ในระยะ 30-40 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศไทยมีการขยายตัวสูงอยู่ทุกปี
ธุรกิจการค้าก็มีการขยายตัวและมีการเจริญเติบโตในอัตราสูง
ตัวนักธุรกิจเองก็มีการขยายกิจการ ทั้งกิจการหลักที่ตัวเองทำอยู่ หรือในกิจการอื่นๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน
ในแง่ของสถาบันการเงินเมื่อเห็นว่าธุรกิจขยายตัวไปข้างหน้าแล้ว ประสบความสำเร็จ
มีรายได้มีกำไรดี ก็ขยายสินเชื่อเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วขึ้น
การกำหนดนโยบายต่างๆ นานาของราชการ ก็อยู่ใต้สมมุติฐานว่าความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ
หรือการขยายตัวที่มีสูงจะเป็นอยู่ต่อไป!
ในช่วงที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวสูง หรือ "บูม" ก็ไม่ได้มีความระมัดระวังในแง่ผู้กู้หรือธุรกิจ
และผู้ที่ให้กู้เป็นสถาบันการเงินทั่วๆ ไป
โครงสร้างที่ถูกต้องของภาระหนี้สินนั้นควรจะเป็นไปในลักษณะที่เป็นการกู้ยืมระยะยาวพอที่จะใช้ในการ
FINANCE เครื่องจักรอุปกรณ์ที่เป็นทรัพย์สินถาวร ไม่ใช่กู้ระยะสั้นในรูปของเงินเบิกเกินบัญชี
(โอดี) หรือเงินกู้เดือนต่อเดือนไป FINANCE เครื่องจักรอุตสาหกรรม ซึ่งมีระยะเวลาให้ดอกให้ผลคุ้มทุนเป็น
10 ปี 15 ปี ในช่วงที่ทำมาค้าขายคล่อง ทำอะไรก็ขายได้ มีราคาดี ปริมาณธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีมีอัตราสูง
ก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่มีปัญหาเรื่องเงินกู้ระยะสั้น พอครบกำหนดก็กู้ใหม่ได้
และในเมื่อธุรกิจรุ่งเรืองดีสถาบันการเงินก็ยินดีให้กู้ต่อ เพราะฉะนั้นก็มองไม่เห็นว่าจะเกิดปัญหา
นอกจากนั้นธุรกิจเมืองไทยใช้เงินกู้มาก เงินกู้ระยะสั้น หรือเงินกู้รวมก็มากเมื่อเทียบกับทุน
ตราบใดที่ธุรกิจรุ่งเรืองดี อัตราการเจริญเติบโตหรือยอดขายสูงก็ดูเป็นของดี
กู้เท่าไหร่ก็มีเงินจ่ายแล้วยังเหลือกำไรให้กับผู้ถือหุ้น
แต่ไม่ได้นึกว่าถ้าหากภาวะเศรษฐกิจของโลก ภาวะธุรกิจของประเทศไทยชะลอตัวลง
แทนที่จะเพิ่มปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ กลับไม่เพิ่มเลยหรือลดลง จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายดอกเบี้ย!
