Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2528
นิวเอร่า-ยุคใหม่ของคนรุ่นใหม่ ผู้หาญกล้าปลุก "ฟอร์ด" ให้คืนชีพอีกครั้ง             
 


   
search resources

ฟอร์ด มอเตอร์
Motorcycle
อารี สันติพงศ์ไชย
นิวเอร่า




ฟอร์ดเป็นรถที่น่าจะพูดได้ว่าล้มเหลวไปแล้วในตลาดเมืองไทย ฟอร์ดเคยขายอยู่โดยบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทสาขาโดยตรงของฟอร์ดออสเตรเลียก็ล้มเหลวไปภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี จากนั้นก็มีแองโกล-ไทยมอเตอร์ เข้ามารับผิดชอบแทนและก็ต้องพังไปอีกราย โดยอยู่นานกว่าฟอร์ดมอเตอร์เพียง 2 ปีเท่านั้น

บนถนนสายที่รถคว่ำมาแล้วถึง 2 ครั้งนี้ ได้ก่อเกิดวีรบุรุษผู้กล้ารายหนึ่ง ผู้หาญจะนำรถฟอร์ดเข้าตลาดและเกรียงไกรอีกครั้ง ผู้กล้าผู้นี้มีนามว่านิวเอร่า…วีรบุรุษนิรนามที่วงการยังไม่รู้จัก

สำหรับนักเลงรถบ้านเรานั้น "ฟอร์ด" น่าจะได้ชื่อว่าเป็นรถที่ตายไปแล้ว ตายไปพร้อม ๆ กับฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทย และแองโกล-ไทยมอเตอร์ อดีต 2 ตัวแทนจำหน่ายผู้เคยผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาเขียนประวัติศาสตร์ให้รถฟอร์ดในประเทศไทย โดยผ่านยุคเกรียงไกรแล้วก็จบลงอย่างขมขื่นในท้ายที่สุดเหมือน ๆ กัน

"ฟอร์ด" น่าจะต้องตายอย่างสนิทจริง ๆ แต่เผอิญยังมีคนที่คิดว่า "ฟอร์ด" นั้นต้องตายแบบที่ไม่น่าสมควรตาย "ฟอร์ด" จึงต้องกลับเข้าตลาดอีกครั้ง โดยคนที่คิดเช่นนั้นก็คือ นิวเอร่า จำกัด บริษัทที่โนเนมอย่างมาก ๆ สำหรับวงการรถยนต์บ้านเรา

นิวเอร่าเป็นใคร มาจากไหน? และเหตุใดจึงขวัญกล้าขนาดที่คิดจะเข้ามา "ปลุกผี" รถฟอร์ดให้ลุกขึ้นมาผงาดอีกครั้งในยุทธจักร คำถามอย่างน้อย 2 คำถามนี้มีแต่คนอยากรู้คำตอบ ภายหลังการเซ็นสัญญาระหว่างบริษัทฟอร์ดโปรดักส์แห่งประเทศออสเตรเลีย กับบริษัทนิวเอร่าที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ โดยฟอร์ดโปรดักส์แต่งตั้งนิวเอร่าให้เป็นผู้แทนจำหน่ายและประกอบรถยนต์นั่ง, รถกระบะของฟอร์ดในประเทศไทย และนิวเอร่าก็ประกาศทันทีในวันเดียวกันนั้นว่า จะแนะนำรถฟอร์ด 3 รุ่น คือ เลเซอร์ใหม่ 3 แบบ เทลสตาร์ใหม่ 3 แบบ พร้อมกับรถกระบะ (ปิกอัพ) คูเรียเข้าตลาดในราวต้นปี 2529 นี้

ก็คงเป็นหน้าที่ของ "ผู้จัดการ" อีกครั้งที่จะต้องพยายามค้นหาคำตอบในทั้ง 2 คำถามนั้นออกมา ซึ่งต้องขอบอกกล่าวกันตรง ๆ ก่อนว่า เรื่องนี้มิใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก

"ในวันที่มีการเซ็นสัญญาแต่งตั้งนิวเอร่าเป็นผู้แทนจำหน่ายและประกอบรถฟอร์ดในประเทศไทย นิวเอร่าก็ไม่ได้แนะนำตัวอะไร ไม่มีใครทราบว่า ที.เค.ชุง กรรมการผู้จัดการของนิวเอร่านั้น เป็นใครมาจากไหน ในกลุ่มผู้บริหารถ้าจะพอได้ยินชื่อกันบ้างคงมี อารี สันติพงศ์ไชย ลูกชายเจ้าของหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้าคนเดียวมั้ง ซึ่งอารีรับผิดชอบด้านการตลาดและการโฆษณาประชาสัมพันธ์…" ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยี่ห้อหนึ่งพูดเหมือนรู้ใจ "ผู้จัดการ" อย่างไรอย่างนั้น

และเพราะไม่ใช่เรื่องง่ายนักนี่เองก็เลยเป็นเรื่องที่ออกจะท้าทายเอามากๆ ตามที่ทราบกันนั้น กลุ่มนิวเอร่าเริ่มมีการติดต่อกับฟอร์ดที่ออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ดูแลผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของฟอร์ดทั้งหมดในย่านเอเชีย-แปซิฟิก ตั้งแต่ราว ๆ เดือนมีนาคม 2528 อันเป็นช่วงเริ่มมีข่าวเล็ดลอดออกมาบ้างแล้วว่า บริษัทแองโกล-ไทยมอเตอร์กำลังเตรียมยกเลิกสัญญาการเป็นผู้แทนจำหน่ายและประกอบรถฟอร์ดในประเทศไทย เพราะทนขาดทุนต่อไปไม่ไหวแล้ว

นิวเอร่าเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2527 ก่อนหน้าที่จะมีการติดต่อเจรจากับฟอร์ดออสเตรเลีย 5 เดือน

ผู้ก่อตั้งเป็นนักธุรกิจเชื้อสายจีน แต่ถือสัญชาติแคนาดา ชื่อ ชุง คุง ตัง ซึ่งหลังจากจดทะเบียนตั้งบริษัทนิวเอร่าได้ไม่กี่เดือน ชุง คุง ตัง ได้แจ้งว่าชื่อจริง ๆ ของเขานั้นชื่อ เคียง จัง ชุง ไม่ใช่ ชุง คุง ตัง ดังที่แจ้งไว้ในตอนต้น

เคียง จัง ชุง หรือ ที.เค.ชุง อายุ 53 ปี เกิดที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน และขณะนี้มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทนิวเอร่า จำกัด

บริษัทนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นจำนวน 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท

ครั้นแล้วในเดือนมีนาคม 2528 เดือนเดียวกับที่นิวเอร่าจะต้องติดต่อขอเป็นผู้แทนจำหน่ายรถฟอร์ดกับฟอร์ดออสเตรเลีย นิวเอร่าก็มีมติพิเศษเพิ่มทุนรวดเดียวอีก 49 ล้านบาท เพื่อให้มีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านบาท หรือเพิ่มจำนวนหุ้นขึ้นอีก 49,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 เท่าเดิม

มติพิเศษเพื่อเพิ่มทุนนี้ นิวเอร่าได้แจ้งกับนายทะเบียนบริษัทจำกัดว่า เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วนิวเอร่าจะมีคนไทยถือหุ้น 6 คน จำนวน 25,500 หุ้น และมีชาวต่างชาติถือหุ้น 5 คนจำนวน 24,500 หุ้น แต่ใครจะเข้ามาถือหุ้นบ้างนั้น ยังไม่ปรากฏรายชื่อ (นิตยสาร "ผู้จัดการ" ตรวจทะเบียนหุ้นครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2528)

และพร้อมกับมติเพิ่มทุนดังกล่าว บริษัทนิวเอร่ายังได้มีมติเพิ่มกรรมการบริษัทอีก 7 คน รวมเป็นมีกรรมการบริษัท 8 คน เมื่อรวมกับกรรมการเดิม คือ เคียง จัง ชุง โดยกรรมการทั้ง 7 คนนี้ก็ประกอบด้วย อารี สันติพงศ์ไชย พิพัฒน์ เรืองรองปัญญา วัฒน์ เรืองมานะมงคล สมหมาย สุวรรณพิมพ์ เตียว ซู เว็ง เตียว เชียง ไค และ เย็บ ซู ชวน

