|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ค่ำคืนหนึ่ง ขณะที่ชีวิตดำเนินไปตามปกติท่ามกลางความสะดวกสบายที่เพียบพร้อม บางคนปาร์ตี้อย่างเมามัน บ้างชอปปิ้งสนุกมือ หลายคนรอดูละครหลังข่าวด้วยใจจดจ่อ ความเสื่อมของสังคมดำเนินอย่างเป็นปกติ ท่ามกลางสายฝนที่ตกหนักขึ้นๆ บวกกับน้ำเหนือที่หลากล้น เพียงไม่กี่ชั่วโมง หลายส่วนของเมืองจมอยู่ใต้น้ำ...วันนี้ คุณพร้อมแล้วหรือยังสำหรับภัยพิบัติที่รุนแรง
อรรถาธิบายถึงสถานการณ์เลวร้ายหลายสิบบรรทัดปรากฏในสูจิบัตร เพื่อให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้อ่านและจินตนาการภาพเหตุการณ์ภัยพิบัติจากน้ำท่วม ก่อนการเข้าชมนิทรรศการ “เมืองจมน้ำ” ณ ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม-25 พฤศจิกายน 2554
จากที่เคยคิดว่าคำบรรยายดังกล่าวจะเป็นเพียงเหตุการณ์สมมุติเพื่อเพิ่มอรรถรส และแรงสะเทือนใจในการชมนิทรรศการ แต่โดยไม่คาดฝัน หลังจากเริ่มวางแผนจัดแสดง นิทรรศการชุดนี้เมื่อเดือนมิถุนายน ใช้เวลาเพียงแค่ 4 เดือน ภาพความจริงของภัยน้ำท่วม ที่คมชัด ช่างทิ้งห่างจากภาพสมมุติไปไกลอย่างลิบลับ
“ณ วันนั้น (เดือนมิถุนายน) เรามองว่าจะทำให้คนตระหนักและเรียนรู้เรื่องภัยพิบัติ เมื่อภัยมาถึงจะได้อยู่กับมันอย่างมีความพร้อม ตลอด 4 เดือนที่เตรียมนิทรรศการไม่มีใครคาดคิดว่าภัยพิบัติจะมาถึงเร็วกว่าวันเปิดนิทรรศการ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาเราจมอยู่กับข่าวมากมายกว่าน้ำหลาก ความจริงที่เกิดขึ้น ณ วันที่นิทรรศการเปิด น่าจะเลยจุดของการตระหนักมาแล้ว เชื่อว่า ณ วันนี้คนไทยทุกคนทราบแล้วว่าภัยมันรุนแรงและสร้างความเสียหายขนาดไหน” ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวในพิธีเปิดนิทรรศการ
จุดประสงค์ในการจัดแสดงนิทรรศการ “เมืองจมน้ำ Let’s Panic” เพื่อสร้างจิตสำนึกและการตระหนักรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันและความเป็นไปได้ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ณ วันที่วางแผนจัดนิทรรศการนี้ ทีมผู้จัดหวังแค่ว่า สิ่งที่นำเสนอจะเป็นก้าว แห่งความพยายามที่จะเดินนำสังคมเพื่อความพร้อมก่อนเหตุการณ์จริงมาถึง และหวังจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นความตื่นตัว เรื่องภัยพิบัติจากอุทกภัย เพื่อสร้างความเข้าใจถึงเหตุปัจจัยอันนำไปสู่การเตรียมรับ มือที่เหมาะสมและไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป
รูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการ เป็นเสมือนการสร้างแบบจำลองในความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ก่อนและหลังเกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ตามจินตนาการที่อิงความเป็นไปได้จริงของฝนล้านปีที่ตกไม่หยุด จัดแสดงผ่านผลงานศิลปะและงานออกแบบที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินและนักออกแบบสาขาต่างๆ 15 คน
เริ่มต้นโซนแรก “ฝนล้านปี เมืองจมน้ำ” ด้วยกราฟฟิตี้สีตุ่นภาพคนในชุดกันฝนหน้าตาหมดหวังบนผนังโค้งบริเวณทางเข้าชมนิทรรศการเป็นการจำลองบรรยากาศเมื่อเกิด เหตุการณ์น้ำท่วมเมือง โดยสุรเดช เติมทรัพย์สิริ กราฟิกดีไซเนอร์แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังอย่าง Van Dutch เขามีความเชื่อว่า ถ้าเมืองจมน้ำโอกาสรอดของผู้คนในเมืองคือ 50-50
ขณะที่กนกนุช ศิลปวิศวกุล เจ้าของผลงานผีเสื้อในฐานกระจกที่กระจายทั่วนิทรรศการ สะท้อนความเชื่อของเธอที่ว่า หากคนเราพบว่าพื้นดินที่ยืนอยู่เริ่มอยู่ไม่ได้ หลายคนคงอยากมีปีกที่จะหนีออกไปจากพื้นที่ตรงนั้น แต่จะรอดหรือไม่ส่วนหนึ่งอาจขึ้นอยู่กับรูปแบบของปีก
“จะเห็นว่า ผีเสื้อชิ้นแรกสามารถประคองตัวเองได้ และมีแนวโน้มจะรอดอยู่ เพราะปีกอยู่สภาพสมบูรณ์ แต่ถ้าเดินต่อไปจะเห็นผีเสื้อบางตัวบาดเจ็บ ไปไม่รอด เพราะปีกที่เปราะบางและชำรุด” เจ้าของผลงานอธิบายพร้อมนำเสนอความฝันที่ว่า เธออยากออกแบบให้ทุกอย่างมีปีกที่แข็งแรง กรุงเทพฯ จะได้เป็นเมืองลอยน้ำ และปลอดภัยจากภัยพิบัติ”
อีกมุมหนึ่งดูโดดเด่นด้วยทีวีจอใหญ่ ดึงดูดให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยการเลื่อน จอไปมาตามจุดที่กำหนด จากนั้นจอทีวีจะ ปรากฏภาพเหตุการณ์จำลองสถานการณ์เลวร้ายตามจินตนาการของศิลปิน
หาก ณ เวลานั้นยังไม่เกิดวิกฤติน้ำท่วมขึ้นจริง ภาพเหล่านี้อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องที่รุนแรงเหนือความเป็นจริง แต่ ณ วันที่อุทกภัยสร้างความเสียหายไล่มาหลาย จังหวัด จนมาจ่อรอทำลายล้างกรุงเทพฯ ชั้นใน ณ ปราการด่านสุดท้าย เสียงร้องระงมที่เกิดขึ้นจริงของชาวกรุงเทพฯ กลับดูรุนแรงกว่าภาพและเสียงที่ศิลปินจินตนาการหลายเท่า
ขวัญชัย อัครธรรมกุล จากสตูดิโอ คราฟส์แมนชิพ นำเสนอผลงานผ่านสถานการณ์จำลองช่วงเวลา 12 ชั่วโมงของคืนหนึ่งในมหานครอันวุ่นวาย ขณะที่ทุกชีวิตดำเนินไปตามปกติ ต่างคนต่างสนใจแต่เรื่องที่เป็นกิจวัตรประจำวันของตัวเองเช่นทุกวัน โดยที่ไม่มีใครคาดคิดว่าเมืองแห่งนี้จะมีวันจมน้ำ
