
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่นิวซีแลนด์มีข่าวใหญ่ หลังจากมีเพนกวินจักรพรรดิ (Emperor Penguin) ว่ายน้ำจากขั้วโลกใต้มาขึ้นฝั่งที่ชายหาด ที่เมืองเปกะ เปกะ (Peka Peka) หลังจากข่าวกระจายออกไปว่ามีเพนกวินจักรพรรดิว่ายน้ำมาขึ้นฝั่งที่เมืองเปกะ เปกะ ก็มีผู้คนแห่มาดูเพนกวินจักรพรรดิกันมากมาย เมืองเปกะ เปกะเป็นเพียงเมืองเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวพลุกพล่านมากนัก เลยมีผู้คนแวะเข้ามาดูเพนกวินตัวนี้อย่างคับคั่งอยู่หลายวัน
การที่เพนกวินจักรพรรดิขึ้นฝั่งมาที่นิวซีแลนด์ ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นพอสมควรสำหรับประชาชนประเทศนี้ ถึงแม้ว่านิวซีแลนด์นั้นมีเพนกวินอยู่มาก มายหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่เป็นเพนกวินขนาดเล็ก ประเทศนิวซีแลนด์นั้นมีเพนกวินอยู่ 6 ชนิด จากเพนกวิน 17 ชนิด ซึ่งเพนกวินทั้ง 6 ชนิดอาศัยอยู่ที่ นิวซีแลนด์ ประกอบด้วย เพนกวินสีน้ำเงิน (Blue Penguin) ซึ่งเป็นเพนกวินชนิดที่เล็กที่สุด อาศัยอยู่ที่ ชายหาดเมืองโอมารู (Oamaru) เพนกวินชนิดที่สอง คือ Crested Penguin ซึ่งเป็นเพนกวินที่มีหงอน อาศัยอยู่ที่เกาะเบาท์ตี้ (Bounty) เพนกวินชนิดที่สามคือ เพนกวินฟยอร์ดแลนด์ (Fjordland Crested Penguin) อาศัยอยู่ที่เขตอุทยานแห่งชาติฟยอร์ด แลนด์ ต้องซื้อทัวร์ล่องเรือที่ฟยอร์ดแลนด์ ถ้าอยากเห็น ชนิดที่สี่คือ Rockhopper Penguin ซึ่งเป็นเพนกวินที่มีคิ้วสีเหลือง อาศัยอยู่ที่เกาะแคมป์เบลล์ (Campbell) ชนิดที่ห้าคือ Snare Penguin เป็นเพนกวินที่มีหงอนสีเหลือง อาศัยอยู่ที่เกาะสแนร์ (Snare) อยู่ทางใต้ของเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ ประมาณ 130 กิโลเมตร และชนิดสุดท้ายคือ Yellow-Eyed Penguin เพนกวินชนิดนี้มีตาสีเหลือง อาศัยอยู่ที่อุทยานแห่งชาติแคทลินส์ (Catlins National Park) ที่เกาะใต้ของนิวซีแลนด์
ในบรรดาเพนกวินทั้ง 6 ชนิดนี้ เพนกวินตาเหลืองกับเพนกวินสีน้ำเงินจะเป็นเพนกวินที่คนเคยเห็นมากที่สุด เพราะไม่จำเป็นต้องซื้อทัวร์ล่องเรือให้ ลำบากและเปลืองตังค์ เพียงแค่ไปที่ชายหาดเมือง โอมารู หรือไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติแคทลินส์ก็ได้เห็นแล้ว ผมยังไม่เคยเห็นเพนกวินสีน้ำเงิน แต่เคยเห็นเพนกวินตาเหลืองแล้ว ตอนไปเที่ยวที่อุทยานแห่ง ชาติแคทลินส์ เจ้าเพนกวินตาเหลืองนี้จะอยู่ที่อ่าวคิวริโอ (Curio Bay) ซึ่งตอนพระอาทิตย์จะตกดิน พวกเพนกวินตัวผู้ที่ไปหาอาหารในทะเลก็จะว่ายน้ำ กลับมาหาลูกเมียของพวกมัน พวกเพนกวินตัวผู้พอขึ้นจากทะเลก็จะกระโดดหยองๆ กลับมาหาลูกเมีย ส่วนพวกตัวเมีย พอเห็นคู่ของตัวกลับมาที่รังก็จะร้อง กี้บๆ ต้อนรับคู่ของตัวเอง ซึ่งก็น่ารักดี ทางอุทยานแห่งชาติเขาติดป้ายเอาไว้ว่าเพนกวินตาเหลืองนั้นกลัวคน อย่าเดินเข้าไปหาให้ยืนเฉยๆ เรื่องเพนกวิน กลัวคนนั้นผมไม่ขอยืนยันว่าจริง เพราะตอนผมไปยืนที่ชายหาด เจ้าพวกนี้ตอนกลับรัง มันก็กระโดดหยองๆ ผ่านผมในระยะกระชั้นชิด พอเห็นผม มันก็หันมาจ้องหน้าผม แล้วก็หันกลับไปกระโดดหยองๆ กลับรังต่อไป ไม่เห็นจะกลัวผมสักนิด อุทยานแห่งชาติแคทลินส์ไม่มีการเก็บค่าเข้าอุทยาน ขับรถเข้าไปดูเพนกวินฟรีๆ ได้เลย ขอแนะนำว่าควรเติมน้ำมันให้เต็มถังก่อนเข้าไป เพราะต้องขับรถไกลมาก และในอุทยานนั้นแทบไม่มีคนเลย มีแต่แกะยืนกินหญ้าไม่รู้ไม่ชี้อยู่เป็นฝูงๆ กับเพนกวินกระโดดหยองแหยงไปมาอยู่ในอุทยาน ฉะนั้นถ้าน้ำมันหมด คงจะหวังพึ่งมนุษย์ที่ไหนไม่ได้
อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ข้างบนว่า ถึงแม้เพนกวินจะไม่ใช่สัตว์ที่หายากอะไรในนิวซีแลนด์ แต่เพนกวินทั้ง 6 ชนิดในนิวซีแลนด์เป็นเพนกวินที่ตัวเล็กๆ ทั้งนั้น แต่เพนกวินจักรพรรดินั้นเป็นเพนกวินที่มีขนาดใหญ่มาก สูงถึง 1.20 เมตร ซึ่งก็เกือบเท่าคนเลยทีเดียว ธรรมดาการจะได้เห็นเพนกวินจักรพรรดินั้นต้องล่องเรือลงไปถึงขั้วโลกใต้ ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก ฉะนั้น การที่มีเพนกวินจักรพรรดิว่ายน้ำจากขั้วโลกใต้มาให้คนดูฟรีๆ ถึงนิวซีแลนด์ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก
ตามข่าว เจ้าเพนกวินตัวนี้นั้น พอว่ายน้ำมาถึงชายหาดก็เดินเตร็ดเตร่ไปมาอยู่แถวนั้น แล้วก็เดินกลับมานอนอยู่ที่ชายหาด คนที่พบเป็นคนแรกเป็นฝรั่งชื่อ คริส วิลตั้น ผู้ตั้งชื่อให้ว่า แฮปปี้ ฟีท (Happy Feet) ซึ่งเป็นชื่อของหนังการ์ตูนฝรั่งเกี่ยวกับเพนกวิน และทุกครั้งเวลาลงข่าวเกี่ยวกับเจ้าเพนกวินตัวนี้ ก็เรียกมันว่า แฮปปี้ ฟีท ตลอด สุดท้ายคนนิวซีแลนด์เลยเรียกว่า เจ้าแฮปปี้ ฟีท
ใน 3 วันแรกที่เจ้าแฮปปี้ ฟีทอยู่ที่ชายหาด มันก็ดูมีความสุขดี วันๆ ก็เดินเตร็ดเตร่ไปมาอยู่บนชายหาด หรือไม่ก็ลงว่ายน้ำทะเล หรือนอนแช่น้ำทะเลแล้วกลิ้งไปกลิ้งมา แต่ว่าแค่ 3 วันผ่านไป มันก็ป่วยหนักจน ต้องจับส่งโรงพยาบาล หลังจากหมอเอกซเรย์ดูอาการ จึงพบว่ามันกินทรายเข้าไปจนเต็มท้อง เนื่องจากมันเข้าใจผิดว่าทรายคือน้ำแข็ง เพราะที่ขั้วโลกใต้นั้น พื้นดินเป็นก้อนน้ำแข็ง ฉะนั้นเมื่อเพนกวินมันหิวน้ำ มันก็จะกินพื้นดินที่เป็นก้อนน้ำแข็ง ซึ่งเจ้าแฮปปี้ ฟีทก็คงจะเห็นว่าทรายที่ชายหาดมันกินเข้าไปก็เย็นๆ เหมือนกัน เพราะช่วงนั้นเป็นฤดูหนาว ก็เลยกินทรายเข้าไป