
รถมอเตอร์ไซค์รูปร่างเพรียวลม ดูเหมือนจะเล็กเกินไปสำหรับการแบกม้วนผ้าขนาดใหญ่ ภาพรถเวสป้ากับคนส่งม้วนผ้าดูเหมือนจะเป็นที่คุ้นตา โดยเฉพาะในย่านพาหุรัดและประตูน้ำ จนปฏิเสธไม่ได้ว่า หากพูดถึงรถเวสป้า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มักนึกถึงรถส่งผ้า
คนรุ่นอายุ 35 ปีขึ้นไป น้อยคนที่จะไม่เคยเห็นรถเวสป้า เพราะรถเวสป้าวิ่งบนท้องถนนเมืองไทยมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ทว่า รถสกูตเตอร์คลาสสิกแบรนด์นี้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศอิตาลีตั้งแต่ปี ค.ศ.1946
จากบริษัทต่อเรือสำราญที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1884 พิอาจิโอ กรุ๊ป (Piaggio Group) ได้ ขยายกิจการมาเป็นผู้ผลิตรางรถไฟ รถตู้ขนสินค้า รถโดยสารหรู เครื่องยนต์ เรื่อยไปจนถึงตัวถังรถบรรทุก กระทั่งสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พิอาจิโอหันมาผลิตเครื่องบินประเภทต่างๆ รวมถึงเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่น Piaggio P108 ที่นับว่าทันสมัยที่สุดในยุคนั้น
ก่อนสงครามและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พิอาจิโอกลายเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตอากาศยานชั้นนำของอิตาลี ด้วยเหตุนี้โรงงานของบริษัทจึงกลายเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายพันธมิตร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง เอนริโก บุตรชายของรินัลโด พิอาจิโอ ผู้ก่อตั้งบริษัทตัดสินใจหยุดผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน ซึ่งเป็นงานที่ซับซ้อนและดัดแปลงโรงงานที่เคย ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน มาใช้สร้างยานพาหนะขนาดที่มีคุณสมบัติระหว่างรถมอเตอร์ไซค์กับรถยนต์ขนาดเล็ก เพื่อใช้เดินทางขนส่งและสำรวจในโรงงานขึ้นแทน
รถรุ่นแรกของพิอาจิโอ ผลิตจากซากชิ้นส่วนของเครื่องบินที่เสียหายจากสงคราม รูปร่างจึงดูน่ารังเกียจมากกว่าน่ารัก ด้วยลักษณะของรถสกูตเตอร์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กที่มีล้อต่ำ แต่ความแปลกตานี้ที่ทำให้เอนริโกมั่นใจว่า รถของเขาจะทำให้คนอิตาลี หันมาขี่กันทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่ประเทศอิตาลียังคงมีแต่ซากปรักหักพังและขาดแคลนน้ำมัน
คอร์ราดิโน ดัสคานิโอ วิศวกรด้านอากาศยาน รับหน้าที่ออกแบบรถรุ่นใหม่ให้แก่เอนริโก จากสิ่งที่คอร์ราดิโนไม่ชอบในรถมอเตอร์ไซค์ ไม่ว่าจะเป็นความเทอะทะขับขี่ลำบาก เปลี่ยนยางยากและโซ่สายพานที่สร้างความสกปรก
