|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ฮานอย เมืองหลวงของประเทศเวียดนาม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศของชาวน้ำ เช่นเดียวกับคนไทยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เลือกตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง เป็นเมืองหลวงที่เพิ่งจะมีอายุครบพันปีไปเมื่อปี 2010 มีชื่อเดิมว่าทังลองในยุคแรก ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็นฮานอยจนถึงปัจจุบัน มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 3.5 ล้านคน และมีจำนวนสูง ถึง 70-80% ที่เลือกอาศัยอยู่ในเขตเมืองชั้นใน
แม่น้ำแดงมีต้นกำเนิดในเขตมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร ไหลเข้าเขตเวียดนามที่เมืองลาวกาย (lao cai) และไหลลงสู่ทะเลจีนในอ่าวตังเกี๋ย (เวียดนาม ทางใต้เรียกทะเลจีนใต้) ปริมาณน้ำของแม่น้ำแดงมีความแตกต่างกันมากในแต่ละฤดูเช่นเดียวกับสภาพแม่น้ำสายสำคัญอื่นๆ ฤดูน้ำมากจะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม แต่ก็ไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณได้แน่นอนขึ้นกับปริมาณฝนในแต่ละปี
บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงมีทั้งแม่น้ำลำคลองใหญ่น้อยเชื่อมต่อกันหลายสายก่อนไหลลงทะเล ทำให้ในอดีตก่อนมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในจีนซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ บริเวณ ที่ราบริมฝั่งในเขตเวียดนามก็จะเกิดน้ำท่วมอยู่บ่อยๆ จึงต้องมีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกันไปในแต่ละเขต เช่น บริเวณนอกเมืองเขื่อนจะทำหน้าที่กั้นพื้นที่เพาะปลูก สวนผลไม้ หรือช่วยให้ชาวนาทำนาได้ปีละสองครั้ง ส่วนในเขตเมืองสร้างขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น
สถานการณ์น้ำท่วมในเวียดนามส่วนใหญ่เกิดจากพายุที่พัดเข้าสู่ประเทศโดยตรงปีละหลายครั้ง เพราะที่ตั้งของเวียดนามมีสภาพเป็นเหมือนระเบียงชายฝั่งทะเลของเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ปริมาณน้ำที่ไหลจากตอนเหนือของแม่น้ำแดงลงมานั้นน้อยลงไปมาก จนฮานอยซึ่งเป็นปลายทางก่อนแม่น้ำไหลสู่ทะเลไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเพราะปริมาณน้ำจากแม่น้ำโดยตรงมานานมากกว่า 20 ปีแล้ว
สภาพแม่น้ำแดงปัจจุบันเต็มไปด้วยเกาะแก่งมากมายในลำน้ำ จนทำให้คนที่หันไปทำอาชีพขุดทรายขายเป็นอาชีพร่ำรวยเพราะมีทรายให้ดูดขายไม่หมด ทำให้เจ้าของที่ดินกล้าเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ริมฝั่งแม่น้ำฝั่งตรงข้ามเขตเมืองมาทำสวนกันมากขึ้น ทั้งสวนกล้วย และสวนส้มจี๊ด ซึ่งนิยมมากในฮานอยสำหรับใช้ประดับอาคารสถานที่ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งชาวสวนจะมีเทคนิคทำให้ต้นส้มติดผลพร้อมกันทั้งสวน
