|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
มีใครเคยสังเกตบ้างหรือไม่ว่า “อัตราการหมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายนวัตกรรมมักจะแปรผันตรงกับขนาดของสินค้า” ดังตัวอย่างที่พบเห็นได้ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มของบริบทที่ว่านี้เช่น โทรศัพท์มือถือรวมถึงสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่จะออกมาอวดโฉมกันแทบทุกเดือน มีงานเปิดตัวยนตรกรรมใหม่อยู่ทุกไตรมาส ส่วนรถไฟชินกันเซนขบวนใหม่ก็มีให้เห็นหลายๆ ปีครั้ง จะได้นั่งเครื่องบินรุ่นใหม่ก็อาจใช้เวลาโดยเฉลี่ยแล้วนานนับทศวรรษ
แม้ข้อสังเกตดังกล่าวอาจไม่เป็นจริงเสมอไปอย่างไรก็ตามเครื่องบิน Boeing Jet 787 ใหม่ล่าสุด ก็ใช้เวลาพัฒนานานถึง 13 ปีกว่าจะส่งมอบให้กับสายการบิน All Nippon Airways (ANA) ประเดิมให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศญี่ปุ่น 2 เส้นทาง ระหว่าง Haneda-Hiroshima กับ Haneda-Okayama แล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2011 ที่ผ่านมาและจะขยายให้บริการเส้นทางอื่นทั้งในและนอกประเทศเพื่อทยอยปลดระวางเครื่องบินรุ่น 767
เดิมทีพันธกิจของทีมวิศวกรค่าย Boeing ทางฝั่งอเมริกามุ่งมั่นเสริมศักยภาพเครื่องบินพาณิชย์ รุ่นใหม่ซึ่งใช้รหัส 7E7 บินด้วยความเร็วเหนือเสียงสำหรับทดแทนเครื่องรุ่นก่อนๆ ที่ยอดขายเริ่มฝืดลง อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อถ่วงดุลกับความร้อนแรงของ A380 จากค่าย Airbus ทางฝั่งยุโรปที่กำลังพัฒนาเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่โตกว่า Jumbo Jet 747 เกือบเท่าตัวซึ่งมีสายการบินหลายรายแสดงท่าทีสนใจสั่งจอง
ทว่าคอนเซ็ปต์การผลิต 7E7 กลับตาลปัตรด้วยแนวคิดของสายการบิน ANA ที่เสนอวิสัยทัศน์อันสะท้อนรูปลักษณ์ของอากาศยานสำหรับอนาคตได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแบบที่ไม่เคย ปรากฏมาก่อนโดยอ้างอิงข้อเท็จจริงและประสบการณ์ ตรงในฐานะสายการบินหนึ่งที่เผชิญวิกฤตการณ์น้ำมันโลกประกอบกับภาพหลอนจากเหตุจี้เครื่องบิน โดยสาร 4 ลำที่ใช้ก่อวินาศกรรมที่นิวยอร์กเมื่อ 11 กันยายน 2001
แม้ไม่ค่อยราบรื่นนักที่จะโน้มน้าวปรับจูน ทัศนะของ Boeing ผู้ผลิตให้เข้ากับ ANA ผู้ใช้ อีกทั้งวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างระหว่างสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น แต่ทีมวิศวกรทั้ง 2 บริษัทผนึกพลังพัฒนา แม่แบบ 7E7 ร่วมกันกว่า 2 ปีภายใต้โปรเจ็กต์ “Working Together” ต่อมาได้เผยปริศนาอักษร E ในรหัสเครื่องบินนี้ด้วยชื่อเต็ม 7Eight7 หรือ 787
กำเนิดเป็นโมเดล Dreamliner 787 เครื่องบิน ในฝันแห่งศตวรรษใหม่ที่สัมฤทธิผลออกมาโดยมีองค์ ประกอบของนวัตกรรมญี่ปุ่น 35%, Boeing 35% และบริษัทพันธมิตรอื่นๆ 30% เป็นเครื่องบินขนาดกลางประหยัดน้ำมัน พิสัยไกล ที่รวมอรรถประโยชน์สำหรับผู้โดยสารไว้อย่างครบถ้วน ANA เป็นสายการบินแรกที่สั่งซื้อฝูงบินนี้จำนวน 55 ลำทันทีหลังประกาศตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2004
กระนั้นก็ยังพบอุปสรรคหลายประการในระหว่าง กระบวนการผลิตโดยเฉพาะปัญหาน้ำหนักเครื่องบินที่มีแนวโน้มมากกว่ากำหนดอยู่ราว 2-6 ตันซึ่งเกินขีดความ สามารถของเทคโนโลยีการผลิตเครื่องบินยุคเก่า