ภาพร่างของคอร์ราดิโน เป็นรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กที่ตัวถังทำจากเหล็กทั้งคัน ใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กวางอยู่ตำแหน่งหลังเพื่อป้องกันการสกปรก การติดก้านเกียร์ไว้ที่คันบังคับ การประสานเฟืองแทนโซ่เหล็ก การเปลี่ยนจากตะเกียบ เป็นแขนยึดเหมือนเครื่องบิน รวมถึงตัวถังที่เพรียวลมโดยอาศัยหลักอากาศพลศาสตร์
จากภาพร่างกลายมาเป็นรถสกูตเตอร์รุ่นใหม่ของพิอาจิโอ ซึ่งในยุคนั้นถือได้ ว่าเป็นรถสกูตเตอร์ที่มีความก้าวหน้าทั้งในด้านรูปทรงและวิศวกรรม โดยเอนริโกตั้งชื่อรถรุ่นนี้ว่า เวสป้า (Vespa) ซึ่งในภาษา อิตาลี แปลว่า “ตัวต่อ”
เนื่องจากเสียงรถที่ฟังเหมือนตัวต่อ บ้างว่าเป็นเพราะรูปลักษณ์ที่ดูคล้ายตัวต่อ ด้วยเบาะนั่งกว้างที่เชื่อมกับ “บั้นท้าย” คอดเรียว
ทศวรรษ 1950 เวสป้ากลายเป็น 1 ใน 2 แบรนด์รถสกูตเตอร์ของอิตาลีที่ครองตลาดทั่วโลกมากที่สุด ซึ่งถือเป็นช่วงที่รถเวสป้าเฟื่องฟูที่สุด ในปี ค.ศ.1951 มีการจัดงาน Italian Vespa Day ตลอดทศวรรษนี้มีการจัดการแข่งขันรถเวสป้าขึ้นมากมายทั้งภายในอิตาลีและต่างประเทศ
การขับขี่รถเวสป้าเริ่มเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพและการเข้าสังคม และรถเวสป้า เริ่มกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม โดยมีหลักฐานยืนยันเป็นรูปถ่าย วรรณกรรม โฆษณา และภาพยนตร์นับไม่ถ้วน รวมถึงสื่อชื่อดังอย่างนิตยสารไทมส์ ที่เขียนว่า เวสป้าเป็น “ประดิษฐกรรมสไตล์อิตาเลียนแท้ๆ ที่ไม่ได้เห็นมานานมากแล้ว นับตั้งแต่รถม้าศึกยุคโรมัน” ทั้งรถสกูตเตอร์และรถเวสป้าเป็นที่นิยมเรื่อยมา กระทั่งกลางทศวรรษ 1960 ผู้บริโภคหันมานิยมใช้รถยนต์ขนาดเล็กที่มีราคาถูก อย่าง Fiat 500 และ Fiat Mini ที่เริ่มออกวางจำหน่ายแทน
ในทศวรรษ 1990 ชีพจรความนิยม รถสกูตเตอร์ถูกกระตุ้นกลับมาอีกครั้ง เมื่อผู้ผลิตของญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และอิตาลี เริ่มผลิตรถที่มีเทคโนโลยียุคใหม่ มีรูปทรงโฉบเฉี่ยวและภาพลักษณ์ที่ทันสมัยขึ้น เพื่อหวัง จะดึงดูดลูกค้าวัยรุ่น
ว่ากันว่า วันนี้พิอาจิโอ กรุ๊ปเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปและเป็นอันดับสี่ของโลก นอกจาก Vespa ยังมีแบรนด์ Piaggio, Gilera, Aprilia, Moto Guzzi, Derbi และ Scarabeo โดยในปี ค.ศ.1996 เวสป้าฉลองครบ 50 ปี ด้วยยอดขายสะสมกว่า 15 ล้านคัน
รถเวสป้ากลายเป็นแรงบันดาลใจและสร้างความหลงใหลให้กับคนทั่วโลก ในฐานะพาหนะตัวเลือกสำหรับคนหนุ่มสาวสมัยนั้น ด้วยความหมายของอิสรภาพในหลังยุคสงครามโลก แต่ก็ยังแฝงสัญญะของดีไซน์อิตาเลียนและความล้ำหน้าของการใช้งานในเมืองโดยเฉพาะ
