departure)” พร้อมขึ้นภาพ คิม จองอิล โบกมือจากบนรถยนต์เมื่อครั้งมาเยือนจีน ด้านเซี่ยงไฮ้รายวันก็พาดหัวว่า “เกาหลีเหนือ: ชาติที่กำลังโศกเศร้ากับการจากไปของท่านผู้นำที่รัก (North Korea: Nation in grief for Dear Leader)” พร้อมขึ้นภาพประกอบเป็นคิม จองอิลกับบุตรชาย ทายาทผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำ คิม จองอุน

จากรายงานของเซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในฮ่องกงระบุว่า จริงๆ แล้ว เหล่า 9 สมาชิกถาวรประจำกรมการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรืออีกนัยหนึ่งคือ คณะผู้นำสูงสุดของประเทศจีนทราบข่าวดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคมแล้ว ก่อนชาติมหาอำนาจอื่นๆ ในโลกจะทราบเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นคู่แค้นอย่างเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น แต่ทางจีนรอให้ทางรัฐบาล เกาหลีเหนือออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเสียก่อน ในวันที่ 20 ธันวาคม หู จิ่นเทา ประธานาธิบดี จีนจึงเข้าคารวะแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ ผู้นำเกาหลีเหนือ ณ สถานทูตเกาหลีเหนือในกรุงปักกิ่ง และในวันถัดมา (21) คณะผู้นำสูงสุดของจีน เกือบทั้งหมดจึงเข้าคารวะตาม

ทั้งนี้ ผู้แทนคณะผู้นำสูงสุดจีนทั้งหู จิ่นเทา, เวิน เจียเป่า และรัฐมนตรีต่างประเทศจีนต่างยืนยันว่า จีนมีความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศของพรรคแรงงานเกาหลี ภายใต้การนำของคิม จองอุน ผู้นำหนุ่มวัยยังไม่เต็ม 30 ปี บุตรชายคนเล็กของคิม จองอิล รวมทั้งยังคงสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพของคาบสมุทรเกาหลีต่อไป

แม้หลายคนจะสงสัยต่อพฤติกรรมการสืบทอดตำแหน่งของ “ราชวงศ์คิม” แห่งเกาหลีเหนือ โดยไม่สนอกสนใจความเปลี่ยนแปลงของโลก และฉงนสนเท่ห์ยิ่งไปอีกว่า เหตุใดประเทศจีนในยุคปัจจุบันที่เปิดประเทศ และมีความก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน จนกลายมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจแถวหน้าของโลกจึงยังคงให้การสนับสนุนการปกครองในระบอบเสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของเกาหลีเหนืออยู่

หากจะขุดค้นคำตอบของเรื่องนี้ อย่างน้อยๆ เราต้องย้อนประวัติศาสตร์ไปอย่างน้อยๆ ก็สมัยหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ในปี พ.ศ.2488 (ค.ศ.1945) และพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยตัวแทนคือ เหมา เจ๋อตง สถาปนาประเทศขึ้นเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 (ค.ศ. 1949) คล้อยหลังได้เพียงปีเดียว จีนก็ต้องกระโดดเข้าร่วมวงในสงครามเกาหลี (2493-2496 หรือ ค.ศ. 1950-1953) สงครามตัวแทนระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์ และค่ายเสรีประชาธิปไตยโดยมีเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ซึ่งถูกแบ่งด้วยเส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ เป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้ง และมีคาบสมุทรเกาหลี เป็นสนามรบ ทั้งๆ ที่สถานะของจีนในเวลานั้นยังไม่พร้อมที่จะร่วมสงครามแต่อย่างใด

กระนั้น เมื่อเกาหลีเหนือเป็นพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ค่ายคอมมิวนิสต์ ประกอบกับสายสัมพันธ์ ที่แน่นแฟ้นระหว่างเหมา เจ๋อตง กับคิม อิลซุง ทำให้ จีนกระโดดเข้าร่วมสงครามอย่างเต็มตัว ด้วยการส่ง ทหารอาสาเข้าร่วมรบมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 1.35 ล้านนาย (สาเหตุหนึ่งที่ต้องส่งทหารเข้าร่วมเยอะเพราะอาวุธยุทโธปกรณ์ของจีนในเวลานั้นค่อนข้างล้าสมัย) ระหว่างสงครามเกาหลี จีนต้องสูญเสีย ทหารมากถึง 152,000 นาย และได้รับบาดเจ็บอีก 230,000 นาย บุตรชายคนโตของเหมา เจ๋อตง คือ เหมา อั้นอิง ก็เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ด้วย ไม่นับรวมกับค่าใช้จ่ายในการทำสงครามที่มากมายถึง 10,000 ล้านหยวน

จนในที่สุด กองทัพเกาหลีเหนือของคิม อิลซุง ภายใต้การสนับสนุนของพี่ใหญ่ สหภาพโซเวียต และพี่รอง จีนก็ประสบความสำเร็จในการผลักดันทหารของสหประชาชาติให้ร่นไปอยู่ใต้เส้นขนานที่ 38 จนมีการสงบศึกกันเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2496 (ค.ศ.1953)

ในความเป็นจริง จีนไม่ได้รักคิม อิลซุง หรือ เกาหลีเหนือถึงขนาดที่ต้องเสียสละกำลังทหารและงบประมาณมากมายขนาดนั้น แต่ในเวลานั้นผู้นำจีนยึดถือสุภาษิตจีนโบราณที่ว่า “เมื่อขาดริมฝีปาก ฟันก็จะหนาวเหน็บ (ฉุนหวางฉื่อหาน: )” หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ หากไม่มีเกาหลีเหนือที่เป็นรัฐกันชนให้กับจีน สหรัฐอเมริกาและค่ายเสรีประชาธิปไตยก็จะเหิมเกริมและคุกคามจีนได้ง่ายขึ้น

