Grimsstadir ถิ่นชนบทอันห่างไกลทางตะวันออกเฉียงเหนือของไอซ์แลนด์ มีความสุขสงบมากที่สุดแห่งหนึ่งเท่าที่จะหาได้บนโลกใบนี้ เรือกสวนไร่นาเขียวชอุ่ม สามารถมองเห็นแสงเหนือ และขับรถไปเที่ยวน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปได้ ท้องฟ้าอันไพศาลยังสว่างใสบริสุทธิ์ดุจกระจก ทัศนียภาพแถบภูเขาที่งดงามบาดตา ที่พักนักท่องเที่ยวมีเพียงเกสต์เฮาส์เล็กๆ
แต่แล้วความสงบเงียบของ Grimsstadir เพิ่งถูกทำลายลง ด้วยเสียงทะเลาะทุ่มเถียงที่เกี่ยวกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันของจีน เมื่อ Huang Nubo มหาเศรษฐีพันล้านของจีน และประธานบริษัท Zongkun Investment Group มีแผนจะสร้างรีสอร์ตหรูมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ที่ Grimsstadir จุดชนวนให้เกิด ความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยเกิดขึ้นในประเทศยุโรป แห่งนี้ นับตั้งแต่ที่ภาคการธนาคารของประเทศนี้แตกสลายไปเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งมีส่วนเร่งให้โลกทั้งโลกต้องเผชิญกับวิกฤติการเงิน จนถึงทุกวันนี้ ไอซ์แลนด์ก็ยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนให้พ้นวังวนของปัญหาเศรษฐกิจ
Huang อดีตเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นนักธุรกิจระดับมหาเศรษฐี เสนอจะสร้างโรงแรมหรูหรา และเขตอนุรักษ์ธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป รวมทั้งสนามกอล์ฟใน Grimsstadir แต่ถูกรัฐบาลไอซ์แลนด์ปฏิเสธเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (2011) เพราะไม่ไว้ใจในตัว Huang ที่อาจจะเล็งฮุบธุรกิจอื่นๆ ของไอซ์แลนด์ด้วย หลังจากที่ไอซ์แลนด์เริ่มมีศักยภาพมหาศาลในสายตาของบริษัทพลังงาน เพราะปัญหาโลกร้อนทำให้สามารถเข้าถึงอาร์กติกหรือขั้วโลกเหนือได้มากขึ้น อันอาจเป็นแหล่งขุดเจาะพลังงานแหล่งใหม่
ความพยายามของ Huang นับเป็นครั้งแรกที่จีนปรารถนาจะรุกเข้าในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไอซ์แลนด์ และไม่ใช่ความพยายามครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน ความหอมหวนของแหล่งท่องเที่ยวในไอซ์แลนด์ ไม่ใช่เพราะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักจากจีนที่กำลังเห่อเที่ยวเมืองนอกได้เท่านั้น แต่การรุกเข้าไปในไอซ์แลนด์ ยังเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การลงทุนของจีนในอาร์กติกด้วย
ความจริงแล้ว ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใน มุมหนึ่ง อันห่างไกลของยุโรปอย่าง Grimsstadir นั้น กำลังสะท้อนให้เห็นภาพใหญ่ของการสั่งสม อิทธิพลของจีนในยุโรป ซึ่งกำลังทำให้ยุโรปรู้สึก หนักใจอย่างยิ่ง ในห้วงเวลาที่ E.U.กำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด และต้องการโอบอุ้ม ชาติยุโรปที่กำลังประสบปัญหาวิกฤติหนี้อย่างกรีซ อิตาลี สเปนและโปรตุเกส ให้พ้นจากการผิดนัดชำระหนี้นั้น E.U.ได้หันหน้าไปหาจีนและประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ หวังให้ทุ่มเงินสดนับหมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนเพิ่มขนาดกองทุนกู้วิกฤติหนี้ยุโรป
