|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ปี 1900 รถไฟ Puffing Billy เริ่มเปิดดำเนินงานโดย Victorian Railways (VR) ให้บริการจนถึงปี 1953 เกิดดินถล่มปิดทับทางรถไฟทำให้การเดินรถไฟสายนี้ปิดไป หลังจากนั้นในปี 1955 ชุมชนรวมตัวรวบรวมเงินทุนก่อตั้ง Puffing Billy Preservation Society ขึ้นเพื่อฟื้นฟูกิจการให้ Puffing Billy กลับมาเปิดเดินรถอีกครั้ง แต่ใช้เวลาอยู่หลายปีกว่าจะกู้ให้รถไฟสายนี้กลับมาวิ่งได้ในปี 1962
นี่คือเรื่องราวขบวนรถไฟขนถ่านหินที่กลายมาเป็นรถไฟท่องเที่ยวสายโด่งดังสายหนึ่งของโลก เป็นรถไฟสายสั้นๆ ที่วิ่งอยู่ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติชานเมืองเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันรถไฟสายนี้ดำเนินงานโดยเหล่าอาสาสมัครทั้งวัยเกษียณและวัยหนุ่มสาวที่ผลัดเปลี่ยนกันมาทำงานโดยไม่รับค่าตอบแทน กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้รวมตัวขึ้น ครั้งแรกโดยมีเป้าหมายเพื่อให้กิจการรถไฟเปิดดำเนินงานต่อไปได้ ไม่ถูกปล่อยร้างหรือรื้อทิ้ง พวกเขาประสบความสำเร็จ เพราะในที่สุดรถไฟสายนี้มีรายได้พอที่จะเลี้ยงตัวเองมาได้อย่างดี จนทุกวันนี้
ประวัติและเรื่องราว Puffing Billy ดังที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวที่แวะไปใช้บริการมักจะมีโอกาสได้รับฟังหรือไม่ก็อ่านเจอได้จากป้ายที่ติดไว้ข้างทางรถไฟบริเวณใกล้ๆ สถานีแต่ละแห่ง เป็นเรื่องราวที่ชาวเมืองเต็มใจบอกเล่า เพื่อแสดงออกถึงความสุขเพียงชั่วเวลาสั้นๆ ที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวนั้นเกิดจากความ รักและความพยายามของชาวเมืองที่สละเวลาส่วนตัวเพื่อต่อชีวิตให้รถไฟสายนี้
อาสาสมัครที่ทำงานจะเวียนกันมา ทำงานสัปดาห์ละ 1-2 วันโดยไม่รับค่าจ้าง แม้จะบอกว่ามีทั้งหนุ่มสาวและวัยเกษียณ แต่เท่าที่สัมผัสได้ หลักๆ จะเป็นคุณลุงวัยเกษียณเสียมากกว่า จำนวนไม่น้อยเคย ทำงานกับ VR สมัยรถไฟใช้ขนถ่านหิน ถึงอายุมากแต่ทุกคนก็ดูกระฉับกระเฉง ยังสนุกกับ งานที่ได้ทำด้วยความรักและมีความสุขกับสังคมของการทำงานอย่างไม่มีแววเหนื่อย
ภาพแบบนี้เองเป็นการเชิญชวนให้มีอาสาสมัครรุ่นใหม่ๆ เข้ามาอาสาทำงานกับรถไฟสายนี้ไม่เคยขาด ใครที่สนใจจะทำงานอาสาสมัคร ซึ่งรับแทบทุกตำแหน่งงานตั้งแต่ ฝ่ายขายตั๋วไปจนถึงช่างเครื่อง สามารถแจ้งความจำนงว่าอยากอาสาทำอะไรด้วยตัวเองกับหัวหน้าสถานี Belgrave ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของรถไฟสายนี้ได้เลย
ผลที่พวกเขาได้รับไม่เพียงทำให้รถไฟสายนี้ยังคงอยู่ แต่เป็นการเก็บประวัติศาสตร์ เมืองไว้ได้ในรูปแบบของความมีชีวิต มิหนำซ้ำความประทับใจที่พวกเขาส่งผ่านไปยังผู้มา เยือน ยังถูกบอกต่อข้ามฟ้าข้ามทะเลจนทำให้ผู้คนทั่วโลกอยากมีโอกาสมาสัมผัสกับรถไฟ สายนี้ด้วยตัวเองสักครั้ง
