Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2528
นม: สินค้าที่เริ่มหมดความสุนทรีไปเสียแล้ว             

 

 
Charts & Figures

ตารางที่ 1 รายรับ-รายจ่ายขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ประจำปี 2522-2525
ตารางที่ 2 ปริมาณและมูลค่าน้ำนมดิบที่ผลิตได้


   
www resources

โฮมเพจ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย

   
search resources

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)
Dairy Product
อินเตอร์แมกนั่ม, บจก.




นมค้างสต๊อกปีนี้มีมากถึง 3 พันกว่าตัน ทำให้วงการผู้ค้านมทั้งหลายระส่ำระส่ายอย่างหนัก แล้วยุทธการข่าวลือและการสาวไส้ก็ออกมากันเป็นระลอกๆ จนคนดื่มนมทั้งหลายพากันผวาจะเลิกดื่มนมกันเป็นแถว เพราะกลัวว่าผู้ผลิตนมจะเอานมที่ค้างสต๊อกมาขาย และก่อนที่เรื่องจะบานปลายใหญ่โตไปมากกว่านี้ อัศวินม้าขาว (เพิ่ง) โผล่มาแก้ไขสถานการณ์......

ตลาดนมมูลค่าเฉียด ๆ พันล้านตอนนี้กำลังจับไข้อย่างหนัก เพราะมีข่าวรั่วออกมาว่าทั้งทางองค์การส่งเสริมกิจการโคนมไทยหรือ อสค. ซึ่งเป็นผู้ผลิตนมดิบรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และบริษัทอินเตอร์แมกนั่ม จำกัด ซึ่งทำการตลาดให้กับ อสค. เพื่อขายผลิตภัณฑ์นมโค "ไทย-เดนมาร์ก" มีนมค้างสต๊อกไม่ต่ำกว่า 3 พันตัน หรือคิดเป็นเงินสดประมาณ 45 ล้านบาท ซึ่งทำให้ทั้ง 2 แห่งนี้ประสบกับภาวะขาดเงินหมุนเวียน และถ้าไม่รีบระบายสต๊อกนมส่วนนี้แล้ว นมเหล่านี้จะเสื่อมคุณภาพในที่สุด ซึ่งก็หมายความถึงเงินจำนวน 45 ล้านบาทนี้จะสูญไปด้วย และถ้าไม่รีบเร่งแก้ไขก็จะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมโคนมของประเทศไทย ทั้งเกษตรกรเลี้ยงโคนมอีกจำนวนมากจะไร้อาชีพไปด้วย

ปัญหาเรื่องนมค้างสต๊อกนั้นไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในวงการนม ถ้าจะว่าไปแล้วปัญหาเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งแล้ว คือเมื่อประมาณปี 2513 และปี 2525/26 แต่ในครั้งนี้เป็นที่ฮือฮากันมากเพราะมีนมเหลือค้างมากเป็นประวัติการณ์

รัฐบาลในหลายยุคก็พยายามแก้ปัญหาเรื่องนมนี้มาตลอด แต่ก็คงเป็นการแก้ที่ยังไม่ถูกจุดจึงทำให้ปัญหานี้ยิ่งสะสมกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นสาเหตุให้ทั้ง อคส. และบริษัทอินเตอร์แมกนั่มรวมทั้งบริษัทเอกชนที่ผลิตนมดื่มทุกแห่งต้องมารับผิดชอบปัญหานมนี้ร่วมกัน

ประเทศไทยมีการเลี้ยงโคนมกันอย่างจริงจังเมื่อปี 2504 เมื่อรัฐบาลเดนมาร์กได้เข้ามาจัดตั้งฟาร์มส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้กับประเทศไทย ในครั้งนั้นเป็นระยะการทดลองการเลี้ยงโคนมเท่านั้น ยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายของการผลิตแต่อย่างใด และก็ได้มีการตั้งโรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ขึ้นเพื่อนำนมดิบที่ได้มาเข้าโรงงานแล้วบรรจุใส่ถุงออกจำหน่ายโดยใช้ชื่อว่า "นมโคไทย-เดนมาร์ก" ในขณะเดียวกันก็ส่งนมดิบที่เหลือให้กับบริษัท โฟร์โมสต์และเพียวด้วย

จนกระทั่งในปี 2514 เจ้าหน้าที่ของเดนมาร์กสามารถฝึกคนไทยให้รู้จักเลี้ยงโคนมได้พอสมควรแล้วก็ได้ถอนตัวกลับ ฟาร์มแห่งนี้จึงได้เปลี่ยนมาเป็นองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อสค. ตามพระราชกฤษฎีกา โดยให้เป็นรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งบริหารโดยคนไทย มี ยอด วัฒนสินธุ์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก

อสค. เมื่อเริ่มตั้งก็ยังคงดำเนินการต่าง ๆ ตามแบบฝรั่งเดนมาร์กที่ได้วางรากฐานเอาไว้ คือ ส่งเสริมให้การเลี้ยงโคนมและรับซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของโคนม รวมทั้งน้ำนมดิบซึ่งนำมาทำการพาสเจอร์ไรซ์ออกจำหน่ายเอง

ตลาดนมในช่วงนั้นยังแคบมากเพราะคนดื่มนมยังไม่มากนัก การแข่งขันก็ประสบปัญหาเล็กน้อยตรงที่เอกชนที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์จะใช้หางนมผงจากต่างประเทศมาละลายน้ำ โดยไม่ยอมซื้อนมดิบจาก อสค. โดยอ้างว่านมดิบราคาแพงเกินไปทำให้ต้นทุนการผลิตสูง จะเป็นการทำให้นมในท้องตลาดราคาสูงตามไปด้วย

อสค. จึงต้องแบกภาระที่ต้องรับผิดชอบต่อเกษตรกรของประเทศโดยการผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์จากนมดิบในประเทศ แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่านมผงจากนอกก็ตาม จึงทำให้ต้นทุนการผลิตของ อสค. สูงกว่าเอกชนมาก

แต่ อสค. หรือรัฐบาลก็ไม่คิดที่จะแก้ปัญหานี้กันอย่างจริงจัง เพียงแต่ออกกฎกระทรวงอุตสาหกรรมมาบังคับให้โรงงานเอกชนซื้อนมดิบภายในประเทศ โดยมีความดังนี้

"ตามที่ปรากฏว่าการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยในปัจจุบันได้เป็นกิจกรรมสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งมีส่วนในการขยายฐานะและเพิ่มขีดความสามารถของสาขาเศรษฐกิจการเกษตร ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมได้มีส่วนสนับสนุนการเลี้ยงโคนมอย่างแท้จริงแล้ว ทั้งในปัจจุบันและอนาคต กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเห็นสมควรกำหนดนโยบายดังต่อไปนี้ ในการพิจารณาอนุญาตให้ตั้งขยายกำลังการผลิตหรือต่ออายุใบอนุญาตโรงงานผลิตภัณฑ์นมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป กระทรวงอุตสาหกรรมจะกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า โรงงานดังกล่าวจะต้องไม่ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมสด (รวมทั้งนมปรุงแต่งและนมแปลงไขมัน) ในลักษณะใด ๆ ซึ่งมิได้ใช้นมสดภายในประเทศโดยสิ้นเชิง หากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในอนาคตจะได้ประกาศให้ทราบต่อไป"

จะสังเกตว่าในประกาศครั้งนี้ไม่ได้กำหนดบทลงโทษแก่โรงงานที่ฝ่าฝืน จึงเสมือนเขียนเสือให้วัวกลัว

ในช่วงนั้นแม้ว่าเอกชนจะไม่ยอมซื้อนมดิบภายในประเทศก็ตาม แต่นมดิบที่ อสค. รับซื้อจากเกษตรกรก็มีเหลืออยู่บ้างเล็กน้อยเท่านั้น เพราะตอนนั้นยังมีเกษตรกรเลี้ยงโคนมไม่มากนัก

ปัญหาเริ่มรุนแรงขึ้นในปี 2518 เมื่อเกษตรกรหันมาสนใจเลี้ยงโคนมมากขึ้น เพราะรัฐบาลประกันนมดิบในราคาที่สูง ทำให้มีนมดิบเพิ่มขึ้นจากเดิมมากในขณะที่ตลาดนมพาสเจอร์ไรซ์ (นมถุง) ไม่ขยายตัวตามไปด้วย เพราะเป็นนมที่มีอายุสั้นเพียง 3 วันเท่านั้นก็จะเสื่อมคุณภาพ และจะต้องแช่เย็นด้วยซึ่งสมัยนั้นตู้เย็นยังไม่แพร่หลาย จึงทำให้ตลาดนมพาสเจอร์ไรซ์อยู่ในวงจำกัดมาก การขยายตลาดก็ทำได้ยาก