ในเวลาต่อมา แม้จีนจะถอนกำลังทหารออกจากเกาหลีเหนือทั้งหมดในปี 2501 (ค.ศ.1958) แต่ในปี 2504 (ค.ศ.1961) ก็มีการทำสนธิสัญญามิตรภาพและความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Sino-North Korean Mutual Aid and Cooperation Friendship Treaty) โดยจีนสัญญาว่า หากมีการรุกรานจากภายนอก จีนจะส่งกำลังทหารและความช่วยเหลือต่างๆ ให้กับเกาหลีเหนือทันที โดยสนธิสัญญาดังกล่าวมีอายุคราวละ 20 ปี และได้ถูกต่อมาแล้วสองครั้งในปี 2524 (ค.ศ.1981) และ 2544 (ค.ศ.2001) ซึ่งจากการตกลงกันครั้งล่าสุด สนธิสัญญาดังกล่าวจะมีผลถึงปี 2564 (ค.ศ.2021) หรืออีกสิบปีข้างหน้า

ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ ทำให้ในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าผู้นำเกาหลีเหนือจะประพฤติตัวเป็น “เด็กเกเร” ในสายตาของชาวโลกมาตลอด ไม่ว่าจะในกรณีความพยายามสร้างอาวุธนิวเคลียร์, เรือรบเกาหลีใต้ถูกตอร์ปิโดที่สันนิษฐานว่ามาจากเรือดำน้ำเกาหลีเหนือ ยิงจนอับปางเมื่อเดือนมีนาคม 2553 จนถึงกรณีการที่เกาหลีเหนือระดมยิงปืนใหญ่เข้าใส่กองกำลังเกาหลีใต้ที่ประจำอยู่บนเกาะยอนพยอง เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 จนทำให้พลเรือนและทหารเกาหลีใต้ได้รับบาดเจ็บและสูญเสียหลายสิบชีวิต อันเป็นการยั่วยุของเกาหลีเหนือที่ก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดสงครามมากที่สุด นับตั้งแต่สงครามเกาหลีสิ้นสุดลง แต่จีนก็ยังยืนยันที่จะทำ ตัวเป็น “ผู้ใหญ่อุ้มเด็ก” ต่อไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง

ในส่วนของจีนและเกาหลีเหนือ เมื่อสิ้นยุคประธานเหมา เจ๋อตงและคิม อิลซุง ประธานาธิบดีตลอดกาล (Eternal President) แม้เติ้ง เสี่ยวผิง และผู้นำรุ่นต่อๆ มาของจีนจะมีนโยบายเปิดประเทศ สานสัมพันธ์ทางการทูตและทำการค้ากับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นอย่างเต็มตัวเพื่อผลประโยชน์ทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบตลาด แต่จีนก็ยังคงรักษา ท่าทีทางการเมืองต่อเกาหลีเหนืออย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ทุกวันนี้ เกาหลีใต้คู่ปรับสำคัญของเกาหลี เหนือ ถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของจีน รองจากสหรัฐ อเมริกา และญี่ปุ่น โดยเมื่อเปรียบเทียบตัวเลขในปี 2552 (ค.ศ.2009) จีน-เกาหลีใต้มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 156,210 ล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบ เทียบกับจีน-เกาหลีเหนือที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน เพียง 2,680 ล้านเหรียญสหรัฐ แล้วจะเห็นได้ว่าทิ้งกันแบบไม่เห็นฝุ่น ไม่นับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การลงทุนทางตรง-ทางอ้อม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษา ฯลฯ ระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ที่นับวันจะเพิ่มพูนและซับซ้อนกว่าแต่ก่อนมาก

ข่าวการล้มป่วยของคิม จองอิล และการชูบุตรชายคนเล็ก คิม จองอุน ขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นที่ 3 จริงๆ จีนทราบมานานแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากบริบทโดยรอบแล้วจีนไม่มีทางเลือกที่จะต้องรักษาความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือภายใต้การนำของ “ราชวงศ์คิม” เอาไว้เพื่อการรักษาเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ไม่ให้เกิดการกระเพื่อมขึ้นภายในเกาหลีเหนือจนเกิดปัญหาผู้อพยพเกาหลีเหนือ ทะลักมายังชายแดนจีน หรือสถานการณ์เพลี่ยงพล้ำ ตกไปอยู่ในการกำหนดทิศทางของสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัก โอบามา และฮิลลารี คลินตัน ที่เดินหน้ายุทธศาสตร์ “กลับสู่เอเชีย (Return to Asia)” โดยประกาศว่าจะไม่ตัดงบประมาณทางการทหารในภูมิภาคนี้ และจับมือแน่นกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

การเดินทางมาทวีปเอเชียบ่อยครั้งขึ้นของโอบามา รวมถึงการเยือนพม่าครั้งประวัติศาสตร์ของ นางคลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554 ล้วนแต่เป็นสัญญาณที่จีนจะนิ่งนอนใจต่อสัญญาณการรุกคืบเข้าสู่ภูมิภาคนี้ของสหรัฐฯ มิได้

ดังนั้น การป่าวประกาศให้ประชาคมโลกช่วยกันสนับสนุนพรรคแรงงานเกาหลีภายใต้การนำของคิม จองอุนให้ปกครองเกาหลีเหนือต่อไป ในระยะสั้นแท้จริงแล้วจึงเป็นการช่วยเหลือจีนเองนั่นแล

ส่วนในระยะยาว จีนคงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะทั้งสนับสนุนและกดดันไปพร้อมๆ กันให้เกาหลีเหนือ ภายใต้การปกครองของผู้นำหนุ่มดำเนินการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงจากภายใน เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกมากขึ้น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us