แม้ว่าจีนยังกำลังชั่งน้ำหนักความเสี่ยงและประโยชน์ของการเข้าไปลงทุนในกองทุนดังกล่าว แต่นั่นไม่อาจหยุดยั้งความปรารถนาของจีนที่จะเข้าครอบครองสินทรัพย์อื่นๆ ของยุโรปได้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงบริษัทระดับโลกของยุโรป ในเดือนพฤศจิกายน Lou Jiwei CEO กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) มูลค่า 400,000 ล้านดอลลาร์ของจีน กล่าวว่า เขาต้องการให้กองทุนของเขาเป็น “หุ้นส่วน” ในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์ของอังกฤษ นั่นคือก้าวแรกของจีนที่หวังจะเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของชาติตะวันตกที่กำลังต้องการการฟื้นฟูบูรณะโดยด่วน
เงินที่อัดฉีดจากจีนสามารถจะช่วยให้ยุโรปทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ ตั้งแต่บูรณะสะพานที่ใกล้พังไปจนถึงการสร้างทางรถไฟความ เร็วสูง และการอุดช่องโหว่ขนาดใหญ่ในแผนฟื้นฟูของยุโรป โดยสิ่งตอบแทนที่จีนจะได้รับคือการยกระดับฐานะของจีนบนเวทีโลกจากที่ผ่านมา การสร้างอิทธิพลของจีนมักถูกเบรกด้วยข้อกล่าวหาจากชาติมหาอำนาจยุโรป ผู้ซึ่งตอนนี้กลายเป็นคนเคยรวย เกี่ยวกับ ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ยังกลัวว่า จีนจะใช้การที่ยูโรโซนประสบวิกฤติหนี้ เป็นโอกาสในการบุกเข้ากว้านซื้อทรัพย์สินอันมีค่าของยุโรปไปในราคาถูกๆ ทำให้ยุโรปต้องยอมอ่อนข้อทางการเมืองให้ ในเรื่องการห้ามขายอาวุธและข้อพิพาททางการค้าอื่นๆ ในเวลาที่ผู้นำยุโรปกำลังหมดสิ้นอำนาจต่อรองใดๆ กับจีน
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมหาศาล 3 ล้านล้านดอลลาร์ ของจีน บวกกับการที่จีนมีอภิมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้ชาวยุโรปซึ่งกำลังถูกรุมเร้าด้วยปัญหาหนักต่างๆ รู้สึกหวั่นไหว มากยิ่งขึ้น ด้วยความหวั่นกลัวว่าอิทธิพลทางการเงินของจีนจะรุกล้ำ ชีวิตประจำวันของพวกเขา จำนวนอภิมหาเศรษฐีชาวเอเชียเพิ่มขึ้นเกือบ 10% เมื่อปี 2009 เป็น 3.3 ล้านคน แซงหน้าอภิมหาเศรษฐีใน ยุโรปซึ่งมีจำนวน 3.1 ล้านคน ขณะนี้ห้างสรรพสินค้าหรูๆ ในปารีส ลอนดอน คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวจีน ผู้จิบไวน์ในไร่องุ่นในเมือง Bordeaux ที่บริษัทจีนเป็นเจ้าของ และจองห้องในรีสอร์ตหรูอย่าง Club Med ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Fosun บริษัทลงทุนจากจีน จีนกำลังเขมือบยุโรป และนักวิเคราะห์ก็ทำนายว่า การลงทุนของจีนในทุกสิ่งทุกอย่างในยุโรป ตั้งแต่การสร้างถนนไปจนถึงแบรนด์ แฟชั่นจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อจีนเองกำลังเปลี่ยน แปลงและพัฒนาอุตสาหกรรมในบ้านของตัวเองให้ก้าวขึ้นไปสู่อุตสาหกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น