เมื่อเป็นเช่นนี้นมดิบจึงเริ่มเหลือสะสมขึ้นทุกวัน ๆ ทินกร คมกริช ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ อสค. ในขณะนั้นจึงแก้ปัญหาด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่จากต่างประเทศเข้ามา คือการแปรนมดิบโดยผ่านความร้อนนานกว่าระบบพาสเจอร์ไรซ์ เรียกระบบนี้ว่า ULTRA HOMOGINIZE TEMPERTURE หรือ ยู.เอช.ที. (นมกล่อง) กรรมวิธีนี้จะทำให้สามารถเก็บรักษานมได้นานถึง 6 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น

อสค. เริ่มนำระบบ ยู.เอช.ที. มาใช้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย และก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ตลาดนม ยู.เอช.ที. ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีเอกชนรายใดผลิตนมในระบบใหม่นี้แข่งกับ อสค. จึงทำให้ อสค. สดใสไปโลดโกยกำไรถึงปีละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท

แต่เมื่อ อสค. แก้ปัญหานมเหลือได้แล้วก็ต้องมาประสบปัญหาใหม่คือ นมดิบขาดแคลน

"ตอนนั้นเราเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาคือนมดิบไม่พอผลิตนมยู.เอช.ที. เพราะตลาดนมขยายตัวไปอย่างรวดเร็วมาก ในขณะที่เกษตรกรของเรายังผลิตนมเท่าเดิมอยู่ อสค. ก็แก้ปัญหาด้วยการสั่งหางนมผงจากต่างประเทศมาผสมกับนมดิบเพื่อทำนมยู.เอช.ที.ขาย" เจ้าหน้าที่เก่าแก่คนหนึ่งของ อสค. เล่าให้ "ผู้จัดการ" ทราบ

การตลาดของ อสค. ในตอนนั้นหลังจากรับซื้อนมดิบจากเกษตรกรทั่วประเทศแล้ว ก็จะนำนมดิบมาแปรสภาพเป็นนม ยู.เอช.ที. โดยการตลาดในกรุงเทพฯ นั้น อสค. จะมีเจ้าหน้าที่ออกไปขายเองทั้งหมด สำหรับตลาดต่างจังหวัด จะมีเอเย่นต์ประมาณ 30 กว่ารายมารับซื้อไปจำหน่ายอีกต่อหนึ่ง

จุดอ่อนการตลาดของ อสค. คือไม่มีการตั้งยอดขายให้กับเอเย่นต์ ใครจะขายเท่าไหร่ก็ได้ และก็ไม่มีการแบ่งเขตในการจำหน่ายในต่างจังหวัดกัน ไม่มีการทำสัญญากับเอเย่นต์ การตกลงอะไรจะกระทำกันด้วยปากเปล่าและก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของ อสค. ด้วย

"เมื่อก่อนผมต้องไปยกมือไหว้เขาเพื่อที่จะได้นมตามจำนวนสั่ง เพราะขายง่าย ได้มาเที่ยวหนึ่งปล่อยไม่กี่วันก็หมด" เอเย่นต์แห่งหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฉบับหนึ่งไว้ เรียกว่าในตอนนั้น อสค. ขายกันอย่างสบาย ๆ ก็รวยไม่รู้เรื่องแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปดิ้นรนอะไรมากนัก

บริษัทผลิตนมของเอกชนปล่อยให้ อสค. กรุยตลาดนม ยู.เอช.ที. ไปพักใหญ่ก็เริ่มขอมาร่วมรายการด้วย โดนนมตรามะลิเปิดฉากขึ้นก่อน ตามติดมาด้วยนมตราหมี และนมยี่ห้ออื่น ๆ รวมทั้งนมถั่วเหลืองด้วย

ในช่วงนั้นแม้แต่ อสค. ที่ผลิตนมดิบรายใหญ่ของประเทศยังประสบปัญหาขาดแคลนนมดิบเลย บริษัทเอกชนที่ผลิตนม ยู.เอช.ที. ตามอย่างจึงต้องหันไปสั่งหางนมจากนอกมาละลายน้ำบรรจุกล่องกัน กระทรวงอุตสาหกรรมก็ยังต้องผ่อนผันให้โรงงานใช้หางนมผงจากต่างประเทศได้

เมื่อเอกชนกระโจนเข้ามาร่วมในตลาดนม ยู.เอช.ที. แล้ว ก็ทำให้ อสค. เริ่มเสียเปรียบในด้านต้นทุนและกลยุทธ์ทางการตลาด

