"ยีสต์นั้นเป็นจุลินทรีย์ที่รู้จักกันดี มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์และแอลกอฮอล์
มันจึงเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของโลก ...แต่ยีสต์ในสายพันธุ์ที่ถูกค้นพบในเมืองไทยครั้งนี้มีจุดเด่นหลายอย่างทั้งที่ทนอยู่ได้ในอุณหภูมิสูง 40 องศาเซลเซียส สามารถที่จะตกตะกอนได้ดีเมื่อสิ้นสุดขบวนการการหมัก
...คุณประโยชน์มหาศาลของมันยังมีอีกมากมายและหากเชื้อยีสต์นี้ได้รับการเอาไปใช้อย่างเหมาะสมแล้ว
มันสามารถที่จะพลิกโฉมหน้าของวงการเหล้า, อาหารและน้ำตาลได้เกือบจะหน้ามือเป็นหลังมือ...เช่นนี้เองจึงทำให้ญี่ปุ่นขวนขวายทุกวิถีทางที่จะได้สูตรลับอันนี้ไปครอบครองไว้..."
"ยีสต์" จุลินทรีย์ความยาวเพียง "ไมครอน" แต่คุณค่ามหาศาล...
เรารับทราบเพียงสั้น ๆ ว่า "นักวิทยาศาสตร์ไทยผู้หนึ่งสามารถค้นคว้าจนพบยีสต์สายพันธุ์ชนิดหนึ่งขึ้นมา
มีคุณสมบัติที่น่าสนใจยิ่งกว่ายีสต์หลายชนิดในโลกนี้อีกทั้งหากถูกนำเอาไปใช้อย่างเหมาะสมแล้วก็จะพลิกวงการอาหารและเครื่องดื่มของโลกกันเลยทีเดียว..."
ข้อมูลอันนี้ได้รับการเปิดเผยจากชาคริต จุลกะเสวี ประธานอนุกรรมการ ปชส.
ของคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ...ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจความคืบหน้าในวงการวิทยาศาสตร์ของไทยเราอย่างดีอีกผู้หนึ่ง
หลังจากนั้นแล้ว "ผู้จัดการ" ก็เริ่มเข้าห้องสมุดเพื่อค้นคว้าเรื่องยีสต์เป็นการใหญ่
เอาไว้เป็นต้นทุนในการบุกเจาะข่าวสารชิ้นต่อไป
เราเริ่มต้นศึกษาเรื่องยีสต์เกือบจะพร้อม ๆ กันกับอรรนพ ศรีรัตน์ หัวหน้าศูนย์บริการเบียร์สดของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่
จำกัด ซึ่งเพิ่งเข้ารับงานในบริษัทของเขาสด ๆ ร้อน ๆ
เพื่อให้คุณ ๆ ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของเจ้ายีสต์นี้ มันเป็นอย่างไรและมีความสำคัญสักแค่ไหนจน
"ผู้จัดการ" ต้องเอามานำเสนออย่างจริงจัง เราจึงต้องปูพื้นฐานและความรู้โดยทั่วไปเกี่ยวกับมันเสียก่อน...ยีสต์นั้นเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่มีความยาวเพียง
2-3 ไมครอน แต่ก็มียีสต์บางชนิดที่อาจมีความยาวระหว่าง 20-50 ไมครอน เรียกว่าต้องใช้กล้องจุลทรรศน์เล็งกันดู
พูดถึงจุลินทรีย์กันแล้วนั้น นักชีววิทยาเขาถือว่าสาหร่ายนั้นจะเป็นจุลินทรีย์อย่างแรกที่มนุษย์ได้รู้จักกับมัน
นับตั้งแต่โบราณที่คนในญี่ปุ่น, จีน, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และอินเดีย ได้รู้จักกับสาหร่ายแดงหรือที่เรียกว่า
"จีฉ่าย" เอามันมาประกอบเป็นแกงจืดในรายการอาหาร ไทยเราในภาคเหนือและอีสานนั้น
ก็ใช้ "เทาน้ำ" มาปรุงประกอบอาหาร มันล้วนเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางด้านอาหารสูง
จุลินทรีย์ที่เป็นประเภท "แบคทีเรีย" บางชนิดนั้นก็มีประโยชน์ต่อมนุษย์เราเช่นกันดังจะเห็นจากการผลิต
"บูทานัล" ซึ่งเป็นประโยชน์ในอุตสาหกรรมยางสังเคราะห์, สีทาวัสดุและอุตสาหกรรมพลาสติก
ทีนี้มาถึงจุลินทรีย์ที่เป็น "ยีสต์" มันสามารถที่จะผลิตเอธิลแอลกอฮอล์
เอามาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มต่าง ๆ ทั้งไวน์, เบียร์, วิสกี้
เป็นต้น...โดยมันจะให้คุณสมบัติแตกต่างกันออกไปจามสายพันธ์ของยีสต์นั้น ๆ
ปกตินั้นเขาจะเอายีสต์ไปเลี้ยงอาหารจำพวกน้ำผลไม้หรือเมล็ดธัญพืช แล้วมันก็จะเปลี่ยนน้ำตาลในพืชนั้นให้กลายเป็นแอลกอฮอล์
ซึ่งนักเคมีก็เขียนสูตรออกมาดังนี้-
C6H12O6-2C2H5OH+2CO2
เจ้าสมการนี้เองแหละที่เป็นต้นตอนำไปสู่ผลสำเร็จในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก...
