ฟอร์ดเป็นรถสกุลอเมริกัน ประเภทที่คนชอบพูดเชิงล้อเลียนว่าคันยาวแปดวาเครื่องแปดสูบนั่นแหละ
ต่อมาเมื่อรถฟอร์ดเข้ายุโรปจึงได้เกิดรถฟอร์ดสกุลอังกฤษที่มีขนาดกะทัดรัดขึ้น
ประหยัดน้ำมันกว่าด้วย อย่างเช่น ฟอร์ดเอสคอร์ทและฟอร์ดคอทิน่า เป็นต้น
นอกจากนี้ก็ยังมีฟอร์ดสกุลออสเตรเลีย ซึ่งมีช่วงล่างแข็งแกร่งสามารถขับบนโลกพระจันทร์ได้สบายๆ
ซึ่งก็เหมาะกับถนนที่ทุรกันดารแบบออสเตรเลีย และหลายประเทศ เช่น ฟอร์ดฟอลคอน
เป็นต้น
ฟอร์ดเป็นรถที่ถูกนำเข้ามาในตลาดบ้านเรานานแล้ว ซึ่งผู้นำเข้ารายใหญ่ก็คือ
บริษัทแองโกล-ไทย
จนปี 2513 จังได้มีการก่อตั้งบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทยขึ้นเพื่อทำหน้าที่ด้านการจัดจำหน่ายแทนแองโกล-ไทย
และพร้อม ๆ กับการก่อตั้งบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทย ก็มีการตั้งโรงงานประกอบรถฟอร์ดขึ้นที่ถนนปู่เจ้าสมิงพรายด้วย
ช่วงนั้นฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทยก็ประกอบและขายรถฟอร์ดสกุลอังกฤษและออสเตรเลียหลายรุ่น
ประสบความสำเร็จงดงามมาก
แต่ฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทยต้องมีการกระอักโลหิตทันทีเมื่อเริ่มแนะนำรถฟอร์ดเฟียร่า
เข้าตลาดในปี 2517
รถฟอร์ดเฟียร่านั้นมีบางคนตั้งชื่อว่ากระป๋องเคลื่อนที่ เพราะความที่เป็นรถบอบบางมาก
รูปทรงก็เหมือนกล่องสังกะสี จะมีภาษีก็ตรงที่ราคาเพียงคันละ 3 หมื่นกว่าบาท
ซึ่งถูกมากเท่านั้น
เฟียร่าเป็นรถที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากฟิลิปปินส์และฟอร์ด คิดว่าน่าจะประสบความสำเร็จพอ ๆ กันในประเทศไทยจึงได้ตัดสินใจนำเข้ามาประกอบขาย
แล้วฟอร์ดก็แทงหวยผิด เพราะคนไทยไม่สนใจเฟียร่าแม้แต่จะเหลือบมองเฉย ๆ ด้วยซ้ำ
ล่วงเข้าปี 2520 ภายหลังจากต้องล้มเหลวกับฟอร์ดเฟียร่า 3 ปีเต็ม ฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทยก็ตัดสินใจปิดกิจการ โอนหน้าที่ไปให้แองโกล-ไทยมอเตอร์
บริษัทลูกของแองโกล-ไทยที่ตั้งขึ้นในปี 2520 นั้นเอง
ส่วนโรงงานประกอบรถฟอร์ดนั้นก็ขายให้กับกลุ่มฮีโน่ไป
แองโกล-ไทย เป็นบริษัทของอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยนับอายุก็เฉียดๆ
100 ปีแล้ว
ชื่อเดิมของแองโกล-ไทยนั้นก็ชื่อ สยามฟอเรสต์ ซึ่งทำกิจการป่าไม้ทางภาคเหนือ
และต่อมาอีกหลายสิบปีได้เปลี่ยนชื่อจากสยามฟอเรสต์มาเป็นแองโกล-สยาม และเปลี่ยนอีกครั้งมาเป็นแองโกล-ไทยในที่สุด