นม ยู.เอช.ที. ที่เอกชนผลิตนั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "นมคืนรูป ยู.เอช.ที." เพราะใช้หางนมผงและมันเนยจากต่างประเทศมาผสมน้ำ ทำให้ต้นทุนถูกกว่า อสค. ที่ใช้นมดิบมากถึง 30% เพราะต่างประเทศก็มีนมดิบล้นตลาด จึงนำที่เหลือนั้นมาทำเป็นหางนมผง แล้วก็ส่งมาทุ่มตลาด (DUMPING) ในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเช่นประเทศไทย ในราคาที่ถูกมากเพียงกิโลกรัมละ 4 บาท ในขณะที่นมดิบภายในประเทศกิโลกรัมละ 7.50 บาท

เมื่อต้นทุนแตกต่างกันเช่นนี้ผู้ผลิตเอกชนจึงสามารถทุ่มโฆษณาได้อย่างเต็มที่เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจาก อสค. ประกอบกับเอกชนมีนักการตลาดมืออาชีพที่คอยวางแผนการตลาดให้ ไม่นานนักตลาดของ อสค. ที่มีอยู่ก็เริ่มถูกแย่งไปเรื่อย ๆ

ดูจากตารางที่ 1 แสดงกำไรของ อสค. ที่ทำไว้สูงสุดเมื่อปี 2522 เป็นเงินถึง 25.5 ล้านบาท และเริ่มลดลงจนเหลือ 1.45 ล้านบาทในปี 2524 และเริ่มขาดทุนถึง 15 ล้านบาทในปี 2525

จากการเสียเปรียบในเชิงการตลาดของ อสค. จนต้องเสียส่วนแบ่งการตลาดของ อสค. จนต้องเสียส่วนแบ่งของตลาดให้กับคู่แข่งทั้งหลายที่มาแรงกว่า ทำให้ อสค. เริ่มมีผลิตภัณฑ์นมดื่มค้างสต๊อกมากขึ้น และไม่สามารถจำหน่ายออกไปได้หมด

"เริ่มจากปี 24 เริ่มมีปัญหานมค้างสต๊อกขึ้นเรื่อย ๆ จนเหลือสะสมกันพันกว่าตัน พอถึงปลายปี 24 มีนมเหลืออยู่เกือบ 2 พันตัน คิดเป็นเงินเกือบ 30 ล้านบาท ทำให้ อสค. ประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนอย่างมาก" แหล่งข่าวท่านหนึ่งกล่าว

ส่วนทางเอกชนก็ไม่ยอมรับซื้อนมดิบของ อสค. โดยอ้างว่าราคาน้ำนมดิบแพงกว่าหางนมผงจากต่างประเทศ ถ้าใช้นมดิบในประเทศแล้วจะทำให้โรงงานขาดทุนได้

และในช่วงนั้นเป็นช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการผลิตน้ำนมดิบเพื่อผลิตนมดื่มทดแทนการนำเข้าของหางนมผงและมันเนย โดยจากตารางที่ 2 จากปี 2524 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 ยังสามารถผลิตนมได้เพียง 22,352 ตัน/ปี พอเริ่มแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 ก็มีการเร่งการผลิตนมดิบมากขึ้น ปริมาณนมดิบก็เพิ่มขึ้นเป็น 27,028 ตัน/ปี และในปี 2526 และ 2527 ก็เพิ่มเป็น 34,075 ตัน/ปี และ 43,429 ตัน/ปี จะสังเกตได้ว่าตัวเลขเพิ่มขึ้นในแต่ละปีนั้นมากกว่าเดิมมาก

ส่วนสถานการณ์ทาง อสค. นั้น คณะกรรมการก็ได้ย้ายทินกร คมกริช มาเป็นที่ปรึกษา เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหานมค้างสต๊อกได้ แล้วก็ตั้ง ดร.ทิม พรรณศิริ อธิบดีกรมปศุสัตว์เข้าไปรักษาการแทน

อสค. สมัย ดร.ทิม พรรณศิริ ได้เริ่มการระบายสต๊อกด้วยการให้ส่วนแถมแก่เอเย่นต์และลูกค้า แต่ในขณะนั้น อสค. ประสบปัญหาการเงินอย่างหนักเกินไปเสียแล้ว มีงบโฆษณาเพียงแสนกว่าบาทเท่านั้น จึงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ประกอบกับ อสค. มีจุดอ่อนด้านเอเย่นต์ ซึ่งดำเนินธุรกิจกันอย่างหละหลวมมาก แผนการตลาดของ ดร.ทิม จึงไม่สามารถทำอะไรได้มากนักและต้องประสบกับความล้มเหลวในที่สุด

คณะกรรมการจึงต้องทำการผ่าตัดช่วยชีวิต อสค. เป็นครั้งที่ 2 ด้วยการแต่งตั้ง บุญมี จันทรวงศ์ จากกระทรวงเกษตรฯ มาแก้ปัญหาที่มีอยู่ใน อสค. ขณะนั้น

แหล่งข่าววงการนมคนหนึ่งได้เล่าให้ทราบถึงวิธีการดำเนินการแก้ปัญหาของ อสค. ในสมัยของบุญมีว่า

"ในสมัยอาจารย์บุญมี เริ่มแก้ปัญหาสำคัญก่อนคือเคลียร์สต๊อกให้ได้ เพื่อที่จะนำเงินที่ค้างอยู่มาหมุนเพื่อดำเนินการอย่างอื่นต่อไป โดยการให้เอเย่นต์เก่าทั้งหมดมาประชุม แล้ว อสค. ก็เสนอขอยกเลิกข้อตกลงเก่าที่ทำกับเอเย่นต์ทั้งหลายให้หมด เพราะตลาดแบบเก่าของ อสค. เป็นแบบหละหลวมมาก และตกลงกันว่าภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้ ทาง อสค. จะขอความร่วมมือจากเอเย่นต์ทั้งหลายช่วยกันระบายนมในสต๊อกจำนวน 4,500 ตัน ออกไปให้หมด คือเดิมมีอยู่ 2 พันตัน จะต้องบวกผลผลิตอีก 3 เดือนข้างหน้าเข้าไปด้วยเดือนละพันตัน ถ้าเอเย่นต์ใดสามารถขายได้ถึงเป้าใหม่ได้แล้ว อสค. จึงจะทำสัญญาค้าขายด้วยกันต่อไป"

การระดมพลเพื่อระบายสต๊อกครั้งนี้เอเย่นต์ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยแต่ละแห่งจะขายนม "ไทย-เดนมาร์ก" ในสายตามต่างจังหวัดของตนเองที่ขายอยู่แล้วโดยเพิ่มเป้าหมายขึ้นกว่าเดิมถึง 2 เท่าตัว

สายที่มีปัญหาก็คือสายกรุงเทพฯ ทั้งหมด ซึ่ง อสค. ทำการขายเองมาตั้งแต่แรก โดยเมื่อมีการประชุมนั้นพนักงานของ อสค. ไม่สามารถทำตามเป้าหมายใหม่ได้ จึงต้องรับเอเย่นต์ใหม่เข้ามารับผิดชอบในสายกรุงเทพฯ

มี 2 บริษัทที่เสนอเข้ามาในตอนนั้นคือ บริษัท เสียงดังแล็ป และบริษัทโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด แต่อสค. ก็ลงมติให้บริษัทเสียงดังแล็ป ชนะไป ได้เป็นเอเย่นต์ขายนม "ไทย-เดนมาร์ก" ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด เพราะบริษัทเสียงดังแล็ปได้ยื่นหนังสือมาก่อนและให้ข้อเสนอที่ดีกว่า

บริษัทโอสถสภาฯ จึงได้โควตานมที่ภาคใต้ไปแทน

งานระบายสต๊อกครั้งนั้นบริษัทเสียงดังแล็ปกะทุ่มช่วย อสค. สุดตัวเพื่อหวังผลที่จะเป็นเอเย่นต์ใหญ่ของ อสค. ต่อไปข้างหน้า บริษัทเสียงดังแล็ปจึงทุ่มขายแถมถึง 18-20%

ผลที่สุด อสค. ก็สามารถระบายสต๊อกไปได้ถึง 80% ทำให้มีสต๊อกเหลือเพียง 500 ตันเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติเพราะนม ยู.เอช.ที จะต้องรอเช็กสภาพ 7 วัน ก่อนส่งออกจำหน่าย ซึ่งถ้าผลิตได้วันละ 150 ตัน ก็จะต้องมีสต๊อกสำหรับเช็กสภาพนมประมาณ 350 ตัน

ภาวการณ์เงินของ อสค. จึงเริ่มกระเตื้องขึ้นมาก ทาง อสค. ก็เริ่มขายอย่างปกติ แต่แล้วก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา!

