หากบรรเจิด ชลวิจารณ์ ต้องลาจากเก้าอี้กรรมการผู้จัดการสหธนาคาร มีการวิเคราะห์กันว่าจะออกมา
2 ลักษณะ ดัชนีการเปลี่ยนแปลงอันนี้ ขอให้จับตาดูคนสองคนนี้ให้ดี...
คนแรก สุเจตน์ เสกสรร หรือ “โต๊วเซ็กเจียว” กรรมการรองผู้จัดการคนที่
2 รองจากชำนาญ เพ็ญชาติ สุเจตน์ได้ชื่อว่าเป็น PROFESSIONAL BANKER คนหนึ่งของเมืองไทย
และเป็น 1 ใน 34 พนักงานรุ่นบุกเบิกของสหธนาคาร
เขาเดินขึ้นบันไดตามขั้นตอนอย่างสมเหตุสมผล!
สุเจตน์จบ DEPLOMA IN COMMERCE และประกาศนียบัตรการธนาคารผ่านการอบรม HONORARY
COMPLETION CERTIFICATE OF SENIOR CREDIT SEMINA, NEW YORK เขาทำงานที่สหธนาคารได้
2 ปี ก็ก้าวขึ้นรองสมุห์บัญชีสำนักงานใหญ่และอีก 22 ปี (2517) จึงได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ
และผู้ช่วยผู้จัดการ ปีถัดมาได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการคณะกรรมการ จนปี
2521 ถึงได้เป็นกรรมการรองผู้จัดการอย่างเต็มภาคภูมิ รับผิดชอบงานด้านต่างประเทศฝ่ายบัญชีและฝ่ายกฎหมาย
เขาดู LOW PROFILE เอามาก ๆ แต่ในวงการธนาคารเขาก็ดูจะมีบทบาทไม่น้อย เป็นสมาชิก
“กลุ่มแปด” (นายแบงก์ระดับบริหารรุ่นหนุ่มของแบงก์ขนาดกลางและเล็ก)
และเคยเป็นที่ปรึกษาชมรมฟอเร็กซ์
เมื่อปลายปี 2528 ซึ่งใกล้เวลาที่บรรเจิด ชลวิจารณ์ จะรีไทร์ (ตามที่ตนเองประกาศไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า)
ข่าวออกมาหนาหู โดยเฉพาะในกลุ่มแปดเริ่มแสดงความยินดีกับสุเจตน์ไว้ล่วงหน้ากันแล้ว
ว่าเขาจะขึ้นนั่งเก้าอี้ตัวเดียวที่บรรเจิด ชลวิจารณ์ นั่งมาเกือบ 30 ปี
วงการวิเคราะห์กันว่า หนึ่ง-เขาเป็น PROFESSIONAL BANKER ที่ทำให้สหธนาคารดีขึ้นในแง่ภาพพจน์
สอง-เป็นทางออกที่บรรเจิดจะได้รับคำชมเชยว่า ธนาคารแห่งนี้มิใช่ของแค่ 2
ตระกูล และเป็นการประนีประนอมระหว่างชลวิจารณ์กับเพ็ญชาติ ไม่มีใครคิดว่ามีการปฏิวัติเงียบอะไรเทือกนั้น
สาม-ชำนาญ เพ็ญชาติเองก็สุขภาพไม่ใคร่ดี เป็นความดันโลหิตสูง ทำงานหนักไม่ได้
และดูเหมือนตัวเขาเองก็มิมีความทะเยอทะยาน อาจจะเป็นเพราะนั่งเก้าอี้อันดับสองมานานจนชินแล้ว
!
อีกคน พลเรือตรีชาโณ เพ็ญชาติ พี่ชายร่วมสายโลหิต ชำนาญ เพ็ญชาติวัย 62
ปี เคยเป็นนายทหารเรือ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัวอย่างเต็มที่
คือเจ้ากรมยุทธการทหารเรือ และเคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีกลาโหม ในสมัยจอมพลถนอม
กิตติขจร เถลิงอำนาจทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม
ชาโณมีธุรกิจของตนเองหลายแขนง เขาเป็นประธานซีพีกรุ๊ป ซึ่งประกอบด้วยกิจการเรือขนส่งน้ำมัน
เป็นกิจการใหญ่มาก มีเรือถึง 16 ลำ บริษัทเงินทุนชาติไพบูลย์ โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ที่เชียงใหม่
และบริษัทชาติไพบูลย์ทำธุรกิจป่าไม้ที่ภาคเหนือ
ชาโณได้ “เทกโอเวอร์” บริษัทจุฑานาวีเมื่อ 3 ปีก่อน ยุทธวิธียกพลขึ้นบกตรงนี้ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญมาก
!