เมื่อเริ่มชำระดอกเบี้ยไม่ได้ เพราะว่ามีหนี้มากเกินไป เจ้าหนี้ก็เริ่มรู้สึกว่ากิจการนี้ไม่ค่อยดีแล้ว
เมื่อเห็นว่ากิจการไม่ดีเพราะมีทุนน้อยและมีเงินกู้มาก ก็เริ่มคิดดึงเงินกลับ
และสิ่งที่ธุรกิจทำผิดเป็นอย่างที่สองก็คือเงินกู้ที่ตนมีอยู่มากนั้นเป็นเงินกู้ระยะสั้น
ทางสถาบันการเงินก็สามารถเรียกคืนได้
ถ้าหากเตรียมตัวไว้แต่แรก โดยกู้ระยะยาว 3 ปี หรือ 5 ปี เมื่อยังไม่ครบกำหนดสถาบันการเงินก็เรียกเงินคืนไม่ได้
ก็สามารถประคองตัวไปได้แม้ว่าการจ่ายดอกเบี้ยอาจจะไม่เพียงพอก็เจอปัญหาเดียวคือจ่ายดอกเบี้ยไม่ค่อยได้
แต่ไม่ถูกเรียกเงินต้นคืน
แต่สถานการณ์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันคือ พอจ่ายดอกเบี้ยไม่ค่อยได้ก็โดนเรียกเงินกู้ระยะสั้นคืน
แทนที่จะล้มช้าหน่อยกลับล้มเร็ว
เหล่านี้เป็นปัญหาพื้นฐานของธุรกิจ ของการจัดโครงสร้างด้านหนี้สินไม่สอดคล้องกับโครงสร้างด้านทรัพย์สินและไม่สอดคล้องกับภาวะธุรกิจที่อาจจะบูมหรือหดตัวได้
ปัญหาพวกนี้เป็นปัญหาของประเทศในอาเซียนหลายประเทศ แม้กระทั่งประเทศสิงคโปร์ที่เคยบูมทุกปีก็ไม่มีปัญหาอะไร
แต่พอปีนี้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ธุรกิจกลุ่มใหญ่ของเขาก็ล้มไปหลายกลุ่ม ไต้หวันก็เหมือนกัน
หรือเกาหลีก็มีลักษณะในทำนองเดียวกัน เพราะประเทศในอาเซียนเราเคยชินกับสภาพเศรษฐกิจที่บูมอยู่ตลอดเวลา
ก็เลยลืมวางแผนการเงินระยะยาวสำหรับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันที่อาจเกิดขึ้นได้
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการพัฒนาตลาดทุน ตลาดเงินที่เหมาะสม เช่น
อเมริกา ธุรกิจของเขาจะใช้เงินกู้ไม่มากเมื่อเปรียบกับทุน เขาจะกู้เป็นสองเท่าหรือสามเท่าของทุนเท่านั้น
แต่เมืองไทยจะกู้เป็น 5 เท่า 10 เท่าของทุน และการกู้เงินของเขาจะเป็น LONG
TERM FUND จากเหล่าเงินที่ในอเมริกาอาจจะมีมากหน่อย เช่น บริษัทประกันชีวิต
หรือ LONG TERM CREDIT BANK อย่างในญี่ปุ่น
รัฐบาลของเขาทราบปัญหา เขาจึงสร้างสถาบันการเงิน สร้างกลไก ทั้งด้านผู้ให้กู้และผู้กู้ให้เข้าใจแล้วจัดโครงสร้างด้านหนี้สินและเงินกู้ให้ดี
การประสบปัญหาของเขาจึงน้อยและมักจะล้มเมื่อหมดหวังจริงๆ หรือผิดพลาดในหลายๆ เรื่อง
แต่ในเมืองไทยมีหลายกรณีที่กิจการต้องล้มไปเพราะจัดการเรื่องหนี้ไม่ดี
ทั้งๆ ที่ความสามารถในการผลิตของเขาอาจจะยังดีและมีอยู่ เพียงแต่ปีนี้หรือปีต่อไปตลาดซบเซา
ของขายไม่ได้
กรณีเช่นนี้ธุรกิจที่พัฒนาแล้ว มีเงิน FINANCE ระยาว หรือทุนมากจะไม่ล้ม
เพียงแต่ไม่มีเงินจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น สามารถอยู่ผ่านช่วงวิกฤตการณ์ปีสองปี
พอเศรษฐกิจบูมขึ้นมาใหม่ก็ขยายตัวใหม่ สามารถเปิดประตูโรงงานรับคนงานเข้าไปแล้วทำงานขายของออกไปได้
ปัญหาของเมืองไทยที่ผมเป็นห่วงมากก็คือว่า จะไม่มีโอกาสเปิดประตูโรงงานอีกครั้งหนึ่ง
ถึงแม้จะมีกำลังผลิต มีเครื่องจักร มีคนที่มีความรู้ความสามารถในการผลิต
มีการจัดการที่ดีแต่เรื่องเงินกู้ถูกกระหน่ำซ้ำเป็น 2 เท่า ก็ต้องถูกบังคับให้ปิดกิจการไปซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
