|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
โดยสารานุกรมออนไลน์ “วิกิพีเดีย” บอกไว้ว่า เมืองเชียงตุง เป็นจังหวัดหนึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เขตรัฐฉาน ประเทศพม่า เป็นเมืองของชาวไทเขินและชาวไทใหญ่ ถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองเทียบเท่าเมืองเชียงใหม่ แห่งล้านนาไทย และเมืองเชียงรุ่งแห่งสิบสองปันนา โดยชาวไทใหญ่เรียกชื่อเมืองนี้ว่า “เก็งตุ๋ง” หรือ Keng tung (แต่คนในท้องถิ่นออกสำเนียงเจ็งตุ๋ง-ผู้เขียน)
ในอดีตเชียงตุงเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางการค้า เชื่อมต่อระหว่างสิบสองปันนากับล้านนา โดยมีพ่อค้าชาวจีนฮ่อเดินทางไปมาค้าขายผ่านเส้นทางสายนี้
ประวัติศาสตร์ในช่วงแรกของเชียงตุงไม่ชัดเจนนัก แต่มีตำนานเล่าขานกันว่า เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ท่วมเมือง มีฤๅษีนามว่า ตุงคฤๅษี ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ทำให้นำไหลออกไปอยู่ตรงกลางเมือง ทำให้เกิดเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เรียกกันว่าหนองตุง อันเป็นที่มาของชื่อเชียงตุง เป็นแว่นแคว้นที่เจริญรุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม อุดมไปด้วยป่าไม้ และมีเจ้าฟ้า ที่เข้มแข็งปกครอง จึงเฉลิมนามให้ใหม่ว่าเขมรัฐตุงคบุรี
หลักฐานที่เป็นพงศาวดารของเมือง ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อจุลศักราช 791 (พ.ศ. 1772) “พญามังราย” เสด็จประพาสป่าและทรงไล่กวางทองมาจนถึงเมืองเชียงตุง พระองค์ทรงเล็งเห็นภูมิประเทศของเมืองเชียงตุง ก็พอพระทัยมาก จึงยกกองทัพมา รบยึดเมืองเชียงตุงไว้ในอาณาเขต และส่ง “เจ้าน้ำท่วม” ผู้เป็นราชบุตรไปปกครองเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ.1786 เชียงตุงจึงเป็น เมือง “ลูกช้างหางเมือง” หรือ “เมืองลูก หลวง” ขึ้นกับอาณาจักรล้านนา และได้รับ อิทธิพลทางพุทธศาสนาจากล้านนา ก่อนจะกลายเป็นเมืองประเทศราชของพม่า ในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง และเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปพร้อมกับพม่า
ในสมัยการล่าอาณานิคมนี้ทำให้เกิด เจ้าฟ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเชียงตุง พระนามว่าเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง หรือเจ้าอินแถลง ซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับรัชกาลที่ 5 ของไทย พระองค์ปกป้องเมืองเชียงตุงไม่ให้กลายเป็นเมืองอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ แต่หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ เชียงตุงก็ตกไปอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ
นอกจากนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียน วันทนียตระกูล ยังได้ระบุไว้ในงานเขียนเรื่อง “รู้เรื่องเมืองเชียงตุง” ไว้อย่างละเอียด ซึ่งตอนหนึ่งบอกไว้ว่า ตามหลักฐานทั้งหลาย ได้ระบุไว้ว่าสมัยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้ส่งกำลังทหารภายใต้การนำของพลตรีผิน ชุณหะวัณ (ต่อมาได้เลื่อนเป็นจอมพลผิน ชุณหะวัณ) เข้ายึดเมืองเชียงตุง และเมืองพาน จากอังกฤษ ที่เคยเป็นของชาวสยาม โดยมีความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2485 อ้างว่ามีประวัติศาสตร์ และเชื้อชาติที่เหมือนกัน
