Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ธันวาคม 2554
ฟัง “หยู หัว” เล่าเรื่องจีนยุคใหม่             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 





หลายปีก่อน ตอนที่ภรรยาของผมเรียนจบจากคณะภาษาจีน มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง เธอยื่นหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งมาให้ผมดูและบอกว่าอาจารย์ที่ปรึกษาให้เป็นของขวัญเนื่องในโอกาสจบการศึกษา

ผมหยิบหนังสือเล่มนั้นมาพลิกดูปกหน้า-หลัง หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นพ็อกเก็ต บุ๊กปกสีแดงสด เขียนภาษาจีนว่า “หัวเจอะ" หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า “จงมีชีวิตอยู่ต่อไป” ประพันธ์โดยหยู หัว

เมื่อได้อ่านชื่อเรื่องบนปก ผมยิ้มให้กับภรรยาแล้วบอกว่า อาจารย์คงต้องการบอกลูกศิษย์ว่าโลกภายนอกนั้นโหดร้ายกว่าในโรงเรียนมากนัก เลยอยากให้กำลังใจลูกศิษย์มิให้ถอดใจกับความเป็นจริงของชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัยไปเสียก่อน

น่าเสียดายที่ผมไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนั้น เพียงแต่ในเวลาต่อมามีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ที่สร้างมาจากนิยายเรื่องดังกล่าวจากฝีมือของจาง อี้โหมว โดย ตัวหนังสือจากนิยายเรื่องดังกล่าวถูกตีความและนำมาถ่ายทอดเป็นภาพเคลื่อนไหวในชื่อภาษาอังกฤษว่า To Live (หรือบางทีก็ถูกให้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Lifetimes) นำแสดงสุดยอดดาราชาย-หญิงของจีนแห่งยุคคือ เก่อ โยว และก่ง ลี่

หัวเจอะ เป็นเรื่องราวของครอบครัวจีนในแถบเจียงหนาน (ดินแดนทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง) ครอบครัวหนึ่งที่มีหัวหน้าครอบครัวคือ ฝูกุ้ย (แสดงโดย เก่อ โยว) ผู้เคยเป็นลูกเจ้าที่ดิน แต่ติดการพนันจนสิ้นเนื้อประดาตัว กับเจียเจิน (ก่ง ลี่) ภรรยาผู้แสนดีและรักครอบครัวยิ่งชีวิต ทั้งนี้ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวชาว จีนนี้ต้องก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของจีน ตั้งแต่ยุคสงครามการเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับก๊กมินตั๋ง (ค.ศ.1945-1950), ยุคที่ประธานเหมาประกาศใช้นโยบายก้าวกระโดดไกล (ค.ศ.1958-1961), ยุคการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ (ค.ศ.1966-1976) เรื่อยจนมาสิ้นสุดในยุคของการปฏิรูปเศรษฐกิจ (ปลายทศวรรษ 1970)

จาง อี้โหมวใช้เวลาเพียง 132 นาทีเพื่อทำให้ผู้ชมซึมซับกับประวัติศาสตร์จีนได้ถึง 3 ทศวรรษ ส่วนหยู หัวก็ใช้หนังสือเพียงเล่มเดียวเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงของประเทศจีนยุคใหม่ได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่น และถ่ายทอดให้ทุกคนได้รับทราบว่า การที่คนจีนคนหนึ่ง หรือครอบครัวชาวจีนครอบครัวหนึ่งจะสามารถ “เอาชีวิตรอด” เพื่อให้สามารถ ผ่านพ้นยุคสมัยแห่งความยากลำบากและความเปลี่ยน แปลงของจีนในห้วงเวลา 30 ปีนั้นเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญและสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน

มาสเตอร์พีซของหยู หัวเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2536 (ค.ศ.1993) ถูกนำมาสร้างเป็นฉบับภาพยนตร์ ทันทีโดยฝีมือของจาง อี้โหมว ซึ่งหยู หัวเองบอกว่าไม่ค่อยเหมือนต้นฉบับของเขาสักเท่าไหร่ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีกำหนดออกฉายในปี 2537 (ค.ศ.1994) แต่กลับถูกห้ามฉายในประเทศจีน ทว่าข้ามน้ำข้ามทะเลไปโด่งดังในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศสในปีเดียวกัน โดยได้รับรางวัลแกรนด์ จูรี ไพรซ์ ส่วนตัวผู้กำกับอย่างจาง อี้โหมวก็ถูกรัฐบาลจีนสั่งห้ามทำหนังไปเป็นเวลาสองปีเต็ม