ว่ากันว่าถึงยีสต์ที่ถูกเอามาใช้ประโยชน์ในงานอุตสาหกรรม กล่าวกันว่านักชีวะที่มีชื่อว่า
ล็อดเดอร์ เขาได้แบ่งยีสต์ออกทั้งหมดเป็น 39 จีนัสและ 349 สปีชีส์...แม้ว่ายีสต์จะมีเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเราเปรียบเทียบกับแบคทีเรียทั่วไป
แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังค้นพบว่ายีสต์นั้นอาศัยอยู่ได้ทุกหนทุกแห่งในสภาพธรรมชาติ
มันมีเซลล์เดียว มีนิวเคลียสเคลื่อนไหวไม่ได้ รูปร่างมักจะเป็นรูปไข่แต่ก็มียีสต์หลายชนิดที่มีรูปร่างแตกต่างกันออกไป
เช่น ยีสต์ที่ทำขนมปัง, ทำเบียร์ เพราะมันจะมีการสร้างแอสโคสปอร์สำหรับขยายพันธุ์
ปูมตำราเครื่องดื่มของโลกบอกไว้ว่า แอนโทนี เวน ลิวแวนฮุค เป็นคนแรกที่สังเกตเห็นว่ามียีสต์อยู่ในเครื่องดื่มที่ได้รับจากการหมัก
ต่อจากนั้นทั้งแค็กเน็ร์ด เดอลาตอร์, คู๊ทซิง,ชูวานน์ ก็ได้ศึกษาและรายงานว่ายีสต์นั้นมีรูปร่างอยู่หลายแบบ...ยีสต์ที่มีรูปร่างคล้ายผลมะนาว
คือ Hanseniaspora และ Kloekera เราจะพบในการหมักผลไม้ตามธรรมชาติ มันจะให้กลิ่นเฉพาะที่แปลก
การเจริญเติบโตของยีสต์นั้นจะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของแต่ละชนิด จำนวนยีสต์
ความชื้น หรือปริมาณของน้ำที่เป็นประโยชน์ ความเข้มข้นของน้ำตาลและส่วนประกอบอาหาร
ความเป็นกรดและด่าง ปริมาณของออกซิเจน เวลาและอุณหภูมิ....สรุปแล้วก็คือเรื่องของยีสต์นั้นเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งและมากมาย
ทั้งหมดข้างต้นที่กล่าวถึงนั้น เป็นความรู้โดยทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับยีสต์
หากจะมาว่ากันในรายละเอียดเสียทุกสปีชีส์เราก็คงได้ตำราทางชีววิทยาอย่างดีเสียสองเล่มโต
ๆ เท่านั้นเอง คุณลักษณะของยีสต์แต่ละสายพันธุ์นั้น มันจะมีข้อดีและข้อด้อยผิดแผกกันออกไปอีก
เช่น แม้ยีสต์ส่วนมากจะมีไขมันอยู่น้อย แต่ก็มีบางชนิดที่กลับมีไขมันมาก
ได้แก่ Rhodotorula glutinin,Lipomyces starkeyi,Candida pulcherrima เป็นต้น
และจากคุณสมบัติเหล่านี้ก็จะกลายเป็นตัวกำหนดที่จะเอายีสต์แต่ละอย่างไปใช้ประโยชน์ในงานที่ไม่เหมือนกัน
เช่น Saccharomyces เป็นยีสต์ที่มีปริมาณของไขมันเล็กน้อย จึงมีประโยชน์ในการผลิตขนมปัง
หรือว่ายีสต์บางชนิดก็มีสารที่เป็นเกราะหุ้มเซลล์หรือเรียกว่าแคปซูล มีลักษณะเป็นเมือก
สารที่เป็นแคปซูลนั้นจะประกอบไปด้วย ฟอสโฟแมนแนน,เฮทเทอโรโพลีเซคคาไรด์ และสปิงโกลิปิด
โดยยีสต์ที่จะสร้างสารเหล่านี้ก็ได้แก่ยีสต์ชนิด Hansemula, Pichia,Pachysolen
ส่วนยีสต์จำพวก Cryptococus และ Lipomyces ก็กลับสร้างเมือกชนิดอื่น ๆ ขึ้นมา
ซึ่งจะมีส่วนประกอบของน้ำตาลที่มีคาร์บอน 5-6 อะตอม บางกรณีก็อาจจะมีกรดกลูโคยูโรนิกอยู่ด้วย
จะเห็นว่าในทางชีววิทยานั้นคุณสมบัติของยีสต์จะมีลักษณะเฉพาะของมัน... แม้ในการใช้ยีสต์จะมีลักษณะเฉพาะของมัน..แม้ในการใช้ยีสต์เพื่อผลิตเครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์เขาก็จะคำนึงถึงกลิ่นรสของเครื่องดื่มนั้น ๆ
จึงทำให้มีการใช้ยีสต์ที่แตกต่างกันออกไป เบียร์นั้นจะใช้ Saccharomyces Cervisiae
หรือ S.Carlsbergensis ส่วนที่เป็นเหล้ารัมก็จะใช้ S.Cerevisiae วิสกี้ใช้ยีสต์
S.Cervisiae และกรณีของไวน์ก็เป็น Saccharomyces ellipsoides
เมื่อเราต่างรับทราบถึงคุณค่าและลักษณะทางธรรมชาติทั่วไปของยีสต์พอเป็นสังเขป...ก็คงเกิดความอยากรู้ขึ้นมาทันทีทันควันว่า
ก็แล้วไอ้ยีสต์ที่เขาค้นคว้าขึ้นมาในเมืองไทยนั้นมันมีอะไรเด่นนักหนากันหรือ?
ครับ...รับรองว่ามีแน่ ๆ ขอเชิญคุณผู้อ่านติดตามกันต่อไป!….
มันคือเจ้า "candida kursei" ไอ้ยีสต์แสนล้านบาท
จากการเปิดเผยของ ดร. จรูญ คำนวนตา บุรุษผู้ค้นพบยีสต์ตัวนี้ ได้กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "ในเรื่องของสปีชีส์นั้นมันคงเดิมแต่มันเป็นยีสต์สายพันธุ์ใหม่ที่เราได้ค้นพบขึ้น...ข้อดีของยีสต์นี้ก็คือความสามารถที่ทนอยู่ได้ในอุณหภูมิประมาณ
40 องศาเซลเซียส แล้วเชื้อนี้ยังสามารถตกตะกอนได้เมื่อสิ้นสุดการหมัก"
เชื้อยีสต์นี้มีชื่อในทางชีวะว่า "camdida krusei' มันเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถหมักแอลกอฮอล์ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเรานั้นก็มีการใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบด้วย มันเป็นเชื้อที่มีความเหมาะสมกับการหมักในระบบต่อเนื่อง
ซึ่งถือเป็นการหมักในลักษณะสมัยใหม่ (มีถังหมักเป็นแบบหอคอยยาว ๆ) ดร. จรูญย้ำถึงวิธีทำงานของตัวเองซึ่งมุ่งถึงการหมักในแนวใหม่อันนี้
การหมักในวิธีการใหม่ตามที่ "ผู้จัดการ" กล่าวมายังสามารถที่จะทำให้มีเซลล์ยีสต์มากเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าของการหมักในแบบธรรมดา...จากคุณสมบัติของยีสต์สายพันธุ์ที่ค้นพบเมื่อเอามาใช้กับการหมักในวิธีค้นคว้าดังกล่าว
ดร. จรูญยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า "เมื่อสิ้นสุดการหมักแล้วสามารถทิ้งให้ตกตะกอน
จากนั้นก็แยกยีสต์ออกมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ ซึ่งจะมีโปรตีนสูงถึง 40-50
เปอร์เซ็นต์"
จากคุณสมบัติดังกล่าวและจากสภาพข้อเท็จจริงของเมืองไทยเรากากน้ำตาลมันราคาถูกมากเหลือเกินประมาณกันว่าตกกิโลกรัมละ
1 บาทซึ่งถ้านำเอามาเลี้ยงยีสต์ตัวนี้ เราก็จะสามารถผลิตอาหารสัตว์ได้อย่างคุ้มค่าทีเดียว....อันนี้เป็นคุณสมบัติที่เด่นชัดอีกประการของเจ้ายีสต์ตัวนี้...
"วิธีการแยกยีสต์นั้นค่อนข้างจะทำได้ง่าย มีความเป็นไปได้สูงที่จะทำงานนี้ขึ้นมา
ผมลองคิดดูว่า ถ้าเราเลี้ยงยีสต์ 1 กิโลกรัม ใช้กากน้ำตาล 3 กิโลกรัม โดยคิดในระดับที่ว่าเรายังไม่มีเทคโนโลยีมากอย่างที่เรามีอยู่ในประเทศขณะนี้
ต้นทุนรวมของขบวนการผลิตน่าจะตกกิโลละ 5 บาท ซึ่งน่าจะผลิตได้ไม่ต่ำกว่า
40% แต่ถ้าการผลิตของเรามีประสิทธิภาพสูง เราก็ยังสามารถลดต้นทุนได้มากกว่านี้
แล้วเมื่อคำนึงว่าเราได้สั่งกากถั่วเหลืองเข้ามาเป็นอาหารสัตว์ ต้นทุนขนาดที่ผมคิดให้สูง
ๆ นี้ มันยังคุ้มกว่า น่าจะทดแทนกากถั่วเหลืองเหล่านั้นได้ดี...สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่ของใหม่อะไรหรอกที่จะสร้างอาหารสัตว์จากยีสต์ทั้งในไต้หวัน,
สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น หรือยุโรปนั้นเขาก็เลี้ยงยีสต์กันอย่างนี้แหละ..."