ผลคือทราย เข้าไปอัดอยู่เต็มท้อง หมอต้องวางยาสลบแล้วเอาเครื่องมือแพทย์ดูดทรายออกจากท้อง สุดท้ายก็หายป่วย แต่จะให้มันกลับไปอยู่ที่ชายหาดคงจะไม่ได้ เพราะมันอาจจะกินทรายเข้าไปอีก ทางการจึงส่งเจ้าแฮปปี้ ฟีทไปอยู่สวนสัตว์ที่เมืองเวลลิงตัน มีอาหารให้พร้อมและยังจัดน้ำแข็งให้มันกินวันละถัง เพื่อป้องกันไม่ให้มันไปกินดินกินทรายจนไม่สบายไปอีก เจ้าแฮปปี้ ฟีทก็เลยอยู่ดีกินดีที่สวนสัตว์พอสมควร
แน่นอนว่ามีผู้คนไปเที่ยวสวนสัตว์เพื่อดูเจ้าแฮปปี้ ฟีท เป็นอันมาก จากข่าวหนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์ เฮอรัลด์ เจ้าแฮปปี้ ฟีท ดูจะเข้ากับคนได้ดีมากทีเดียว และมันชอบกินปลาแซลมอนกับปลาโฮกิ (Hoki) ปลาโฮกิ เป็นปลาที่เนื้อเหนียวอร่อย ร้านอาหารไทยในนิวซีแลนด์ บางร้านใช้ปลาโฮกิทำทอดมันปลา เพราะพอเอาไปทอด แล้วเนื้อยังเหนียวไม่ยุ่ย จึงนับว่าเจ้าแฮปปี้ ฟีทนั้นก็มีรสนิยมในการเลือกกินปลาค่อนข้างสูงเหมือนกัน
ทุกอย่างดูจะลงเอยด้วยดี แต่แล้วก็เกิดเรื่องจน ได้ เพราะมีนักวิทยาศาสตร์บางคนออกความเห็นว่าไม่เหมาะที่จะให้เจ้าแฮปปี้ ฟีทอยู่ที่นิวซีแลนด์ เพราะมันน่าจะมีความสุขกว่าถ้าได้อยู่กับพรรคพวกเพนกวินที่ขั้วโลกใต้ ก็เลยมีการเสนอว่า ถ้างั้นเอาไว้ถึงฤดูร้อนมีเรือไปขั้วโลกใต้แล้วจะพามันไปส่งที่นั่น แต่ว่าก็มีคนค้านว่า ถ้าเจ้าแฮปปี้ ฟีทยิ่งอยู่นิวซีแลนด์นานขึ้นเท่าไหร่ ก็อาจติดเชื้อโรคต่างๆ ในประเทศนี้ อาจจะไปแพร่เชื้อโรคให้พวกพ้องเพนกวินของมันเมื่อกลับไปถึงได้
มีบางคนเสนอว่า ถ้ากลัว เจ้าแฮปปี้ ฟีทจะไปแพร่เชื้อโรค ที่ขั้วโลกใต้ก็ไม่ควรส่งมันกลับ แต่ควรส่งไปอยู่อเมริกา เพราะที่เมืองซานดิเอโก สหรัฐอเมริกานั้นมีสวนสัตว์ที่มีเพนกวินจักรพรรดิอยู่ประมาณ 20 ตัว มีผู้เชี่ยวชาญดูแลพวกเพนกวินเหล่านี้อย่างดี ถ้ากลัวว่ามันอยู่นิวซีแลนด์แล้วจะเหงา ไม่มีเพื่อน ส่งไปอเมริกาก็ได้ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายทางการตัดสินใจ ให้เจ้าแฮปปี้ ฟีทกลับขั้วโลกใต้ ซึ่งมีการติดไมโครชิพ โดยฝังเอาไว้ที่ปีกแล้วบีบกาวตราช้างทับลงไปเพื่อไม่ให้หลุดออกมา ไมโครชิพนี้จะบอกตำแหน่ง ของเจ้าแฮปปี้ ฟีท เพื่อชาวนิวซีแลนด์จะได้รู้ว่าตอนนี้เจ้าแฮปปี้ ฟีทว่ายน้ำไปถึงไหนแล้ว
แล้วทางการก็พาเจ้าแฮปปี้ ฟีทลงเรือชื่อ Niwa เป็นเรือที่จะแล่นไปถึงเกาะแคมป์เบล ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ทางใต้ของนิวซีแลนด์ไป 621 กิโลเมตร เนื่องจากทางการ เลือกจะส่งเจ้าแฮปปี้ ฟีทตอนฤดูหนาว จึงไม่สามารถนำเรือเข้าไปใกล้ขั้วโลกใต้ได้มากกว่านี้อีกแล้ว เพราะพายุหิมะจะรุนแรงมากที่ขั้วโลกใต้ ฉะนั้น จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากส่งเจ้าแฮปปี้ ฟีทลงที่เกาะแคมป์เบลให้มันว่ายน้ำกลับไปเอง