แม้เจ้าของบทประพันธ์จะบอกเองว่าฉบับนิยาย กับภาพยนตร์มีความแตกต่างกันพอสมควร แต่ก็ปฏิเสธ ไม่ได้ว่าผลงานของเขาได้รับอานิสงส์จากภาพยนตร์ถูกแบนในประเทศจีนทำให้ตัวนิยายได้รับความนิยมอย่างสูง โดยมีการพิมพ์จำหน่ายหลายล้านเล่มในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ในระดับนานาชาติก็มีการแปลเป็นภาษา ต่างๆ มากมาย รวมถึงภาษาไทยในชื่อ คนตายยาก ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ และได้รับรางวัลวรรณกรรมระดับนานาชาติหลายรางวัล

ส่วนตัวผมเมื่อมีโอกาสได้ดูหนัง To Live ก็อดไม่ได้ที่จะสรรหานิยายและเรื่องสั้นอื่นๆ ของหยู หัวมาเติมเต็มความอยาก ทั้งความอยากอ่านและความอยากรู้ อยากเห็น หลังจากได้ละเลียดไปกับผลงานของหยู หัวแล้ว ผมพบว่า ผลงานของนักเขียนผู้นี้ ได้รับอิทธิพลและมีกลิ่นอายของหลู่ซวิ่น บิดาแห่งวรรณกรรมจีนยุคใหม่ปนเปอยู่มิใช่น้อย และสมควรแล้วที่มีผู้ยกย่องหยู หัวว่า เป็นหลู่ซวิ่นแห่งวงการวรรณกรรม ยุคนี้

หยู หัว เกิดในปี 2503 (ค.ศ.1960) ห่างจากหลู่ซวิ่นซึ่งเกิดในปี 2424 (ค.ศ. 1881) ประมาณ 80 ปี นักประพันธ์ทั้งสองมีอะไรที่คล้ายกันหลายประการ หนึ่ง คือ เกิดในแถบเจียงหนาน มณฑลเจ้อเจียงเหมือนกัน หยู หัวเกิดที่หางโจวในครอบครัวของชนชั้น ปัญญาชน หลู่ซวิ่นเกิดที่เมืองเส้าซิง (ห่างจากหางโจวไปทาง ตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร) ในตระกูลโจว ซึ่งเป็นขุนนางชั้นจิ้นซื่อ สองคือ ก่อนมาเป็นนักเขียนเกี่ยวพันกับอาชีพแพทย์รักษาคนไข้เหมือนกัน โดยหยู หัวเป็นหมอฟัน ขณะที่หลู่ซวิ่นก็เคยเรียนแพทย์ที่ญี่ปุ่น

สาม ตั้งแต่วัยเด็กจวบจนวัยหนุ่มของทั้งคู่ผ่านพ้นวิกฤตการณ์และความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศจีน มาไม่น้อยเช่นกัน กล่าวคือ หยู หัวผ่านยุคของการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่มาจนถึงยุคของการปฏิรูปเศรษฐกิจ-เปิดประเทศ ผ่านโศกนาฏกรรมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน จนจีนกลับกลายมาเป็นมหา อำนาจของโลกเช่นทุกวันนี้ ส่วนหลู่ซวิ่นเกิดในยุคที่จีนกำลังถูกต่างชาติรุมทึ้งประเทศจีน วัยฉกรรจ์ผ่านการปฏิวัติซินไฮ่ ผ่านการปฏิวัติปัญญาชน 4 พฤษภาคม ค.ศ.1919 และเสียชีวิตไปในช่วงสงครามทั้งในและนอกประเทศจีนกำลังคุกรุ่น

อาจด้วยปัจจัยที่คล้ายคลึง และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่คงไม่มีใครสามารถ สาธยายได้หมดเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ยอดนักประพันธ์ของจีนทั้งสองรุ่นสามารถผลิตผลงานที่สะท้อนสังคมในแง่มุมของความปวดร้าว เศร้าสร้อย หดหู่ออกมาได้ในอารมณ์ใกล้เคียงกัน