ดร. จรูญกล่าวถึงอีกหนทางหนึ่งที่จะใช้ประโยชน์จากยีสต์ ซึ่งย่อมแน่นอนว่าเมื่อเป็นเชื้อยีสต์ชนิดนี้
บวกเข้ากับการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิตให้สูงขึ้น ก็ยิ่งกดต้นทุนสร้างอาหารสัตว์ด้วยกรรมวิธีให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
แต่ก็นั่นแหละ...เป็นที่น่าเสียดายเพราะเรายังไม่มีการพัฒนาเรื่องนี้ไปถึงไหนเลย
คงต้องก้มหน้าก้มตาสั่งเข้ากากถั่วเหลืองอยู่เป็นประจำทุก ๆ ปี
แม้กระทั่งปลาป่นที่เอามาใช้เป็นอาหารสัตว์ โปรตีนจากยีสต์นี้ยังคงดีกว่าและต้นทุนต่ำกว่ามากด้วย
อีกนั่นแหละ...เมื่อการค้นพบนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยและโดยคนไทย มันก็ย่อมไม่มีอะไรอีกเช่นเคย...
"ผมยังมองไปอีกว่า แทนที่เราจะใช้กากน้ำตาลล้วน ๆ เอามาหมัก ถ้าสมมุติเราใช้จากโรงเหล้า
ซึ่งจะมีน้ำตาลอยู่ส่วนหนึ่งแล้วเติมน้ำตาลลงไปเพิ่มอีกเล็กน้อย มันจะยิ่งเป็นเรื่องที่คุ้มค่าเหลือเกินที่จะผลิตอาหารของสัตว์ขึ้นมา..."
ดร.จรูญชี้แจง
ยีสต์โดยทั่วไปนั้นอันที่จริงก็สามารถที่จะเอามาผลิตอาหารสัตว์ได้ แต่มันจะต้องเอาเซลล์มาแยก
ซึ่งจะต้องใช้เทคโนโลยีที่ราคาแพงมาก ผิดกับยีสต์สายพันธุ์ใหม่ที่ ดร. จรูญค้นพบ
"เพราะการตกตะกอนที่เป็นคุณสมบัตินั้น เท่ากับเป็นการลดค่าเทคโนโลยีกันเลย
อย่างยีสต์ที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้วจากโรงเหล้า มันหมักเสร็จมันก็ลอยกันอยู่
แยกออกไม่ได้ เราก็ทิ้งไปปี ๆ หนึ่งมหาศาลทีเดียว มูลค่านับเป็นร้อยล้าน
มันเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาล กิจการโรงเหล้าปี ๆ หนึ่งเราทิ้งไปเท่าใด หนำซ้ำยังก่อสภาพของมลพิษอีกด้วย
ไอ้ตัวยีสต์นั้นภาษาเดิมเราเรียกกันว่าส่า..."
ยีสต์ตัวนี้ตามความเป็นจริงแล้วมันยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย แต่สำหรับเฉพาะทดลองวิจัยของ ดร. จรูญและทีมของเขานั้น เท่าที่ผ่านมาเพิ่งจะทำการทดสอบอย่างจริงจังเฉพาะในเรื่องของการสร้างโปรตีน
อย่างเราจะเห็นชัดเจนว่าประเทศญี่ปุ่นที่ได้เอาเชื้อยีสต์นี้ไปก็เอาไปใช้ในการหมักแอลกอฮอล์
สามารถสร้างธุรกิจเหล้าได้นับเป็นมูลค่าหมื่น ๆ ล้านบาท
ทีมงานวิจัยใน "เซ็นทรัลแล็บ" ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเจ้ายีสต์ตัวนี้
(ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม)
ได้เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" เช่นกันว่า "จุลินทรีย์ที่ค้นพบนั้นช่วยในการหมักแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิภาพสูง
เป็นยีสต์ที่เราทดลองโดยมี ดร. จรูญ คำนวนตา เป็นหัวหน้าโครงการก็ได้มันออกมาประมาณ
3-4 เบอร์ เบอร์ที่ดีที่สุดนั้นเราก็มีสูตรของเรา ในส่วนที่ญี่ปุ่นเขาขอไปนั้น
เราได้ให้เบอร์ที่รอง ๆ ลงไป เพราะอันนี้หัวหน้าโครงการเขาเป็นผู้ตัดสินใจ
เราให้เบอร์ 2, 3 ไป... เข้าใจว่าเขาเอาไปใช้มากในการสร้างธุรกิจเหล้า.."
ถ้าหากมีการส่งเสริมและพัฒนาการวิจัยไปให้มากกว่านี้ สิ่งหนึ่งที่จะก่อประโยชน์ติดตามมาจากเชื้อยีสต์ดังกล่าวนี้ก็คือ
อุตสาหกรรมส่งออกแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังมีอนาคตอยู่ในโลกเราทุกวันนี้
ดร. จรูญฯ ได้เคยศึกษาเกี่ยวกับอนาคตของเจ้าสิ่งนี้มาก่อนเขาให้ความคิดเห็นว่า
"ปัจจุบันอุตสาหกรรมส่งออกแอลกอฮอล์มันยังมีลู่ทางแจ่มใสอยู่ แอลกอฮอล์นั้นจะมีการใช้กันมากทีเดียว
ทั้งในด้านเภสัชกรรมและด้านอื่น ๆ อีกมาก หลายประเทศยังมีความต้องการซื้อถ้าหากเรามีฝ่ายขายที่ดี
เรายังสามารถขยายตลาดด้านนี้ไปอีกกว้างขวาง อันนี้ผมพิจารณาจากแนวโน้มของการส่งออกที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ แต่เท่าที่ดูต้นทุนของการผลิตในทุกวันนี้มันยังสูงอยู่ ความจริงแล้วต้นทุนผลิตอันนี้เราสามารถลดลงได้อีกมากนัก
ทุกวันมันทำอุตสาหกรรมเพียงในระดับพอไปได้ เท่าที่ผมทราบอุตสาหกรรมหมักแอลกอฮอล์นั้นจะทำกันในครอบครัว,
เหล้า, อาหารสัตว์แล้ว คุณประโยชน์ของยีสต์ยังใช้ได้ดีในการทำอาหารประเภทหมักดอง
โดยบวกเข้าไปกับแบคทีเรีย มันจำเป็นที่จะต้องใช้ยีสต์เหมือนกัน ที่เราเห็นง่าย
ๆ ก็เป็นการทำขนมปัง ขนมตาล ข้าวหมาก ฯลฯ ยิ่งเป็นบางประเทศที่มีแหล่งผลิตอาหารจากโปรตีนจำกัดเขายิ่งมีการผลิตยีสต์กันเป็นอาหารมากขึ้น
เช่น ประเทศโซเวียตรัสเซียนั้นนับว่ามีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้มาก บางแห่งยังมีการลงทุนผลิตเป็นรูปของวิตามินเอาไว้ขาย
หัวข้อของการศึกษาเพื่อพัฒนาเอายีสต์นี้ไปใช้ประโยชน์มันยังมีอีกมากมายจึงเป็นเรื่องที่ไม่เกินจริงถ้าเราจะกล่าวว่า
"เจ้ายีสต์นี้มีมูลค่านับเป็นแสน ๆ ล้านบาท…ดร. จรูญผู้ค้นพบเชื้อนี้ก็เคยกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "ที่คุณว่ามันมีค่าแสนล้านบาทนั้น ความจริงมันก็มีความเป็นไปได้มากทีเดียว
เป็นเรื่องที่ไม่เกินจริงหรอกหากเราพัฒนาหยิบเอาประโยชน์ของมันมาใช้ให้ถูกต้อง!..."