เบื้องหลังความสำเร็จในการลดน้ำหนักตัวเครื่องเกิดขึ้นได้เนื่องเพราะความร่วมมือจากพันธมิตรสัญชาติ ญี่ปุ่นโดยการประยุกต์นวัตกรรม Carbon-Fiber-Reinforced Plastic (CFRP) ของบริษัท Toray มาใช้กว่าครึ่งหนึ่งของโครงสร้างหลักเครื่องบิน ซึ่งเดิมใช้โลหะอะลูมิเนียมมาต่อกันด้วยนอตจำนวนมาก
ตามปณิธาน “Innovation by Chemistry” ของบริษัทที่ก่อเกิดมานะอุตสาหะในงานวิจัยและพัฒนาวัสดุคุณภาพเยี่ยมมากว่า 40 ปี ปัจจุบัน Toray มีความเชี่ยวชาญในการผลิต CFRP ป้อนตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลกอันเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ เรือ จนถึงยานอวกาศ และเมื่อปี 1995 เคยใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของหางเครื่องบินรุ่น 777 มาแล้ว
CFRP เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีความแข็งแรง ไม่เป็นสนิม ไม่ผุกร่อน ทนสารเคมีและมีน้ำหนักเบาซึ่งช่วยประหยัดเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ยังมีความทนทานต่อแรงกดดันสูงทำให้สามารถ ลดความดันภายในเครื่องบินจากเดิมปรับไว้ที่ 8,000 ฟุตเหลือเท่ากับความดันที่ 6,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล และยังสามารถเพิ่มความชื้นภายในห้องโดยสารรวมทั้งเพิ่มช่องระบายอากาศจาก 2 เป็น 4 ช่อง ให้ความรู้สึกผ่อนคลายในระหว่าง การเดินทางมากยิ่งขึ้น
การเปลี่ยนมาใช้ CFRP เป็นหลักส่งผลให้เครื่องบินมีความแข็งแรงมากพอที่จะเพิ่มความสูงของเพดานและขยายความกว้างภายในห้องโดยสารออกไปได้อีก 75 เซนติเมตรเมื่อเทียบกับเครื่องบินที่มีขนาดใกล้เคียงกันอย่าง Boeing 767 อีกทั้งยังช่วยให้มีหน้าต่างบานใหญ่กว่าเดิม 1.3 เท่าซึ่งสร้าง สรรค์จากไอเดียของ ANA ที่ออกแบบมาให้เหมาะสม กับสภาพภูมิอากาศของทวีปเอเชียโดยเฉพาะ
ปัญหาฝุ่นทรายเหลือง1 ที่พัดมาจากประเทศ จีนโดยนำเทคโนโลยีกระจกปรับความเข้มแสงจากภายนอกได้ 5 ระดับแทนการใช้บานปิดเปิดหน้าต่าง ซึ่งช่วยให้ดูแลรักษาเครื่องบินได้ง่ายขึ้น สามารถมอง ผ่านหน้าต่างบานใหญ่ออกไปได้ตลอดเวลาอีกด้วย
นับเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมการบิน ที่สร้างปีกเครื่องบินด้วย CFRP ซึ่งท้าทายความ สามารถทีมวิศวกรของ Mitsubishi Heavy Industries เป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบจนกระทั่งหลอมเสร็จเป็นแผ่นเดียว มีส่วนที่กว้างสุดขนาด 5 เมตร ยาว 30 เมตรจากโรงงานในเมืองนาโงยาแล้วส่งไปประกอบที่ฐานผลิตเครื่องบิน Boeing ในเมือง Everett ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมือง Seattle ในสหรัฐ อเมริกา
การออกแบบปีกของ 787 นี้ไม่เพียงแต่ปฏิวัติเทคนิคการพยุงเครื่องให้บินได้ดีขึ้นตามหลักอากาศ พลศาสตร์แต่ยังช่วยเพิ่มความเสถียรในขณะลอยตัวกลาง อากาศได้มากกว่าปีกแบบเก่าที่ใช้อะลูมิเนียมมาต่อกัน นอกจากนี้ปีกเครื่องบินยังทำหน้าที่เป็นถังบรรจุเชื้อเพลิง และเชื่อมต่อกับเครื่องยนต์ Rolls-Royce Trent 1000 ซึ่งเดินเครื่องเงียบกว่าเดิมที่ติดตั้งอยู่ด้านล่างของปีก
