|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ขี้ช้างกลายมาเป็นกระดาษ ขวดแก้วถูกหลอมเชื่อมขึ้นเป็นกระถางไม้ประดับ ถุงพลาสติกเปลี่ยนสภาพจากขยะมาเป็นวัสดุใช้ตัดเย็บกระเป๋าและเครื่องประดับ ติดยี่ห้อและวางขายตามห้างหรูในยุโรปและอเมริกา หาก Upcycling กำลังเป็นเทรนด์และคำตอบที่ดีของการลดขยะของโลก อินเดียก็ไม่ล้าหลังใคร
‘หาทางใช้ ไม่ก็ซ่อม’ ถ้าชีวิตประจำวันของเรายึดโยงกับคตินี้อยู่บ้าง ปัญหาขยะที่กำลังจะล้นโลก ก็คงทุเลาลง เพราะเราจะมองสิ่งต่างๆ ในมุมใหม่ ใช่ว่าของชิ้นหนึ่งเมื่อหมดหน้าที่ดั้งเดิมแล้วต้องกลายเป็นขยะเสมอไป เช่น คุณรู้ไหมว่ากระป๋องแป้งเด็กส่วนใหญ่เป็นพลาสติกชนิดเหนียวนุ่ม ถ้านำมาเจาะตัดดัดแปลง ทาสี ก็จะได้ของเล่นสนุกๆ สำหรับเด็กเล็กที่ขอบพลาสติกไม่คมบาดมือ คนอินเดียโดยเฉพาะในชนบท ยังยึดโยงกับคติดังว่าอยู่ เป็นวิถีชีวิต ใช่เพราะเขายากจน แต่คงเพราะวิธีคิดมุมมองยังไม่ติดการจับจ่ายจนงอมแงม แทบทุกตลาดจะมีคนรับซ่อมร่ม รองเท้า กระเป๋า หม้อ กระทะ ซึ่งสภาพของที่วางเรียงรอซ่อมนั้น หลายคนเห็นก็คงคิดว่าน่าจะทิ้งหรือโละขายซาเล้ง แต่สำหรับคนอินเดียมันยังซ่อมได้และยังใช้งานได้ แม้แต่ฟูก หมอน ผ้านวมเก่าก็มีบริการฟื้นฟูสภาพที่เขาจะรื้อนุ่นออกมาตีจนฟู ซึ่งเมื่อยัดกลับและเย็บปิดแล้วก็จะได้ที่นอนหมอนที่ฟูนุ่มเหมือนของใหม่ บริการนี้มีตามร้านขายที่นอนและแบบบริการตรงถึง ประตูบ้าน
นอกจากนี้ เวลาไปจ่ายตลาดซึ่งส่วนมากเป็น หน้าที่ของพ่อบ้าน คนอินเดียนิยมพกพาถุงชอปปิ้งไปเอง ซึ่งเป็นถุงไนล่อนตัดเย็บง่ายๆ คล้ายถุงผ้าบ้าน เรา สำหรับชาวบ้านรายได้น้อยนอกจากถุงชอปปิ้ง เขายังมีขวดพลาสติกขวดแก้วเก่าขนาดต่างๆ ไปใส่ น้ำมันพืช น้ำมันก๊าด หรือน้ำมันเนย ที่มักซื้อปลีกทีละขีดสองขีดหรือครึ่งลิตร แม้ว่าการใช้ถุงพลาสติก จะแพร่ระบาดอยู่ทั่วไป เว้นแต่ในรัฐสิกขิม แต่ของ กินจำนวนมากในท้องตลาดก็ยังซื้อขายกันด้วยกล่องกระดาษ ถ้วยและหม้อดินเผา ใบไม้แห้ง ห่อและถุงกระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งผูกมัดกันด้วยเชือกกระสอบเส้นบาง
กระนั้น ขยะก็ยังเป็นโจทย์ใหญ่ของอินเดีย น่า สนใจว่าหน่วยงานหลายแห่งที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยมองว่าโยงเชื่อมกับความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชนได้เริ่มปรับวิธีคิด มองปัญหาเป็นช่องโอกาส มองขยะ เป็นวัตถุดิบ ซึ่งสอดรับกับกระแส ‘upcycling’ ที่กำลังได้รับความสนใจในประเทศพัฒนาแล้ว
อัพไซคลิงคือกระบวน การเปลี่ยนขยะหรือของไร้ประโยชน์ให้เป็นวัตถุดิบ สำหรับผลิตสิ่งของใหม่ที่มีมูลค่าหรือคุณค่าใช้สอยมากกว่าเดิม กล่าวกันว่าคำคำนี้ใช้ครั้งแรกโดยไรเนอร์ พิลซ์ ชาวเยอรมัน ในปี 1994 ซึ่งเขาให้ความเห็นว่า กระบวน การที่ผู้คนเรียกกันว่ารีไซเคิลนั้น ควรเรียกว่า downcycle เพราะสิ่งที่ได้มักจะมีคุณค่าและคุณภาพด้อยลง แต่กระบวนการที่เราต้องการคืออัพไซคลิงที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับสิ่งนั้น ต่อมาในปี 1999 แนวคิดนี้ยังกลายเป็นธีมและชื่อหนังสือของ Gunter Pauli และ Johannes F. Hartkemeyer ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา สินค้าแบรนด์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาหลายแบรนด์ยังหันมา ให้ความสนใจกับกระบวนการอัพไซเคิล และมีศัพท์ใหม่ใช้เรียกผลิตภัณฑ์เก๋ๆ จากการอัพไซเคิลว่า Hipcycle