ครับ...ความจริงเป็นกันเช่นนั้น แต่ช่างน่าเสียดายเหลือเกินที่มันไม่ได้แปรออกมาเป็นประโยชน์อะไรเลยสำหรับเมืองไทยเราไม่ได้แปรออกมาเป็นสตางค์แม้เพียง
"บาทเดียว"
เมืองไทยใกล้เกลือกินด่าง....ต่างประเทศวิ่งขอเชื้อวุ่น..
จากการค้นพบในเรื่องนี้ก็เข้าทำนอง "ใกล้เกลือกินด่าง" เริ่มต้นนั้นก็สืบเนื่องมาจาก
"เซ็นทรัลแล็บ" หรือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นั้นได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในรูปของเงินให้เปล่า
โดยเฉพาะในหน่วยงานของ "กองบริการและเผยแพร่วิชาการแก่ชุมชน" โครงงานนี้ได้รับเงินโดยตรงจากญี่ปุ่นเมื่อปี
2521 เป็นเงินทั้งสิ้น 130 ล้านบาท เรื่องเหล่านี้มันเป็นบุญคุณพื้นฐานเดิมกันอยู่เป็นการลงทุนเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือให้เกือบทั้งหมด
แหล่งข่าวใน "เซ็นทรัลแล็บ" ท่านหนึ่งก็ได้เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"
ว่า.. "ในส่วนที่ญี่ปุ่นเขาสนใจนั้นเพราะเรามีข้อแลกเปลี่ยนกับเขาในเรื่องของงานวิจัย
งานวิจัยทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นของหมักดอง ญี่ปุ่นเขาก็พยายามที่จะแยกเชื้อกลับประเทศของเขาให้ได้
เราไม่มีมาตรการอะไรที่จะควบคุมญี่ปุ่นในการที่เขาจะเอา แต่อย่างเรื่องยีสต์นี้
เราได้แยกเชื้อเบอร์หนึ่งของเราเก็บเอาไว้.." ในเรื่องของเทคโนโลยีนั้นจะเห็นว่านานาอารยประเทศเขาล้วนส่งเสริมกันอย่างจริงจัง
เหมือนญี่ปุ่นนั้นถึงกับต้องทุ่มเทเงินทองมาเพื่องานวิจัยและค้นคว้าด้านเทคโนโลยีจนนอกขอบเขตประเทศของตัว..ใคร
ๆ เขาก็ล้วนทุ่มเทและให้ความสนใจกันทั้งสิ้น มันเป็นเหตุผลที่จะไปสู่ความมั่งคั่งของประเทศชาติ...
แต่...ไม่ใช่เมืองไทยเราหรอก...
ดร. จรูญได้เปิดเผยในเรื่องที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจต่อเชื้อยีสต์นี้ว่า
"เราได้ทำงานร่วมกับญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นเชื้อนี้ก็ทราบว่าญี่ปุ่นเขานำไปใช้ในบางโรงงานแล้ว
มีหลายประเทศที่ติดต่อมาหาเรา เท่าที่ติดต่อมาก็มี สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย,
อังกฤษ เขาขอเข้ามาแต่เรายังไม่ได้ให้ เพราะเขาไม่ได้ให้อะไรเราเลย ขอกันมาเฉย
ๆ เราไม่ได้มีการเจรจาอะไรกัน โดยความตั้งใจจริงแล้วเราอยากจะเอาเชื้อยีสต์นี้ใช้กันในเมืองไทยของเราเองมากกว่า
... มันไม่เชิงว่าเป็นเรื่องลับสุดยอดอะไรเสียเลยทีเดียว แต่กว่าที่เราจะค้นพบได้นั้นก็ต้องเสียเวลาและเสียเงินไปหลายแสนบาท
ถ้าจะให้ง่ายๆ ด้วยการมาขอนักวิชาการมันก็กระไรอยู่ เชื้อพวกนี้ถ้าเขาค้นพบแล้วเราไปขอเขาๆ
ก็คงไม่ให้เราเหมือนกัน..."
ในวงการของนักวิจัยทางเคมีและชีววิทยาในบ้านเรา ต่างกล่าวกันเป็นเสียงเดียวกันว่า
"เรื่องยีสต์นั้นอาจารย์จรูญในฐานะผู้ค้นพบและ"เซ็นทรัลแล็บ"
ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง ก็อยู่ในฐานะที่อึดอัดใจมาก เพราะญี่ปุ่นนั้นก็ช่วยในงานมาร่วมร้อยกว่าล้านบาทที่กำแพงแสนนี้
จะไปกีดไปกันอะไรนักก็คงไม่ได้"
ดร.จรูญบอกในประเด็นนี้กับ "ผู้จัดการ" ว่า ... "เพราะฉะนั้นผมก็ไม่มีทางที่จะกันอะไรเขาได้
เขาส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาอยู่ร่วมกับเรา เราก็ต้องให้เขาไป ผมคิดว่าในตอนนี้เขาได้รู้พอ
ๆ กับเราแล้ว.."
แหล่งข่าวบางท่านในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังบอกกับ "ผู้จัดการ"
จนถึงขั้นว่า "เรื่องนี้จะพูดกันมากนักก็ไม่ได้ เงินที่ญี่ปุ่นช่วยเหลือเรามันค้ำคอกันอยู่
หากจะโทษก็ต้องโทษรัฐบาลไทยเราเองที่ไม่ได้เล็งเห็นคุณค่ามันสมองของนักวิทยาศาสตร์ไทย
แล้วรัฐบาลเองก็ยังไม่เคยคิดจริงจังที่จะหาทางออกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติ
ด้วยการเน้นและเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี.." นักวิชาการท่านนั้นปฏิเสธที่จะให้เปิดเผยนามจริง
ทั้งนี้เพราะ "ยังติดงานวิจัยที่ค้างอยู่กับญี่ปุ่นอีกหนึ่งโครงการ..."
ด้านความพยายามของญี่ปุ่น แม้ว่า "เซ็นทรัลแล็บ" จะมอบยีสต์เบอร์2
และเบอร์ 3 ให้ไปแล้ว "วงใน" ที่เคยทำงานร่วมกับ ดร. จรูญยังบอกกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "เราคิดว่าเขาพยายามที่จะเอาเชื้อยีสต์เบอร์
1 ไปให้ได้ ไม่ใช่ผมจะระแวงอะไรนะครับ เขาลงทุนถึงกับใช้นักวิจัยสตรีสาว
ๆ มาประกบคนของเรา พูดได้ว่ามีความพยายามทุกรูปแบบที่จะล้วงตับไปกินเอาให้ได้ แล้วเรื่องนี้ทางเราก็ไหวตัวทัน
แต่ไม่มีใครโวยอะไรหรอกฮะ .. มันเป็นเรื่องลูกกระเดือกที่หลายคนกลืนไม่เข้าและคายไม่ออก..."
เรื่องยีสต์นี้... มันอาจจะสำคัญกว่าที่ "ผู้จัดการ" ได้เขียนถึงในข้างต้นเสียอีก...เพราะมิฉะนั้นแล้วคงไม่ต้องถึงกับมี
"แผนล้วงตับสีชมพูกันหรอก...