ประวัติของรถจักรไอน้ำ มีให้พบเห็นในประวัติการพัฒนาเส้นทาง คมนาคมขนส่งเกือบทุกประเทศในโลกนี้ แต่รถจักรไอน้ำที่ยังคงเหลืออยู่ในสภาพไม่ต่างจากครั้งที่ถือกำเนิดขึ้นมา คงไม่สามารถหาดูได้เหมือนเป็นเรื่องธรรมดาแบบที่ Puffing Billy เป็นอยู่นี้
แม้กระทั่งรถจักรไอน้ำของไทย จากที่เคยเปิดให้บริการวิ่งเพื่อรำลึกความหลังกันระหว่างกรุงเทพฯ-บางปะอินเพียงปีละครั้ง มาระยะหลังกิจกรรมนี้ก็เหมือนจะเลือนหายไปเสียแล้ว
ทางรถไฟสายมรณะ ทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ยุคสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดกาญจนบุรี ก็เป็นเครื่องดีเซล นักท่องเที่ยวจะมีโอกาสได้เห็นรถจักรไอน้ำออกมาวิ่งโชว์ก็ต้องรองานแสงสีเสียงประจำปีในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น โอกาสที่จะได้สัมผัสประสบการณ์เดินทางด้วยรถจักรไอน้ำจริงๆ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ความรู้สึกรัก ต้องการทะนุถนอม และรักษาของเก่าๆ ไว้ให้คงอยู่ ย่อมจะเกิดขึ้นได้ยากเต็มที
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ทุกวันนี้แม้แต่หัวรถจักรไอน้ำเก่าๆ ในพิพิธภัณฑ์บ้านเราก็อาจจะหายไปแล้วก็ได้ เพราะแทบจะหาคนนึกถึงมันได้น้อยเหลือเกิน
หากมองเฉพาะด้านการพัฒนาเครื่องยนต์รุ่นเก่าๆ มักต้องตกรุ่นและเปลี่ยนทิ้งไปตามยุคสมัยของการพัฒนา การหยุดกิจการนานนับปีของ Puffing Billy ก็ต้องต่อสู้กับความรู้สึกนี้เช่นกัน เพราะเดิมทีนั้นรถไฟสายนี้เกิดขึ้นเพื่อใช้ขนส่งถ่านหินเป็นหลัก อีกส่วนหนึ่งใช้เป็นพาหนะ ในการเชื่อมต่อระหว่างชุมชนนอกเมืองกับชานเมืองเมลเบิร์น เมืองหลวงของรัฐวิกตอเรีย
ช่วงปี 1953 เมื่อเกิดดินถล่มทับทางรถไฟ เป็นยุคที่รถยนต์เริ่มเข้ามามีบทบาทในการคมนาคมขนส่งมากขึ้นแล้วในออสเตรเลีย การฟื้นฟูกิจการเพื่อใช้ประโยชน์แบบเดิม ก็อาจจะไม่คุ้มค่าในแง่ของการลงทุน
ว่ากันว่าทำให้รถไฟสายนี้ถึงกับขาดทุน และเป็นที่มาให้เกิดการก่อตั้งสมาคมเกิดการระดมทุน ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิสัยทัศน์ของชาวเมืองที่ช่วยกันรักษาทางรถไฟสายนี้ไว้ และวิสัยทัศน์นี้ก็เกิดมาจากความรู้สึกพื้นฐานง่ายๆ ที่มนุษย์มีต่อสิ่งที่อยู่รอบตัว นั่นคือความรู้สึกรักในสิ่งที่เคยมีอยู่ของชุมชนและต้องการรักษาไว้เพียงเท่านั้น เมื่ออาศัยองค์ประกอบจากเสน่ห์ความเก่าของตัวรถไฟ ธรรมชาติ และผู้คนในชุมชน ก็ทำให้ Puffing Bully ได้รับการพัฒนาไปเป็นเส้นทางรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบไม่ยากเลยอย่างที่ปรากฏอยู่ในวันนี้