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับอินเดีย ดังพบว่าในรัฐเบงกอลตะวันตกมีศิลปะพื้นบ้านเก่าแก่ที่เป็นอัพไซเคิลขนานแท้และงดงามมาก คืองานผ้า ที่เรียกว่า Kantha และ Khesh ซึ่งล้วนแต่ใช้ส่าหรีเก่าเป็นวัตถุดิบหลัก กานถะเป็นการนำส่าหรีเก่ามาซ้อนกันหลายๆ ชั้น แล้วเย็บเป็นผืนผ้าใหม่ ใช้เป็นผ้าอ้อม ผ้าห่ม ผ้านวม โดยใช้งานปักเป็นตัวยึดผ้าเข้าด้วยกัน สร้างความ แน่นหนาคล้ายการชุนพร้อมกับลวดลายที่สวยงาม ส่วนเขศเป็นการนำส่าหรีเก่ามาฉีกเป็นแถบเล็กๆ แล้วใช้เป็นเส้นพุ่งในการทอผ้า ซึ่งความหนาบางของเส้นพุ่งและเฉดสีที่ไม่เสมอกันนี้คือเสน่ห์ของเขศ ผ้าที่ได้นิยมใช้ทำผ้าคลุม เตียง ผ้าม่าน พรมปูห้อง ใช้ตัดเย็บกระเป๋า ปลอกหมอน เป็นต้น
สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่ง แนวคิดอัพไซเคิลไม่เพียงแต่ช่วยแก้ปัญหาขยะในชุมชน ยังเป็น ช่องโอกาสให้คนด้อยโอกาสที่มีรายได้น้อย ได้ร่วมแรงกัน ผลิตงานสร้างสรรค์และมีรายได้เสริม ดังที่เอ็นจีโอบาง แห่งถึงกับมีแผนกอัพไซเคิล ที่เรียกในภาษาฮินดีว่า Kebad se Jugaad แปลได้ว่า ‘ใช้ประโยชน์จากขยะ’ อาทิ Barefoot College Tilonia เอ็นจีโอที่เน้นงานการศึกษานอกระบบ มาตั้งแต่ปี 1972 ก่อตั้งโดยบังเกอร์ รอย ผู้ได้รับเลือกเป็น Most Influential TIME 100 ประจำปี 2010 ทำการฝึกอบรมชาวบ้านและเด็กนักเรียนปีละกว่าพันคนให้มีทักษะความรู้ในการนำขยะและของเหลือใช้มาทำเป็นของเล่นเสริมความรู้รูปแบบต่างๆ A Hundred Hands องค์กรส่งเสริมศิลปะทำมือ และการผลิตอาหารโฮมเมด ที่หันมาส่งเสริมชาวบ้านในงานประเภทอัพไซเคิลอย่างจริงจังในช่วงปีที่ผ่านมา จนมีผลิตภัณฑ์ประดับตกแต่งบ้านชิ้นงามๆ ออกสู่ท้องตลาดมากมายหลายประเภท
ส่วนองค์กรที่เรียกได้ว่าแจ้งเกิดมากับอัพไซเคิลคือ Conserve India ก่อตั้งโดย Amita Ahuja อดีตนักเขียนผู้มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาขยะถุงพลาสติกในเดลี หลังการทดลองอยู่กว่าสองปี เธอก็พบกรรมวิธีแปรสภาพ ถุงพลาสติกให้กลายเป็นแผ่นพลาสติกลักษณะคล้ายผ้าใบ ที่สามารถนำไปตัดเย็บเป็นเข็มขัด กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ ย่าม และอื่นๆ ปัจจุบันคอนเสิร์ฟอินเดียส่งออก ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐ อเมริกา สเปน และฝรั่งเศส ในสนนราคาระหว่าง 500-4,000 รูปีต่อชิ้น
ผลงานอัพไซเคิลที่แหวกแนวไปจากองค์กรอื่นๆ คือ Haathi Chaap (Elephant Print) กระดาษทำจาก ขี้ช้าง คิดค้นและทดลองโดย Mahima Mehra และ Vijendra Shekhawat ผู้ผลิตกระดาษทำมือในเมืองไจปูระ ที่ได้แรงบันดาลใจจากทริปเที่ยวซาฟารีช้าง โดยคนคู่พบว่าขี้ของช้างมีกากใยอยู่มากจนน่าจะลองนำมาใช้เป็นวัตถุดิบทำกระดาษ หลังทดลองอยู่พักใหญ่ผลงาน ที่ได้คือกระดาษเนื้อดีที่มีเฉดสีต่างกันไป ขึ้นกับว่าช่วงนั้นช้างกินพืชอะไรเป็นส่วนมาก นอกจากกระดาษแล้ว พวกเขายังผลิตซองจดหมาย แฟ้มเอกสาร และของใช้ของแต่งบ้านเปเปอร์มาเช่หลายรูปแบบ โดยมีเยอรมนี อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก
ในช่วงเทศกาลดิวาลีซึ่งเปรียบเสมือนคริสต์มาสปีใหม่ของชาวอินเดีย ตอนปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์จากกระบวนการอัพไซเคิลของหน่วยงานหลายแห่งก็ได้รับความสนใจสั่งซื้อ ทั้งจากลูกค้าทั่วไปและห้างร้านบริษัทเพื่อใช้เป็นของขวัญของกำนัล ในแง่ตัวเลขแม้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะทำยอดน้อยนิดเมื่อเทียบกับตลาดกระแสหลัก แต่ถือได้ว่ามันได้มีส่วนกระตุ้นให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ดูไร้ค่า มีส่วนจุนเจือครอบครัว ผู้ด้อยโอกาส และลดการใช้วัตถุดิบใหม่ ซึ่งประการหลัง นี้น่าจะเป็น ‘ของขวัญ’ ที่ดีที่สุดที่เราอาจมอบแก่ผืนโลก ในเวลานี้
|
|
|
|
|