Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ธันวาคม 2554
“เชียงตุง” บนรอยต่อกาลเวลา             
โดย เอกรัตน์ บรรเลง
 


   
search resources

International
Myanmar




นักเดินทางที่เคยไปเยือน “เชียงตุง” หรือ “เจ็งตุ๋ง” อาจตรึงตรากับภาพชุมชนชนบทเหมือนเชียงใหม่ 50 ปีก่อน บางคนอาจคิดถึงอดีตเมืองลูกหลวงล้านนาไทยอีกครั้ง เมื่อได้ดูละครฮิต “รอยไหม” ผ่านจอทีวี ด้วยเป็นบ้านเกิด “เจ้านางน้อย-มณีริน” วันนี้...เชียงตุงกำลังรอวันฉายแสงอีกครั้ง

เมื่อ 48 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2506) “เจ็งตุ๋ง” (Keng tung) ตามภาษาไทใหญ่ หรือ “เชียงตุง” หรือ “เขมรัฐตุงคบุรี” ต้อง ปิดตัวเองลงตามนโยบายปิดประเทศพม่า ของนายพลเนวิน ผู้นำคณะรัฐประหารในขณะนั้น

วันนี้ (พ.ศ.2554) เชียงตุงกำลังรอวันเปล่งศักยภาพของอดีตเมืองที่เคยรุ่งเรือง ไม่แพ้เชียงใหม่และเชียงรุ่ง (สิบสองปันนา) อีกครั้งหนึ่ง

ปลายเดือนกันยายน 2554 ผู้จัดการ 360 ํ ได้เดินทางจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย เข้าสู่จังหวัดท่าขี้เหล็ก มุ่งหน้าไปตามเส้นทาง R3b (หนึ่งในถนนยุทธศาสตร์เชื่อมไทย-พม่า-จีนผ่านเชียงตุง เชียงรุ่ง โดยมีปลายทางที่เมืองคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน) ไปจนถึงเชียงตุง ที่อยู่ห่างจาก อ.แม่สาย ประมาณ 163 กม.

(อ่านเรื่อง “R3b เส้นทางที่ต้องมีพี่เลี้ยง” นิตยสาร ผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

โดยร่วมไปกับขบวนปั่นจักรยาน 7 แผ่นดินเฉลิมพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ-สมเด็จพระราชินี จากวันแม่ 12 สิงหาคม 2554 ถึงวันพ่อ 5 ธันวาคม 2554 โดยมีนักปั่นน่องเหล็กร่วมขบวนทั้งสิ้นกว่า 60 ชีวิต

การเดินทางช่วงนี้เรียกกันว่า “ไม้ 5” เริ่มต้นตั้งแต่เช้าตรู่วันที่ 26 กันยายน มุ่งหน้าเข้าท่าขี้เหล็กปลายทางเชียงตุง โดย เส้นทาง R3b ในช่วงนี้ หากเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่รัฐบาลพม่ามีคำสั่งห้ามรถยนต์ไทยเข้า ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นมา

ระยะทาง 163 กม.ต้องผ่านด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง ทั้งด่านของกลุ่มบริษัท หงส์ปังอิมพอร์ต-เอ็กซ์พอร์ต จำกัด กิจการ ในเครือกลุ่มว้าที่ได้รับสัมปทานพัฒนาถนน ช่วงดังกล่าวและด่านตรวจของทางการพม่า

ขบวนจักรยานเฉลิมพระเกียรติเดิน ทางถึงเชียงตุงเมื่อพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว

กรณีนักเดินทางที่ต้องการเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวเชียงตุงด้วยตัวเอง ปัจจุบัน สามารถทำได้ง่าย โดยคนไทยไม่ต้องใช้ Passport เพียงแต่ใช้สำเนาบัตรประชาชน กับรูปถ่าย 3 ใบ ยื่นทำ Border past ก็เดินทางเข้าได้แล้วตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-พม่า เมื่อ 16 พฤษภาคม 2540 ที่ต่อมาขยายเวลาให้เข้าพม่าได้เป็น 15 วัน