ความสำคัญนั้นญี่ปุ่นคงจะรู้ดี...แต่ไม่ใช่รัฐบาลไทยรู้เด็ดขาด... ไม่มีผู้สนับสนุน...นอกจากต่างชาติเท่านั้นที่เห็น
"ความสำคัญ"
การขึ้นหัวเรื่องในวรรคท่อนนี้ ฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่รู้สึกเจ็บปวดลึก
ๆ กันจริงเจียว ..แต่มันก็เป็นข้อเท็จจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ "เรื่องของมันสมองไหล.."
จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นในเมืองไทยยากยิ่ง เราไม่อาจที่จะลงโทษนักวิชาการหรือนักวิจัยได้โดยตรง
ใคร ๆ ก็ย่อมต้องการผลงานและความก้าวหน้าในวิชาชีพของตน โดยเฉพาะสถาบันที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมงานวิจัยของบ้านเรา
ยังมีขอบเขตที่จำกัดมากจึงยังเป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าด้านนี้
จากการค้นพบเชื้อยีสต์ตัวนี้ จะเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นได้นำเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางแล้ว
แม้กระทั่งในการสร้างธุรกิจเหล้า แต่สำหรับทีมงานวิจัยพันธุ์แท้ลูกหม้อแท้
ๆ ยังไม่ได้มีโอกาสที่จะทำการทดลองเพื่อเอายีสต์ตัวนี้มาใช้ประโยชน์ให้กว้างขวางขึ้น
ซึ่งสาเหตุนั้นเนื่องมาจาก "ขาดการสนับสนุน และไม่ได้รับความสนใจเพียงพอ.."
"เรายังไม่ได้ทดสอบคุณภาพของยีสต์ในเรื่องแอลกอฮอล์เพื่อเอามาเป็นเครื่องดื่ม
มันจะต้องใช้ทุนวิจัยอีกมากนักเป็นการยากที่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยจะได้ทุนวิจัยมา
2-4 ล้านบาท ไม่มีใครเขาสนใจให้หรอกครับ ครั้นขอไปได้มาเพียง 2-3 แสน เราก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้
งบวิจัยนั้นสูงมาก เพราะเราจะต้องนำผลออกมาให้ได้ว่ามันจะทำได้หรือไม่ได้เพียงไหน
ถ้าเราทำเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ผลิตยีสต์ออกมาสักกิโลฯ หรือครึ่งกิโลฯ ดูท่าว่าไม่มีวันวิเคราะห์ออกมาถูกต้องแน่นอนแต่พอจะทำเป็นสากลที่จะให้พอเลี้ยงสัตว์ได้
สัตว์เป็นอย่างไรให้เน้นลงไปมันก็ต้องใช้เงินมากพอสมควร ไม่มีใครอยากให้..."
ดร.จรูญผู้พบเจออุปสรรคด้วยตนเองที่จะทำงานให้ได้ต่อเนื่องให้ความเห็น
แม้กระทั่งด้านสภาวิจัยฯ นั้นก็เป็นที่รับทราบกันดีแล้วในวงการของนักวิจัยว่า
"มีงบประมาณที่จำกัดมากทีเดียว เคยให้งบวิจัยครั้งละแสนหรือสองแสนบาท
ไม่มีโครงการใหญ่ ๆ ที่จะใช้เงินกันเป็นล้านบาท…"
เรื่องจริงมันเป็นอย่างนี้ ... สภาพของปัญหามันเป็นกันเช่นนี้ จึงไม่มีทางออกใด
ๆ ที่จะดีกว่าการยอมรับเงื่อนไขของต่างชาติที่ยินดีสนับสนุนในโครงงานการวิจัยใด
ๆ ของนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ...ในรูปแบบที่เปิดเผยของเขานั้นก็คือ
"การให้เปล่า.." แต่อีกด้านของข้อเท็จจริง เขาก็เล็งเอาไว้เรียบร้อยแล้วว่า
"มันเป็นเรื่องคุ้มค่าพอต่อการลงทุน"
คนไทยมีสมองที่ชาญฉลาดพอ เมื่อรัฐบาลไทยเองไม่เคยใช้ ต่างชาติเหล่านั้นจึงถือโอกาสเป็นช่องว่างแทรกเข้ามา
เรื่องราวเหล่านี้เราจะไปโทษเขาก็ไม่ได้ทั้งสิ้น
นักวิชาการเองก็ไม่อยากให้ภูมิความรู้หรือวิทยาการของตนต้องเฉาตายไปเหมือนกัน
มันเป็นการทำหน้าที่ค้นคว้าและวิจัยตามภาระของเขาเองที่ถูกต้องและเท่าที่เงื่อนไขจะเอื้ออำนวยให้!…
เป็นเรื่องที่พูดยากสำหรับประเทศด้อยพัฒนา!….
เมื่อเราหันกลับมามอง "ความหวัง" ที่เกิดจากธุรกิจการลงทุนของฝ่ายเอกชนซึ่งอาจจะเป็นตัวที่รับรองและสนับสนุนได้ เงื่อนไขประการนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ภายในประเทศ
ทั้งนี้และทั้งนั้นคงต้องหยิบเอาคำพูดของ พรเสก กาญจนจารี มาอ้างถึง "เมืองไทยเรานั้นส่วนมากแล้วเรายังไม่มีงานอุตสาหกรรมกันเลย
สิ่งที่เรามีอยู่นั้นมันเป็นเพียงธุรกิจอุตสาหกรรมเท่านั้นเอง" ธุรกิจอุตสาหกรรมจึงไม่ค่อยเห็นถึงความสำคัญในการวิจัย
และค้นคว้าเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองให้ดีขึ้น...เพราะพวกเหล่านี้เขาล้วนใช้เทคโนโลยีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น
มันเป็นเพียงมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ก้มหน้าก้มตาสร้างผลผลิตเพื่อขายลูกเดียว
แต่ไม่เคยมีการวางรากฐานที่จะยืนบนแข้งขาของตัวเองในด้านของเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จึงเกิดปัญหาที่จะมาต่อกันติดกับบรรดานักวิชาการและนักวิจัยทั้งหลาย
ดร. จรูญให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า "ผมเองนั้นมองว่า
มันมีช่องว่างระหว่างนักวิชาการกับนักลงทุนส่วนใหญ่ในประเทศ อย่างนักวิชาการนั้นเขาจะค้นคว้าหรือศึกษาเรื่องใด
ๆ เขาก็จะต้องมองความเจริญก้าวหน้าในต่างประเทศเสียก่อนเป็นหลักสำคัญ มองไปว่าของต่างประเทศก้าวหน้าอย่างไร
ก็จะพยายามทำให้มันเหมาะสมกับบ้านเรา... แต่นักลงทุนต่าง ๆ นั้น เขาพอใจที่จะซื้อทุกสิ่งมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น
แล้วเมืองนอกนั้นนักวิชาการก็ค่อนข้างจะมากเสียด้วย จึงเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่เขาจะมาสนใจเราเหมือนอย่างสมัยก่อนโน้น
เราสามารถเข้าไปได้เพียงโรงเหล้าในต่างจังหวัดเล็ก ๆ ที่เขาไม่มีผู้เชี่ยวชาญไม่มีนักวิชาการ
แต่อย่างในกรุงเทพฯ เขาไม่สนเราหรอก..."
มันก็เป็นเรื่อง "แปลกดีนะ.." ที่เจ้ายีสต์ตัวดังกล่าวเริ่มเข้าไปมีอิทธิพลต่อวงการธุรกิจเหล้าของญี่ปุ่น
"งานวิจัยของผมเป็นที่ยอมรับกันมากในญี่ปุ่น เป็นที่ฮือฮาของพวกเขา
โดยเฉพาะในหมู่ที่ทำเหล้าแอลกอฮอล์และทำเชื้อยีสต์นี่ เขารู้จักผมดี..."
