|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แม้จะฝืนธรรมชาติไม่ได้แต่การดูแลและเข้าใจธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ควรละเลย เพราะความเข้าใจจะทำให้มนุษย์ใช้ประโยชน์และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล เช่นเดียวกับการจัดการน้ำก็ต้องเริ่มจากเข้าใจธรรมชาติของน้ำ เพราะหากปราศจากความเข้าใจ ต่อให้มีเครื่องมือดีแค่ไหนการจัดการใดๆ ก็สำเร็จยาก
การเข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติ มีส่วนช่วยให้จัดการกับสิ่งต่างๆ ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การเลือกใช้เครื่องมือ เลือกจังหวะการใช้งาน เพื่อช่วยกำหนดทิศทางการจัดการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะหากมีโอกาสเตรียมการล่วงหน้าบนฐานข้อมูลที่เป็นจริงด้วยแล้ว โอกาสผิดพลาดย่อมค่อยๆ ลดน้อยลงหรืออาจจะหมดไปในท้ายที่สุด
กรณีของน้ำ เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติ ในมุมต่างๆ ทั้งสถานะจากไอ ของแข็ง ของเหลว ที่อยู่ของน้ำ ทั้งใต้ดิน บนดิน หรือในอากาศ รู้จังหวะการเคลื่อนไหวไหลเชี่ยว เร็ว แรง หรือไหลเอื่อย เข้าใจพฤติกรรม ทำลายล้างสิ่งขวางหน้าได้ ปรับรูปไปตามสิ่งรองรับ ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ หรืออยู่นิ่งๆ มนุษย์ผู้เป็นฝ่ายคิดเป็นและเรียนรู้ได้ ก็สามารถนำความเข้าใจนี้ไปจัดการใช้ประโยชน์ได้มากมาย
ยกตัวอย่างเหมือนที่มนุษย์สามารถ พัฒนาแรงดันจากไอน้ำไปขับเคลื่อนเหล็กที่มีขนาดใหญ่และหนักอย่างรถไฟ นั่นก็เป็นการจัดการน้ำในรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นการจัดการน้ำในสถานะของเหลวซึ่งเป็นรูปแบบปกติของน้ำ อาจจะถือเป็น การจัดการที่ง่ายที่สุดแล้วก็ได้ โดยเฉพาะอาจจะยิ่งง่ายสำหรับคนไทย รวมทั้งชนชาติ ต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแม้แต่อีกหลายที่ทั่วโลก ซึ่งล้วนรู้จักและเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำมายาวนาน
คนส่วนใหญ่เลือกตั้งถิ่นฐานบนที่ราบลุ่มริมฝั่งน้ำ หากิน และใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ เป็นแหล่งอาศัยที่อุดมสมบูรณ์จนเป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า “น้ำคือชีวิต” เพราะให้ประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ เป็นแหล่งรวมของพืช สัตว์ และมนุษย์ มิหนำซ้ำคนไทยและคนในภูมิภาคนี้หลายประเทศได้ชื่อว่าเป็น “ชาวน้ำ” อีกด้วย
น้ำยังคงธรรมชาติและลักษณะเช่นเดิมตราบที่มันถือกำเนิดมาบนโลกนี้ มีแต่มนุษย์ ที่อาจจะลืมให้ความสำคัญ หรือลืมธรรมชาติของน้ำในบางแง่มุมไปบ้าง เมื่อน้ำแสดงอาการที่มนุษย์ห่างหายไปนาน ก็เลยทำให้มนุษย์เราเฝ้าแต่คิดว่า เป็นเพราะอะไร ค้นหาคำตอบและวิธีการกันให้วุ่นวาย ทั้งที่คำตอบยังคงเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในธรรมชาติและไม่เคยหายไปไหนแท้ๆ
เหมือนกับที่คนไทยอยู่กับน้ำ อยู่ในวัฒนธรรมที่เปียกได้ บ้านเรือนเคยยกพื้นสูง ใช้เรือเป็นพาหนะในหน้าน้ำนอกจากการเดินเท้าในเวลาปกติ ต้องล้างเท้า ถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน เพราะธรรมชาตินอกบ้านเป็นดินเป็นโคลน แต่เมื่อวันหนึ่งเราเลือกให้พื้นที่บ้านเป็นพื้นที่แห้ง รองเท้าที่ย่ำโคลนก็ย่ำผ่านแต่คอนกรีตไม่เลอะเทอะเหมือนเดิม น้ำกลายเป็นเพียงของใช้ในชีวิตที่ปราศจากมิติทางวัฒนธรรม แต่สิ่งที่ต่อให้ลืมก็ตัดขาดไม่ได้ ก็คือ น้ำยังคงธรรมชาติเดิมอย่างที่มันเป็น
เมื่อต้องมาคิดว่าการจัดการน้ำที่มนุษย์มองว่าเป็นปัญหาต่อวิถีชีวิตแบบใหม่จะเริ่มที่ตรงไหน อาจจะตอบไม่ได้ทันที แต่ถึงที่สุดก็จะมีจุดให้เริ่มต้นอยู่ดี เปรียบแล้วก็อาจจะเหมือนกับเพลงท่องจำในวัยเด็ก ที่มีคำให้ท่องกันแบบไม่รู้จบ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อย น่าจะยังจำได้ดี เนื้อหาของเพลงมักจะเริ่มเมื่อตอนฝนตกว่า
...ฝนเอยทำไมจึงตก จำเป็นต้องตกเพราะว่ากบมันร้อง กบเอยทำไมจึงร้อง จำเป็นต้องร้องเพราะว่าท้องมันปวด ท้องเอยทำไมจึงปวด จำเป็นต้องปวดเพราะว่าข้าวมันดิบ ข้าวเอยทำไมจึงดิบ จำเป็นต้องดิบเพราะว่าฟืนมันเปียก ฟืนเอยทำไมจึงเปียก จำเป็นต้องเปียกเพราะว่าฝนตก...