เมื่อข้ามแดนจากแม่สายเข้าท่าขี้เหล็กแล้ว สามารถเลือกพาหนะเดินทางเข้าย่างกุ้งได้หลายรูปแบบ หากต้องการเช่า รถ VAN หรือรถตู้พม่า จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ ประมาณ 3,000-4,000 บาท/วัน หรือหากต้องการสัมผัสวิถีท้องถิ่นก็สามารถนั่งรถบัส โดยสารประจำทางที่วิ่งให้บริการจากท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง วันละ 10 เที่ยว (รอบเช้า ออกจากท่าขี้เหล็ก 08.30 น. 5 เที่ยว และ ช่วง 13.00 น. อีก 5 เที่ยว) ขากลับก็มีรถบัสให้บริการเช่นกัน ในอัตราค่าโดยสาร ประมาณ 350 บาท/คน

(กรณีที่พม่าอนุญาตให้รถยนต์ไทยเข้าได้ นอกจากต้องเสียค่าทำใบอนุญาต นำรถเข้าแล้ว จะต้องเสียค่าผ่านด่านต่างๆ ตามรายทางคือ ด่านหมากยาง รถแวน 500 จั๊ต-รถตู้ 1,000 จั๊ต, ด่านท่าเดื่อ รถแวน 500 จั๊ต+ค่าใช้ถนน 400 จั๊ต รถตู้ 1,000 จั๊ต ค่าใช้ถนน 400 จั๊ต, ด่านเชียงตุง รถแวน 1,000 จั๊ต+ค่าใช้ถนน 400 จั๊ต รถตู้ 2,000 จั๊ต+ค่าใช้ถนน 400 จั๊ต ไม่รวมค่าผ่านด่าน ตามประเพณีที่มีเจ้าหน้าที่ทางการพม่าประจำอยู่)

นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินจากสนามบินท่าขี้เหล็กที่มีสายการบินเอกชน อาทิ แอร์บากัน แอร์มัณฑะเลย์ สายการบิน KBZ แอร์เอเชียวิน แอร์ย่างกุ้ง และสายการบินรัฐบาลพม่า ให้บริการอยู่ ไปถึงสนามบินเชียงตุงอีกทางหนึ่ง โดยมีสายการบินบริการทุกวัน แต่ต้อง มีการขออนุญาตเป็นรายกรณีไป

อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวจะต้องจ่ายค่าไกด์นำเที่ยวพม่า ในอัตรา 1,000 บาท/วันด้วย

รายทางที่ผ่านพ้นยังคงอุดมไปด้วยชนเผ่าท้องถิ่นที่สงบนิ่งด้วยวิถีที่เรียบง่าย ทั้งไทเขิน ไตหรือไทใหญ่ ไทลื้อ ปะด่อง อาข่า ว้า ฯลฯ รวมถึงร่องรอยความเสียหาย จากแผ่นดินไหวระดับความรุนแรง 6.8 ริก เตอร์ เมื่อ 24 มีนาคม 2554 ที่มีศูนย์กลางอยู่ ณ บ้านท่าเดื่อ บนทางแยกขึ้นเชียงตุง (ซ้าย)-เมืองพง หรือบ้านปง เมืองท่าริมแม่น้ำโขง (ขวา) ห่างจากตัวเมืองท่าขี้เหล็ก ประมาณ 44 กว่ากิโลเมตร ก่อนจะถึงเมือง เพียก หรือเมืองพยาก (ห่างจากท่าขี้เหล็ก ประมาณ 80 กม.) จุดพักระหว่างทางตาม ทำเลที่ตั้งที่อยู่กึ่งกลางระหว่างท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง ในช่วงเที่ยงวัน

เช่นเดียวกับการเดินทางจากเมืองเพียก-เชียงตุงที่จะผ่านชุมชนริมทางที่ยังคง รูปแบบวิถีชีวิตเรียบง่ายเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตาม บนเส้นทางสายนี้ยังคงมีประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าที่เป็นมาในอดีต เพราะเป็น 1 ในเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างไทย-พม่า-จีน (เชียงรุ่งหรือสิบสองปันนา) ปัจจุบันสินค้าที่ขนส่งผ่านเส้นทางสายนี้ล้วนแล้วแต่นำเข้าจากไทยผ่านด่านที่แม่สาย จังหวัดเชียงราย ด้วยรถขนส่ง ขนาดเล็ก อย่างสามล้อเครื่องเมดอินไชน่า ไปจนถึงรถบรรทุกขนาดใหญ่