ในปี ค.ศ.2006 หรือครบรอบ 60 ปีเวสป้า เกิดการรวมตัวของสมาชิกสโมสร เวสป้า คลับ ประเทศต่างๆ พัฒนาจัดตั้งเป็น “Vespa World Club” เพื่อประสานความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของสโมสรเวสป้า คลับทั่วโลก ซึ่งเป็นคลับ ระดับชาติกว่า 35 แห่ง และเป็นคลับระดับ ท้องถิ่นอีกเกือบ 700 แห่ง
สำหรับตลาดเมืองไทยยุคแรกๆ รถเวสป้าถูกนำเข้ามาเพื่อทำเป็นรถใช้งาน เพราะมีพื้นที่บรรทุกของได้มากและตัวรถแข็งแรงเนื่องจากทำโครงเหล็กทั้งคัน เวสป้า จึงแพร่หลายอยู่ในกลุ่มพ่อค้า โดยเฉพาะกลุ่มแขกขายผ้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวสป้ามีฐานการผลิตอยู่ในอินเดีย
จนเมื่อมอเตอร์ไซค์สไตล์สกูตเตอร์ จากญี่ปุ่นบุกตลาดเมืองไทย เพียงไม่นาน ทั้งฟีโน (Fino) และสกูปี้ (Scoopy) ก็เข้ามาครอบครองหัวใจวัยรุ่นและผู้ชื่นชอบรถสกูตเตอร์คนไทยได้ไม่ยาก ยิ่งบวกกับการหายไปของรถเวสป้าในเมืองไทยนานนับ 10 ปี ทำให้ผู้ใช้รถเวสป้าส่วนใหญ่ที่ยังคง เหลืออยู่ จึงเป็นกลุ่มพ่อค้าและผู้สูงวัย เวสป้าจึงยิ่งถูกมองเป็นรถ “รุ่นป้า”
กระทั่ง 2 ปีที่ผ่านมา เกิดความพยายามปลุกตำนานเวสป้าที่มีมากว่า 50 ปีในเมืองไทยให้กลับเฟื่องฟูขึ้นมาใหม่ ในภาพลักษณ์ใหม่ โดยบริษัท เวสปิอาริโอ (ประเทศไทย) จำกัด หลังจากเริ่มเห็นกระแสความนิยมรถแนวแฟชั่นเรโทร เริ่มกลับมาฮิตอีกครั้งในหมู่เด็กแนวและคนทำงานรุ่นใหม่
“ปัจจุบันลูกค้าของเวสป้าส่วนใหญ่ เป็นผู้ชายวัยทำงาน อยู่ในกรุงเทพฯ 35% และต่างจังหวัด 65%” พรนฎา นิวาตวงศ์กล่าวในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท เวสปิอาริโอ (ประเทศไทย) จำกัด
นอกจากพรนฎา ยังมีหุ้นส่วนสำคัญ อีก 2 คน ได้แก่ วิสุทธิ์ เตชะไพบูลย์ ซึ่งไม่เพียงแต่สะสมรถจักรยานยนต์หลากหลายรุ่น ไว้เป็นจำนวนมาก เขายังเป็นผู้ที่ชื่นชอบเข้าร่วมการแข่งขันรถจักรยานยนต์อีกด้วย อีกคน คือ ประณิธาน พรประภา ทายาทแห่งเครือ “สยามกลการ” ตระกูลที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการยานยนต์มานานเกือบ 60 ปี
“เราทั้ง 3 คนเป็นเพื่อนสนิทอยู่แก๊งมอเตอร์ไซค์กลุ่มเดียวกันมานาน และฝันว่าอยากทำธุรกิจมอเตอร์ไซค์ที่เรารักเหมือนๆ กัน แต่อยากได้แบรนด์ที่ดูมีชีวิตจึงปิ๊งที่เวสป้า ซึ่งเรามองว่าไม่ได้เป็นแค่มอเตอร์ไซค์ธรรมดา แต่เป็นรถที่สะท้อนความเป็นตัวตนของผู้ขับขี่ได้อย่างชัดเจน ความคลาสสิกทั้งเรื่องราวและดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์” พรนฎากล่าว