การลงทุนในยุโรปเป็นเพียงเฟสล่าสุดของการชอปอย่างเมามันไปทั่วโลกของจีนเท่านั้น ก่อนหน้านี้ จีนได้หว่านเงินนับพันนับหมื่นล้านดอลลาร์ลงไปในประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากร อย่างประเทศในแอฟริกาและละตินอเมริกาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อสนองความต้องการวัตถุดิบที่ไม่สิ้นสุดของจีน โดยจีนได้ทำข้อตกลง เป็นหุ้นส่วนระยะยาวในอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ แร่เหล็ก ทองแดง และโลหะสำคัญอื่นๆ เมื่อชนชั้นกลางของจีนขยายตัว และชนชั้นแรงงานของจีนต้องการมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น จีนจึงถูกกดดันให้ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากอุตสาหกรรมพื้นฐานอย่างการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานไปสู่การผลิตสินค้าและบริการในระดับ high-end ซึ่งเป็นหนทางเดียวกับที่ชาติตะวันตกเคยบุกเบิกมาก่อนนั่นเอง นั่นทำให้บริษัทอย่าง Schiess ผู้ผลิตเครื่องจักรกลหนักของเยอรมนี ซึ่งมีความเป็นเลิศในด้านวิศวกรรม และค่ายรถสแกนดิเนเวียที่เก่งกาจในการออกแบบอย่าง Saab กลายเป็นบริษัทน่าซื้อสำหรับจีน ยิ่งจีนยกระดับตัวเองจากประเทศตลาดเกิดใหม่ และฉีกตัวเองออกจากประเทศเอเชียอื่นๆ มากเท่าใด การลงทุนในยุโรปก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
การชอปอย่างเมามันของจีนในยุโรปเพิ่งจะอยู่ในขั้นเริ่มต้น ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า การลงทุนโดยตรงของจีนในยุโรปเพิ่มขึ้นเท่าตัวตั้งแต่ปี 2009-2010 เพิ่มขึ้นอีกในปีที่แล้ว (2011) แม้ตัวเลขนี้จะยังเล็กน้อย แต่แนวโน้มมีแต่ขาขึ้น เพียงเมื่อ 5 ปีก่อน การลงทุนโดยตรงของจีนในยุโรปมีมูลค่าเพียง 1,300 ล้านดอลลาร์เท่านั้น แต่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2011 เพียงข้อตกลงในยุโรปแค่ 3 ดีลก็มีมูลค่าเกิน 1,300 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว สรุปแล้วการรุกเข้าสู่ยุโรปของจีน มีทั้งในรูปการลงทุนจากรัฐบาลจีนและกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ การทำข้อตกลงกับนักลงทุนเอกชนที่ร่ำรวยของจีน ในรูปของการกว้านซื้อบริษัทยุโรป
ในทั้งหมดนี้ การลงทุนของ จีนในพันธบัตรรัฐบาลชาติกลุ่มยูโรโซนเป็นที่สนใจมากที่สุด ในปี 2010 รัฐบาลจีนซื้อพันธบัตรรัฐบาลสเปน 500 ล้านดอลลาร์ ประกาศจะซื้อพันธบัตรอิตาลีและกรีซด้วย เพื่อช่วยหนุนค่าเงินยูโรและช่วยผู้บริโภค ชาวยุโรปที่กำลังหนี้ท่วม เพราะชาว ยุโรปคือลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของสินค้าส่งออกจากจีน เป็นเพราะจีนกำลังใช้นโยบายกระจายความหลากหลายของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศให้ออกห่างจากเงินดอลลาร์สหรัฐ การเข้าซื้อพันธบัตร ยุโรปตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้จีนมีสินทรัพย์ราว 1 ใน 4 อยู่ในรูปของเงินยูโร
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์วิกฤติหนี้ยูโรโซนยังคงเลวร้ายลง จีนก็อาจจะหยุดกว้านซื้อพันธบัตรในยุโรปก็ได้ เพราะรัฐบาล จีนและบริษัทจีนเริ่มรู้สึกว่ามีความเสี่ยงสูง รัฐบาลจีนยังถูกกดดันจากประชาชนของตัวเอง ให้หันกลับมาใช้จ่ายลงทุนในบ้านของตัวเองให้มากกว่านี้ เพื่อช่วยแรงงานของจีนเองที่กำลังเริ่มไม่พอใจ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อที่หนักขึ้นและสวัสดิการ สังคมที่อ่อนแอ เมื่อรัฐบาลจีนประกาศจะช่วยอุ้มยุโรปแก้ปัญหาหนี้นั้น ชาวจีนถามกลับทันทีว่า ทำไมรัฐบาลจึงนำเงินทุนสำรองของชาติ ซึ่งเพียรเก็บหอมรอมริบมาอย่างลำบากยากเย็น ไปอุ้มชาวยุโรปที่ร่ำรวยกว่าคนจีนมากนัก และไม่รับผิดชอบจนต้องเป็นหนี้เป็นสินรกรุงรัง
ด้วยเหตุนี้ บรรดานักซื้อกระเป๋าหนักจากจีนจึงไม่ค่อยจะกล้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลยุโรป หรือสินทรัพย์สาธารณะอื่นๆ ในยุโรป เท่าใดนัก และหันไปลงทุนในแบรนด์หรูๆ ของยุโรป หรืออุตสาหกรรม ที่มีความสำคัญแทน อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นเป้าหมายใหญ่ของบรรดาค่ายรถจากจีนที่กำลังกระสันอยากจะเจาะตลาดรถตะวันตก และสลัดภาพรถเมดอินไชน่าที่ถูกยี้ทิ้งไปในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ค่ายรถ Pang Da และ Youngman ของจีน ตกลงซื้อค่ายรถหรูที่กำลังประสบปัญหาอย่าง Saab เป็นเงิน 140 ล้านดอลลาร์ ก่อนหน้านั้นในปี 2010 Geely Automotive ของจีน ก็ได้ซื้อ Volvo ของ Ford Motors ไปแล้ว ด้วยเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์
การกว้านซื้อบริษัทยุโรปที่มีเทคโนโลยีสูงกว่ายังเป็นการเลี่ยง มาตรการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีอย่างเข้มงวดของยุโรป Wanhua Industrial Group ของจีน ซื้อหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทเคมีของฮังการีแห่งหนึ่ง ด้วยเงิน 1,600 ล้านดอลลาร์ BlueStar ของจีน ซื้อบริษัทคอมพิวเตอร์ในนอร์เวย์ด้วยเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว (2011) บริษัทแผงเซลล์สุริยะ 3 แห่งของจีน กู้เงิน 10,000 ล้านดอลลาร์จากธนาคารของรัฐบาลจีน 2 แห่ง เพื่อลงทุนขยายกิจการในยุโรป ส่วน China Investment Corp. กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีน กำลังสนใจ ENI บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอิตาลี และ Enel บริษัทผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลอิตาลีอาจได้เงินมากกว่า 40,000 ล้านเหนาะๆ จากจีน บริษัทจีนอาจเคยคิดว่า การลงทุนในบริษัทที่กำลังมีปัญหา ของยุโรปเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องแต่ ดูเหมือนพวกเขาเริ่มรู้แล้วว่า ควรลงทุนในบริษัทที่ดีๆ ด้วย
จีนยังปรารถนาจะลงทุนมากขึ้นในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของยุโรป ซึ่งกำลังล้าสมัยและต้องการการสร้างใหม่ แต่กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติของจีนเสนอจะช่วยอัพเกรดถนน ท่าเรือ และโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ ในยุโรป พร้อมกับเงื่อนไข จีนต้องการมีส่วนร่วมในการดำเนินการโครงการเหล่านั้นในฐานะ “หุ้นส่วน” มากกว่าเป็นแค่ “ผู้รับเหมา” ที่ต้องทำงานอยู่ใต้บริษัทยุโรป ในปี 2010 COSCO ยักษ์ใหญ่การขนส่งของจีนลงนามสัญญาเช่า 35 ปีท่าเรือ 1 ใน 2 แห่งของท่าเรือ Piraeus ในกรีซ ภายใต้ข้อตกลงมูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์นี้ จีนยกเครื่อง บูรณะท่าเรือดังกล่าวใหม่หมด อย่างที่รัฐบาลกรีซซึ่งกำลังเป็นหนี้เป็นสินล้นพ้นตัวไม่อาจทำได้ ขณะนี้ท่าเรือกรีซที่บริหารโดยจีนแห่งนี้ สามารถจัดการตู้คอนเทนเนอร์สินค้าได้ถึง 5,000 ตู้ต่อวัน