เหตุและผลจากเพลงจะหมุนวนเป็นลูกโซ่หาจุดตัดไม่เจอว่าอะไรคือเหตุเริ่มต้นของเรื่องที่ชัดเจน เช่นเดียวกันเมื่อถามถึงสาเหตุของน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือแม้แต่น้ำเสีย เราก็สามารถจะพูดถึงเหตุและผลที่หมุนวนไปมาได้ไม่ต่างจากเพลงนี้ เพราะฉะนั้นหากนำหลักการมองปัญหามามองว่า ถ้าคิดจะจัดการเรื่องน้ำให้เกิดความสมดุล ก็ให้มองเสียว่า ไม่ว่าจากจุดไหนก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นได้ทั้งสิ้น
ที่ง่ายที่สุด คือการเริ่มต้นจากตัวเราเอง ขยายสู่คนรอบข้าง ชุมชน สังคมประเทศ สังคมโลก เพื่อในที่สุดผลกระทบของปัญหาก็จะเบาลงได้สักวันหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำในแง่ไหน
ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ นอกจากสะท้อนให้เห็นปัญหาการจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้ว พูดกันอย่างยุติธรรมทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น เพราะปริมาณน้ำที่มากผิดปกติเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อนที่ทุกคนมีส่วนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่มากก็น้อย และมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเท่าเทียมกันถ้วนหน้าทุกคน
อย่างไรก็ตาม คนไทยโชคดีเป็นพิเศษ เรามีระบบการจัดการน้ำจากวิถีชีวิตที่อยู่กับน้ำมาช้านาน จากภูมิปัญญา จากวิชาการสมัยใหม่ และที่สำคัญ จากแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงริเริ่มและทำตัวอย่างให้เห็นในโครงการพระราชดำริที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย
มีโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำที่ทรงทำไว้ในทุกภาคของประเทศไทยจำนวนมากกว่า 1,230 โครงการ จากโครงการพระราชดำริที่มีมากกว่า 4,000 แห่ง เป็นโครงการที่ประกอบด้วยโครงการที่แก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม แม้กระทั่งน้ำเสียในโครงการเหล่านี้มีเครื่องมือการจัดการน้ำที่คนไทยรู้จักกันดีมากมาย อยู่ที่ว่าผู้มีหน้าที่บริหารจัดการน้ำจะเลือกหยิบเครื่องมือไหนมาใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์และเวลา
ในบรรดาเครื่องมือเหล่านี้ (ดูกรอบเครื่องมือจัดการน้ำ) เป็นสิ่งที่เป็นสากลที่เราสามารถพบเห็นได้ในการจัดการเรื่องน้ำทุกแห่งในโลก และอีกหลายแห่งในประเทศไทยของเราเอง เครื่องมือทั้งหมดที่มีไม่สำคัญว่าใช้งานอย่างไร แต่อยู่ที่จะเลือกใช้อะไรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างไร ซึ่งนั่นเป็นการยืนยันว่า หากมนุษย์ เข้าใจธรรมชาติของน้ำดีเท่าไร พวกเขาก็จะสามารถเลือกใช้เครื่องมือจัดการน้ำได้ดีเท่านั้น
พร้อมกันนี้ ยังมีกรณีศึกษาการจัดการน้ำจากหลายแห่งในเมืองไทยและเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเองที่แสดงวิธีการจัดการน้ำที่ได้ผลด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย โดยมีหัวใจสำคัญที่แสดง ให้เห็นว่าทุกโครงการจะสำเร็จได้หรือไม่ นอกจากเครื่องมือการจัดการน้ำที่เลือกใช้แล้ว ยังอยู่ที่ความใส่ใจของ “คน” ที่เป็น ต้นคิดและกลไกในการบริหารจัดการหลักของโครงการนั้นๆ ด้วย
|
|
|
|
|