ข่าวหนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์เฮอรัลด์ รายงานว่าเจ้าแฮปปี้ ฟีท ตอนที่กัปตันและลูกเรือมาเปิดประตูตู้นอนของมันในเรือ เพื่อให้มันกระโดดลงน้ำ ดูท่าทางลังเล ไม่อยากกระโดดลงไป คนในเรือต้องให้กำลังใจอยู่ พักหนึ่ง มันจึงตัดสินใจกระโดดลงน้ำแล้วว่ายน้ำกลับขั้วโลกใต้ ซึ่งคนจำนวนมากดูจะมั่นใจว่ามันจะว่ายน้ำกลับไปได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร มีแต่ผมซึ่งสงสัยอยู่ตลอด ว่าระยะทางตั้งเป็นพันๆ กิโลเมตรแบบนั้น มันจะว่ายน้ำกลับไปได้จริงๆ หรือ
แค่เพียง 5 วันหลังจากเจ้าแฮปปี้ ฟีทกระโดดลงจากเรือ สัญญาณเรดาร์ของเจ้าแฮปปี้ ฟีทก็หายไป ความเป็นไปได้ก็คือ แฮปปี้ ฟีทคงจะโดนสิงโตทะเล (Leopard Seal) ซึ่งเป็นสัตว์ดุร้ายแถวขั้วโลกใต้ที่ชอบ กินเพนกวินจักรพรรดิเป็นชีวิตจิตใจ พอข่าวนี้ออกไป ก็ทำให้คนจำนวนมากไม่สบายใจกันมาก เพราะว่าคนนิวซีแลนด์ยังจำความน่ารักของเจ้าแฮปปี้ ฟีทกันได้ดี
มีบางคนพยายามมองโลกในแง่ดีบอกว่า อาจเป็น ไปได้ที่ไมโครชิพอยู่ในน้ำนานๆ แล้วเสีย ซึ่งบริษัท Sirtrack ผู้ผลิตไมโครชิพค้านหัวชนฝาว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะผลิตภัณฑ์ของเขาคุณภาพดี ทดสอบแล้วไม่มีทาง ที่จะเสียเพราะอยู่ในน้ำนานๆ ได้ ก็เลยมีคนสันนิษฐานว่า ไมโครชิพอาจจะหลุดออกไปจากเจ้าแฮปปี้ ฟีท มันเลยเลิกส่งสัญญาณก็ได้ อันนี้ผมว่าก็ไม่น่าจะเป็นไปได้อีก เพราะถึงไมโครชิพจะหลุดจากปีกเจ้าแฮปปี้ ฟีท จริงๆ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่มันจะเลิกส่งสัญญาณ ฉะนั้น ผมว่าความเป็นไปได้สูงที่สุดก็คือ แฮปปี้ ฟีทว่ายน้ำไป ไม่ถึงขั้วโลกใต้ เพราะโดนสิงโตทะเล หรือปลาวาฬเพชฌฆาตจับกินไปซะก่อน เรื่องนี้เริ่มต้นดีแต่จบไม่ดีนัก พวกที่จะต้องโดนโจมตีหนักที่สุดคือฝ่ายที่ตัดสิน ใจว่าเจ้าแฮปปี้ ฟีทควรกลับขั้วโลกใต้ เพราะพวก เขาเป็นผู้ตัดสินใจอนาคตของเจ้าแฮปปี้ ฟีท ถ้าพวกเขาไม่ตัดสินใจแบบนี้เจ้าแฮปปี้ ฟีทก็คงจะไม่หายสาบสูญไปแบบนี้
ความจริงแล้วตามกฎหมายนิวซีแลนด์นั้น เวลาพ่อแม่เลิกกัน หรือแม่จะย้ายประเทศ ผู้พิพากษาจะต้องตัดสินว่าลูกควรจะอยู่กับพ่อหรืออยู่กับแม่ สิ่งสำคัญที่ผู้พิพากษาจะต้องทำคือ ถามเด็กว่า อยากจะอยู่กับใคร เพราะเจ้าตัว เท่านั้นที่จะรู้ว่าเขาอยากอยู่กับใครมากกว่ากัน ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ยังฟังภาษาไม่เข้าใจ ก็ให้เด็กวาดรูปครอบครัวดู ว่าเด็กจะวาดตัวเอง