ไม่หยุดเพียงแค่นั้น ล่าสุดจับมือกลุ่มอุตสาหกรรมสแกนดิเนเวีย ลงทุนอู่ต่อเรือ-ซ่อมเรือที่แหลมฉบัง
...
ฐานธุรกิจกลุ่มนี้แน่นหนาพอสมควร และพร้อมจะหนุนชำนาญ เพ็ญชาติอยู่ตลอดเวลา
เท่าที่ “ผู้จัดการ” สังเกต ชาโณ เพ็ญชาติ ใช้ความพยายามพอสมควรในการขยายฐานมาที่สหธนาคาร
โดยสะสมในการซื้อหุ้นมากโดยเฉพาะปลายปี 2527 และต้นปี 2528 โดยใช้ชื่อชาโณและบริษัทเงินทุนชาติไพบูลย์ถึงกลางปี
2528 เกือบ 5 หมื่นหุ้นแล้ว
ห้วงเวลาเดียวกันก็มีข่าวว่าสุเจตน์ เสกสรร จะขึ้นแป้นแทนบรรเจิด ชลวิจารณ์
ก็มีข่าวแทรกซ้อนเข้ามาว่า พล.ร.ต. ชาโณ เพ็ญชาติ จะมาแทนชำนาญ เพ็ญชาติ
เพื่อรอ “เวลา” ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ต่อไป
ทำไมชาโณจะต้องมา...
หนึ่ง-ชำนาญเองสุขภาพไม่ดี ประการสำคัญชำนาญนั้นได้ชื่อว่า “หงอ”
เอามาก ๆ กับบรรเจิด “เขาอยู่กันมานาน ชำนาญค่อนข้างเกรงใจและกลัวบรรเจิดมาก
เขาย่อมใจไม่ถึงเหมือนนายทหารเรือ” คนที่รู้จักบรรเจิด-ชำนาญดีบอก
สอง-การมาของชาโณ ย่อมทำให้ผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งทรงพลังอย่างแท้จริง “คุณชาโณเข้มแข็ง
พอจะชนกับคุณบรรเจิดได้ ที่สำคัญประสบการณ์ที่คุณชาโณเคยเข้าเทกโอเวอร์จุฑานาวีย่อมเป็นหลักประกันได้”
ผู้สันทัดกรณีเล่าว่า ชาโณยกพลขึ้นบกที่จุฑานาวีสามารถกว้านซื้อหุ้นไว้ในมือถึง
40% ได้ในราคาถูก เพราะความเป็นนักวางแผนระยะยาวที่ดี”
หนทางของชาโณในการก้าวเข้าสู่สหธนาคารค่อนข้างราบเรียบแล้วเวลานี้ เพราะพลอากาศโทพิชิต
บุณยเสนา กรรมการคนหนึ่งเสียชีวิต ขณะนี้ตำแหน่งนี้ว่าง เพ็ญชาติเดินแผนรุกทันที
ขอให้บรรเจิดเลิกระบบสืบแทนเช่นเดิม ขอให้ตำแหน่งนี้เป็นของชาโณ
“แต่การตัดสินใจของบรรเจิดยังไม่ประกาศออกมาเป็นทางการ มันจะดูเปลี่ยนหักมุมเกินไป
คุณคิดดู ตอนคุณอวยชัย อัศวินวิจิตร คุณบรรเจิดตกลงให้เป็นกรรมการได้ กว่าจะมีการเสนอที่ประชุมก็เวลาผ่านไปหลายเดือน...”
ชาโณจึงเป็นหมากตัวหนึ่งในยามนี้ที่เพ็ญชาติเตรียมรุกฆาต