เมื่อมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในปี 2526 อสค. จึงต้องถูกนำมาขึ้นเขียงผ่าตัดเป็นครั้งที่ 3 โดยคณะกรรมการให้เหตุผลว่าการตลาดของ อสค. ทำงานแย่มาตลอด ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นเสมอ สมควรที่จะให้เอกชนมารับทำการตลาด โดยอสค. มีหน้าที่ทำการผลิตอย่างเดียว

ซึ่งในตอนนั้นก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าจะกลายเป็นระบบผูกขาด

"ถ้ามีรายเดียวจะมีปัญหาเพราะการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และนมเป็นสินค้าที่เราเก็บนานไม่ได้ ถ้าเป็นหลาย ๆ เอเย่นต์ก็จะต้องมีการแข่งขันกันขาย ยังพอมีดุลถ่วงกันบ้าง แต่รัฐบาลก็ให้เหตุผลว่ามีบริษัทเดียวจะดีตรงที่ อสค. เป็นรัฐวิสาหกิจจึงทำงานช้า ถ้ามีรายเดียวก็จะได้สะดวกในการทำงาน ด้านโฆษณาก็ให้รายใหม่รับไปเลย" ลูกหม้อเก่าแก่ของ อสค. กล่าว

ในที่สุดก็มีการเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลกันเพื่อทำการตลาดให้กับ อสค. ซึ่งมีหลายรายที่สนใจ เช่น บริษัท ศรีกรุง บริษัท บอร์เนียว บริษัท โอสถสภาฯ และน้องใหม่คือ บริษัท อินเตอร์แมกนั่ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทโอสถสภาฯ

แสดงว่าครั้งนี้บริษัทโอสถสภาฯ ต้องการที่จะจับตลาดด้านนมกันอย่างจริงจัง

เป็นที่น่าสังเกตว่าการประมูลในครั้งนี้เอเย่นต์เก่าแก่ของ อสค. ไม่มีใครเข้าร่วมเลย แม้กระทั่งบริษัทเสียงดังแล็ปซึ่งเป็นบริษัทที่มีส่วนช่วย อสค. ระบายสินค้าอย่างมากในครั้งนี้ บริษัทเสียงดังแล็ป จึงน่าที่จะเข้ามาเสนอตัวด้วย เอเย่นต์ผู้หนึ่งเปิดเผยให้ทราบถึงสาเหตุว่า

"เงื่อนไขของคณะกรรมการตั้งไว้สูงมาก อย่างเช่นบริษัทที่เข้าประมูลต้องมีทุนจดทะเบียนบริษัทไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งพวกบริษัทเอเย่นต์เก่าก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว แม้แต่บริษัทเสียงดัง

แล็ปเองก็ยังไม่ถึง ทางบริษัทอินเตอร์แมกนั่มจึงชนะไปเพราะเสนอราคาซื้อนมกล่องและตั้งเป้าหมายในแต่ละปีเป็นที่พอใจของพวกคณะกรรมการ

แล้ว อสค. ก็ได้คู่แฝดถาวร คือ บริษัท อินเตอร์แมกนั่ม จำกัด โดย อสค. เป็นฝ่ายผลิตสินค้าภายใต้ชื่อ "นมโคไทย-เดนมาร์ก" ส่วนบริษัทอินเตอร์แมกนั่ม จำกัด ก็มีหน้าที่เป็นพ่อค้าขายนมไป ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2526 ภายใต้ข้อสัญญาดังนี้

- บริษัทอินเตอร์แมกนั่ม จำกัด จะรับซื้อนมสำเร็จรูปจาก อสค. ในราคาโหลละ 49 บาท
-
- บริษัทอินเตอร์แมกนั่ม จำกัด จะต้องทำเป้าหมายการขายทั้งปีให้ได้ 270 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นปีละ 15%
-
- ระยะเวลา 5 ปี ในสัญญานั้น อสค. จะต้องจัดส่งนมให้บริษัทอินเตอร์แมกนั่ม จำกัด บางส่วนในช่วง 3 ปีแรก ส่วน 2 ปีหลังบริษัทอินเตอร์แมกนั่มจำกัด จะต้องไปรับเองที่มวกเหล็ก
-
- อสค. สามารถปรับ 10% ในส่วนที่ไม่ถึงเป้าในแต่ละปี
-
- บริษัทอินเตอร์แมกนั่ม จำกัด ต้องทำหนังสือค้ำประกันเพื่อการปฏิบัติตามสัญญาในวงเงิน 10 ล้านบาท
-
ในระยะแรกที่บริษัทอินเตอร์แมกนั่มทำการตลาดนั้น ลางแห่งความยุ่งยากก็ได้เริ่มเกิดขึ้นเสียแล้ว เพราะการตกลงเรื่องยอดขายรายปีเป็นเงิน 270 ล้านบาท เฉลี่ยเป็นรายเดือนไม่ต่ำกว่า 15-16 ล้านบาท