เพราะกว่าจะสร้างความสามารถในการผลิตต่างๆ ของเอกชนในเมืองไทย ต้องใช้เวลาไม่น้อย
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของทั้งผู้ให้กู้ คือ สถาบันการเงิน และปัญหาของผู้กู้
คือ ธุรกิจ รวมทั้งเป็นปัญหาของรัฐบาลที่ไม่ให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง
การปรับปรุงโครงสร้างจะทำได้ในช่วงที่เศรษฐกิจบูม เพราะทำอะไรไม่ค่อยมีผลสะเทือน
ควรจะปรับปรุงตราสารทางการเงินระยะยาว ควรจะปรับปรุงตลาดทุน (ตลาดหลักทรัพย์)
เพื่อให้ธุรกิจสามารถขยายทุนโดยนำหุ้นออกขาย ควรจะปรับปรุงรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสิทธิประโยชน์จูงใจที่จะกระตุ้นให้เกิดการกู้ระยะยาวมากขึ้น
สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยได้ทำกันในช่วงที่สามารถทำได้ อาจจะเป็นเพราะยังไม่เห็นปัญหาก็เลยไม่ทำ
คนส่วนใหญ่ก็มักไม่ได้มองการณ์ไกลที่จะเห็นปัญหา หรือกั้นคอกก่อนที่วัวจะหาย
มักเป็นกรณีที่วัวหายแล้วคิดกั้นคอก ที่ผมไม่อยากเห็นก็คือ เมื่อวัวหายก็ยังไม่ยอมสร้างคอก
มันก็หาย 2 ตัว 3 ตัว เพิ่มขึ้นไปจนอาจจะเป็น 20-30 ตัว
ที่ผมคิดว่าทำได้และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ก็คือว่าทางผู้รับผิดชอบนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล
เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือนายก จะต้องมาพูดถึงเรื่องนี้ให้ประชาชนได้ยินเป็นเรื่องเป็นราว
และประกาศว่าเป็นปัญหาที่สำคัญ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาในประเด็นเหล่านี้
เป้าหมายที่ประกาศออกมาง่ายๆ อยู่ 2 อย่าง คือ เปลี่ยนหนี้ระยะสั้นเป็นระยะยาว
และเปลี่ยนจากหนี้เป็นทุน เน้นออกมาว่าเป้าหมายของประเทศ 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ!
มาตรการที่จะชักจูงหรือบังคับให้หนี้ระยะสั้นกลายเป็นหนี้ระยะยาวก็มีอยู่หลายอย่าง
สำหรับธุรกิจรายที่เป็นปัญหาโผล่มาแล้วอย่างไรเสียก็ต้องทำ สถานการณ์บังคับบีบรัดให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งรัฐบาลต้องเปลี่ยนโครงสร้างไปในแนวทางที่ว่านี้ (กรณีปัญหาบริษัทน้ำตาลบ้านโป่ง)
เช่นเปลี่ยนหนี้ทั้งหมดให้เป็นหนี้ระยะยาว ต้องมีการเพิ่มทุนในธุรกิจ และในที่สุดก็ต้องมีการเปลี่ยนหนี้ของสถาบันการเงินให้เป็นหุ้นในธุรกิจ
แต่กว่าจะเกิดขึ้นได้ก็เกือบหงายหลังกันหมดแล้วถึงมาทำกัน
ซึ่งถ้าเราปล่อยให้เป็นเช่นนี้ทุกกรณีไป ปัญหาก็อาจเกิดขึ้นทุกสัปดาห์จนกระทั่งเราไม่มีคนและไม่มีเวลาพอที่จะแก้ไขทุกปัญหา
พวกธุรกิจที่ตอนนี้ไม่มีปัญหา ก็แล้วแต่ว่าผู้บริหารธุรกิจเขามีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้หรือเปล่า
ผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพส่วนใหญ่เขาจะมีความยินดีมาก ถ้าบริษัทเขามีทุนมากและมีหนี้น้อย
ธุรกิจประเภทนี้มีความต้องการที่จะขยายทุนแต่ก็มีอุปสรรคในการที่จะดึงดูดให้คนมาซื้อหุ้น
ปัญหาหลักที่ทำให้ธุรกิจเมืองไทยไม่อยากจะเพิ่มทุน ไม่อยากจะขายหุ้นถ้ากฎหมายไม่บังคับ
ก็มีอยู่เรื่องเดียว คือ COST OF CAPITAL
ต้นทุนพวกนี้รูปกรณีที่เงินเข้ามาในรูปทุนก็คือ "เงินปันผล"
ซึ่งปัจจุบันเงินปันผลรวมกับภาษีเป็นต้นทุนที่แพงมาก!
สาเหตุประการแรกเพราะอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินและผลตอบแทนทั่วไปของตราสารการเงินอื่น
รวมทั้งตราสารที่ไม่มีความเสี่ยงอะไรเลยอยู่ในอัตราที่สูง
ประการที่สอง ประเทศไทย การหักภาษีเพื่อเพื่อเสียภาษีอยู่ในลักษณะ "ลงโทษ"
การจ่ายผลตอบแทนในเรื่องเงินปันผล ในขณะเดียวกันไปสนับสนุนการจ่ายผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย
หมายความว่าธุรกิจเวลากู้เงินมาแล้วต้องเสียดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน
แต่ดอกเบี้ยที่ต้องเสียนั้นสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ ก่อนที่จะไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับรัฐบาล
ส่วนเงินปันผลหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนประเมินภาษีไม่ได้!
ดังนั้น ธุรกิจจึงมักจะใช้เงินกู้เพราะคำนวณดูแล้วต้นทุนต่ำกว่ากรณีที่ต้องจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น
ทำให้เกิดความโน้มเอียงในรูปที่ว่าไม่ได้มองการณ์ไกล ในแง่ที่ว่าหากภาวะเศรษฐกิจซบเซา
กิจการของตัวเองจะเป็นอย่างไรหากต้องใช้เงินกู้มากๆ
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาก็คือ กรณีที่ธุรกิจมีกำไรแล้วจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น
เงินก็จะออกจากบริษัทไปยังผู้ถือหุ้นซึ่งก็ต้องไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราที่เขาต้องจ่าย
สิ่งที่จะช่วยเก็บเงินกำไรเอาไว้ในบริษัทและเพิ่มฐานของทุนสามารถทำได้โดยการจ่ายในรูปของ
STOCK DIVIDEND หรือจ่ายเงินปันผลในรูปของการออกหุ้นใหม่ให้กับผู้ถือหุ้น
กฎหมายเมืองไทยถือว่าจะให้เงินสดหรือใบกระดาษหุ้นก็เป็นรายได้ของผู้ถือหุ้น
ต้องนำไปเสียภาษีรายได้ทั้งสิ้น
ฉะนั้น ถ้าอยากส่งเสริมให้มีการเก็บกำไรไว้ในธุรกิจเพื่อสร้างกองทุนให้สูง
เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา ก็ควรจะกำหนดว่าในกรณีที่จ่ายเป็น
STOCK DIVIDEND ผู้ถือหุ้นสามารถได้สิทธิประโยชน์ในการเสียภาษีที่ต่ำกว่าในรูปแบบที่ได้รับเป็นเงินสด
หรือไม่ต้องเสียเลย
อีกปัญหาหนึ่งก็คือตราสารที่เข้ามาแข่งกับผลตอบแทนในการลงทุนเรื่องหุ้น
ตราบใดที่รัฐบาลยังจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราที่สูงถึง
11.15 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะเปรียบเทียบหลังหักภาษีแล้วได้เท่ากับพันธบัตรรัฐบาล
แต่การถือหุ้นเสี่ยงกว่าการถือพันธบัตรรัฐบาลมากมาย เพราะฉะนั้นธุรกิจจริงๆ
แล้วจะต้องจ่าย 17-19 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะใกล้เคียงกับผลตอบแทนเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล!
เพราะฉะนั้นถ้ามีการปรับดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลให้ต่ำลง ก็จะมีผลในการดึงโครงสร้างดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ให้ต่ำลง
รวมทั้งต้นทุนของเงินทุนของธุรกิจ ซึ่งก็จะช่วยให้มีการระดมเงินออมจากประชาชนเข้ามาลงทุนในหุ้นของกิจการต่างๆ มากขึ้น
ทั้งหมดนี้สามารถทำเป็น PACKAGE ที่จะช่วยให้เกิดผลตามเป้าหมาย 2 ประการดังที่พูดข้างต้น
คือ ทำให้เงินกู้ระยะสั้นเป็นเงินกู้ระยะยาว และเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุน