Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ธันวาคม 2554
โลกาภิวัตน์ รากเหง้าปัญหาวิกฤติยุโรป             
 


   
www resources

โฮมเพจ สหภาพยุโรป

   
search resources

สหภาพยุโรป
Economics




วิกฤตเงินยูโรไม่เหลือความสามารถของยุโรปที่จะแกไข แต่การปฏิเสธกระแสโลกาภิวัตน์ต่างหาก คือรากเหง้าของความล้มเหลวในการแกปัญหาวิกฤติยุโรป

Joseph Schumpeter นักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวออสเตรียกล่าวว่า “ระบบการเงินของประเทศสะท้อนทุกสิ่งทุกอย่างที่ประเทศนั้นต้องการ ที่ประเทศนั้นทำ ที่ประเทศนั้นทนทุกข์ และที่ประเทศนั้นเป็น”

ดังนั้น หากระบบการเงินของประเทศเกิดวิกฤติ วิกฤตินั้น ย่อมไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาวิกฤติการเงิน

วิกฤติที่กำลังโอบล้อมสหภาพยุโรป (European Union: EU) อยู่ในขณะนี้ จึงเป็นปัญหาที่มากกว่าเพียงวิกฤติเงินยูโร เมื่อพันธบัตรรัฐบาลยุโรป ราคาหุ้น และธนาคารของยุโรปกำลังจะเกิด วิกฤติตามไปด้วย และภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็กำลังจะกลับมาเยือนทั้งโลกอีกครั้ง แต่สิ่งที่น่ากลัวเป็นอันดับแรกคือ ระบบการเงิน และเศรษฐกิจของยุโรปกำลังจะล่มสลาย

การจะเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเงินยูโร ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับยุโรป อยู่ในขณะนี้

เงินยูโรจะไม่มีวันปลอดภัย ตราบใดที่ยุโรปยังคงหลีกเลี่ยงไม่ยอมตอบคำถามพื้นฐานที่สุดที่ยุโรปหลีกเลี่ยงมานานหลายปี ปัญหาที่เป็นรากเหง้าของวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นกับยุโรปคือ คำถามที่ว่าชาติยุโรปควรจะรับมือกับโลก รอบๆ ตัวที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอย่างไร และยุโรปควร จะทำอย่างไร เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์ได้ทำลายการผูกขาดของชาติตะวันตกที่มีต่อความรู้ทางเทคโนโลยี ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่ทำให้ยุโรปร่ำรวยขึ้นมา และยุโรปที่กำลัง “แก่ลง” ทุกวันนี้ กำลังด้อยความสำคัญลงทุกขณะเมื่อเทียบ กับเอเชียที่กำลังเจริญวัยเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาคือยุโรปยังคงไร้เอกภาพในการตอบคำถามนี้ ชาติยุโรปบางชาติต้องการจะล้อมรั้วปิดตาย EU ซึ่งยังคงเป็นตลาดที่กว้างใหญ่ไพศาลและร่ำรวย ไม่ให้คลื่นโลกาภิวัตน์กล้ำกรายได้ ส่วนชาติยุโรปอีกบางชาติ โดยเฉพาะนักการเมืองประเภทประชานิยม ต้องการให้ชาติของตนหันหลังให้กับโลก แม้กระทั่งหันหลังให้แก่การรวมยุโรปด้วย คงมีแต่เพียงบางชาติ โดยเฉพาะชาติชั้นนำ ที่เป็นต้นคิดการรวมยุโรปเท่านั้น ที่ยืนยันว่า วิธีเดียวที่ยุโรปจะสามารถรักษาวิถีชีวิตอันโดดเด่นของตนต่อไปได้ ไม่ใช่พยายามหลบเลี่ยงกระแสโลกาภิวัตน์ หากแต่เป็นการเปิดใจยอมรับมันอย่างเต็มอกเต็มใจ

และนี่มิใช่เพียงทางเลือกในเชิงปรัชญาที่เป็นนามธรรม หากแต่เป็นสงครามที่กำลังเกิดขึ้นจริงจังและโหดร้าย เป็นสงคราม เพื่ออนาคตของยุโรป เป็นสงครามที่กำลังสู้รบกันอยู่ในหลายชาติ ยุโรปขณะนี้อย่างเช่นกรีซ ซึ่งนายกรัฐมนตรี George Papandreou ของกรีซ กลายเป็นผู้นำยุโรปคนแรกที่ถูกสังเวยเซ่นสงครามนี้ไปแล้ว เมื่อเขาต้องประกาศลาออกและหมดอำนาจลง เป็นสงคราม ที่กำลังสู้รบกันอยู่ในโรงงานที่กำลังถูกทิ้งร้างในฝรั่งเศส และในเบลเยียม ซึ่งเป็นเหมือนเมืองหลวงของ EU เป็นสงครามที่กำลังทำลายชีวิตนับล้านๆ ของหนุ่มสาวสเปนที่ตกงาน ให้กลายเป็นชีวิตที่ไร้ค่า

