Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2528
"ระวัง...มิจฉาชีพในคราบนักท่องเที่ยวอาศัยภาษา-หน้าตาฝรั่งหากินในไทย             
 


   
search resources

อเมริกัน เอ็กซ์เพรส - AMEX
Credit Card
Law
ปรีชา ประเสริฐ, พ.ต.อ.




บริษัทอเมริกัน เอ็กซเพรส เป็นบรรษัทข้ามชาติที่ให้บริการด้านบัตรเครดิตและเช็คเดินทาง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดบริษัทหนึ่งของโลก

เข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศไทยเมื่อปี 2523 และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเมื่อสามารถดึงเอา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาเป็นนายแบบโปรโมตบัตรเครดิตของตน

ปัญหาหนึ่งที่อเมริกัน เอ๊กซเพรสต้องเจอในเมืองไทยเหมือนกับที่เคยเจอในประเทศอื่น ๆ ก็คือ การพยายามฉ้อโกงของเหล่ามิจฉาชีพ ที่มีคนไทยซึ่งเป็นเจ้าถิ่น ร่วมมือกับทุรชนต่างชาติทั้งประเภทมืออาชีพที่หลบคดีมาจากประเทศอื่นเข้ามาฝังตัวในประเทศไทย และประเภทมือสมัครเล่นที่ชอบหาเงินแบบง่าย ๆ โดยเอาอิสรภาพของตัวเองเป็นเดิมพัน

และนี่ก็เป็นที่มาของหน่วยงานที่เรียกว่า SPECIAL AGENT ของอเมริกัน เอ๊กซเพรส ประเทศไทย โดยมี พ.ต.อ.ปรีชา ประเสริฐ อดีตผู้กำกับการตำรวจนครบาล 1 เป็นผู้รับผิดชอบ ในการสืบสวนประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ของ สน.ในท้องที่ต่างๆ เพื่อปราบปรามจับกุมพวกมิจฉาชีพที่จ้องหากินกับอเมริกัน เอ๊กซเพรส

"ความผิดส่วนใหญ่ที่เราเจอก็คือเอาบัตรเครดิตการ์ดหรือเช็คเดินทางที่ขโมยมาเอาไปขึ้นเงิน สำหรับความผิดประเภทหลังนี้ก็จะมีความผิดในฐานปลอมแปลงเอกสารควบไปด้วย เพราะต้องทำหนังสือเดินทางปลอมให้ตรงกับชื่อในเช็คที่ขโมยมา" พ.ต.อ.ปรีชา ประเสริฐ เล่าให้ฟัง

กลุ่มมิจฉาชีพทั้งสองประเภทนี้จะอาศัยบรรดาเกสต์เฮาส์ราคาถูก ย่านซอยงามดูพลี ทุ่งมหาเมฆ สุขุมวิท 22 และซอยข้าวสาร แถวบางลำพู เป็นแหล่งติดต่อประสานงาน ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศหลายชาติที่เรียกคลุม ๆ ว่า "ฝรั่ง"

ฝรั่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจริง ๆ ที่มาอาศัยอยู่เพราะต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย และฝรั่งโจรที่แฝงตัวอยู่เพื่อปิดบังอาชีพที่แท้จริง เนื่องจากสามารถปะปนได้อย่างกลมกลืนไม่เป็นที่สงสัยของใคร

"ตอนเช้า ๆ ถ้าไปเดินดูตามย่านที่ว่านั้น จะเห็นฝรั่งพวกนี้นั่งกันตามร้านกาแฟ คอยรับบัตรเครดิต เช็คเดินทางที่ขโมยมาจากลูกพี่คนไทย และรับคำสั่งว่าจะให้ไปขึ้นเงินที่ไหน กลางคืนก็ออกเที่ยวตามบาร์หรืออาบอบนวด...มีความสุขมาก" อีกประโยคหนึ่งของหัวหน้าหน่วย SPECIAL AGENT เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

เช่นเดียวกับการดำเนินธุรกิจที่ถูกกฎหมาย ในหมู่มิจฉาชีพประเภทดังกล่าวนี้จะมี "สินค้า" คือ เครดิตการ์ด เช็คเดินทาง และหนังสือเดินทาง ตลอดจนเอกสารปลอมแปลงอื่น ๆ มี "พ่อค้า" ที่เป็นตัวกลางรับซื้อขายสินค้า และมี "ลูกค้า" ที่ต้องการสินค้านั้นไปแลกเปลี่ยนกับเงินหรือสิ่งของ

บ่อยครั้งที่พ่อค้าใน "ตลาดมืด" ของสินค้า จะเป็นผู้ที่ทำการเลือกลูกค้าเองจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ร้อนเงิน เพื่อเป็นกลไกนำสินค้าไปขึ้นเงิน อาศัยที่คนไทยเป็นคนที่มีอัธยาศัยดีและให้เกียรติคนต่างชาติ จึงเป็นจุดอ่อนให้ผู้ร้ายสามารถหากินได้คล่องพอสมควร

พ.ต.อ.ปรีชากล่าวว่า ในกรณีบัตรเครดิตการ์ดที่ถูกขโมยไม่ว่าจากประเทศไหนทั่วโลก หากได้รับการแจ้งหายและผู้ที่รับบัตรมีการตรวจสอบมายังสำนักงานอเมริกัน เอ็กซเพรส มักจะป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่เป็นปัญหาก็คือบัตรที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศผ่านการสื่อสารแห่งประเทศ ไทย