ยืนอยู่ใกล้พ่อหรือใกล้แม่มากกว่ากัน ยังมีการประยุกต์ กฎหมายนี้มาใช้กับสัตว์เลี้ยงอีกด้วย ถ้าสามีภรรยาเลิกกัน แบ่งสมบัติ แล้วตกลงกันไม่ได้ว่า ใครควรจะได้หมาไป อันนี้จะมีการดูว่าเวลาหมาเข้าใกล้สามีหรือภรรยา มันจะกระดิกหางใส่ใคร ก็เป็น อันสรุปได้ว่าหมาชอบคนคนนั้นมากกว่า ซึ่งผมแปลกใจเหมือนกันว่าทำไม ไม่มีการให้ผู้เชี่ยวชาญมาลองทดสอบเจ้าแฮปปี้ ฟีท ว่ามันอยากอยู่นิวซีแลนด์หรืออยากกลับขั้วโลกใต้มากกว่ากัน ถึงขนาดที่ว่าตอนเปิดตู้นอนมันในเรือ แล้วให้มันกระโดดลงน้ำ มันก็ยังลังเล อยู่พักใหญ่ไม่ยอมกระโดดลงไป ความจริงปฏิกิริยาของเจ้าแฮปปี้ ฟีท ตอนนั้นน่าจะเป็นหลักฐานที่สามารถ ตั้งสมมุติฐานได้ว่ามีความเป็นไปได้ว่ามันอาจไม่อยากกลับ และควรมีการทดสอบเพิ่มเติม เพื่อให้รู้ว่ามันอยากอยู่ที่ไหนกันแน่ แต่สายไปแล้วที่จะมาวิเคราะห์ว่ามันอยากอยู่ที่ไหน เพราะมันหายสาบสูญไปแล้ว ไม่มีทางจะพามัน กลับมาทดสอบได้ว่ามันต้องการอะไร เพราะการตัดสินใจ ของคนเพียงกลุ่มเดียวที่ไม่ได้ถามเจ้าตัวก่อนว่าอยากเลือก อะไร และโชคร้ายที่เป็นการตัดสินใจที่ได้ผลออกมาไม่ดี อีกด้วย
การชอบตัดสินใจอะไรแทนคนอื่น ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่คนไทยชอบทำ มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ถือความคิดตัวเองเป็นใหญ่ และคิดว่ามุมมองของตัวเองเป็นมุมมอง ที่ถูกต้องและมุมมองของคนที่เห็นต่างกับตัวเองเป็นมุมมองที่ผิด และเป็นความคิดที่โง่เขลาถึงขนาดว่าใครที่คิด อะไรไม่เหมือนที่ตัวเองคิดก็หาว่า เขาโง่ทันที โดยไม่ยอม แม้แต่จะเปิดใจรับฟังเหตุผลของคนที่คิดไม่เหมือนตัวเอง ว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น ถึงแม้ว่าคนที่คิดไม่เหมือนตัวเองจะมีมากกว่าคนที่คิดเหมือนที่ตัวเองคิดก็ยอมไม่ได้ พยายามทำทุกวิถีทางให้คนที่คิดไม่เหมือนตัวเอง ไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกทางเดินของตัวเองในทางที่เขา เชื่อว่ามันเป็นทางเลือกที่ดี ซึ่งทำให้สังคมแตกแยก เพราะคนส่วน น้อยไม่เคารพการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่และพยายาม ขัดขวางไม่ให้สังคมเดินไปในทางที่เขาไม่เห็นด้วย เพราะ เชื่อว่ามันเป็นทางที่ดีสู้ทางที่ตัวเองเลือกไม่ได้