“จักรวาลใบนี้มีอะไรอีกมากที่เราไม่อาจจะเข้าใจหรือจินตนาการได้ สุดท้ายคือเราต้องอยู่อย่างมีสติ ไม่ตระหนกมากเกินไป แต่ก็ต้องเตรียมพร้อม และอย่าพยายามไปฝืนมันมาก รับรู้ ยอมรับ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้น” ขวัญชัยกล่าว ถึงแรงบันดาลใจส่วนลึกของตนและศิลปินหลายคนที่ร่วมแสดงผลงานครั้งนี้
เสียงเพลง “ฝนเดือนหก” ของรุ่งเพชร แหลมสิงห์ดังขึ้น เมื่อผู้ชมเดินเข้าใกล้ผลงานประติมากรรมของกฤช งามสม ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นห้อง กลางเป็นด่านแรกของโซน “กำลังจะจม หนีแล้วจะรอดเหรอ”
ผลงานของกฤชต้องการสะท้อนภูมิปัญญาและวิธีคิดแบบชาวบ้าน ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความห่างเหินจากวิถีธรรมชาติของคนเมือง ผ่านความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่ในเรื่องปฏิสัมพันธ์ทาง ธรรมชาติ ที่สังเกตเห็นว่า ก่อนฝนจะตก กบมักจะร้อง และยิ่งกบร้องมากเท่าไร ฝนก็ตกมากเท่านั้น
“หากเราเข้าใจธรรมชาติ สังเกตให้เป็นและ เข้าใจมัน การเอาตัวรอดและปรับตัวจากภัยธรรมชาตินั้น ความรุนแรงก็ย่อมจะทุเลา” คำอธิบายของกฤชในสูจิบัตรดูจะสอดคล้องกับความเห็นของศิลปินหลายคน
สิ่งประดิษฐ์ขนาดใหญ่ดูสะดุดตา เชื่อว่าเป็นผลงานที่ผู้เข้าชมอยากนำกลับบ้านไปด้วยมากที่สุด ณ ห้วงเวลาที่น้ำนองไปทั่วเมืองเช่นนี้ คงหนีไม่พ้นเรือห่วงยางที่ดูละม้ายคล้ายรถของพรทวีศักดิ์ ริมสกุล ที่สร้างสรรค์ผลงานผ่านความเชื่อที่ว่า เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ความกลัวจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ พยายามหาทางเอาตัวรอด ในที่สุด
“ตอนที่ยังเป็นแบบร่าง สถานการณ์ภายนอก ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ ณ วันนี้ งานชิ้นนี้ ส่วนตัวถือว่าค่อนข้างอินมาก สิ่งที่น่าสนใจคือ การที่เขาหยิบจับวัสดุรอบตัวมาประยุกต์ใช้บวกกับความคิดสร้างสรรค์ แล้วทำให้เกิดประโยชน์ เพื่อใช้ในภาวการณ์บางอย่างได้” หนึ่งในภัณฑารักษ์กล่าว พร้อมกับเล่าว่า ระหว่างขนย้ายผลงานมาจากอุดรธานีมากรุงเทพฯ เจ้าของผลงานได้แวะลงอยุธยาเพื่อทดลองใช้ผลงานแล้วด้วย
สถานการณ์จำลองหลังจากเมืองจมน้ำแล้วกล่าวถึงเรื่องอาหาร โดยในโซน “อาหารไม่พอ จะทำอย่างไร” เริ่มต้นด้วยผลงานหนังสือนิทานเล่มยักษ์ชื่อว่า “นิทานเมืองหิว” ของพิมพ์จิต ตปนียะ นักออกแบบหนังสือเด็ก ตั้งใจสะท้อนให้สังคมไม่ลืมว่า นอกจากผู้ใหญ่ ภัยพิบัติครั้งนี้ได้สร้างความรู้สึกปวดร้าวให้กับเด็กด้วย
ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ควรใช้โอกาสนี้สร้างความตระหนักรู้เรื่องภัยพิบัติให้กับเด็ก พร้อมกับแฝงจินตนาการในการดูแลรักษาธรรมชาติ อันเป็น “ทางรอด” ที่ยั่งยืนให้เด็กไปพร้อมกัน