ดร.จรูญชายผู้มีหน้าตาและท่าทางสงบเสงี่ยม คงไม่ได้มีเจตนารมณ์อะไรที่จะคุยฝอยยกเมฆหรือยกตัวเอง
หากแต่เป็นการพูดข้อเท็จจริงออกมาอย่างขื่น ๆ ระคนน้อยใจกับ "ผู้จัดการ"
...มันเป็น "เรื่องแปลกดีนะ" สำหรับบ้านเราที่การค้นพบดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจแต่อย่างใดจากฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งคงเป็นด้วยเหตุผลหลายประการทีเดียว งานที่ดำเนินมาจนถึงจุดนี้จึงเหมือนยังอยู่ในจุดที่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ "การทำงานที่ผ่านมานั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ แต่จริง ๆ แล้วเรายังต้องการผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทางวิศวกรพวกนี้จะต้องเข้ามาดูด้วย
เพราะฉะนั้นการวิจัยมันต้องเป็นทีมใหญ่ ไม่ใช่เพียงคนหรือสองคน แต่ส่วนที่เราทำมามันก็เป็นขั้นตอนหนึ่งของความสำเร็จ
ยังไม่ถึงขั้นสมบูรณ์ที่จะเอาไปใช้ลงทุนทำออกมา ความต้องการข้อมูลวิจัยคงมีอีกพอสมควรแล้ว"
ดอกเตอร์หนุ่มใหญ่ชี้แจงถึงเหตุผลของความต้องการเงินทุนวิจัย เพื่อที่จะผลักดันการค้นคว้าใช้ประโยชน์จากยีสต์ดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จ...
แต่มันคงจะยากพอสมควร!….
แล้วใครจะรู้บ้างเล่าว่า "เพียงได้เชื้อยีสต์ไปนั้น.." ฝ่ายญี่ปุ่นเขาก็คงทำการทดลองต่อไปแล้วชนิดที่ทะลุปรุโปร่ง
...ดร. จรูญเองก็อาจจะไม่รู้เหมือนกัน!..
ดร. จรูญ คำนวนตา/เขาเป็นใครมาจากไหน?…
ชื่อและนามสกุลนี้คงจะเป็นที่ไม่มักคุ้นในวงนอกทั่วไป แต่สำหรับในแวดวงของนักวิทยาศาสตร์เมืองไทยนั้น
หรืออาจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ครึ่งค่อนโลกก็ได้ต่างยอมรับในฝีมือและรู้จักกับเขาดี..จรูญ
เป็นเพียงไม่กี่คนในเมืองไทยที่มีความเชี่ยวชาญกับเรื่องของจุลินทรีย์อย่างดีเยี่ยม
หนุ่มใหญ่วัยย่างเข้า 44 ปีผู้นี้เป็นคนแม่ฮ่องสอนโดยกำเนิด เขาเป็นเด็กเรียนหนังสือเก่งมาโดยตลอดตั้งแต่เมื่อยู่บ้านนอกแล้ว
เพียงศึกษาในชั้น ม.7-ม.8 (ในสมัยนั้น) จรูญฯก็ได้รับทุนของมูลนิธิฟุลไบรท์เข้าเรียนจนสำเร็จโรงเรียนปรินสรอยแยลส์ที่จังหวัดเชียงใหม่
แล้วศึกษาจนสำเร็จปริญญาตรีด้านจุลชีววิทยา คณะกสิกรรมและสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
บางเขน จากนั้นไปสำเร็จปริญญาเอกด้านเกษตรจากประเทศกรีก เรื่องที่ทำให้เขาได้ปริญญาเอกนั้นเป็นเรื่องของยีสต์และไวน์ล้วน
ๆ!
ในปี 2517 เขาเคยเข้าฝึกงานเกี่ยวกับแบคทีเรียของเมล็ดพันธุ์ที่ประเทศเดนมาร์ก
จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โคเปนเฮเกน ซึ่งเราถือว่าเป็นอีกแห่งหนึ่งของโลกที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องอาหารและการเกษตรเป็นอย่างดี
...ประสบการณ์ที่เขาได้รับรู้ในเรื่องยีสต์โดยตรงเกิดขึ้นเมื่อมีโอกาสได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยโตเกียวเพื่อทำการอบรมวิจัยในเรื่องยีสต์
จะเห็นว่า "ความเชื่อมือ" ที่ญี่ปุ่นมีต่อนักวิชาการท่านนี้เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว
เพราะผลงานของเขานั่นเอง จนกระทั่งต่อมาได้เป็นผู้ประสานงานตามโครงการวิจัยร่วมกับญี่ปุ่นถึง
3 โครงการใหญ่ด้วยกันคือโครงการวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากญี่ปุ่นถึง
50 ล้านบาท, โครงการความร่วมมือด้านการวิจัย ร่วมกับสถาบันการวิจัยของประเทศญี่ปุ่นและโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยและค้นคว้าเรื่องอาหารของประเทศญี่ปุ่น...โครงงานต่าง
ๆ เหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องของแอลกอฮอล์และยีสต์ทั้งสิ้น
ถ้าเราจะกล่าวในฝ่ายญี่ปุ่นนั้นได้เฝ้ามอง ดร. จรูญมาโดยตลอด ก็คงเป็นเรื่องที่กล่าวไม่ผิดความจริงสักเท่าใดนัก
เขาจึงเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากสถาบันการศึกษาหลายแห่งของเมืองญี่ปุ่น
และเมื่อไปรื้อดูปูมหลังเกี่ยวกับงานวิจัยของเขาเท่าที่เคยทำมานั้น เราจะยิ่งเห็นชัดเจนถึงพื้นฐานที่แน่นหนาอย่างดียิ่งในเรื่องของ
"ยีสต์" ผลงานวิจัยของเขาในหัวข้อของ "ยีสต์" มีไม่น้อยกว่า
30 โครงงานเลยทีเดียว...
หนึ่งในงานวิจัยที่ถือเป็น "ไฮไลต์" นั้นคงจะได้แก่เรื่องที่
"ผู้จัดการ" ได้กล่าวถึงมาโดยละเอียดแล้วนั่นเอง งานวิจัยชิ้นนี้ถือว่าสามารถนำออกมาเผยแพร่จนถึงขั้นนำไปปฏิบัติ
ซึ่งสรุปก็คือเป็นผลงานด้านการหมักแอลกอฮอล์ โดยเป็นการค้นพบยีสต์สายพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมสำหรับการหมักแอลกอฮอล์ในด้านอุตสาหกรรม
ทำให้สามารถหมักแอลกอฮอล์ได้สูงขึ้น หมักได้เร็วขึ้น อีกทั้งทนต่ออุณหภูมิที่สูงได้
มีสภาพที่ทนต่อความเป็นกรด ซึ่งยีสต์ส่วนมากจะทนในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้
นอกจากนั้นแล้วงานที่สำคัญอื่น ๆ ก็มี เช่น ได้นำระบบการหมุนเวียนน้ำส่าโดยใช้แรงดันอากาศเอาไปใช้ในโรงงานสุราทำให้เป็นการลดต้นทุนด้านพลังงานและทำให้ผลของการหมักดีขึ้น
...ผลงานในเรื่องการปรับปรุงระบบการหมักโดยใช้การหมักแบบเป็นขั้นเป็นตอนก็เป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจ
มันทำให้ได้รับแอลกอฮอล์ในน้ำส่าสูงขึ้น อีกทั้งเป็นการลดปัญหาของแบคทีเรียที่จะทำให้เกิดการสูญเสีย....ผลงานแนะนำให้ใช้รำข้าวแทนน้ำยากำจัดฟองที่ต้องสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ
ฯลฯ
และงานวิจัยอีกชิ้นที่ถือว่า "จะเป็นลู่ทางนำไปใช้ขั้นอุตสาหกรรมในอนาคตถ้าหากได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ"
ซึ่งได้แก่ "การใช้ประโยชน์จากน้ำส่าเหล้าที่ทิ้งอย่างสูญเปล่า ให้เอามาเป็นอาหารของยีสต์เพื่อที่จะสร้างโปรตีนให้เป็นอาหารของสัตว์เลี้ยง.."