ในทำนองเดียวกัน Kawasaki Heavy Industries ก็รับหน้าที่ออกแบบลำตัวและสร้างแม่พิมพ์หลอมช่วงหน้าของตัวเครื่องและบางส่วนของหางเครื่องบินด้วยวัสดุ CFRP อีกทั้งทำงานร่วมกับ Mitsubishi Heavy Industries ในส่วนของการผลิตปลายปีกและขอบปีก
บริษัทพันธมิตรญี่ปุ่นอีกแห่งคือ Fuji Heavy Industries มีประสบการณ์ผลิต Center Wing ให้กับเครื่องบินรุ่น 767 เมื่อ 30 ปีก่อนประยุกต์วิทยาการใหม่ มาใช้ในกระบวนการผลิต Center Wing ซึ่งเป็นเสมือนกล่องดวงใจที่ตำแหน่งกลางลำให้เข้ากับส่วนลำตัวและปีก CFRP รวมถึงรับผิดชอบผลิต Main landing gear wheels
ความแปลกใหม่ที่สัมผัสได้ทันทีเมื่อเข้าสู่ภายในห้องโดยสารอยู่ที่แสงสีฟ้าสบายตาจากนวัตกรรมหลอดไฟ LED ของญี่ปุ่น ซึ่งส่องสว่างกว่าและใช้พลังงานน้อยกว่า แสงไฟทั้ง 128 เฉดสีจะช่วยปรับให้ร่างกายตอบสนองต่อแสงในโทนสีที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นแสงสีที่กระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารในช่วงเวลาก่อนเสิร์ฟอาหาร เป็นต้น
การตกแต่งอันโดดเด่นอีกจุดหนึ่งพบได้ในห้องน้ำ ที่สะอาดและล้ำสมัยด้วยสุขภัณฑ์ Washlet ของบริษัท Toto ซึ่งติดตั้งระบบชักโครก ชำระล้างทำความสะอาดรวมถึงเป่าแห้งโดยอัตโนมัติที่สะท้อนอัตลักษณ์ห้องน้ำไฮเทคลอยฟ้าตามแบบฉบับญี่ปุ่นในเครื่องบินพาณิชย์เป็น ครั้งแรกในโลก2
ในขณะเดียวกันรูปโฉมภายนอกเครื่องบินก็ซ่อนความพิถีพิถันด้วยเทคนิคการพ่นสีของญี่ปุ่นซึ่งถึงแม้จะเพิ่มต้นทุนการผลิตแต่สามารถยืดอายุการใช้งานได้นาน กว่าเกือบเท่าตัวและทำความสะอาดได้ง่ายช่วยลดทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาในระยะยาว
ยิ่งไปกว่านั้น Dreamliner 787 ยังควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์สมบูรณ์แบบทั้งลำด้วยระบบไร้สายที่ส่งผ่านข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ประสานกับภาคพื้นดินสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้อย่างรวดเร็วแม่นยำและที่สำคัญคือเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยในแต่ละเที่ยวบินให้สูงขึ้นกว่าเดิม
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Boeing 787 จะสร้างสถิติ Best Seller ด้วยยอดสั่งจองจากทั่วโลกสูงถึง 821 ลำพร้อมกับสร้าง Global Standard ใหม่สำหรับธุรกิจการ บินแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เป็น Dreamliner สำหรับสายการ บินในมิติของการประหยัดพลังงานน้ำมันลง 20% และมาตรฐานความปลอดภัย เป็น Dreamliner สำหรับผู้โดยสาร เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง และเป็น Dreamliner สำหรับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมถึงก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆและลดมลภาวะเสียง
* ภาพทั้งหมดจาก www.ana.co.jp
อ่านเพิ่มเติม:
1 คอลัมน์ Japan Walker นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับมีนาคม 2552 เรื่อง “ฝุ่นทรายเหลือง” http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=77980
2 คอลัมน์ From Japan นิตยสาร Positioning ฉบับสิงหาคม 2550 เรื่อง “Boeing 787, We Fly First!” http://www.positioningmag.com/magazine/details.aspx?id=62424
|
|
|
|
|