ผลของสงครามนี้จะทำให้ความเป็นรัฐสวัสดิการของยุโรปต้องถูกจำกัด

และสงครามนี้จะตัดสินว่า ความเป็นหุ้นส่วนที่ไม่เคยสมดุล กันระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศส และอังกฤษที่ยิ่งตีตัวออกห่างไปเรื่อยๆ จะทำให้ EU เป็นอย่างไรต่อไป ที่สำคัญที่สุดคือ สงคราม นี้จะตัดสินชะตากรรมของสิ่งซึ่งเป็นพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่างของ EU นั่นคือเงินยูโร

ขณะนี้สภาพของ euro zone หรือกลุ่มชาติยุโรปที่ใช้เงินยูโรร่วมกัน 17 ชาติ กำลังหมุนคว้างดิ่งลงก้นเหวอย่างน่าสลด ความกลัวว่ารัฐบาลกรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และที่น่าตกใจที่สุดคืออิตาลี จะไม่สามารถชำระ หนี้มหาศาลที่มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 3 ล้านล้านยูโร (4.2 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐ) ได้ กำลังจะทำลาย ธนาคารในยุโรป ซึ่งลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลของชาติเหล่านี้ไว้ เมื่อธนาคารซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการเงิน ทำท่าว่าจะมีปัญหา ก็จะยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือ และยิ่งทำให้กลัวมากขึ้นว่า รัฐบาลจะหมดความสามารถในการชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งก็จะย้อนกลับไปทำให้ธนาคารยุโรปยิ่งอ่อนแอลงอีก

อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้ว euro zone ยังมีความสามารถ ที่จะหยุดยั้งความอ่อนแอของธนาคารและรัฐบาลยุโรปได้ หนี้สาธารณะของ 17 ชาติ euro zone รวมกันแล้ว ยังน้อยกว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ประเทศเดียว และยอดขาดดุลงบประมาณ ของรัฐบาลยุโรปก็ยังต่ำกว่าของสหรัฐฯ ด้วย นอกจากนี้ยุโรปยังมีเงินมากพอที่จะเป็นปราการแข็งแกร่งปกป้องธนาคารยุโรป ถ้าหากว่ากรีซหรือโปรตุเกสหรือไอร์แลนด์เกิดผิดนัดชำระหนี้ แถมยังมีปราการอีกชั้นจากธนาคารกลางแห่งยุโรป (European Central Bank: ECB) ซึ่งสามารถหนุนหลังรัฐบาลที่ประสบปัญหา วิกฤติหนี้ ด้วยการเข้าช้อนซื้อพันธบัตรของรัฐบาลที่มีปัญหาได้อย่างไม่จำกัดจำนวนในตลาดรอง

แต่ที่ทำให้ EU ยังแก้ปัญหาวิกฤติยูโรไม่ได้ เป็นเพราะ EU ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในการเดินหน้าแผนการกอบกู้เงินยูโรที่น่าเชื่อถือ สาเหตุเป็นเพราะชาติต่างๆ ในยุโรปยังคงขัดแย้งกันไม่จบไม่สิ้น ไม่อาจสรุปได้ว่า ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นคืออะไรกันแน่ ซ้ำยังแตกแยกเกี่ยงกันว่า ประเทศใดควรจะต้องเสียสละมากน้อย เท่าใดเพื่อจะแก้ปัญหาวิกฤตินี้ ตราบใดที่ชาติสมาชิก euro zone ยังคงแตกแยกกันอยู่อย่างนี้ และไม่ตระหนักว่าความขัดแย้งกันนี้ คือต้นเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ยุโรปยังล้มเหลวในการแก้ปัญหาวิกฤติยูโร หาใช่เพราะไร้วิธีแก้ปัญหาแต่อย่างใดไม่ ตราบนั้นความร่วมมือร่วมใจกันในหมู่ชาติยุโรป ซึ่งจะสามารถช่วยปกป้องเงินยูโรได้สำเร็จก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น

ระหว่างที่โลกกำลังรอการตัดสินใจของยุโรป ลางร้ายทั้งหลายเริ่มโผล่มาให้เห็น ชาติ euro zone บางชาติอาจถอนตัวออกจากการใช้เงินยูโร แม้ว่าสนธิสัญญารวมยุโรปจะห้ามการทำเช่นนั้นก็ตาม ธนาคารยุโรปอาจสูญเสียความน่าเชื่อถือ อิตาลีหรือ สเปนอาจไม่สามารถกู้ยืมเงินโดยเสียดอกเบี้ยที่ไม่สูงเกินไป รัฐบาลที่พยายามจะออกมาตรการรัดเข็มขัดจนทำให้ประชาชนไม่พอใจอาจจะล้ม และถูกแทนที่ด้วยนักการเมืองประชานิยมที่ไม่ เอามาตรการรัดเข็มขัด ผลกระทบทั้งหลายนี้สามารถติดต่อกันได้เหมือนโรคร้าย ในที่สุดก็จะฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้ดิ่งลงสู่หุบเหว

