แอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทผู้ขายคอมพิวเตอร์ที่น่าจะต้องเรียกว่า
"เก่งเงียบ ๆ"
และเพราะ "เก่งเงียบ ๆ" นี่เองที่ทำให้หลายต่อหลายคนงุนงงอย่างยิ่ง
เมื่อเอทีแอนด์ทีประกาศแต่งตั้งแอ็คชั่นคอมพิวเตอร์เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ทั้งหมดแต่ผู้เดียวในประเทศไทย
แทนที่จะเป็นศรีกรุงวัฒนา, ล็อกซเล่ย์, คอมพิวเตอร์ยูเนียน หรืออีกเกือบ
40 บริษัทผู้ขายคอมพิวเตอร์ ซึ่งเอทีแอนด์ทีลงมือสำรวจวิจัยและเจรจาด้วยโดยใช้เวลาดำเนินการ
1 ปีเต็ม ๆ ก่อนหน้านี้
แอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ เป็น "ม้ามืด" ในสายตาคนทั่วไปอย่างมาก ๆ
โดยเฉพาะเมื่อต้องประกบกับศรีกรุงวัฒนาและล็อกซเล่ย์
ศรีกรุงวัฒนานั้นถูกคาดหมายว่าจะได้เปรียบทุกบริษัท เพราะความใกล้ชิดกับเอทีแอนด์ทีมาตั้งแต่ครั้งประมูลจัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์และสมุดหน้าเหลืองขององค์การโทรศัพท์แล้ว
อีกทั้งศรีกรุงวัฒนาก็มีฝ่ายขายคอมพิวเตอร์ที่เข้มแข็งไม่เป็นรองใครในยุทธจักรด้วย
ส่วนล็อกซเล่ย์ก็ถูกมองว่าน่าจะได้เปรียบบริษัทอื่น ๆ เนื่องจากขายผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ของเอทีแอนด์ทีอยู่แล้วเพียงแต่ใช้เครื่องหมายการค้า
"โอลิเว็ตตี้" เท่านั้น
ทั้งศรีกรุงวัฒนาและล็อกซเล่ย์จึงจัดเป็น "เต็งหนึ่ง" ด้วยกันทั้งคู่
แต่ "เต็งหนึ่ง" ทั้งหลายก็ถูก "ม้ามืด" คว่ำลงอย่างราบคาบจนได้
"เอทีแอนด์ทีวางหลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายของเขาเป็นหลักใหญ่ ๆ
4 ข้อด้วยกันคือ หนึ่ง - ประสบการณ์และความชำนาญงานในด้านคอมพิวเตอร์ สอง
- การบริการลูกค้า สาม - ความมั่นคงด้านการเงิน สี่ - ทีมบริหารงาน ก็ปรากฏว่าคณะกรรมการ
4 คนซึ่งส่งตรงมาจากสำนักงานใหญ่ 3 คน และอีกคนคือ โจเซฟ ฮาร์ท รองประธานและกรรมการผู้จัดการของเอทีแอนด์ทีประเทศไทย
ให้คะแนนแอ็คชั่นคอมพิวเตอร์สูงสุด นำหน้าทุกบริษัท แอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ก็ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายไปในท้ายที่สุด"
แหล่งข่าวในวงการคอมพิวเตอร์ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของเอทีแอนด์ทีอย่างใกล้ชิดเล่าให้ฟัง
ซึ่งที่จริงถ้าได้ทราบความเป็นมาของแอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ อย่างละเอียดแล้ว
ก็คงจะต้องยอมรับว่าเอทีแอนด์ทีนั้นเลือกไม่ผิดตัวหรอก!
แอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทในเครือของอดัมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล
เจ้าของกิจการค้าใบยาสูบรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศไทย
บริษัทอดัมส์ฯ นี้มีสำนักงานอยู่ที่บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น มีพนักงานกว่า
2,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพนักงานตรวจไร่ยาสูบเสียกว่า 600 คน และมีชาวไร่ไม่น้อยกว่า
40,000 ครอบครัวในภาคอีสานและภาคเหนือ ที่ปลูกยาสูบป้อนโรงงานของบริษัทอดัมส์ฯ
ก่อนจะถูกส่งออกไปยังโรงงานยาสูบจำนวน 26 ประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้บริษัทอดัมส์ฯ ก็ยังมีกิจการลงทุนอีกหลายแขนงในหลายประเทศ
"เป็นกลุ่มทุนที่หุ้นใหญ่เป็นคนไทย ส่วนผู้ร่วมทุนอื่น ๆ ก็มีฮ่องกงและอเมริกัน
เป็นต้น..." ลูกจ้างคนหนึ่งของบริษัทอดัมส์ฯ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"
แอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2525
หรือเพิ่งจะ 3 ปีเศษมานี่เอง โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 4 ล้านบาท และเมื่อเดือนเมษายน
2528 เพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 10 ล้านบาท เป็นผู้มีทุนจดทะเบียนขณะนี้ 14 ล้านบาท
ผู้ที่ถือหุ้นใหญ่ก็ได้แก่ บริษัทอดัมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล และ บริษัทฟอร์จูน
วอท์ช (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในเครือของอดัมส์ฯ
การก้าวเข้ามาในวงการคอมพิวเตอร์ของกลุ่มบริษัทอดัมส์ฯ นี้ ว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องราวที่แปลกแหวกแนวพอสมควร
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2521 บริษัท อดัมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ต้องการจะมีคอมพิวเตอร์ไว้ใช้ช่วยงานด้านการควบคุมบัญชีของชาวไร่ยาสูบกว่า
40,000 ครอบครัว และงานของฝ่ายบุคคลซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับพนักงานอีกกว่า
2,000 คนของบริษัท จากการสำรวจปริมาณงานนั้นก็พบว่า ถ้าจะต้องซื้อเครื่องมินิคอมพิวเตอร์มาใช้ก็ออกจะเป็นการลงทุนที่สูงเกินไป
แต่ถ้าจะใช้เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ชนิดที่เริ่มออกมาบ้างแล้วตอนนั้น ก็คงจะรับงานไม่ไหวแน่
"สมัยนั้นไมโครฯ ก็ยังไม่มีใช้กันแพร่หลายเหมือนสมัยนี้ ดูเหมือนเมืองไทยยังไม่มีเข้ามาเลยมั้ง
เราก็ไปหาซื้อที่ฮ่องกง สิงค์โปร์ เพราะต้องการเครื่องไมโครฯ ที่ค่อนข้างใหญ่และต่อได้หลายจอ
ซึ่งยังไม่มีใครทำได้..." กาญจน์ คูนซ์ กรรมการผู้จัดการของแอ็คชั่น
คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) ซึ่งเมื่อปี 2521 ยังมีตำแหน่งผู้จัดการไร่ยาสูบของอดัมส์ฯ
กล่วกับ "ผู้จัดการ"
เมื่อยังไม่มีเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ของใครสามารถต่อได้หลายจอหรือที่เรียกว่าทำ
"มัลติยูสเซอร์" (เครื่องเดียวแต่สามารถต่อจอภาพได้มากกว่าหนึ่งและสามารถทำงานได้พร้อมๆ
กัน) ได้ โครงการติดตั้งคอมพิวเตอร์ของบริษัทอดัมส์ฯ ก็ทำท่าว่าจะต้องล้มเลิกไปดื้อๆ
แต่ก็เหมือนกับฟ้าลิขิตให้อดัมส์ฯ จะต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจคอมพิวเตอร์
วิง ชุง กรรมการคนหนึ่งของบริษัทอดัมส์ฯ ได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับเพื่อนสนิทของเขาคนหนึ่งซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ทำงานอยู่โครงการส่งดาวเทียมไปถ่ายภาพดวงดาวต่างๆ
ในระบบสุริยะจักรวาลของสหรัฐฯ
เพื่อนนักวิทยาศาสตร์ของ วิง ซุง ได้ยืนยันว่า เขาสามารถทำเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ให้ทำงาน
"มัลติ ยูสเซอร์" ได้ และก็ได้คิดค้นถึงขั้นออกแบบไว้แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ลงมือสร้างขึ้นมาเท่านั้น
"เมื่อรับทราบอย่างนั้น บริษัทอดัมส์ก็เลยออกทุนให้เขาสร้างขึ้นมา
พอสร้างสำเร็จเครื่องแรกก็ถูกนำมาติดตั้งที่บ้านไผ่ ขอนแก่น ซึ่งผมเป็นผู้จัดการไร่อยู่
มีซอฟต์แวร์มาพร้อม ก็เรียกได้ว่าเป็นไม่โครคอมพิวเตอร์แบบมัลติ ยูสเซอร์เครื่องแรก"
กาญจน์ คูนซ์ เล่าให้ฟัง
หรือก็อาจจะพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า เครื่องที่ถูกส่งมาให้บริษัทอดัมส์ฯ
ที่บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นนั้น ก็คือเครื่องซูเปอร์ไมโครฯ เครื่องแรกของ
"ดิสคัฟเวอรี่" และก็ส่งผลต่อมาให้เพื่อนนักวิทยาศาสตร์ของ วิง
ชุง ตัดสินใจลาออกจากงานมาร่วมทุนกับบริษัทอดัมส์ฯ ก่อตั้งบริษัท แอ็คชั่น
คอมพิวเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์แห่งสหรัฐอเมริกาขึ้น เพื่อผลิตเครื่องซูเปอร์ไมโครฯ
"ดิสคัฟเวอรี่" ออกจำหน่ายในตลาดโลก
โดยที่ตลาดใหญ่ในระยะบุกเบิกก็อยู่ที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ส่วนในย่านเอเชียนั้น
นอกจากเครื่องแรกที่ถูกส่งมาให้บริษัทอดัมส์ฯ ในประเทศไทยใช้แล้ว ก็ไม่เคยถูกส่งเข้ามาอีกเลย
นับตังแต่ปี 2522 ถึงปี 2525 ก่อนที่จะมีการก่อตั้งบริษัทแอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ขึ้นในประเทศไทย
"เขาก็ทิ้งไว้อย่างนั้น ผมก็เลยเอาพวกคู่มือมานั่งอ่านนอนอ่านเป็น
30-40 เที่ยว จนผมเขียนโปรแกรมได้ ผมก็เลยคอมพิวเตอร์ไรซ์งานไปหลายอย่าง
มันก็ทำงานได้ผลดี ต่อมาผมก็ไปเรียนคอมพิวเตอร์ระดับปริญญาโทต่อที่สหรัฐฯ
แล้วก็สอนวิชาคอมพิวเตอร์อีกพักหนึ่ง จนปลายปี 2525 เมื่อจะมีการก่อตั้งบริษัท
แอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย บริษัทอดัมส์ฯ ก็ให้ผมมานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ"
กาญจน์ คูนซ์ เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเครื่อง "ดิสคัฟเวอรี่"
ซึ่งเขายอมรับว่าเป็นเพราะเจ้าเครื่องนี้เองที่ทำให้ชีวิตการเป็นนักการเกษตรของเขาต้องเปลี่ยนเข็มมาเป็นนักคอมพิวเตอร์แทน
กาญจน์ คูนซ์ พูดให้ฟังอย่างเปิดอกว่า การนำ "ดิสคัฟเวอรี่" เข้าตลาดเมืองไทยนั้น
ในระยะแรกๆ แอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ ต้องประสบปัญหาพอหอมปากหอมคอเหมือนกัน
"เป็นปัญหาที่ตลาดตอนนั้น ยังไม่รู้จักคำว่า มัลติ ยูสเซอร์ เพราะเราก็เป็นบริษัทแรกที่ขายเครื่องประเภทนี้
ก็เลยต้องมีการอธิบายเรื่องซูเปอร์ไมโครฯ เรื่องมัลติ ยูสเซอร์กันมาก เพื่อเปิดตลาด..."
"ดิสคัฟเวอรี่" เป็นซูเปอร์ไมโครฯ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออุดช่องว่างระหว่างตลาดมินิคอมพิวเตอร์กับตลาดไมโครคอมพิวเตอร์แบบซิงเกิ้ลยูสเซอร์ทั่ว ๆ ไป
เพราะฉะนั้นลูกค้าที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ก็น่าจะได้แก่ธุรกิจขนาดเล็กหรือปานกลางซึ่งบังเอิญมีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย
แอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ ก็เลยดูเหมือนว่าจะไม่ต้องเหนื่อยมากนัก
จากยอดขายปีแรกมูลค่า 13 ล้านบาท ในปีที่ 2 หรือปี 2527 ที่ผ่านมานี้ แอ็คชั่นคอมพิวเตอร์มียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น
27 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100 เปอร์เซ็นต์
"และสำหรับปี 2528 นี่ยอดขายก็คงกว่า 40 ล้านบาทขึ้นไป" แหล่งข่าวในวงการคอมพิวเตอร์ยืนยันหนักแน่น
เมื่อประสบความสำเร็จด้วยดีจาก "ดิสคัฟเวอรี่" แอ็คชั่น คอมพิวเตอร์
ก็ก้าวอีกขั้นด้วยการเข้าไปในตลาดมินิคอมพิวเตอร์ โดยได้รับแต่งตั้งจากไอบีเอ็มให้ทำหน้าที่เป็น
"วาร์" (VALUE ADDED REMARKETER) ของเครื่องมินิคอมพิวเตอร์ซีสเต็ม
36
"คือเราก็ยังมีลูกค้าอีกส่วนหนึ่งที่เขาต้องการเครื่องขั้นสูงขึ้นไปจากซูเปอร์ไมโครฯ
ที่เราขายอยู่ คือเริ่มต้นของเขามันก็ใหญ่กว่าที่ดิสคัฟเวอรี่จะทำได้แล้ว
เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะปฏิเสธลูกค้าที่เขาอยากซื้อจากเรา เพราะพอใจในผลงานของเรา
การบริการของเรา ความเอาใจใส่ลูกค้าของเรา เราก็คิดว่าน่าจะมีทางเลือกให้เขาบ้าง
เราดูแล้วก็เห็นว่าถ้าเป็นมินิคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มซีสเต็ม 36 มันดี ก็เลยติดต่อขอเป็นวาร์
แล้วก็ได้มา" กรรมการผู้จัดการของแอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ พูดถึงเหตุผลที่ต้องก้าวเข้าไปในตลาดมินิคอมพิวเตอร์
แอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ เริ่มทำหน้าที่เป็นวาร์เครื่องซีสเต็ม 36 ของไอบีเอ็มตั้งแต่เดือนเมษายน
2528 กลุ่มลูกค้าที่ต้องรับผิดชอบประกอบด้วย เท็กซ์ไทล์ชิปปิ้ง ธุรกิจค้าอัญมณี และกลุ่มธุรกิจขายอะไหล่
"สัญญาที่เราทำกับไอบีเอ็มมีกำหนด 12 เดือน คิดว่าก็คงขายได้ตามเป้าหมายที่เราตกลงไว้กับไอบีเอ็มประเทศไทย..."
กาญจน์ คูนซ์ บอกกับ "ผู้จัดการ"
จาก "ดิสคัฟเวอรี่" มาเป็นไอบีเอ็มซีสเต็ม 36 แล้วก็ถึงคิวของเอทีแอนด์ทีบ้าง
เอทีแอนด์ทีมีจดหมายติดต่อกับแอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ปลายปี 2527 แล้ว
"เขาบอกว่าเขากำลังพิจารณาหลายบริษัทในประเทศไทยเพื่อตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ของเขา
สำหรับเรา ก็สนใจมากเพราะเขาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ มีพนักงานเป็นล้านคน ทีแรกเขาบอกว่าจะมาพรีเซนต์ในเดือนมกราคม
2528 แต่ก็เลื่อนมาเป็นเดือนมีนาคม เราก็ทราบทีหลังว่าเขาติดต่อกับ 40 บริษัท
แล้วก็คัดไว้เหลือ 6 บริษัทที่เขาจะมาพรีเซนต์ โดยเราเป็น 1 ใน 6 นั้น..."
กาญจน์ คูนซ์ เปิดเผยจุดเริ่มต้นที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเอทีแอนด์ทีให้ฟัง
ซึ่งสิ่งที่เราเรียกว่าการ "พรีเซนต์" ของเอทีแอนด์ทีนั้นก็คือ
การบอกกล่าวว่าเอทีแอนด์ทีมีสินค้าอะไรที่ต้องการจะนำเข้าตลาด ส่วนคู่เจรจาของเอทีแอนด์ทีก็
"พรีเซนต์" กลับว่า ปูมหลังบริษัทเป็นอย่างไร มีผลงานมาแล้วแค่ไหนและมีแผนการตลาดอย่างไรให้กับสินค้าของเอทีแอนด์ที
เป็นต้น
หลังการเจรจาผ่านพ้นไปแล้ว เอทีแอนด์ที ก็เงียบหายไปพักหนึ่ง จนต้นเดือนตุลาคมนี้เอง
จึงได้ตัดสินใจประกาศแต่งตั้งแอ็คชั่น คอมพิวเตอร์เป็นตัวแทนจำหน่าย ดังได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นๆ
โดยผลิตภัณฑ์ที่แอ็คชั่นคอมพิวเตอร์ จะต้องรับผิดชอบก็จะเริ่มตั้งแต่ระบบ
3 บีรุ่นมินิคอมพิวเตอร์และซูเปอร์มินิคอมพิวเตอร์ไปจนถึงรุ่นยูนิกซ์พีซี
และดูเหมือนจะไม่เป็นเรื่องที่ต้องปิดบังกันว่า เครื่องคอมพิวเตอร์หลายต่อหลายรุ่นของเอทีแอนด์ทีนั้นถูกออกแบบมาเพื่อหวังประกบเครื่องของไอบีเอ็มโดยเฉพาะ
ก็น่าอึดอัดใจแทนแอ็คชั่น คอมพิวเตอร์อยู่ไม่น้อย เพราะแอ็คชั่น คอมพิวเตอร์เผอิญจะต้องขายทั้งเครื่องของไอบีเอ็มและเครื่องของเอทีแอนด์ทีพร้อม ๆ กัน
แต่สำหรับกาญจน์ คูนซ์ กรรมการผู้จัดการของแอ็คชั่นฯ เขากลับบอกว่ามันไม่น่าหนักใจเท่าไหร่!
"ผมเข้าใจดีว่าคนต้องสงสัยว่ามันจะคอนฟลิคกันไหม จะพูดอย่างไรดีล่ะ
คือ WE ARE CUSTOMER ORIENTED มันเป็นนิสัยของเรามาตั้งแต่แรกแล้ว ผมเองเป็นนักคอมพิวเตอร์
ทีมงานของผมก็เป็นนักคอมพิวเตอร์ เข้าใจคอมพิวเตอร์ คือเราใช้คอมพิวเตอร์ของเราเอง
เราชอบ เรารู้เรื่อง ทีนี้เมื่อลูกค้ามาติดต่อกับเราแทนที่เราจะทำตัวเป็นเซลส์แมนขายลูกเดียว
เราจะไม่ทำอย่างนั้น เราจะฟัง REQUIREMENT ของเขาก่อน แล้วเราจึงจะแนะนำไปด้วยความจริงใจในฐานะนักคอมพิวเตอร์
มันอาจจะฟังเหมือนโม้หน่อย แต่มันเป็นสปิริตของที่นี่ และสิ่งที่เราแนะนำเราจะคิดเสมอว่ามันเหมาะกับเขา
เขาจะได้พอใจคบกับเราด้วยดียาวนาน ไม่ต้องโฆษณากันมาก คือเมืองไทยคุณจะขายสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง
คุณโฆษณาอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องอาศัยการพูดจาปากต่อปากด้วย เพราะฉะนั้นเราถือว่าเราต้องทำให้ลูกค้ายอมรับ"
กาญจน์ คูนซ์ อธิบายยาวเหยียดก่อนจะสรุปเข้าประเด็นว่า...
"ฉะนั้นถ้าเรามีสินค้า 2-3 อย่างให้เขาเลือกหรือให้ตัวเราได้มีโอกาสมากขึ้น
ในการเสนอสินค้าที่เหมาะสมให้กับลูกค้า เราก็จะยิ่งมีโซลูชั่นให้กับเขามากขึ้น
อีกอย่างเครื่องคอมพิวเตอร์มันก็แบ่งซอยย่อยไปได้หลายระดับ ไม่ใช่มันจะเหมือนกันเสียหมด
ถึงจะเป็นมินิเหมือนกันหรือพีซีเหมือนกันก็เถอะ มันจัดหลีกกันได้ครับ ไม่เป็นปัญหาใหญ่เลย"
การซื้อคอมพิวเตอร์นั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล็กหรือเครื่องใหญ่มักจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณากลั่นกรองจนได้
SOLOTION เสียก่อน จึงจะถึงขั้นของการตัดสินใจเลือกชนิดและยี่ห้อของเครื่องหรืออาจจะรวมทั้งตัวผู้ขายด้วย
แอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ เมื่อแรกที่นำ "ดิสคัฟเวอรี่" เข้าตลาดนั้น
กำหนดสโลแกนของบริษัทไว้ว่า "WE SELL SOLUTIONS" และแอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ไม่เคยเปลี่ยนสโลแกนจากวันนั้นจนปัจจุบัน
ที่เปลี่ยนไปก็คงมีแต่จำนวนของกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดเท่านั้น
แอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ จำเป็นที่จะต้องเติบโตต่อไปด้วยการขยายกลุ่มลูกค้าออกไปเรื่อยๆ
เพราะเทคโนโลยีนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง เมื่อ "ดิสคัฟเวอรี่" ทำมัลติ
ยูสเซอร์ได้ เครื่องยี่ห้ออื่น ๆ ก็ต้องทำได้เป็นธรรมดา การแข่งขันก็จะต้องติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ก็อาจจะพูดได้ว่าการเป็นวาร์ของไอบีเอ็มนั้นก็คือความพยายามที่จะขยายตลาดและการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้เอทีแอนด์ทีก็คงเป็นไปในทำนองเดียวกัน
โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ซูเปอร์มินิของเอทีแอนด์ทีก็คงจะช่วยให้แอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ได้มีโอกาสเข้าไปลุ้นโครงการติดตั้งคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ๆ
ได้มากขึ้นแน่นอน
แอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ ในปัจจุบันเป็นแอ็คชั่น คอมพิวเตอร์ ที่พยายามจะมี
SOLUTIONS ให้หลากหลายสำหรับกลุ่มลูกค้าระดับต่าง ๆ ในจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น
แต่จะสำเร็จมากน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่ฝีไม้ลายมือของแอ็คชั่นฯ เองแล้ว