"การ์ดพวกนี้จะมีปัญหาเพราะเป็นการ์ดของสมาชิกใหม่ยังไม่มีลายเซ็นของผู้ที่เป็นเจ้าของ เพราะเขาเข้ามาอยู่ในเมืองไทยแล้ว อย่างรายล่าสุดเจ้าของเป็นนักสอนศาสนาอยู่ที่เชียงใหม่ ก่อนที่จะเข้ามาเขาขอบัตรไว้ก่อนที่เยอรมนี พอผ่านเข้ามาที่กองการสื่อสารภายในประเทศปรากฏว่าซองใส่การ์ดของเขาถูกขโมย และผู้ที่ขโมยก็จะเอาไปให้ใครเซ็นชื่อลงไป สามารถเอาไปใช้ได้โดยที่เจ้าของยังไม่รู้ เราก็ไม่รู้เพราะไม่มีการแจ้งหาย ตอนหลังถ้าเป็นการ์ดของสมาชิกในประเทศเราจึงใช้บริการส่งผ่านบริษัทประกันภัย"

พ.ต.อ.ปรีชาให้ความเห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องที่เสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศมาก และเชื่อว่าจะต้องมีคนบางคนในกองการสื่อสารฯ เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนร้ายด้วย

"เราก็แจ้งให้เขาทราบ ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการสอบสวนอะไรเพื่อตัวคนทำผิด ก็ซาไปพักหนึ่งแล้วก็เกิดขึ้นอีก วิธีการป้องกันเรามีอยู่แล้ว แต่ไม่สะดวกกับการเปิดเผย อย่างรายสุดท้ายที่ถูกจับได้ เจ้าของการ์ดตัวจริงก็ไม่รู้ การแจ้งหายก็ไม่มี เราก็จับได้"

ความผิดประเภทที่สองก็คือการเอาเช็คเดินทางที่ขโมยมามาแอบอ้างขึ้นเงิน กรณีหลังนี้ยุ่งยากขึ้นบ้าง เพราะจะต้องมีหนังสือเดินทางและลายเซ็นปลอมให้เหมือนกับลายเซ็นที่ปรากฏอยู่บนเช็คเดินทาง

"ที่พบกันมากมักจะเป็นของชาวเยอรมัน อาจจะเป็นเพราะเขามาเที่ยวในเมืองไทยมากกว่าชาติอื่น แหล่งผลิตหนังสือเดินทางปลอมก็ในเมืองไทยนี้แหละ แต่เท่าที่ผ่านมาไม่ว่าปลอมหรือเอาของจริงมาดัดแปลงเรามีวิธีการตรวจจับได้เสมอ"

พ.ต.อ.ปรีชาเล่าให้ฟังว่า เดิมทีพนักงานรับแลกเปลี่ยนเช็คเดินทางตามบุ๊กต่างๆ ของธนาคารของไทยไม่ค่อยเข้มงวดกับหนังสือเดินทางของชาวต่างชาติเท่าไหร่ เพราะไม่คิดว่าจะเป็นพวกมิจฉาชีพ

"ภายหลังเขาก็ทราบและระมัดระวังมากขึ้น รวมทั้งเราก็ได้ติดต่อไปพูดถึงวิธีการต่าง ๆ ในการตรวจสอบกับพนักงานของธนาคาร เพราะบางรายมีลูกเล่นอย่างอื่น เช่น ใช้บัตรประจำตัวนักศึกษาบ้าง หรือบางรายใช้บัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ โดยอ้างว่าลืมหนังสือเดินทางไว้ที่โรงแรม"

ก็มีนักปลอมแปลงบางรายเหมือนกันที่พลาดในเรื่องง่าย ๆ เช่น ในหนังสือเดินทางหน้าที่ติดรูปผู้ถือ ประโยคที่พิมพ์ว่า "PHOTOGRAPH OF THE …….." ดันไปปลอมว่า ""PHOTOGRAPH OF HE….." คือตกตัว "T" ก็ไม่มีปัญหา เอามาใช้ปุ๊บก็ถูกจับปั๊บเหมือนกัน

"ฝรั่งพวกนี้เวลาอยู่ที่บ้าน มีเมียคนไทย พูดไทยคล่อง ข้าวเหนียวส้มตำกินได้หมด แต่เวลาที่เขาไปตามธนาคารหรือห้างสรรพสินค้าจะไม่ยอมพูดภาษาไทยเลย เขาคงคิดว่าถ้าพูดไทยจะทำให้เกรดต่ำลงหรือความเชื่อถือน้อยลงมั้ง" พ.ต.อ.ปรีชา ประเสริฐ เล่าให้ฟังตอนท้าย ๆ ของการสนทนา

ในส่วนของ "ผู้จัดการ" ไม่ได้ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องผิดแปลกอะไร เพราะไม่ว่าชาติไหน ๆ ต่างก็มีทั้งคนดีคนเลว เมืองไทยเป็นเมืองเปิดและมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย การที่จะมีทุจริตชนแฝงตัวเข้ามาบ้างเป็นของธรรมดา

เขียนรายงานเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพียงอยากจะให้เป็นเสียงเตือนว่า ขึ้นชื่อว่าฝรั่งใช่ว่าจะเป็นคนดิบดีเสมอไป ผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวพวกนี้ควรให้ความระมัดระวังให้มาก ตรวจดูลายมือหรือเอกสารให้ถี่ถ้วน และติดต่อกับอเมริกัน เอ๊กซเพรส ในประเทศไทยทุกครั้ง ก็เท่ากับสามารถป้องกันได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่ก็ไม่ได้หมายความเลยเถิดไปจนถึงกับว่า เห็นหน้าฝรั่งแล้วคิดว่าเป็นโจรไปหมดหรอกนะ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us