อารี สันติพงศ์ไชย นั้นเป็นทายาทเจ้าของหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในไทย ซิงเสียนเยอะเป้า โดยอารีมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ และกรรมการผู้จัดการบริษัทอารีซีสเท็มส์ซึ่งเป็นกิจการแยกสีในเครือของซิงเสียนฯ

พิพัฒน์ เรืองรองปัญญา มีอาชีพทนายความ ก็คงจะเข้ามาดูแลด้านกฎหมายให้กับนักลงทุนกลุ่มนี้

วัฒน์ เรืองมานะมงคล เคยทำกิจการค้าข้าว ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการโครงการวอลสตรีททาวเวอร์ ที่ถนนสุรวงศ์ ซึ่งเป็นโครงการสร้างออฟฟิศคอนโดมิเนียมของกลุ่มนักลงทุนไทย อดีตเจ้าของโรงงานอาหารสัตว์ชื่อเซนทาโก ร่วมกับนักลงทุนกลุ่มหนึ่งของสิงคโปร์

ส่วนสมหมาย สุวรรณพิมพ์ ก็เป็นมือเก่าที่เคยผ่านงานการประกอบรถฟอร์ดมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี สมหมายเคยทำงานกับฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทย และย้ายมาอยู่กับแองโกล-ไทยมอเตอร์ จนเมื่อแองโกล-ไทยมอเตอร์เลิกเป็นผู้แทนจำหน่ายและประกอบรถฟอร์ดแล้ว สมหมาย เป็นคนแรกที่นิวเอร่าดึงตัวมาร่ามงานตั้งแต่ช่วงที่นิวเอร่าเองก็ยังไม่ทราบว่าจะได้รับการแต่งตั้งจากฟอร์ดออสเตรเลียหรือไม่ด้วยซ้ำไป

และสำหรับชาวต่างประเทศอีก 3 คน คือ เตียว ซู เว็ง, เตียว เชียง ไค และ เย็บ ซู ชวน นั้นก็เป็นคนมาเลย์เชื้อสายจีน ทั้ง 3 คนเป็นตัวแทนจากกลุ่มทุนของมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งร่วมลงทุนในบริษัทนิวเอร่า จำกัด

"เราร่วมทุนกัน 3 ฝ่าย คือ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในรายละเอียดว่าจะเป็นใครบ้างนั้น ตอนนี้เขายังไม่อยากเปิดเผยตัว เอาเป็นว่าฝ่ายไทยก็มีกลุ่มผม คือ ซิงเสียนเยอะเป้า แล้วก็มีกลุ่มที่เขามีกิจการผลิตท่อเหล็กซึ่งใหญ่มากในประเทศไทย ส่วนมาเลเซียกับสิงคโปร์เขาเป็นพี่น้องกัน ก็มีกิจการนับเป็นร้อยบริษัทโดยเฉพาะกิจการรถยนต์เขามีโรงงานประกอบรถเบนซ์และมิตซูบิชิ และเป็นตัวแทนจำหน่ายด้วย อยู่ในมาเลเซีย…" อารี สันติพงศ์ไชย ช่วยอธิบายสั้น ๆ กับ "ผู้จัดการ"

การตั้งบริษัทนิวเอร่าและเสนอตัวเข้าไปติดต่อขอเป็นผู้แทนจำหน่ายและประกอบรถฟอร์ดกับฟอร์ดออสเตรเลียของนิวเอร่านั้น มีประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตอย่างมาก ๆ ประเด็นหนึ่ง

ประเด็นที่ว่านี้ก็คือ บริษัทนิวเอร่าได้ถูกตั้งขึ้นแล้วก่อนหน้าที่การติดต่อกับฟอร์ดออสเตรเลียจะเริ่มขึ้น 5 เดือนเต็ม ๆ ซึ่งก็เป็นช่วง 5 เดือน ที่ข่าวเรื่องแองโกล-ไทย จะถอนตัวคงยังไม่มีคนนอกทราบแน่ๆ หรือแม้แต่คนในก็เถอะ จะมีทราบกันสักกี่คน