(อ่านรายละเอียดเรื่อง “แม่สาย-R3b ถนนหมื่นล้าน” ประกอบ)

การเดินทางเข้าเชียงตุง ทั้งขบวนรถสินค้ารวมถึงทีมนักปั่นน่องเหล็กขบวนนี้ ยังต้องหยุดพักกันอีกครั้งบน “ปังควาย หรือปางควาย” ยอดเขาสูงเด่นก่อนเข้าเมือง เชียงตุงที่ถือเป็นจุดที่ขบวนต้อนควายไปค้า-ขาย ต้องหยุดให้คาราวานควายพัก หลังจากเดินเข้าเขาสูงชันแห่งนี้จนไปต่อไม่ไหว

ซึ่งบนยอดเขาแห่งนี้ ทั้งรถ ทั้งคน ส่วนใหญ่ก็ยังต้องหยุด “ให้น้ำ” กันก่อนที่จะเดินทางต่อเช่นกัน

และหลังผ่าน “ปางควาย” เส้นทาง ก็จะตัดผ่านทุ่งราบก่อนเข้าสู่ตัวเมืองเชียงตุง จังหวัดหนึ่งในเขตรัฐฉานของพม่า เมือง 3 จอม 7 เชียง 9 หนอง 12 ประตู

โดยถ้อยคำที่เรียกขานเมืองแห่งนี้ว่า เมือง 3 จอม หมายถึงภูเขาสามลูกที่โอบล้อมเมืองเชียงตุง ได้แก่ จอมมน ที่ตั้งของ ต้นยางนาต้นใหญ่ความสูงกว่า 218 ฟุต, จอมศักดิ์ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ยืนชี้นิ้วไปทางหนองตุง ประทานพรว่า เมืองนี้เป็นเมืองที่อยู่แล้วสบาย ร่มเย็นเป็น สุข และจอมคำ ที่ตั้งของพระธาตุจอมคำอายุเก่าแก่นับพันปี ซึ่งมียอดพระธาตุเป็นทองคำแท้

7 เชียงคือ หมู่บ้านที่ตั้งอยู่รอบเมือง เชียงตุง ได้แก่ เชียงงาม เชียงจัน เชียงลาน เชียงขุ่น เชียงอิน เชียงยืน และเชียงจิน

9 หนองนั้นบ่งบอกว่า ในอดีตเชียงตุงมีหนองน้ำขนาดใหญ่ 9 แห่ง แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแห่งเดียว คือ “หนองตุง” ที่อยู่บริเวณกลางเมือง เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนเชียงตุงที่มีร้านน้ำชา กาแฟ ตลอดจนสถานบันเทิงตั้งอยู่รายรอบ

และ 12 ประตูที่ว่านั้นมาจากในอดีต นครแห่งนี้มีประตูเมือง 12 ประตูรอบเมือง ขณะนี้เหลือเพียงประตูป่าแดง ตั้งอยู่ใกล้กับสุสานเจ้าฟ้า เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

เชียงตุงหรือเขมรัฐตุงคบุรี ดูเหมือน จะคงวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เหมือนกับเมื่อ 48 ปีก่อนที่พม่าจะปิดประเทศไว้เช่นเดิมจนถึงทุกวันนี้ ผู้มาเยือนยังคงสามารถสัมผัส ได้ถึงจิตใจที่เอื้ออารีย์ บรรยากาศที่เคร่งครัด ในพระพุทธศาสนา โดยที่นี่มีวัดน้อยใหญ่มากกว่า 400 วัด ทั้งวัดไทลื้อ วัดไทใหญ่ และวัดพม่า