แองโกล-ไทย ว่าไปแล้วก็เคยยิ่งใหญ่พอฟัดพอเหวี่ยงกับอี๊สต์เอเชียติ๊กของเดนมาร์ก
อายุการก่อตั้งก็พอ ๆ กัน และเติบโตมาในแนวเดียวกันด้วย
แองโกล-ไทย ในยุคที่ยังไม่มีฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทยนั้นเคยทำหน้าที่เป็นผู้นำเข้ารถฟอร์ดมาขายซึ่งก็มีทั้งรถยนต์และรถแทรกเตอร์
จนเมื่อมีการก่อตั้งบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทยแล้วแองโกล-ไทยจึงเหลือเพียงการขายรถแทรกเตอร์อย่างเดียว
และเมื่อฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทยต้องมีอันหลบฉากไปจากตลาดรถยนต์ภายในระยะเวลาเพียง
5 ปี แองโกล-ไทยก็เข้ามารับผิดชอบฟอร์ดอีกครั้ง โดยได้ตั้งบริษัทลูกขึ้นชื่อ
แองโกล-ไทยมอเตอร์ ทุนจดทะเบียน 2 ล้าน ซึ่งไม่เคยเพิ่มเลยจนวาระสุดท้าย
แองโกล-ไทยมอเตอร์นั้น คงจะมองรถฟอร์ดเหมือนกับหมูในอวย เพราะฉะนั้นในขณะที่รถญี่ปุ่นพยายามโปรโมชั่นกันอย่างมากๆ
รถฟอร์ดกลับสวนทางด้วยการสงบอยู่นิ่ง ๆ แต่ก็เดินแผนล้ำลึกด้านการตลาดด้านอื่น
อย่างเช่น การทำข้อตกลงกับบริษัทไฟแนนซ์รถยนต์หลายแห่ง ให้กำหนดเงินดาวน์รถฟอร์ดในอัตราต่ำ ๆ
เพื่อทำให้กำลังซื้อของรถฟอร์ดสูงขึ้น
นโยบายดาวน์ต่ำนี้ทำให้รถฟอร์ดขายดีมากในช่วงแรก ๆ คนรายได้น้อยก็สามารถถอยรถฟอร์ดออกไปขับโฉบเฉี่ยวตามท้องถนนได้ไม่ยาก
แน่นอน ก็จะต้องมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถผ่อนรถได้จนครบ เพราะรายได้ไม่พอที่จะผ่อนตั้งแต่แรกแล้ว
ฟอร์ดในช่วงกลาง ๆ ของยุคแองโกล-ไทยมอเตอร์จึงเป็นรถที่ต้องตามยึดจากลูกค้ากันคึกคักโครมครามมาก ๆ
ข้างฝ่ายลูกค้ารถฟอร์ดส่วนมากเมื่อรู้ว่าจะต้องถูกยึดรถแน่ ๆ ก็ใช้รถกันอย่างไม่ปรานีอีกต่อไป
สภาพของรถที่ยึดกลับมาส่วนมากจึงอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมเป็นที่สุด
เพราะฉะนั้นเมื่อขายเป็นรถมือสองราคาก็เลยตก และเมื่อราคาตกคนก็พูดกันจากปากสู่ปากโดยที่แองโกล-ไทยมอเตอร์ก็ยังสงบนิ่งเป็นปกติเหมือนเดิม
ไม่พยายามที่จะประชาสัมพันธ์ถึงข้อเท็จจริง
เมื่อผสมกับลมปากคู่แข่งเข้าด้วย ฟอร์ดก็ทำท่าจะตายสนิทเอาดื้อ ๆ
ตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา แองโกล-ไทยมอเตอร์จึงอยู่ในสภาพที่มีแต่ทรุดกับทรุด
และในที่สุดก็ต้องขายบริษัทนี้ไปให้กับกลุ่มนักลงทุนของมาเลเซีย พร้อม ๆ กับประกาศยกเลิกการเป็นผู้แทนจำหน่ายและประกอบรถฟอร์ดเมื่อต้น ๆ ปี
2528 นี้เอง