ขณะที่ย่านชานเมืองฮานอยไปทางทิศเหนือเศรษฐกิจเริ่มขยายจากเขตเมืองชั้นในอย่างเห็นได้ชัด เกิดโครงการที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมจำนวนมาก ส่วนใหญ่นิยมออกแบบตกแต่งโครงการด้วยดีไซน์แบบยุโรปให้ดูอลังการใหญ่โตตั้งแต่ซุ้มประตูทางเข้าโครงการ และเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่ผู้มีรายได้สูงนิยมมาจับจอง ทั้งเพื่ออยู่อาศัยและมีจำนวนไม่น้อยที่ซื้อไว้เพื่อเก็งกำไร
“ย่านนี้เรียกคอนโคเมืองใหม่ คนจดหมดสิทธิ์ซื้อ” ควา (Kwa) หรือธงชัย อดีตทหารผ่านศึกเวียดนาม ไกด์ท้องถิ่นเชี่ยวชาญภาษาไทยเพราะเคยทำงานให้กับบริษัทปลากระป๋องจากไทยยี่ห้อหนึ่งสมัยเริ่มเข้ามาทำตลาดในเวียดนามใหม่ๆ ให้ข้อมูล
นอกจากย่านเมืองใหม่ที่อยู่ในแนวถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างยกระดับและเชื่อมเข้าสู่เขตเมืองโดยตรง ในย่านตัวเมือง ชั้นในของฮานอย โดยเฉพาะบริเวณย่านการค้าของถนน 36 สายด้วยแล้ว แพงกว่ากรุงเทพฯ หลายเท่า
“บ้านผมอยู่ในซอยนอกเมืองเนื้อที่ 30 ตารางเมตร ผมสร้าง 4 ชั้น 120 ตารางเมตร ขายบ้านทั้งหลังยังซื้อห้องน้ำในถนน 36 สายไม่ได้ ห้องน้ำเขาประมาณ 5 ตารางเมตรเท่านั้น”
ถ้าเปรียบเป็นทองที่ดินหนึ่งตารางเมตรในฮานอยมีราคาเท่า กับทอง 30 แท่ง หนึ่งแท่งเท่ากับ 10 สลึง ทองคำ 30 แท่งก็เท่ากับ 300 สลึงต่อหนึ่งตารางเมตร หรือคิดให้ง่ายทองหนึ่งแท่งเท่ากับ 5 หมื่นบาทไทย คูณด้วย 30 แท่งก็เท่ากับตารางเมตรละ 1.5 ล้านบาท สูงกว่าราคาของคอนโดมิเนียมย่านสีลมสาทรที่มีราคาเฉลี่ยตารางเมตรละ 1 แสนกว่าบาทเท่านั้น
แนวสันเขื่อนแม่น้ำแดง หรือถนนที่ยกระดับสูงที่ผู้ใช้ถนนแล่น ผ่านก่อนเข้าเขตเมืองชั้นใน คือหัวใจที่ทำให้ที่ดินของเขตเมืองชั้นในซึ่งไม่สามารถขยายได้มากกว่านี้มีมูลค่าดังทอง เพราะด้วยข้อกำหนด การพัฒนาเมืองฮานอย เขตเมืองชั้นในแม้จะชุ่มด้วยฝนที่มีปริมาณ มากแค่ไหนก็จะเป็นเขตที่รัฐบาลจะไม่ปล่อยให้มีน้ำท่วม เพื่อปกป้อง เขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ เพราะนอกจากทรัพย์สินจำนวนมาก ของรัฐบาล รวมถึงสถานที่สำคัญที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ล้วนรวมอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ ขณะที่บริษัทต่างประเทศทุกแห่งที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม ก็ต้องเปิดสำนักงานที่ฮานอยไว้เพื่อติดต่อกับกับหน่วยงานราชการด้วย
แนวสันเขื่อนแม่น้ำแดงรอบเมือง จึงเป็นระบบการวางแผนจัดการป้องกันน้ำท่วม และเป็นเส้นแบ่งเขตที่ดิน ที่สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติและคนเวียดนามเองหากพวกเขาอยู่ในแนวป้องกัน คนเวียดนามและผู้ซื้อบ้านในฮานอยรับรู้โดยทั่วไปว่า ผู้ที่อยู่อาศัยหลังแนวเขื่อนไปทางฝั่งแม่น้ำจะต้องยอมรับโดยไม่มีข้อเรียกร้องกรณีเกิดน้ำท่วม บ้านเรือนฝั่งติดแม่น้ำจะต้องถูกท่วมเต็มที่เท่ากับ ระดับของแนวสันเขื่อนหรือถนน
เดิมแนวสันเขื่อนนี้เป็นเพียงเขื่อนดินขนาดเล็กความกว้างประมาณ 5 เมตร พอเวียดนามรวมประเทศ ฮานอยขยายตัวเร็วมาก เขื่อนดินนี้ก็ได้รับการพัฒนา ขยาย และก่อสร้างเพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักในเขตเมืองจนถึงทุกวันนี้