บางคนคาดว่าเยอรมนีอาจเป็นผู้นำชาติแกนหลักของกลุ่ม euro-zone ให้แยกตัวออกไปตั้งกลุ่มใหม่ นั่นอาจทำให้เงินยูโร แข็งค่าขึ้น ทำให้ธนาคารและบริษัทเยอรมนีต้องสูญเสียมหาศาล จากการลดค่าลงของสินทรัพย์ที่อยู่ในต่างประเทศ และธุรกิจส่งออกของเยอรมนีนั่นเองที่จะเสียประโยชน์ นอกจากนี้ เยอรมนียังเป็นชาติที่เคารพกฎหมาย EU รวมถึงสนธิสัญญารวมยุโรปที่ห้าม การถอนตัวออกจาก euro zone และมักห้ามเพื่อนสมาชิกอื่นๆ ไม่ให้ละเมิดกฎหมาย EU

ถ้าจะมีชาติใดที่อาจจะถอนตัวออกจาก euro zone กรีซอาจดูมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะชาวกรีซอาจ ทนไม่ได้กับมาตรการรัดเข็มขัด โดยเฉพาะหากมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่อีกหลายครั้ง แต่นั่นกลับจะยิ่งทำให้กรีซย่ำแย่หนักยิ่งขึ้น เพราะธนาคารของกรีซจะพากันล่มและเงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว ส่วนบริษัทของกรีซก็จะหมดความสามารถในการชำระหนี้ด้วยเงินยูโร และจะต้องล้มละลาย ขณะนี้ กรีซก็หมดทางเข้าถึงตลาดเงิน ตลาดทุนได้ต่อไปแล้ว หากยังจะถอนตัวออกจาก euro zone อีก กรีซก็คงจะไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก EU อีกต่อไป แต่ที่ตกอยู่ในอันตรายมากที่สุดคือ ความ เป็นตลาดเดียวของยุโรป

เป็นเพราะความกลัวว่าผลกระทบอันร้ายแรงทั้งหมดข้างต้นอาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งการที่ยุโรปมีวิธีแก้ปัญหา อยู่แล้ว แต่ยังทำไม่สำเร็จ ทำให้หลายคนอาจคิดว่า ผลกระทบร้ายแรงข้างต้นนั้นจะไม่เกิดขึ้น อย่างเช่นกรีซก็เชื่อว่า ยุโรปคงจะ ไม่มีวันปล่อยให้กรีซล่มสลาย อย่างไรก็ตาม เยอรมนีกับ ECB อาจปฏิเสธไม่ช่วยอุ้มประเทศที่มีปัญหาอีกต่อไป เพราะไม่ต้องการให้ประเทศเหล่านั้นสามารถหลบเลี่ยงการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ต้องทำ หรือไม่ก็มาตรการรัดเข็มขัดที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่ประชาชนในชาติที่มีปัญหา อาจทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงทางการเมือง และได้รัฐบาลใหม่ที่เป็นประชานิยม ซึ่งอาจตัดสินใจหันหลังให้กับเงินยูโร

สหภาพเศรษฐกิจและการเงินยุโรป (Economic and Monetary Union: EMU) เคยสามารถปกป้องการตกต่ำของค่าเงิน ยูโรที่คุกคามความเป็นยุโรปตลาดเดียวในช่วงทศวรรษ 1990 ได้ ด้วยการสัญญาว่าจะดึงเยอรมนีเข้าร่วมกับ EU และหาทางรวมยุโรปในทางการเมือง มาถึงวันนี้ ความฝันนั้นยังไม่อันตรธานไปหมดเสียทีเดียว แต่ยุโรปตลาดเดียวกำลังตกอยู่ในอันตรายอีกครั้ง เพราะชาติยุโรปขัดแย้งกันอีก และเยอรมนีก็กำลังโกรธเพื่อน ส่วนความผูกพันระหว่างเงินยูโรกับชาติยุโรปก็เต็มไปด้วยปัญหามากกว่าที่เคยเป็นมา ดังนั้น EMU จึงอาจไม่ได้ย่อมาจาก Economic and Monetary Union อีกต่อไป แต่อาจย่อมาจาก “Europe’s Melancholy Union” หรือ “สหภาพที่น่าเศร้าแห่งยุโรป”

Dominique Strauss-Kahn อดีตผู้อำนวยการ IMF กล่าวว่า หากยุโรปล้มเหลวในการแก้ปัญหาวิกฤติครั้งนี้ ก็จะต้องทนทุกข์กับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และการถูกครอบงำทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ยุโรปจะสามารถรอดพ้นจากการตกลงไปในหุบเหวได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับชาติแกนหลักของยุโรปจะต้องหนุนหลังชาติอื่นๆ ที่เหลือ โดยที่ชาติในกลุ่มหลังก็จะต้องยอมปฏิรูปตนเองอย่างถอนรากถอนโคน ทั้งทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ และไม่ควรมีใครหลอกตัวเองว่า นั่นเป็นเรื่องที่จะทำสำเร็จได้โดยง่าย

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us