การห้ามไม่ให้สังคมเดินไปในทางที่เราไม่เห็นด้วย นั้น มีข้อเสียอยู่มาก สมมุติว่าถึงแม้คนกลุ่มหนึ่งสามารถ ห้ามสังคมไม่ให้เดินไปในทางที่ตรงข้ามกับความคิดตัวเอง และกำหนดให้สังคมเดินไปในทางที่พวกเขาต้องการได้สำเร็จ ถ้าผลที่ออกมามันไม่ดี มันก็จะยิ่งทำลายความชอบธรรมของพวกเขาให้น้อยยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าผลที่ออกมาจะดีจริงๆ อย่างที่เขาหวังไว้ แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขาก็อาจจะแย้งว่า ทางที่พวกเขาไม่เห็นด้วยอาจจะทำให้สังคมดีกว่านี้ก็ได้ ซึ่งหากว่าหากคนในสังคมลองเปิดโอกาสให้สังคมเดินไปในทางที่คนส่วนใหญ่เลือก แล้วผลออกมาไม่ดี คนส่วนใหญ่ที่เลือกสิ่งที่ไม่ดีก็จะได้เห็นเองว่าสิ่งที่เขาคิดว่าดี มันไม่ได้ดีอย่างที่คิด และเขา ก็จะเปลี่ยนความคิดของเขาเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปบังคับให้เขาเปลี่ยนใจ ซึ่งการยอมให้สังคมเดินไปในทาง ที่คนหมู่มากเลือก มันก็อาจจะทำให้สังคมเดินผิดพลาด เสียเวลาไปบ้าง แต่สังคมก็จะไม่แตกแยก เพราะไม่มีใครรู้สึกว่าถูกบังคับให้ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เลือก
ผมอยากให้คนไทย เคารพความเห็นของผู้อื่นซึ่งกันและกัน เปิดใจรับฟังเหตุผลของคนที่มีความคิดต่างกับตัวเอง และพยายามทำความเข้าใจพวกเขา เปิดโอกาสให้คนทุกคนมีโอกาสเลือกสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าดีที่สุดในความคิดของเขา และปล่อยให้สังคมเดินไปในทางที่คนหมู่มากเลือก แล้วปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ว่าทางเลือกของใครกันแน่ที่ดีกว่ากัน อาจจะมีการเดินผิด เดินหลงทางไปบ้าง แต่ว่าสังคมจะไม่แตกแยก เพราะคนในสังคมเคารพความคิดเห็นของกันและกัน และเข้าใจ ซึ่งกันและกัน การเคารพสิทธิ เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น จะสร้างความสามัคคีและสงบสุขให้สังคม
อ้างอิง:
- K Blundell, ‘Penguin strong but given 50/50 chance’, The Press, 24 June 2011, http://www.stuff.co.nz/environment/5185989/Penguin-strong-but-given-50-50-chance
- K Chug, ‘Where in the Ocean is Happy Feet?’, The Press, 12 Septemver 2011, http://www.stuff.co.nz/environment/5609474/Where-in-the-ocean-is-Happy-Feet
- K Johnston, ‘Hope yet for Happy Feet Fans’, The Press, 13 September 2011, http://www.stuff.co.nz/environment/5617020/Hope-yet-for-Happy-Feet-fans
- BD Inglis, ‘New Zealand Family Law in the 21st Century (1st ed, 2007)’.
- L Van der Stoep, ‘It’s ‘haere ra’ to Happy Feet’, The New Zealand Herald, 28 August 2011, http://msn.nzherald.co.nz/nz/news/article.cfm?c _id=1&objectid=10747879&ref=rss
- ‘Happy Feet the Penguin released into Southern ocean after New Zealand Trip’, The Guardian, 4 September 2011, http://www.guardian.co.uk/world/2011/sep/04/happy-feet-penguin-released
|