สันเขื่อนนี้จะถูกซ่อมแซมอย่างสม่ำเสมอเพื่อประสิทธิภาพการ ใช้งาน แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมไม่ได้เกิดที่ฮานอยมานานมากกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม ชาวบ้านเองก็ดีใจ แต่ก็ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าตนอยู่ในเขตไหนอย่างไร
สันเขื่อนแม่น้ำแดงที่ฮานอยมีการฟื้นฟูประสิทธิภาพครั้ง ใหญ่เมื่อปี 2001 ระหว่างนั้นก็มีการดูแลซ่อมแซมเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง แต่หลังการฟื้นฟูในปี 2001 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank-ADB) ประเมินว่าการฟื้นฟูสันเขื่อน นี้ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมกับฮานอยถึง 3 ด้าน ประการแรก เพิ่มความรู้สึกด้านความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากสันเขื่อนและฝายน้ำล้น สอง- ช่วยกระตุ้นให้การเกิดการลงทุนจากความมั่นใจเรื่องมาตรการป้องกันน้ำท่วม และสาม- ได้ประโยชน์จากระบบขนส่งจากการพัฒนาถนนบนแนวสันเขื่อน
นอกจากนี้การวางแนวเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วม ยังใช้เขื่อน กั้นน้ำเพื่อระบบชลประทานในพื้นที่ตอนเหนือของฮานอยขึ้นไปด้วย เพราะนอกจากที่ราบลุ่มแม่น้ำ ในจุดที่เป็นที่ราบสูง สามารถปรับแนวสันเขื่อนมาใช้ขังน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรแทน
ทุกวันนี้ความสำเร็จของเขื่อนกั้นน้ำฮานอยที่เอดีบีประเมิน ไว้นี้ กลายเป็นแบบจำลองสำหรับสร้างแนวกั้นน้ำของเมืองที่อยู่ติดลุ่มน้ำอื่นๆ อีกมาก เหมือนที่เวียงจันทน์ ประเทศ สปป.ลาว ก็มีรูปแบบบางส่วนที่ใกล้เคียงกัน ในขณะที่ในฮานอยแนวของถนน หรือสันเขื่อน ยังกลายเป็นแนวการเติบโตของเมืองใหม่ที่ขยายตัวอย่างมากในปัจจุบัน
แต่หากจะมองอีกด้านหนึ่ง ความมั่นใจต่อประสิทธิภาพของแนวเขื่อนนี้ก็ทำให้พื้นที่สีเขียวของฮานอยลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อนักลงทุนและประชาชนมั่นใจประสิทธิภาพของการป้องกัน ก็ยิ่งทำให้ที่ดินถูกแปรสภาพกลายเป็นสิ่งก่อสร้างมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ของที่ดิน ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำให้ประสิทธิภาพของระบบที่วางไว้ลดลง หลายหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลแนวสันเขื่อนแม่น้ำแดง อาทิ กระทรวงทรัพยากรน้ำ (Ministry of Water Resources) กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (Ministry of Agriculture and Rural Development) ของเวียดนาม ต่างก็ตระหนักดีว่า การจะทำให้ประสิทธิภาพของสันเขื่อนและระบบการจัดการน้ำของฮานอยได้ผลดีอย่างยั่งยืน ก็ต้องมีการดูแลบำรุงรักษา หรือแม้กระทั่งคอยทำความสะอาดอย่างต่อเนื่อง และการรับผิดชอบปฏิบัติงานของพวกเขาก็เป็นหนึ่งในการเสริมประสิทธิภาพที่จะทำให้แนวสันเขื่อนพร้อมรองรับการใช้งานอยู่เสมอแม้จะไม่เกิดเหตุรุนแรงจากภัยธรรมชาติที่เกี่ยวกับน้ำขึ้นก็ตาม
|
|
|
|
|