ถัดมา ผลงานของมนน ธรานุรักษ์ อาจารย์สอนออกแบบนิเทศศิลป์ มหาลัยศิลปากร และโมชั่นกราฟิก ดีไซเนอร์ถูกนำเสนอด้วยเทคนิคการโปรเจ็กต์ภาพบนแพ็กเกจอาหาร “ฟาสต์ ฟู้ด” ซึ่งใช้เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมบริโภคนิยม ภาพที่ถูกนำแสดงบนกล่องอาหารมีทั้งสัตว์ น่ารังเกียจอย่างแมลงสาบและหนู และสัตว์ร้ายอย่างงูและจระเข้ เพื่อให้ผู้ชมลองจินตนาการว่า เมื่อเมืองจมน้ำแล้วน้ำพัดเอาสัตว์เหล่านี้มา ถึงเวลานั้นคุณจะเอาตัวรอดด้วยการกินพวกมัน หรือจะยอมแพ้แล้วปล่อยให้พวกมันกินเรา
“ไอเดียตอนแรก ก่อนที่น้ำท่วมจริงจะเกิดขึ้น ผมอยากให้ตระหนักว่า อะไรกันแน่ ที่อยู่ในวงจรของวัฒนธรรม “กินด่วน” และถ้าเรายังบริโภคแบบไม่ลืมหูลืมตา ไม่คิดจะสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับธรรมชาติ ธรรมชาติอาจทวงคืนเราได้ แต่หลังจากเกิดน้ำท่วม ผมอยากให้ผู้ชมคิดว่า ถ้าไม่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย เขาอาจต้องกินอะไรแบบนี้ก็ได้” มนนเล่า
ผู้ชมถูกเชิญเข้าสู่โซน “เจ็บป่วย บาดเจ็บ” ด้วยผลงานออกแบบตัวอักษรของเอกลักษณ์ เพียรพนาเวช เขาเลือกใช้คำเพียงหนึ่งคำ มาแยกใส่ไว้ใน 10 เฟรม จัดแสดงให้ผู้ชมได้พินิจพิจารณาว่าคำที่แยกส่วนนี้เป็นคำว่าอะไร
“ถ้าเราติดตามข่าวสารทุกวันนี้ จะเห็นว่าสิ่งเริ่มต้นที่ทำให้เกิดสถานการณ์ไม่ดีต่างๆ มาจากการขาดสิ่งนี้ สิ่งที่ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือกัน ก็มาจากสิ่งนี้ นั่นคือคำว่า “สามัญสำนึก” ศิลปินต้องการตั้งคำถามว่า สิ่งที่พวกเรากำลังบาดเจ็บและบาดเจ็บ จากเหตุการณ์น้ำท่วม เป็นเพราะเราขาดสามัญสำนึกหรือเปล่า” ภัณฑารักษ์อธิบาย
เสื้อผ้าพิมพ์ลาย “100% Polyester” จัดแสดงคล้าย กำลังมีการเปิดท้ายขายเสื้อผ้า เป็นการแสดงผลงานของจิตต์สิงห์ สมบุญ แฟชั่นดีไซเนอร์จากแบรนด์เพลย์ฮาวน์ เพื่อกระตุ้นให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ควรตระหนักในคุณค่าของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต เพราะทุกสิ่งต่างก็มีสาระ ของตัวเองในมุมหนึ่งมุมใด
“โพลีเอสเตอร์ซึ่งเคยถูกต่อต้านจากพวกอนุรักษนิยม ผมเอามาแทนค่าให้เป็นพระเอกในสถานการณ์นี้ ภายใต้บรรยากาศสถานพยาบาลเคลื่อนที่ เพราะเสื้อโพลีเอสเตอร์สามารถกันน้ำได้ แห้งเร็ว และกันเชื้อโรคทางน้ำได้ เช่นเดียวกับทหาร ในยามที่ไม่มีสงคราม หลายคนมองว่าทหาร ไม่ได้ทำอะไร แต่เมื่อเกิดน้ำท่วม ทหารช่วยบรรเทาทุกข์ได้เยอะ” จิตต์สิงห์อธิบายวิธีคิดที่ถ่ายทอดผ่านความถนัดด้านแฟชั่นของตน