เมื่อผมได้อ่าน "คนขายเลือด" ของ หยู หัวก็ทำให้ประหวัดนึกไปถึงซาลาเปาเลือดในเรื่อง "ยา" ของหลู่ซวิ่น พอได้ชมเรื่อง To Live ก็ได้กลิ่นอาย ของ ไข่ง อี๋จี่" วรรณกรรมคลาสสิกของหลู่ซวิ่น ผสมผสานกับบรรยากาศในเรื่อง "โรงน้ำชา" ของเหลาเส่อลอยมา เป็นต้น

ขณะที่วรรณกรรมของทั้งหลู่ซวิ่นและเหลาเส่อต่างกลายเป็นหนังสือขึ้นหิ้ง กลายเป็นเรื่องราวที่คนจีนทุกคนต้องรู้จัก ผมเชื่อว่าในอีกสองสามทศวรรษข้างหน้าบทประพันธ์ของหยู หัวก็คงก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกัน เพราะ ต่างสามารถสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นบรรยากาศของ “สังคมคนกินคน” ในต่างยุคต่างสมัยได้ถึงแก่น

เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2554 ระหว่างงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ นานมี บุ๊คส์ได้เชิญหยู หัวมาเยือนประเทศไทย พร้อมๆ กับการเปิดตัวหนังสือสิบคำนิยามจีน (China in Ten Words) ภาคภาษาไทยที่ได้ฝีมือการแปลอันไหลลื่นของคุณรำพรรณ รักศรีอักษร มาถ่ายทอด แม้ผมจะไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงานเสวนาดังกล่าว แต่ก็ไม่พลาด โอกาสในการแสวงหา สิบคำนิยามจีน มาเป็นเจ้าของ

ผมใช้เวลาราว 2 สัปดาห์์ ในการอ่านหนังสือเล่มใหม่ของหยู หัว โดยใช้วิธีอ่านวันละบท 10 บท 10 คำ 10 วัน ซึ่งในการเสพงานของหยู หัวคราวนี้ ผมรู้สึกว่าตัวเอง ไม่ได้อ่านงานเขียนของยอดนักเขียนผู้นี้ แต่กำลังพูดคุยกับเขาอย่างเป็นกันเองตั้งแต่ต้นจนจบ

สำหรับผม ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ก็คือ การได้รับทราบทัศนะของคนจีนธรรมดาๆ ที่มองความเปลี่ยนแปลงสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในแง่มุมของสามัญชน มิใช่มองประเทศจีนในแง่มุมของชนชั้น นำพรรคคอมมิวนิสต์ คนจีนที่ถูกอัปเปหิออกนอกประเทศ หรือฝรั่งตะวันตกที่วิเคราะห์จีนผ่านแว่นตาของผู้สื่อข่าว นักการทูต หรือนักการเมืองจากประเทศมหาอำนาจ

จริงๆ แล้ว สิบคำนิยามจีน ควรจะเป็นหนังสือเรียน สำหรับมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรภาษาจีน วัฒนธรรมจีนศึกษา และจีนศึกษา ทุกแห่งทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท หรืออย่างน้อยก็ควรเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนิสิต-นักศึกษา

ขณะที่คนทั่วๆ ไปที่อ่านหนังสือเล่มนี้ เชื่อว่าก็คง จะถูกจำกัดอยู่ในแวดวงของคนที่สนใจเกี่ยวกับประเทศจีนจริงๆ เท่านั้น มิฉะนั้นก็คงอดทนอ่านได้ไม่จบเล่ม

อยากให้ท่านผู้อ่านช่วยกันสนับสนุนหนังสือดีๆ อย่างนี้ครับ เพราะคนเขียน คนแปล บรรณาธิการ เรื่อยไป จนถึงสำนักพิมพ์จะได้มีแรงผลิตผลงานเช่นนี้ออกมาอีก ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นการช่วยเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับจีนของคนไทยให้แข็งแกร่งขึ้นอีกมาก

อ่านเพิ่มเติม:
- อี๋ว์ หวา นักเขียนผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุคปัจจุบันของจีนสะท้อน “จีนวันนี้” ถึงแก่นเปี่ยมชีวิตชีวา, http://astv.mobi/AscmSud เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการ   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us