|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ภาพเขียนที่ราคาสูงสุด 10 อันดับแรกของโลก เป็นผลงานของปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) 3 ชิ้น คือผลงานชื่อ Nu au plateau เป็นอันดับ 1 ราคาประมูล 106.4 ล้านดอลลาร์ Garcon a la pipe เป็นอันดับ 3 ราคา 104.2 ล้านดอลลาร์ และ Dora Maar au chat อันดับ 4 ราคา 95.2 ล้านดอลลาร์
ส่วน L’homme qui marche I ของอัลแบร์โต จาโกเมตตี (Alberto Giacometti) มาเป็นอันดับ 2 ราคา 104.3 ล้านดอลลาร์ อันดับ 5 คือ Portrait d’Adele Bloch-Bauer II ของกุสตาฟ คลิมท์ (Gustave Klimt) ราคา 87.9 ล้านดอลลาร์ อันดับ 6 Triptyque ของฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) ราคา 86.2 ล้านดอลลาร์ อันดับ 7 Portrait du docteur Gachet ของแวงซองต์ วาน โก๊ก (Vincent Van Gogh) ราคา 82.5 ล้านดอลลาร์ อันดับ 8 La bal du Moulin de la Galette ของปิแอร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) ราคา 78.5 ล้านดอลลาร์ อันดับ 9 Massacre des innocents ของรูเบนส์ (Rubens) ราคา 76.7 ล้านดอลลาร์ และอันดับ 10 White center (yellow, pink and lavender on rose) ของมาร์ค รอธโก ราคา 72.8 ล้านดอลลาร์
ราคาที่บ่งบอกไว้อาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ เพราะซื้อขายกันมานานแล้ว ด้วยว่าในปัจจุบันค่าของเงินเปลี่ยนไป ตัวเลขย่อมสูงขึ้น ให้สงสัยว่าภาพ Portrait du docteur Gachet ของแวงซองต์ วาน โก๊กดีอย่างไร จึงราคาแพงกว่าภาพอื่นๆของเขา แม้แต่ภาพดอกทานตะวันหรือดอกไอริส แล้วชายที่หน้าตาไม่สดชื่นเป็นใคร
ปอล กาเชต์เป็นแพทย์ประจำตัวของแวงซองต์ วาน โก๊กในช่วงสุดท้ายของชีวิต เขาเป็นแพทย์ประจำครอบครัวของกามีย์ ปิสซาโร (Camille Pissarro) ซึ่งแนะนำให้เตโอ วาน โก๊ก (Theo Van Gogh) รู้จัก เพื่อนำไปรักษาพี่ชายคือ แวงซองต์ วาน โก๊กนั่นเอง
ปอล กาเชต์เกิดที่เมืองลิล (Lille) ทางตอนเหนือ ของฝรั่งเศส เมื่อครั้งศึกษาแพทย์ที่มงต์เปลลีเอร์ (Montpellier) เขาทำวิทยานิพนธ์เรื่อง Etude sur la melancolie เกี่ยวกับความเศร้าหมอง เขาจึงมิใช่อายุรแพทย์ธรรมดาๆ แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญ โรคประสาทด้วย
กามีย์ ปิสซาโรจึงคิดถูกที่แนะนำให้ไปรักษาแวงซองต์ วาน โก๊ก ซึ่งตลอดชีวิตมีแต่โรคภัยทางประสาทถามหา จนต้องเข้ารับการบำบัดอยู่บ่อยๆ เมื่อภรรยาล้มป่วยและต้องการอากาศบริสุทธิ์ในชนบท ปอล กาเชต์จึงซื้อบ้านที่โอแวรส์-ซูร์-อ๊วส (Auvers-sur-Oise)
ปอล กาเชต์เป็นจิตรกรด้วย บ้านของเขาเป็นที่ชุมนุมของจิตรกรอิมเพรสชั่นนิสต์และยุคหลังอิมเพรสชั่นนิสต์ เช่น กามีย์ โกโรต์ (Camille Corot) ปอล เซซานน์ (Paul Cezanne) ชาร์ลส์-ฟรองซัวส์ โดบิญี (Charles-Francois Daubigny) ออนอเร โดมีเอร์ (Honore Daumier) อาร์มองด์ กีโยแมง (Armand Guillaumin) กามีย์ ปิสซาโร (Camille Pissarro) เอดูอารด์ มาเนต์ (Edouard Manet) ปิแอร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) เป็นต้น จิตรกรเหล่านี้ เป็นคนไข้ของเขาด้วย ปอล กาเชต์นำผลงานของตนออกแสดงนิทรรศการของกลุ่มอาร์ติสต์อิสระ ในชื่อของ Paul Van Ryssel ทั้งนี้เพราะคำว่า Ryssel เป็นชื่อภาษาเฟลมิชของเมืองลิล บ้านเกิดของเขา นั่นเอง หลุยส์ลูกชายคุณหมอก็เป็นจิตรกร ด้วย ใช้ชื่อ Louis Van Russel