การทุ่มลงทุนขนาดนี้ของจีนทำให้ชาติยุโรปอดตาโตไม่ได้ แม้ว่าจะยังคงวิตกเกี่ยวกับจีนมากอยู่ ผู้นำยุโรปจึงขยันเกี้ยวจีนให้มาลงทุนอยู่เสมอ ในระหว่างการเยือนอังกฤษ เยอรมนีและฮังการีของนายกรัฐมนตรี Wen Jiabao ของจีนเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เขาได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ราวกับราชา ฮังการีห้ามกลุ่มสิทธิมนุษยชนไม่ให้ประท้วงตลอดการเยือนของ Wen แม้ว่าฮังการีจะให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยชาวทิเบตมานานก็ตาม สำหรับยุโรปแล้ว ขณะนี้มีปัญหาสำคัญที่เร่งด่วนกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนมากนัก นั่นคือ ศักยภาพของภูเขาเงินสดๆ ขนาดมหึมาของจีน ที่จะมาช่วยย้ายภูเขาหนี้สินให้ออกจากอกของยุโรป
แต่ยุโรปก็กังวลอย่างมากกับข้อเสียของการยอมรับความช่วยเหลือทางการเงินจากจีน ในอนาคต หากองค์ทะไลลามะเสด็จ เยือนยุโรป รัฐบาลยุโรปคงต้องคิด 2 ครั้ง หากจะออกแถลงการณ์ประณามปัญหาสิทธิมนุษยชนในจีน นอกจากนี้ความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับยุโรปจะยิ่งทำให้บริษัทของจีนได้เปรียบเศรษฐกิจ ที่เปิดกว้างกว่าของยุโรปอย่างไม่เป็นธรรม เพราะในขณะที่จีนชอปสินทรัพย์ของยุโรปอย่างสบายอารมณ์ แต่อุตสาหกรรมของจีนเองกลับปิดไม่รับนักลงทุนต่างชาติ ยุโรปยังไม่สบายใจที่เห็นรัฐบาลจีนมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทจีน และรัฐบาลจีนมีอำนาจยับยั้งข้อตกลง ทางธุรกิจ ยุโรปมักมองว่าการลงทุนของจีนมีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองแฝงอยู่ หรือไม่ก็มองว่า นักลงทุนทั้งหมดของจีนคือแขนขาของ รัฐบาลจีน ยกตัวอย่างเช่น จีนเรียกร้องสิ่งตอบแทนในการเข้าซื้อพันธบัตรยุโรป โดยยุโรปต้องยกเลิกการห้ามขายอาวุธแก่จีนที่ห้ามมาตั้งแต่หลังเหตุนองเลือดที่เทียนอันเหมินในปี 1989
การจัดการกับธุรกิจในลักษณะเช่นนี้ของรัฐบาลจีน ส่งผลเป็นการกวนน้ำให้ขุ่นและสร้างความยุ่งยากให้แก่นักลงทุนเอกชนของจีน อย่าง Huang Nubo ในกรณีของไอซ์แลนด์ที่กล่าวไปเมื่อตอนต้นเรื่อง Huang กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐบาลไอซ์แลนด์ที่ปฏิเสธการลงทุนของเขา ทั้งๆ ที่ตอนแรกทำท่ายินดีว่า เป็นพวก “อคติสงครามเย็น” Huang ซึ่งเคยเป็นข้าราชการในฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อ ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน และกระทรวงก่อสร้างของจีน วิจารณ์ชาติตะวันตกว่า เรียกร้องให้จีนเปิดตลาดให้ตะวันตก แต่กลับ “ปิดประตูใส่หน้า” นักลงทุนจีน