เส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน มีทั้งส่วนที่เป็นชายป่า ทะเลสาบ หมู่บ้าน แน่นอนว่าในอดีต การวิ่งลัดเลาะคดเคี้ยวไปตามชายป่าเชิงเขาเป็นเรื่องเสียเวลา แต่ข้อจำกัดของเทคโนโลยี ทำได้เท่านั้นก็ถือว่าช่วยอำนวยความสะดวกให้มนุษย์มากแล้ว แต่เส้นทางที่คดเคี้ยวนี่เอง คือเสน่ห์ของทางรถไฟสายนี้ที่หลงเหลือกลายเป็นคุณค่าด้านการท่องเที่ยวในปัจจุบัน
ดังนั้น แม้การเดินรถแต่ละครั้งจะมีเขม่าควันจากหัวรถจักรพวยพุ่งออกมาเป็นมลพิษบ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่ชาวเมืองยอมรับได้ และคุ้มค่าที่จะแลกกับอีกหลายสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวที่สร้างความจรรโลงใจให้กับพวกเขาได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจของชุมชนและความรู้สึกบวกด้านจิตใจที่ยังคงได้เห็นรถไฟขบวนนี้วิ่งรับส่งนักท่องเที่ยว สร้างรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ ทำให้ภาพเขม่าควันเหมือนเป็นเพียงหมอกจางๆ ที่ลอยลับตาไปอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม อย่าได้จินตนาการว่า คนทำงานของรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นเพียงอาสา สมัครสร้างความสุขจะมาทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม แบบรถไฟบางประเทศที่ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่างเชียว เพราะทุกวันนี้ Puffing Billy ได้ชื่อว่าเป็นรถไฟที่มีการบรรทุกผู้โดยสารที่เต็มไปด้วยสุขจากทั่วทุกมุมโลก ชนิดที่พวกเขามั่นใจว่าคนที่สร้างรถไฟสายนี้เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ไม่มีทางจินตนาการได้แน่ๆ ว่า ทางรถไฟที่พวกเขาสร้างขึ้นเพื่อขนถ่านหินจะกลายเป็นทางรถไฟสายที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวมากที่สุดของรัฐวิกตอเรีย และอาจ จะมากที่สุดในประเทศออสเตรเลีย รวมทั้งเลี้ยงตัวเองอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐเสียอีกด้วย
ความร่วมมือของชุมชนในการยิ้มแย้มต้อนรับทักทายนักท่องเที่ยว ยังเป็นภาพประกอบที่ช่วยเติมเต็มความมีชีวิตชีวาให้กับทัศนียภาพสองข้างทางเมื่อมองจากตัวรถไฟ ภาพเหล่านี้ล้วนเกิดจากปฏิกิริยาเรียบง่ายที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติสำหรับผู้คนที่พร้อมจะเป็นมิตรต่อกัน อย่างการโบกมือทักทาย ยิ้มให้กัน และไม่เพียงชาวเมืองเจ้าบ้าน แม้แต่นักท่องเที่ยวด้วยกันเองก็พร้อมจะทักทายกันด้วยปฏิกิริยาแบบเดียวกันนี้เช่นกัน เพราะนี่คือปฏิกิริยาของความสุขที่ได้สัมผัสและกลายเป็นความทรงจำที่ฝังใจให้ระลึกถึงไปได้อีกนาน
|
|
|
|
|