เมื่อเตโอ วาน โก๊กย้ายพี่ชายจากทางใต้ของฝรั่งเศสมายังโอแวรส์-ซูร์-อ๊วส ซึ่งอยู่ห่างจากปารีสเพียง 30 กิโลเมตร ปอล กาเชต์ให้พักที่บ้านของเขาและดูแลรักษาให้ด้วย แล้ววันหนึ่งแวงซองต์ วาน โก๊กไม่อยากทรมานจากโรคที่คุกคามตลอด มา จึงยิงตัวตายในทุ่งนาข้าวสาลีอันเหลือง อร่าม และเสียชีวิตหลังจากนั้น 2 วัน
เมื่อปอล กาเชต์ถึงแก่กรรม ลูกๆของเขามอบภาพเขียนของจิตรกรอื่นที่เขา สะสมไว้ และที่เขียนภาพพอร์เทรตให้เขา รวมทั้งภาพเขียนที่เขาเขียนเองให้แก่พิพิธภัณฑ์ของรัฐ ปัจจุบันภาพเหล่านี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งออร์เซย์ (Musee d’Orsay)
ไม่น่าเชื่อว่าตลอดเวลา 7 เดือนที่เมืองนี้ แวงซองต์ วาน โก๊กเขียนรูปได้ 70-80 รูป ฝีแปรงรุนแรง แสดงถึงจิตใจที่ พลุ่งพล่านของเขา ในภาพเหล่านี้มี Portrait du docteur Gachet 2 รูป เขา เขียนรูปทั้งสองในเดือนมิถุนายน 1890 ที่โอแวรส์-ซูร์-อ๊วส
ในปี 1897 น้องสะใภ้ของแวงซองต์ วาน โก๊กขายภาพหนึ่งไปราคา 300 ฟรังก์ แก่พ่อค้างานศิลป์ชื่อ อองบร็วส โวลลารด์ (Ambroise Vollard) จนในปี 1911 จึงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เยอรมัน Staadelschs Kunstinstitut und Stadtische Galerie ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต และแขวนอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จนปี 1933 จึงถูกนำไปเก็บเพื่อความปลอดภัย
ต่อมาในปี 1935 รัฐมนตรีกระทรวง โฆษณาชวนเชื่อของเยอรมันยึดภาพนี้ไป แฮร์มานน์ เกอริง (Hermann Goring) ซึ่งกำลังมองหาเงินตราต่างประเทศ จึงนำไปขายแก่ซิกฟรีด ครามาร์สกี (Siegfried Kramarsky) ชาวฮอลแลนด์ ซึ่งหอบภาพนี้หนีภัยนาซีไปยังนิวยอร์ก ต่อมาในปี 1990 ครอบครัวครามาร์สกี ขายประมูล Portrait du docteur Gachet ได้ในราคา 82.5 ล้านดอลลาร์
ผู้ประมูลเป็นนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นชื่อ ไซอิโตะ (Saito) เขาประกาศว่าจะเผา ภาพนี้พร้อมไปกับเขาด้วยหากเขาเสียชีวิต ดังนั้นหลังจากซาอิโตะเสียชีวิต เรื่องราวของ Portrait du docteur Gachet ก็หายเงียบไป มีแต่การคาดเดาต่างๆ นานา ร่ำลือกันว่า เจ้าของปัจจุบันคือธนาคารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของซาอิโตะ บ้างก็ว่าวูลฟ์กาง ฟรอตเติล (Wolfgang Frottl) นักลงทุนชาวนิวยอร์กเชื้อสายออสเตรียเป็นผู้ซื้อไปในราคา 100 ล้านดอลลาร์ เขาเป็นหลานเขยของประธานาธิบดีไอเซนเฮาเวอร์ (Eisenhower) และเป็นนักสะสมงานศิลป์ที่ไม่ชอบเปิดเผยตัวนัก
ฝรั่งเศสเคยจัดนิทรรศการเกี่ยวกับคอลเลกชั่นของปอล กาเชต์ในปี 1999 ครั้งนั้นขอความร่วมมือไปยัง Sotherby’s เพื่อติดต่อขอยืมภาพ Portrait du docteur Gachet หากผู้เป็นเจ้าของปฏิเสธ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์วาน โก๊กที่อัมสเตอร์ดัมเชื่อว่าภาพนี้ยังอยู่ในญี่ปุ่น มิใช่ในยุโรปอย่างที่หลายคนคิดกัน
ภาพเขียนของแวงซองต์ วาน โก๊ก ที่โอแวรส์-ซูร์อ๊วสก็มีผู้ตั้งข้อสงสัย ไหนๆ ทั้งปอลและหลุยส์ กาเชต์ต่างก็เป็นจิตรกร เป็นไปได้ไหมว่าแอบเลียนแบบการเขียนภาพของแวงซองต์ วาน โก๊ก และแทรกซึม อยู่ใน 70-80 ภาพของแวงซองต์ วาน โก๊ก แต่ก็มีการพิสูจน์แล้วว่า ฝีแปรงไม่เหมือนกัน
Portrait du docteur Gachet อีกภาพอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งออร์เซย์
|
|
|
|
|