โซนสุดท้าย “ถึงเวลาแล้วที่จะออกแบบอนาคต” ประกอบด้วยผลงานการออกแบบของ 2 ศิลปิน เริ่มจากท่อนไม้สลักลายหน้าตาประหลาด ของปิตุพงษ์ เชาวกุล ผู้ก่อตั้งซูเปอร์แมชชีน สตูดิโอ มาจากจินตนาการเกี่ยวกับเมืองในอนาคตที่คนไทยสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับภัยพิบัติจากน้ำท่วม
ท่อนไม้สะท้อนเครือข่ายของ sky-walk มีขนาดใหญ่และสลับซับซ้อนขึ้น เพื่อรองรับระบบขนส่งที่หลากหลายมากขึ้น อันเนื่องมาจากผืนดินที่ลดน้อยลงหลังน้ำท่วม ทำให้คนเมืองจำเป็นต้องละทิ้งการใช้ชีวิตบนระดับถนนไปอยู่บน sky-walk แทน
“ปัญหามาจากความพยายามต่อสู้กับธรรมชาติ เราไม่ได้คิดจะอยู่กับธรรมชาติ หากจะแก้ปัญหาทั้งหมด ก่อนอื่นเราต้องตั้งกระทรวงปลูกต้นไม้ขึ้นมา แล้วรีบปลูกต้นไม้คืนธรรมชาติ วันนี้ งานที่ผมทำอาจเป็นสิ่งสมมุติ แต่ถ้าเรายังไม่ปลูกต้นไม้ เราจะเจอกับน้ำท่วมที่หนักขึ้นเรื่อยๆ แล้วสิ่งนี้อาจจะเกิดขึ้นจริง” ปิตุพงษ์อธิบาย
ชิ้นสุดท้ายเป็นผลงานของณัฐวุฒิ เลื่อนไธสง อินเตอร์แอคทีฟ ดีไซเนอร์ ดูเรียบง่าย เพราะมีเพียงจอภาพและเซ็นเซอร์จับความเคลื่อนไหวของผู้ชม ภาพสายฝนที่ตกลงมา ย้อนกลับขึ้นไป เมื่อผู้ชมอยู่ในอาการยกสองมือขึ้น (คล้ายท่าทางยอมแพ้) เบื้องหลังของการยกมือ ศิลปินมองว่าเป็นการทำความเคารพ
“คนเราจะอยู่กับธรรมชาติได้ดี ต้องเคารพธรรมชาติ เม็ดฝนไหลย้อนขึ้นไปเป็นการอุปมาว่า ถ้าเราเคารพธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะไม่ทำร้ายเรา ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าน้ำจะมาหรือไม่ หรือเราจะอยู่กับน้ำได้หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่า เราจะอยู่ร่วมกับน้ำอย่างไร” ศิลปินเล่าความคิด เบื้องหลัง
จากผลงานที่จัดแสดงทั้งหมด 15 ชิ้น ดูเหมือนศิลปินส่วนใหญ่ได้นำเสนอ “เมสเสจ (message)” เดียวกันว่า น้ำไม่ใช่ ปัญหา แต่มนุษย์ต่างหากที่เป็นปัญหาและ แนวทางแก้ปัญหาไม่ใช่ที่การปรับตัวของน้ำ แต่ควรเป็นการปรับตัวของคนเรามากกว่า
“ถ้าปีนี้ ประเทศไทยผ่านวิกฤติน้ำท่วมไปได้ด้วยดี นี่น่าจะเป็นจุดริเริ่มที่ดีที่ทุกคนจะเริ่มคิดว่าควรจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด และการใช้ชีวิตอย่างไร ไม่ใช่แค่ศิลปินหรือ นักออกแบบ แต่อาจถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องมาคิดร่วมกัน และร่วมกันทำให้เป็นจริง นิทรรศการนี้ต้องการจุดประกายให้เกิดเครือ ข่ายเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่ “ทางรอด” ที่ยั่งยืน” สันติ รอรัชวี หนึ่งในภัณฑารักษ์ของนิทรรศการครั้งนี้สรุป