หรือว่านิวเอร่าจะมาเหนือเมฆขนาดที่ทราบข่าวลับชิ้นนี้ก่อนหน้าคนอื่น 5 เดือนเต็ม ๆ

"ผมเชื่อว่าเขาไม่รู้หรอกว่าแองโกล-ไทยมอเตอร์จะเลิกขายและประกอบรถฟอร์ด เพราะเท่าที่ทราบกลุ่มนี้เขาตั้งบริษัทนิวเอร่าขึ้นมาไม่ใช่มีเจตนาแต่แรกที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนจำหน่ายและประกอบรถฟอร์ดแทนแองโกล-ไทย เขามีเจตนาอย่างอื่น…" แหล่งข่าวระดับลึกในวงการรถยนต์แย้ม ๆ ให้ฟังก่อนที่จะกระซิบด้วยเสียงแผ่ว ๆ ว่าเจตนาอย่างอื่น…ของนิวเอร่าที่ขมวดปมไว้นั้นก็คือ เจตนาที่จะเข้าไปรับช่วงกิจการโรงงานประกอบรถยนต์ของกรรณสูต ซึ่งช่วงนั้นกำลังประสบปัญหารายล้อมอย่างหนัก

โรงงานประกอบรถยนต์กรรณสูตตั้งขึ้นเมื่อปี 2520 มีกลุ่มกรรณสูตซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายรถเฟียตถือหุ้นใหญ่ร่วมกับกลุ่มนักลงทุนจากมาเลเซียและครอบครัวอรรถกวีสุนทร อันเป็นครอบครัวขุนนางเก่าของไทย

โรงงานแห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นโรงงานประกอบรถเฟียต รถฟอร์ด และรถเรโนลต์ของกลุ่มอิตัลไทยซึ่งในช่วงหลังของปี 2525 ไปแล้ว โรงงานประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักพร้อม ๆ กับเลิกประกอบรถเฟี๊ยต รถเรโนลต์ และลดจำนวนการผลิตของรถฟอร์ดที่ดูแลอยู่โดยบริษัทแองโกล-ไทยมอเตอร์

"ตอนสถานการณ์ของเขาไม่ดีเขาก็มาคุยกับพวกเราเพราะรู้จักกัน เราก็อยากช่วยกรรณสูต แต่ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็ได้แต่เตรียมการไว้เท่านั้น" อารี สันติพงศ์ไชย เล่ากับ "ผู้จัดการ" ซึ่งก็น่าจะเป็นการยอมรับถึงเจตนาดั้งเดิมข องนิวเอร่าที่เริ่มกันเพราะต้อง "เตรียมการ" สำหรับการเข้าช่วยเหลือโรงงานประกอบรถยนต์กรรณสูต

และหลังจาก "เตรียมการ" เพียง 5 เดือน นิวเอร่าก็ค้นพบทางออกสำหรับการเข้าช่วยเหลือกรรณสูต อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่งเสียด้วย

"ตอนเดือนมีนาคมเราก็รู้แล้วว่าแองโกล-ไทยมอเตอร์จะเลิกจากฟอร์ดมันก็เป็นโอกาสที่เปิดอย่างมากซึ่งจะหาโอกาสแบบนี้คงยากทีเดียว เพราะถ้าเราได้ฟอร์ดมาทำเราก็คงจะช่วยกรรณสูตได้ อีกทั้งมันก็เป็นโอกาสที่เปิดให้เราก้าวเข้ามาในวงการรถยนต์ สำหรับเรามันเป็นปัจจัย 2 อย่างที่เกิดขึ้นมาอย่างถูกจังหวะมาก" อารีพูดถึงสิ่งที่เขาพยายามเน้นว่าเป็น "โอกาสที่หาได้ยากยิ่ง"

จากเดือนมีนาคม 2528 เป็นต้นมา สำหรับนิวเอร่าแล้วจึงมีอยู่หลายเรื่องที่จะต้องทำพร้อม ๆ กันไป ตั้งแต่การดึงกลุ่มทุนต่าง ๆ เข้าร่วมงานกับนิวเอร่า การเจรจากับฟอร์ดออสเตรเลียไปจนถึงการทำสัญญาเช่าโรงงานประกอบรถยนต์ของกรรณสูต

"คนที่เดินงานก็คนหนุ่ม ๆ เพื่อนของอารีเขา คนหนึ่งอยู่มาเลเซียเป็นลูกชายเจ้าของกิจการหลายอย่างก็มีกิจการรถยนต์ด้วย ส่วนอีกคนอยู่ออสเตรเลีย เขาก็ช่วยกันดำเนินการจนตอนนี้ก็เข้าไปในกรรณสูตแล้ว และด้านฟอร์ดออสเตรเลียก็ตกลงกันได้เรียบร้อย…" ลี สันติพงศ์ไชย ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ พูดถึงลูกชายและกลุ่มเพื่อนๆ ของลูกซึ่งเป็นแกนกลางของบริษัทนิวเอร่า

ลียอมรับว่าตอนแรกๆ ที่ได้รับทราบถึงความตั้งใจของอารีและเพื่อนๆ นั้นเขาหนักใจมาก

"เรามองว่ามันยาก ปีนี้ถึงปีหน้าใครลงทุนทำอะไรมันเจ๊งง่าย เพราะเศรษฐกิจแย่ที่สุด แต่พวกเขาก็เชื่อว่าเขาทำได้ เพราะเขามีวิธีใหม่ๆ ที่เชื่อว่าทำแล้วจะสำเร็จ ก็ต้องให้พวกเขาลองดู"

ซึ่งสำหรับลีแล้วก็น่าจะหนักใจอยู่หรอก เพราะนิวเอร่านอกจากจะเกิดขึ้นมาในช่วงปีที่เศรษฐกิจเลวร้ายมากๆ แล้ว ก็ยังจับสินค้าที่ยักษ์ใหญ่อย่างฟอร์ดมอเตอร์ประเทศไทย และแองโกล-ไทยมอเตอร์เคยล้มเหลวมาแล้วด้วย

สำหรับนิวเอร่าล่ะ…พวกเขามีความหนักใจหรือไม่?

"หลังจากที่เราศึกษาตลาดและการบริหารงานของแองโกล-ไทยมอเตอร์ในอดีตแล้ว เราไม่รู้สึกหนักใจเลย เรายิ่งเชื่อมั่นขึ้นด้วยซ้ำ" ผู้บริหารคนหนึ่งของนิวเอร่าเปิดเผยถึงความรู้สึก

กลุ่มนิวเอร่ามีทัศนะ 3 ด้านที่เป็นด้านหลักๆในเรื่องนี้ คือ

หนึ่ง-พวกเขามีความเห็นว่ารถฟอร์ดเป็นรถที่มีคุณภาพ ไม่แพ้รถยี่ห้ออื่นๆ โดยเฉพาะรถญี่ปุ่นซึ่งครองตลาดอยู่ในปัจจุบัน ฟอร์ดมีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา และปัจจุบันฟอร์ดได้ใช้เทคโนโลยีหลายๆ ด้านตลอดจนชิ้นส่วนสำคัญๆ จากโรงงานของมาสด้าในประเทศญี่ปุ่นอันเป็นผลมาจากการที่ฟอร์ดเข้าไปถือหุ้นอยู่ 25 เปอร์เซ็นต์ในมาสด้า

"คุณลองไปดูได้เลยไม่ว่าในมาเลเซีย สิงคโปร์ ยอดขายของฟอร์ดมาที่ 3 ในออสเตรเลียมาเป็นที่ 1 เพราะฉะนั้นผมว่าฟอร์ดเป็นรถที่มีอนาคตดีมาก" คนของนิวเอร่ายืนยันด้วยน้ำเสียงแข็งขัน

สอง-พวกเขาเชื่อว่า สาเหตุแห่งความล้มเหลวของรถฟอร์ดในประเทศไทยที่ผ่านๆ มานั้น ไม่ใช่เกิดจากตัวสินค้า หากแต่เกิดจากความผิดพลาดด้านนโยบายการบริหารของผู้แทนจำหน่ายที่รับผิดชอบเสียมากกว่า

"เราพบว่าแองโกล-ไทยมอเตอร์ ได้ทำผิดพลาดหลายอย่าง เช่น เขาโฆษณาประชาสัมพันธ์น้อยมาก คนทั่วไปยังคิดว่าฟอร์ดเป็นรถอังกฤษหรือออสเตรเลียเหมือนเดิม ภาพลักษณ์ไม่ดี และเขาไม่พยายามอธิบายให้คนทราบถึงพัฒนาการของฟอร์ด หรือพยายามเปลี่ยนทัศนคติที่ไม่ดีที่คนมีต่อรถฟอร์ด นอกจากนั้นเขาก็ยังดำเนินนโยบายที่ทำให้รถฟอร์ดมือสองราคาตกอย่างมากๆ คนก็เลยกลัวไม่อยากซื้อ เพราะขืนซื้อไปเวลาขายเป็นรถมือสองจะไม่ได้ราคาดี เราก็เชื่อว่าถ้าเราแก้ข้อผิดพลาดเหล่านี้ได้เราก็มีโอกาสที่ดีขึ้นได้"

และสาม-ต่อคู่แข่งในตลาดโดยเฉพาะบรรดาเจ้ายุทธจักรรถญี่ปุ่นที่ครองตลาดอยู่นั้น นิวเอร่ามีความเห็นว่าหลายปีที่เศรษฐกิจไม่ดีนี้ ทุกรายต้องเหนื่อยเหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย หรือสยามกลการที่ขายนิสสัน และเฉพาะอย่างยิ่งกับรถญี่ปุ่นยี่ห้อนอกเหนือจากโตโยต้าและนิสสันนั้นก็ต้องเหนื่อยอย่างสาหัสทีเดียว

"มันก็เหมือนกับเขาได้วิ่งมาจนเกือบจะล้าแล้ว เพราะความที่วิ่งมานานส่วนพวกเรานั้นเพิ่งจะออกวิ่งเรายังกระชุ่มกระชวยอยู่ เราก็มีข้อได้เปรียบพวกเขาอยู่ เรื่องการแข่งขันจึงเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยหนักใจมากเท่าไหร่" อารี สันติพงศ์ไชย พูดเปรียบเทียบให้ฟัง

จากการมองปัญหาทั้ง 3 ด้านนี้ก็เลยทำให้นิวเอร่ามั่นใจในตัวเองเป็นพิเศษซึ่งก็น่าจะต้องเป็นเช่นนั้น

และคงไม่จำเป็นจะต้องรีรออีกต่อไป

ในเดือนมกราคม 2529 นี้ รถฟอร์ดคูเรียร์ซึ่งเป็นรถปิกอัพก็จะออกสู่ตลาดเป็นรุ่นแรก โดยวันที่ 15 จะเป็นวันดีเดย์

จากนั้นรถฟอร์ดรุ่นเลเซอร์และเทลสตาร์ซึ่งปรับปรุงรูปโฉมใหม่หมดก็จะออกตามๆ กันมาในราวเดือนเมษายน 2529

รถฟอร์ดทั้ง 3 รุ่นนี้นิวเอร่าตั้งเป้าหมายว่าจะในปี 2529 จะประกอบออกมาจากโรงงานกรรณสูตทั้งหมด 4,000 คัน ซึ่งครึ่งหนึ่งจะเป็นรถฟอร์ดคูเรียร์

หรือพูดกันง่ายๆ ก็คือนิวเอร่าได้ตั้งเป้าหมายที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถปิกอัพประมาณ 6-7 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้านี้นั่นเอง

"ด้านการขายนั้นเราจะตั้งตัวแทนจำหน่ายในกรุงเทพฯ 4-5 ราย มีโชว์รูม 1 แห่ง ส่วนในต่างจังหวัดเราจะตั้งขึ้นทั้งหมด 23 ราย" ผู้บริหารนิวเอร่าเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

เป้าหมายเหล่านี้จะบรรลุผลหรือไม่นั้นคงต้องติดตามเฝ้าดูกันต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us