ปีก่อน เวสปิอาริโอเพิ่งเปิดตัวรถเวสป้ารุ่นใหญ่เครื่องแรง นำเข้าโดยตรงจากอิตาลี สนนราคาเริ่มต้นที่ 285,000-325,000 บาท หวังเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนทำงานรุ่นใหม่ ที่อยากสนุกกับรถสกูตเตอร์เครื่องแรงในวันหยุดพักผ่อนและรถเวสป้านำเข้าจากเวียดนาม จับกลุ่มผู้ที่ต้องการใช้งานประจำในเขตเมืองเป็นหลัก ด้วยราคา 99,000 บาท
มาปีนี้ เวสปิอาริโอเปิดตัวรถเวสป้ารุ่น “65 แอนนิเวอร์ซารี่ ลิมิเต็ด เอดิชั่น” 2 รุ่นได้แก่ Vespa LX150ie สีกรีน มัสชิโอ (เขียวคลาสสิก) เบาะทูโทนสีครีม-น้ำตาล ดีไซน์ไฟกลม สนนราคา 114,000 บาท และ Vespa S 150ie ตัวรถสีเขียวคลาสสิก ดีไซน์ไฟเหลี่ยม เบาะสีครีม ราคา 117,500 บาท รวมทั้งสองรุ่นผลิตเพียง 265 คัน มีขายในเมืองไทยเท่านั้น
ด้วยราคาหลักแสน การกลับมาใหม่ของรถเวสป้าจึงหวังจับกลุ่มลูกค้า “พรีเมียม” โดยกลุ่มแรกคือ ลูกค้าที่เคยสัมผัสและชื่นชอบรถเวสป้า โดยอิงไปกับกระแสโหยหาอดีต และกลุ่มนักสะสม เพราะปัจจุบันรถเวสป้าเป็นรถที่นิยมซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดมือสอง ด้วยราคาตั้งแต่ 30,000-70,000 บาท ขณะที่บางรุ่นอาจสูงถึง 80,000 บาท
“ที่สุดแล้ว เวสปิอาริโอคงต้องสร้างความรู้สึกที่แตกต่าง เพื่อผลักดันให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกว่า เวสป้าคือ ไลฟ์สไตล์โปรดักต์ที่เป็นมากกว่ารถจักรยานยนต์ เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องมีเพื่อสะท้อนวิถีการดำเนินชีวิตคนรุ่นใหม่ในแบบพวกเขา” พรนฎาย้ำ
ยุทธศาสตร์หนึ่งที่ปิอาริโอหยิบมาใช้มัดใจ “เด็กแนว” คือการจัดให้มี “ศูนย์ ออกแบบรถสกูตเตอร์เวสป้า” เพื่อลูกค้าสามารถเลือกตกแต่งรถได้ตามรสนิยมที่ลูกค้าพึงพอใจ และเป็นการสร้างอัตลักษณ์ ให้กับแบรนด์เวสป้าไปพร้อมกัน
นอกจากนี้เพื่อเป็นการต่อยอด “ความคลาสสิก” ให้ตำนานของเวสป้าและ เพื่อฉลองครบรอบ 65 ปีของรถสกูตเตอร์แบรนด์นี้เวสปิอาริโอจึงได้เตรียมจัดงานใหญ่ ในบรรยากาศงานแฟร์แนวเรโทรกลิ่นอายอิตาเลียนย้อนยุค ‘50 ซึ่งเป็นยุคเวสป้าเฟื่องฟูที่สุด
ณ สนามม้านางเลิ้ง ในวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2554 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป โดยหวังจะปั้นให้งานนี้เป็นคาราวานเวสป้าครั้งประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ที่สุดในเอเชีย
แต่เหนือสิ่งอื่นใด พรนฎาหวังว่า พาเหรดรถเวสป้าตั้งแต่รุ่นคลาสสิกจนมาถึงรุ่นล่าสุด จะแสดงให้นักบิดผู้ที่ชื่นชอบสกูตเตอร์ และ “เด็กแนว” คนไทยได้หวนรำลึกว่า เวสป้า ไม่ได้เป็นแค่รถสกูตเตอร์ธรรมดา แต่เป็นไอคอนนิคที่สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตให้กับผู้ขับขี่รุ่นปู่มาจนถึงรุ่นหลานมานานตลอดชั่วอายุ 65 ปีของเวสป้า
|