แต่วัดที่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนนิยมเข้าไปทำบุญ ส่วนใหญ่จะเป็นวัดหัวโข่ง หรือวัดหัวข่วง วัดมหาเมี๊ยะมุณี ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงตุง วัดเชียงอิน วัดอิน วัดจอมทอง เจดีย์จอมคำ ฯลฯ ที่ล้วนแต่เป็นวัดเก่าแก่คู่เชียงตุงมาหลายร้อยปี

แน่นอน ทุกทริปของผู้มาเยือน คงไม่พลาดที่จะเข้าไปเดินตลาดเช้าเชียงตุง ที่แม้ว่าสินค้าตามร้านรวงในตลาดส่วนมาก จะเป็นสินค้านำเข้าจากไทยก็ตาม แต่ในตลาดแห่งนี้ก็มีสินค้าพื้นถิ่นที่อาหารการกิน พื้นเมืองวางบนแผงมากมายเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ทางหนึ่ง แม้ “เชียงตุง” ยังคงมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่อีกด้านหนึ่ง เชียงตุงก็ได้รับการพัฒนารองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามาในอนาคต

ตัวเมืองเชียงตุง เริ่มมีการขยายตัวไปตามแนวถนน R3b โดยเฉพาะด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่เชื่อมต่อไปถึงเมืองลา เขตปกครองพิเศษที่ 4 ชายแดนพม่า-จีน (เมืองลาของพม่า-ท่าล่อ สิบสองปันนา) ที่ถือได้ว่าเป็นย่านเมืองใหม่ของอดีตนครที่เคยรุ่งเรืองแห่งนี้

รวมทั้งมีโรงแรมรองรับนักท่องเที่ยว มากขึ้น นอกจากโรงแรมนิวเชียงตุงที่รัฐบาลพม่าปรับปรุงหอคำของอดีตเจ้าฟ้า เชียงตุงเป็นโรงแรมรับนักท่องเที่ยว ยังมีโรงแรม Trivate Hotel, Princess Hotel, โรงแรมสามยอด, โรงแรมแสงทิพย์ ฯลฯ ไม่รวมเกสต์เฮาส์อีกหลายแห่งที่ทยอยเปิดบริการมากขึ้น โดยมีอัตราค่าบริการอยู่ในระดับ 500-600 บาทต่อห้องต่อคืน

และการเติบโตของเชียงตุงไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้แน่นอน

ล่าสุด ประมาณเดือนกันยายน 2554 เส้นทาง R3b โดยเฉพาะช่วงต่อจาก เชียงตุง-เมืองลา เขตปกครองพิเศษที่ 4 แห่งสหภาพเมียนมาร์-ท่าล่อ หรือต้าล่อ ชายแดนเชียงรุ่งที่ถูกปิดมาเมื่อ 2-3 ปีก่อน ถูกเปิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดที่จะให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปได้

“เมืองลา” นั้นถือเป็นเมืองชายแดน ที่ปกครองโดยกลุ่ม “อูไซลิน” กองกำลังที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลพม่า ก่อนหน้านี้เคย เปิดเมืองให้กลุ่มทุนจากจีนเข้ามาลงทุนพัฒนา ก่อสร้างโรงแรม-กาสิโนขนาดใหญ่ ในลักษณะเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ บ่อเต็น-บ่อหาน ชายแดน สปป.ลาว-จีน

(อ่านเรื่อง “Golden City...City of China” นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

ที่นี่...เคยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวไทย-จีนที่เดินทางผ่านเส้นทางสายนี้อย่างคึกคักมาแล้วหลายปีติดต่อกัน ก่อนที่ทางการจีนจะประกาศปิด พรมแดนด้านนี้ราวปี 2548

การเปิดเมืองลารวมถึงชายแดนท่าล่อของสิบสองปันนา นอกจากทำให้เส้นทางยุทธศาสตร์ R3b กลับมาทำหน้าที่เส้นทาง ขนส่งสินค้า-ผู้คนระหว่าง 3 ประเทศนี้เช่นเดิมแล้ว ย่อมส่งผลต่อวิถีชีวิตผู้คน รวมถึงการเติบโตของชุมชนตลอดแนวเส้นทาง

อันหมายรวมถึง “เชียงตุง” ด้วยเช่นกัน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us