นอกจาก “เมืองจมน้ำ” การจัดแสดงครั้งนี้ยังมีนิทรรศการย่อยที่มีหัวข้อที่แสนมุ่งมั่นว่า “ต้องรอด” เป็นการจัดแสดง สิ่งของในชีวิตประจำวันที่คุ้นเคยจำนวน 26 ชนิด เช่น กะละมัง ที่รีดผ้า ประตู ถุงขยะ ขวดน้ำพลาสติก ฯลฯ เสมือนผลงานศิลปะ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดมุมมองใหม่ต่อสิ่งรอบตัว โดยเฉพาะยามเกิดน้ำท่วม สิ่งของเหล่านี้สามารถเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิต ได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ตลอดช่วงการจัดแสดงนิทรรศการเมืองจมน้ำ หอศิลปฯ ได้จัดให้มีการเสวนา ต่อเนื่องขึ้นทุกวันเสาร์ โดยมีการเชิญศิลปิน นักออกแบบ นักวิชาการ ฯลฯ ตลอดจนผู้ประสบภัย มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อขับเคลื่อนกระบวน การฝ่าวิกฤติน้ำท่วมอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน
แม้ทีมผู้จัดนิทรรศการจะเปิดใจว่าไม่ได้อยากให้เกิดอุทกภัยขนานไปกับช่วงเวลาที่จัดนิทรรศการครั้งนี้ แต่ก็ต้องยอมรับ บางทีลำพังนิทรรศการเมืองจมน้ำที่มีระยะเวลาจัดเพียงแค่เดือนกว่า อาจไม่มีแรงกระตุ้นมากพอที่จะขับเคลื่อนให้คนไทยหันมาร่วมมือร่วมใจออกแบบอนาคตใหม่เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน
เมื่อมีสถานการณ์ความรุนแรงจากน้ำท่วมใหญ่บีบบังคับ บางครั้งนิทรรศการนี้อาจ ทำให้คนไทยได้เรียนรู้ขึ้นบ้างไม่มากก็น้อยว่า สิ่งที่จะทำให้เมืองไทย “รอด” ไม่ใช่ปฏิบัติการ “ไล่น้ำ” หรือ “กั้นน้ำ” แต่มาจากการเรียนรู้ที่จะเคารพและอยู่กับน้ำอย่างปลอดภัย
“ทำอย่างไรที่เราจะอยู่รอดจากภาวะ น้ำท่วม มันต้องเติมว่า เราจะอยู่กับน้ำอย่างไร อันนี้เป็นทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ ตลอดจนวิถีชีวิต เราต้องไม่ถือว่าน้ำเป็นศัตรู เพราะจริงๆ แล้ว เราต่างหากที่ไปแย่งพื้นที่ของเขามา
เราต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า น้ำคือ อะไร จะหากินกับน้ำอย่างไร ใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างไร มีแต่คนภาคกลางที่ไม่ค่อยเข้าใจว่าน้ำคืออะไร เรามองว่าน้ำคือที่ที่เราทิ้งของเสีย พอเห็นน้ำท่วม คน กทม. ก็ตกใจ จะต้องไล่ จะต้องกั้น จะต้องหนี หารู้ไม่ว่ามีอีกวิธี คือปรับตัวเองอยู่กับน้ำ เป็นทางผ่านให้เขาไปลงทะเล และไม่ไปตามรังควานทางน้ำผ่าน และนี่จะทำให้เรา รอดและอยู่กับน้ำได้”
วาทกรรมกล่าวเปิดงานนิทรรศการของ ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้อำนวยการบริหาร องค์กรเตรียมความพร้อมภัยพิบัติแห่งเอเชีย ดูจะเป็นบทสรุปถึงที่มาที่ไปและเจตนารมณ์ของคณะผู้จัดนิทรรศการได้เป็นอย่างดี
|
|
|
|
|