ซึ่งทั้งนี้และทั้งนั้นก็สามารถคัดเลือกพันธุ์ยีสต์ให้เจริญเติบโตในน้ำส่านั้นได้
มันก็คือไอ้ยีสต์แสนล้านเบอร์ 1 ที่เขา "ยังไม่ยอมให้ญี่ปุ่นไป.."
พูดถึงงานวิจัยและศึกษาเกี่ยวกับเรื่องยีสต์ของนักวิชาการผู้นี้ "ผู้จัดการ"
คงไม่สามารถนำเสนอได้ในรายละเอียด..เอาเป็นว่า "เขาเก่งมากก็แล้วกัน.."
เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องยีสต์ที่คงหาคนมาจับตัวได้ยาก ไม่เท่าแต่จะเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้นในขอบเขตที่ขยายออกไปทั่วโลก
ชื่อ ๆ นี้ยังเป็นที่รู้จักไม่น้อยอยู่เช่นเดียวกัน
ดร. จรูญ คำนวนตา เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง "ชมรมผู้หมักแอลกอฮอล์แห่งประเทศไทย"
ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแกนสำคัญที่จะเผยแพร่ความรู้ทางด้านการหมักให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตของโรงงานสุราทั่วประเทศ
ปัจจุบันเขาก็เป็นประธานฯ ของชมรมแห่งนี้อยู่
จากการทำงานวิจัยพร้อม ๆ กับเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าศูนย์คนแรกของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลองวิทยาเขตกำแพงแสน
ซึ่งแน่นอนต้องเป็นเงินจากประเทศญี่ปุ่นสนับสนุนอีกตามเคย จนตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือ
ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์...แต่แล้วในที่สุด
ดร. จรูญก็อำลารั้วมหาวิทยาลัยไปเมื่อไม่นานมานี้
เหตุผลจริง ๆ ของเขาที่ลาออกอาจจะมีสาเหตุมาจากความอึดอัดใจหลายอย่าง แม้กระทั่งเรื่องยีสต์ตัวสำคัญดังกล่าวที่คงจะเป็นปัจจัยหนึ่งด้วย
...ในเรื่องนี้ไม่มีแหล่งข่าวใดกล้าจะยืนยัน เจ้าตัวเองก็ปฏิเสธที่จะพูดถึงมันเหมือนกัน
แต่ว่ากันว่าสาเหตุอีกอย่างนั้นได้แก่ "ความเหม็นเบื่อบรรยากาศในมหาวิทยาลัย
ซึ่งครูบาอาจารย์ล้วนขวักไขว่ที่จะแย่งชิงตำแหน่งต่าง ๆ ขอขั้นเป็นศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์กันให้เกลื่อน
ปัดแข้งปัดขากันแทนที่จะหันไปสนใจและลุ่มลึกในผลงานทางวิชาการ..."
บรรยากาศในมหาวิทยาลัยของบ้านเรามันยังเป็นอุปสรรคที่นักวิชาการจะทนอยู่ได้
กลับกลายเป็นบรรยากาศที่เกิดปัญหาต่อการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ...
ทุกวันนี้ ดร. จรูญ คำนวนตา จึงลาออกจากมหาวิทยาลัย หันมาเป็นผู้ชำนาญการด้านวิทยาศาสตร์
ประจำสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย มีหน้าที่หลักในการรับผิดชอบงานเกี่ยวกับเงินทุนอุดหนุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เขายังพยายามดิ้นรนและต่อสู้บนหนทางของตัวเองในเรื่องราวทางวิชาการเท่าที่มันจะเป็นไปได้...
คนดีนั้นโลกยังต้องการอีกกว้างขวาง
แต่สำหรับประเทศไทยเรานั้นไม่สู้แน่ใจสักเท่าไหร่หรอก!!..
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำเป็นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย "เพียงใด!."
หัวข้อดังกล่าวนี้เห็นที "จะต้องกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงอย่างหนัก
โดยเฉพาะในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 ที่จะถูกร่างออกมาใช้.." กรณีของ ดร.
จรูญ คำนวนตา เป็นเพียงกรณีเล็ก ๆ เท่านั้นที่ "ผู้จัดการ" ได้นำเสนอออกมาแง่มุมของเรื่องนี้สะท้อนให้เราได้รับทราบว่าแท้จริงแล้วความสามารถของนักวิทยาศาสตร์เมืองไทยก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าใครที่ไหนอื่น
แต่เนื่องจากระบบและกลไกที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน จึงทำให้ผู้คนเหล่านั้นไม่อาจจะใช้ความรู้และความสามารถของตัวเองได้อย่างเต็มที่
ดร. โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ให้ข้อคิดเห็นในเรื่องนี้กับ "ผู้จัดการ" ว่า "เมืองไทยเรานั้นตามสถาบันการศึกษาเรามีการศึกษาและงานวิจัยน้อยมากเหมือนกัน
เมื่อเปรียบเทียบกับทางญี่ปุ่น อาจจะน้อยกว่านับเป็นร้อย ๆ เท่า สิ่งเหล่านี้มันส่งผลทำให้พัฒนาการในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยต้องล้าหลังเขาอยู่เรื่อยไป
รัฐบาลยังไม่ได้มองเห็นถึงความสำคัญของงานด้านนี้เท่าที่ควร" รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ต่อสู้ในเรื่องนี้มาโดยตลอดกล่าวอย่างตรงไปตรงมา
"ประเทศไทยเรานั้นปัจจุบันสินค้าทางการเกษตรมีปัญหาในเรื่องตลาด เราขายแข่งขันกับเขาไม่ได้
มันถึงช่วงเวลาเสียแล้วที่เราจะต้องพิจารณานำเอาเทคโนโลยีใส่เข้าไปในสินค้าการเกษตร
ลดต้นทุนให้ต่ำลงหรืออย่างน้อยในการส่งออกเราก็ต้องแปรเปลี่ยนรูปไป ไม่ใช่ส่งสินค้าการเกษตรออกไปเป็นดุ้น ๆ อย่างนั้น มันไม่มีอะไรที่ดีกว่าการยอมรับเรื่องเทคโนโลยี เราจะต้องพัฒนาในเรื่องนี้อย่างจริงเสียที.."