ข้อตกลงนี้ถูกโจมตีอย่างมากเพราะ อสค. โวยว่าตอนที่ อสค. ทำการขายเองนั้นก็มีรายได้เดือนละ 16-17 ล้านบาทอยู่แล้ว แต่ถ้าบริษัทอินเตอร์แมกนั่มมาประกันเพียง 15-16 ล้าน ในขณะที่ อสค. มีรายจ่าย 20 ล้านบาทต่อเดือน จะทำให้ อสค. ขาดทุนได้

ปัญหาการเจรจาในเรื่องนี้จึงยืดเยื้อกันอยู่นาน จนเป็นสาเหตุให้มีนมค้างสต๊อกอีกครั้ง เพราะ

"บริษัทอินเตอร์แมกนั่มไม่แน่ใจว่าตัวเองจะได้เป็นเอเย่นต์หรือไม่ เพราะมีการโจมตีกันมาก จึงกลัวว่า อสค. จะบอกเลิกสัญญา แต่นมก็จะต้องผลิตออกมาทุกวัน ด้านการตลาดเมื่อมีปัญหาขึ้นมาจึงเริ่มที่จะมีนมค้างสต๊อกขึ้นมาอีก และก็เริ่มสะสมกันมาจนถึงปัจจุบัน" แหล่งข่าวคนหนึ่งให้ความเห็น

และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ แฉตัวเลขว่ามีสต๊อกนมกล่อง 1 ลิตร ในโรงงานปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 600-700 ตัน โรงงานมวกเหล็ก 1,500 ตัน และของบริษัทอินเตอร์แมกนั่ม 3,000-4,000 ตัน

ผลอันนี้จึงทำให้การเงินของ อสค. ตกอยู่ในฐานะลำบากยิ่งขึ้น โดยมีวงเงินโอดี จากธนาคารกรุงไทย จำนวน 10 ล้าน และหนี้กล่องบรรจุนมอีก 15-20 ล้านบาท

ส่วนบริษัทอินเตอร์แมกนั่ม จำกัด ก็ต้องแบกภาระสต๊อกมูลค่า 60-70 ล้านบาท

แต่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ บริษัทอินเตอร์แมกนั่มก็ร่วมกับบริษัทเอสโซ่ จำกัด ทำการโปรโมชั่นด้วยการแจกนมไทย-เดนมาร์ก 1 กล่อง เมื่อเติมน้ำมันทุกๆ 300 บาท แล้วยุทธการแจกนมของบริษัทอินเตอร์แมกนั่มก็ถูกคนมองว่าเป็นการระบายสต๊อกนมที่ค้างอยู่อย่างมากในขณะนี้

"ทางแมกนั่มก็พยายามระบายสต๊อกที่มีอยู่ด้วยการแจกนมตามปั๊มเอสโซ่ ซึ่งก็พอช่วยได้บ้าง ทางแมกนั่มควรมีโปรโมชั่นดีๆ มานานแล้ว แต่เท่าที่เคยทำมาก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่" เอเย่นต์ผู้หนึ่งวิจารณ์

ในเรื่องนี้ กนก อภิรดี กรรมการผู้จัดการบริษัทอินเตอร์แมกนั่ม ได้เผยให้ "ผู้จัดการ" ทราบ

"นมค้างสต๊อกของเรามีไม่มากไปกว่าความสามารถของเราที่จะระบายออกไปได้ ปัญหานมจะต้องเป็นอย่างนี้ทุกปี คือ พอหน้าร้อนก็ไม่พอขาย แต่พอเข้าหน้าหนาวกับหน้าฝนนมก็จะเหนือทุกปี ถ้าบริษัทไหนบอกว่ามีนมค้างสต๊อกอยู่ก็ขอให้เข้าใจว่าบริษัทนั้นทำนมขึ้นมาจากนมสดจริงๆ แต่ถ้าบริษัทไหนบอกมาว่าไม่มีนมค้างสต๊อกอยู่เลย แสดงว่าบริษัทนั้นผลิตนมมาจากหางนมผง ในแง่ของเรานั้นเราไม่ตกใจเลยที่มีนมค้างสต๊อกซึ่งเป็นปัญหาธรรมชาติที่ใครก็แก้ไม่ได้"

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทอินเตอร์แมกนั่มก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในวงการ ถึงกับมีคนพูดว่าบริษัทอินเตอร์แมกนั่ม ไม่ประมาณตัวเองเสียก่อนที่จะเสนอตัวเข้ามารับโปรเจกต์นี้

แล้วก่อนที่เรื่องระหว่าง อสค. กับบริษัทอินเตอร์แมกนั่มจะลุกลามไปกันใหญ่โตนั้น รัฐบาลก็ออกมากู้สถานการณ์ด้วยการออกกฎกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอร้องแกมบังคับให้เอกชนช่วยรับซื้อนมดิบที่ อสค. ผลิตเกินในตอนนี้วันละ 20 ตัน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ผลิตนมเอกชน อันเป็นการแบ่งเบาภาระสต๊อกของ อสค. ไปได้มาก

นอกจานี้ก็ยังมีการรณรงค์ให้คนไทยดื่มนมเพิ่มขึ้น เพราะจากการสำรวจดูสาเหตุที่ทำให้ตลาดนมโตช้าเพราะคนไทยดื่มนมกันน้อยเพียงคนละ 2 ลิตรต่อปีเท่านั้น ในขณะที่ดื่มแอลกอฮอล์ถึงคนละ 15 ลิตรต่อปี และถ้านำตัวเลขนี้ไปเทียบกับประเทศในเอเชียแล้ว ปรากฏว่าคนไทยดื่มนมน้อยที่สุด ผลที่จะตามมาในวันข้างหน้าก็คือต่อไปคนไทยอาจจะได้ชื่อว่าเป็นคนตัวเล็กที่สุดในเอเชียแทนญี่ปุ่นก็ได้ เพราะทุกวันนี้คนญี่ปุ่นดื่มนมคนละ 46 ลิตรต่อปีแล้ว

การที่คนไทยไม่นิยมดื่มนมนั้นตามรายงานปรากฏออกมาว่าเป็นเพราะค่านิยมที่ว่านมเป็นเครื่องดื่มของเด็ก และอีกประการภาวะทางเศรษฐกิจไม่ดีขึ้นเช่นนี้จึงทำให้ผู้บริโภคคิดว่านมมีราคาแพงเกินไป แม้ว่าจะมีคุณค่าทางอาหารมากก็ตาม แต่ทุกคนก็ทานอาหารเข้าไปครบทุกมื้อแล้วจึงเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องดื่มนมอีก นมจึงกลายเป็นของฟุ่มเฟือยไป

เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจึงได้ให้มีการตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการบริโภคนมขึ้น โดยมีบริษัทจากเอกชนหลายแห่งช่วยกันสละเงินลงขันกันได้ประมาณ 1.8 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการทำโฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้กับโครงการครั้งนี้ด้วย

ปัญหาของการผลิตนมก็ยังคงจะต้องมีต่อไป เพราะนมเป็นสินค้าที่ไม่เหมือนสินค้าอื่นๆ "นมเป็นสินค้าที่เล่นยากมากที่สุด เพราะมีปัญหาในด้านการผลิตมาก วัวตัวหนึ่งจะต้องให้นมดิบในขณะที่ตั้งท้องอยู่ 9 เดือน ดังนั้น เมื่อต้องการนมดิบก็ต้องเลี้ยงลูกวัวเพิ่มขึ้นอีก 1 ตัว และภายใน 2 ปีลูกวัวตัวนี้ก็จะสามารถตั้งท้องและให้น้ำนมดิบได้อีก เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่สามารถควบคุมการผลิตนมได้เลย และน้ำนมดิบจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามจำนวนวัวด้วย" นักการตลาดมือเก่าท่านหนึ่งให้ความเห็น

ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงควรจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและเตรียมแผนการสำหรับปัญหานมในระยะยาวด้วย ซึ่งในครั้งนี้รัฐบาลก็ได้เริ่มแก้ปัญหานมได้ถูกจุดแล้ว คือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการให้เอกชนช่วยแบ่งเบาภาระสต๊อกของ อสค.ไปบ้าง ส่วนระยะยาวนั้นคือการรณรงค์ให้มีการดื่มนมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการขยายตลาดของนมให้กว้างออกไป หลังจากที่รัฐบาลผิดพลาดมาแล้วตรงที่ส่งเสริมแต่การผลิตอย่างเดียวมาตลอดโดยไม่ดูการตลาดให้เติบโตควบคู่ไปด้วย

และการที่รัฐบาลอนุมัติให้เอกชนตั้งโรงงานผลิตนมผงนั้นก็เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยรับภาระนมดิบในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นอีกได้มาก

ถ้าทุกฝ่ายทั้งภาครัฐบาลและเอกชนได้ลงมืออย่างจริงจังในการแก้ปัญหานมค้างสต๊อกนี้แล้ว ก็คิดว่าต่อไปในอนาคตคงจะไม่เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาอีก และผลสะท้อนของความร่วมมือกันก็ทำให้อุตสาหกรรมนมภายในประเทศเจริญก้าวหน้าเพื่อความสมหวังของทุกฝ่าย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us