จีนยังพยายามกดดันให้ E.U.ยอมรับจีนว่า มีสถานภาพเป็น “ประเทศเศรษฐกิจตลาดเสรี” ศัพท์เทคนิคที่ใช้ในองค์การการ ค้าโลก (WTO) ซึ่งหาก E.U.ยอมรับ จะมีผลให้ชาติ E.U.ต้องเลิกฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับการทุ่มตลาดต่อจีน โดยขณะนี้จีนเป็นประเทศที่มีคดีถูกฟ้องร้องทางการค้าคาราคาซังอยู่ใน WTO มากที่สุด แต่หากได้สถานภาพดังกล่าว จีนจะส่งออกสินค้าอย่างรองเท้าหนังและจักรยานไปยุโรปได้ง่ายขึ้น ขณะนี้ดูเหมือนว่าฝรั่งเศสกับอิตาลี ซึ่งเคยต่อต้านการให้สถานภาพดังกล่าวแก่จีนอย่างดุเดือดจะเสียง อ่อนลงเรื่อยๆ เมื่อความหนักหนาสาหัสของปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จีนจะชนะได้รับการอ่อนข้อทั้งหมดข้างต้นจากยุโรปหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับวิกฤติหนี้ยุโรปจะเลวร้ายลงอีกเพียงใด และขึ้นอยู่กับจีนจะใช้การทูตช่วยปัดเป่าความวิตกกังวลของยุโรปลงได้มากน้อยเพียงใด นักวิเคราะห์ชี้ว่า จีนยังคงกระพือภาพลักษณ์ที่เลวร้ายของตัวเองในชาติตะวันตกอยู่ จากการที่จีนแสดงความเป็นห่วงวิกฤติหนี้ ยุโรปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และไม่ได้แสดงเลยว่า การช่วยเหลือ E.U. ก็เป็นผลประโยชน์ของจีนด้วยเช่นกัน และดูเหมือนว่าทัศนคติเช่นนี้ของจีน กลับจะยิ่งเข้มข้นขึ้นด้วย เนื่องจากจีนกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ โดยประธานาธิบดี Hu จะเกษียณ ซึ่งอาจเป็นปีนี้ (2012) ดังนั้น ในห้วงเวลาเช่นนี้ จีนจะพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทุกอย่างที่อาจจะตีกลับไปยังผู้นำจีนได้ และการแสดงออกว่าห่วงปัญหาหนี้ยุโรปมากกว่าปัญหาเศรษฐกิจในบ้านตัวเอง ก็เสี่ยงต่อการสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวจีน
ทางนักลงทุนจีนเองก็มีความไม่สบายใจเกี่ยวกับยุโรปเช่นกัน Gao Xiquing ผู้จัดการใหญ่ China Investment Corp กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติของจีน บ่นถึงชาติตะวันตกไว้ในการประชุม การลงทุนที่ฮ่องกงเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วว่า ต่างชาติต้องการ เพียงแต่ “เงิน” ของจีนเท่านั้น พวกเขาต้องการให้จีน “ควักเงินออกมาทิ้งไว้ และจากไป” โดยไม่เคยคิดจะให้ที่นั่งในคณะกรรมการ บริหารบริษัทแก่จีน และจีนไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียงในการจัดการธุรกิจนั้นๆ เพื่อเลี่ยงความขัดแย้งนี้ จีนจึงสนับสนุนการขยายขนาดกองทุน กู้วิกฤตหนี้ยุโรปผ่านทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มากกว่าจะติดต่อโดยตรงกับรัฐบาลแต่ละชาติในยุโรป อย่างไรก็ตาม ยุโรปก็ยังคงไม่ยอมให้จีนมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้นใน IMF และไม่ยอมให้รวมเงินหยวนของจีนเข้าไว้ในตะกร้าเงินของ IMF ที่เรียกว่า Special Drawing Right ด้วย
เมื่อวิกฤตหนี้ยุโรปกำลังคุกคามเศรษฐกิจโลก ให้อาจหวนกลับสู่การถดถอยอีกครั้ง บรรดาผู้นำชาติที่กลายเป็นคนเคยรวยก็ไม่อาจทะนงตนได้อีกต่อไป จีนอาจจะถูกกีดกันออกจากสโมสรคนรวยใน “โลกเก่า” (Old World) อย่าง IMF และ WTO แต่ในระดับทวิภาคีระหว่างจีนกับชาติยุโรปแล้ว การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ของจีนกำลังสร้างเสริมอิทธิพลของจีน แม้ว่าจีนอาจเลิกเทเงินสดๆ เข้าไปพยุงยุโรป แต่สิ่งที่แน่นอนคือ จีนจะยังคงเขมือบทรัพย์สินของยุโรปต่อไปอีก ซึ่งสำหรับชาติที่กำลังมีหนี้สินท่วมหัวอย่างกรีซและสเปนแล้ว ข้อตกลงธุรกิจจากจีนมีแต่จะดูดีขึ้นทุกวัน
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิตยสารไทม์
|