นั่นเป็นข้อคิดเห็นที่น่ารับฟังของ ดร. โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ อีกเช่นกัน
แหล่งข่าวในวงการเทคโนโลยีของเมืองไทยท่านหนึ่งปฏิเสธจะเปิดเผยชื่อเสียงได้ให้ข้อมูลกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "ความคิดระหว่างค่ายนักเศรษฐศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์นั้นเป็นเรื่องที่สวนทางกันมาโดยตลอด
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เราเหมือนจะถูกกีดกันให้อยู่ในวงนอกมาตลอดในการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง
นักเศรษฐศาสตร์นั้นผูกขาดความคิดที่จะพัฒนาประเทศอย่าง ดร. โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์นั้นเป็นคนหนึ่งที่ต่อสู้ในแนวความคิดอันนี้มาอย่างต่อเนื่อง
เราพูดได้ว่าแกเป็นหัวหอกของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่จะสู้ให้รัฐบาลยอมรับแนวความคิดที่จะใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศ.."
ในขณะนี้มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์หนุ่ม ๆ เริ่มรวมตัวกันขึ้นมาบ้างแล้ว "ผู้จัดการ"
ได้สัมผัสกับคนกลุ่มนี้มาบ้าง พวกเขาต่างพูดถึงปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศและทางออกที่ยังตันอยู่
ข้อสรุปส่วนหนึ่งของกลุ่มก็คือ "จะต้องหาทางผลักดันแนวความคิดเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ
เพื่อให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยอมรับให้ได้.." พวกเขาไปไกลจนถึงขั้นว่า
"ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ปฏิเสธด้านเทคโนโลยีแล้วสามารถร่ำรวยกันขึ้นมากได้
เมื่อเราเป็นสังคมที่อาศัยการเกษตรเป็นพื้นฐาน ก็จำเป็นต้องผลักดันการใช้เทคโนโลยีในเรื่องการเกษตรให้เกิดขึ้นให้มากที่สุด"
พวกเขาเชื่อว่า เมื่อไทยเราได้ใช้แรงงานในการผลิตภาคเกษตรมากจนเกิดไปแต่ผลที่ได้นั้นกลับไม่คุ้มค่า
จึงจำเป็นจะต้องหาทางผลักดันเทคโนโลยีเข้าไปเพื่อที่จะทำให้ "เกิดการใช้แรงงานในภาคเกษตรน้อยลง"
เพื่อที่แรงงานส่วนที่เหลือจะได้ไปใช้ประโยชน์สำหรับการผลิตในภาคอื่น ๆ
แนวความคิดเช่นนี้กำลังดำเนินไปและต่อสู้กันอย่างเงียบ ๆ
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จะไม่ยินยอมอีกแล้ว "ที่จะให้ฝ่ายเศรษฐศาสตร์มาขีดเส้นในการวางแผนพัฒนาประเทศอย่างจำกัดจำเขี่ย"
พวกเขาสรุปกันว่า สาเหตุที่ถูกตีให้ตกกรอบสนามความคิดมาตลอดเวลานั้นเนื่องมาจากฝ่ายนักวิทยาศาสตร์ขาดการรวมตัว
และที่สำคัญสุดนั้นสืบเนื่องมาจาก "เศรษฐศาสตร์หรือทางรัฐศาสตร์นั้น
เป็นศาสตร์แห่งการใช้อำนาจ จึงทำให้มีพื้นฐานอำนาจของฝ่ายรัฐบาลได้มากกว่า
มีความสนิทสนมและแนบแน่นมากกว่า ก็เลยเป็นผลไปสู่การผูกขาดชี้นำทางความคิด
ทำให้การตัดสินใจใด ๆ ของฝ่ายรัฐบาลมีโอกาสคล้อยตามความคิดของนักเศรษฐศาสตร์สูงเป็นธรรมดา"
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการล้อมคอกจำขังนักวิทยาศาสตร์ไทย ดังเราจะตั้งข้อสังเกตเห็นชัดเจนว่าเมื่อคราวใดที่คำถามนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาถามฝ่ายนักเศรษฐศาสตร์
คนเหล่านั้นจะตอบคล้ายกับบิดเบนประเด็นไปคือพวกเขาจะบอกว่า "ไม่เห็นด้วยกับเรื่องของไฮ-เทคโนโลยีต่อการพัฒนาประเทศเพราะเมืองไทยจะต้องนำเข้าสิ่งเหล่านี้อีกมากมาย"
คำตอบเช่นนี้จึงเป็นคนละเรื่องกันกับที่ฝ่ายนักวิทยาศาสตร์กำลังต้องการต่อสู้
เพราะว่าฝ่ายวิทยาศาสตร์นั้นหมายถึง "การใช้วิทยาศาสตร์ในระดับที่เป็นไปได้สำหรับการพัฒนาประเทศ
อีกทั้งไม่ใช่เป็นการนำเข้าเทคโนโลยีอย่างที่เข้าใจกันไม่ หากแต่เป็นการสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเอง"
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเบื้องหลังที่มีความซับซ้อนและมีความเข้มข้นของการต่อสู้กันอยู่
ฉะนั้นจากผลงานที่ค้นพบขึ้นมาของ ดร. จรูญ คำนวนตา ที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่ก็หาใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใด
ในเมื่อมันเป็นผลงานที่สร้างขึ้นมากลางวังวนแห่งความขัดแย้งก็ต้องเป็นเช่นนี้แหละ....มันเป็นเรื่องที่คงจบสิ้นเหมือนอย่างที่เคยเป็นมายาวนานแล้ว
แนวความคิดของหน่วยงานรัฐที่จะผลักดันเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศแม้ว่าจะเป็นข้อสรุปในรายงานของการประชุมทุกครั้ง
แต่สำหรับหนทางปฏิบัติคงเป็นเรื่องที่ต้องซักฟอกกันต่อไป
แนวความคิดในเรื่องเทคโนโลยีของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลระดับสูงก็ยังเข้าใจกันไปคนละทิศคนละทาง
"แม้กระทั่ง ดร. เสนาะ อูนากูล ก็เพิ่งจะเข้าใจอย่างจริงจังบ้างเมื่อเร็ว
ๆ นี้เอง.." แหล่งข่าวสายนักวิทยาศาสตร์ในสภาพัฒน์ฯ ท่านหนึ่งให้ข้อสังเกตกับ
"ผู้จัดการ"
นอกไปจากนั้นยังคงมีปัญหาเรื่องการแบ่งแยกแคมป์แบ่งแยกค่ายกันระหว่างจุฬาฯ
กับสายเกษตรฯ และสายเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ... ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นผลทำให้กลุ่มก้อนและความคิดของนักวิทยาศาสตร์มีลักษณะกระจัดกระจาย
ชาคริต จุลกะเสวี เคยกล่าวติดตลกกับ "ผู้จัดการ" ว่า "แนวความคิดเรื่องเทคโนโลยีนั้นดูยังมีคนไม่เข้าใจอีกมาก
แม้ว่าทุกวันนี้จะดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนก็ตาม มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเกี่ยวกับมันสำปะหลังได้รับฟังการบรรยายทางวิชาการเกี่ยวกับปัญหาด้านเทคโนโลยีกับการลดต้นทุนผลิตแป้ง
เมื่อบรรยายเสร็จสิ้นท่านรัฐมนตรีรายนั้นก็มีคำถามว่า "เอ๊ะ..เทคโนโลยีนี่มันกิโลกรัมละกี่บาทกัน"
เล่นเอากลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้บรรยายถึงกับยืนเซ่อไปเลย.." สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงว่า
จนกระทั่งระดับบริหารประเทศนั้นยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ดีพอ..
แล้วมันยังต้องพูดอะไรไปให้มากมายอีกหรือ?
เรื่องยีสต์ราคาแสนล้านหรือล้าน ๆ ๆ บาทแค่ไหนก็ตาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในหมู่ผู้ที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย!!!….