พร้อมกันนั้น กองทัพไทยยังเข้าไปโจมตีและปกครองเมืองตองยี และสิบสองปันนาอีกด้วย โดยมีประเทศญี่ปุ่นช่วยให้บริเวณเมืองเชียงตุงและเมืองพานมาร่วมเข้ากับประเทศไทย รวมทั้งหมดนี้ทำให้จัดตั้งเป็น “สหรัฐไทยเดิม” ในเวลาต่อมา
เมื่อไทยสามารถยึดเมืองเชียงตุงได้ แล้วก็จัดให้เป็นจังหวัดหนึ่งของไทย มีชื่อว่า จังหวัดสหรัฐไทยเดิม และแต่งตั้งให้พลตรีผิน ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำจังหวัดสหรัฐไทยเดิม เพื่อควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเมืองเชียงตุง
ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลไทยก็ได้ทูลเชิญเจ้าเมืองเหล็กพรมลือ โอรสองค์ใหญ่ของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลง พร้อมด้วยเจ้าแม่ปทุมเทวีที่ไปช่วยราชการและพำนักอยู่ที่เมืองโหม่วหยั่ว ชายแดนพม่าติด กับประเทศอินเดีย ตามคำสั่งรัฐบาลอังกฤษ พร้อมด้วยเจ้าหญิงทิพวรรณ (ณ ลำปาง) ณ เชียงตุง และราชธิดา ให้กลับมาเป็นมิ่งขวัญของชาวเชียงตุง โดยมีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ พร้อมด้วยคณะสงฆ์ เสนาอำมาตย์ นายแคว้น นายแขวง และพ่อเมืองต่างๆ ในเขตเชียงตุง พร้อมใจกันจัดพิธีทำขวัญ ขึ้นที่คุ้มหลวง แล้วสถาปนาพระองค์เป็น “เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยสสรพรหมลือ” ปกครองเมืองเชียงตุงเป็นองค์ที่ 40 พ.ศ.2488 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง รัฐบาลไทยต้อง มอบเชียงตุงให้แก่สหประชาชาติ (UN) อังกฤษได้เข้ามามีบทบาทต่อพม่าและเชียงตุงอีกครั้งหนึ่ง ขณะนั้นเจ้าฟ้าพรหมลือตัดสินพระทัยเข้ามาพำนักที่เมืองเชียงใหม่ พร้อมด้วยครอบครัว โดยมีเจ้าฟ้าองค์สุดท้าย คือเจ้าฟ้าชายโหล่ง ปกครองเมืองเชียงตุงสืบมาเป็นองค์ที่ 41
จึงถือว่าไทยได้ปกครองเมือง เชียงตุงเพียง 3 ปี แล้วก็ต้องสูญเสียเมืองเชียงตุงไป
ต่อมาประชาชนชาวพม่า ซึ่งมีหลายเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์ รวมตัวกันต่อต้านการปกครองของ อังกฤษ ได้รวมตัวเป็นหนึ่งเดียว เพื่อขับไล่อังกฤษออกไปให้พ้นจาก ประเทศพม่า โดยรัฐบาลพม่าในขณะนั้นได้เชิญผู้นำชนกลุ่มน้อยต่างๆ มาเซ็นสัญญามอบเมืองทุกเมืองที่ตนปกครองอยู่ให้พม่า เมือง เชียงตุงโดยเจ้าฟ้าชายโหล่งเซ็นมอบเมืองเชียงตุงให้แก่พม่า เหมือน กับผู้นำชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว
โดยในสนธิสัญญาปางโหลงระบุว่า เมื่อขับไล่อังกฤษออกจากพม่าได้แล้ว จะแบ่งเขตปกครองเป็นรัฐๆ โดยให้ผู้นำชนเผ่าต่างๆ เป็นผู้นำรัฐที่ตั้งขึ้นใหม่ รวมทั้งรัฐเชียงตุงด้วย
เมื่อภารกิจการขับไล่อังกฤษพ้นจากประเทศพม่าแล้ว รัฐบาลพม่าไม่ได้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่ตกลงกันไว้ ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลพม่ายังพยายามเข้าครอบงำชนกลุ่มน้อยต่างๆ หลากหลายวิธี แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงทำให้ชนเผ่าต่างๆ เรียกร้องหาสัญญาปางโหลง โดยการรวมตัวต่อต้านรัฐบาลพม่าจนถึงปัจจุบัน เช่น รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐไทใหญ่ หรือรัฐฉาน รัฐว้า เป็นต้น
เมืองเชียงตุงจึงสิ้นสุดราชวงศ์ปกครองนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
(อ่านเรื่อง “เสียงจากดอยไตแลง บันทึกชนเผ่ากลางประชาคมอาเซียน” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนเมษายน 2554 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
|
|
|
|
|