ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2554 ผมจำได้ดีเลยว่าผมตื่นนอนขึ้นมาเช็กข่าวทาง Twitter ของสำนักข่าว CNN ตามปกติ แต่ทันทีที่ผมได้อ่านข่าว ถึงกับตาสว่างขึ้นมาทันทีว่าในวงการเทคโนโลยีสารสนเทศได้สูญเสียนักประดิษฐ์คนสำคัญคนหนึ่งของโลกไปแล้ว นั่นคือ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs)
สตีฟ จ็อบส์ เป็นชาวอเมริกันผู้ร่วม ก่อตั้งและเป็นประธานกรรมการบริหารของ Apple Computer, Inc. (ซึ่งต่อมาได้ตัดคำว่า “Computer” ออก เพื่อให้เห็นการก้าวเข้าสู่ตลาดอิเล็กทรอนิกส์เคลื่อนที่ มากกว่าการมุ่งเน้นบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั่วไป) ถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกในด้านมูลค่าทางตลาด นอกจากนั้นสตีฟ จ็อบส์ ยังเป็นประธานกรรมการบริหาร Pixar Animation Studios และเป็นคณะกรรมการบริหารบริษัท The Walt Disney Company (ใน พ.ศ.2549 หลัง Disney ซื้อกิจการ Pixar ไป)
กล่าวอีกนัยหนึ่งสตีฟ จ็อบส์ เป็นบุคคลที่ได้สร้างสิ่งประดิษฐ์ด้านฮาร์ดแวร์ ที่สำคัญในปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 ออกมามากมาย อาทิ คอมพิวเตอร์เมาส์ (Mouse), เครื่องแอปเปิลทู (Apple II), แมคอินทอช (Macintosh), ไอแมค (iMac), ไอพอด (iPod), ไอโฟน (iPhone), ไอแพด (iPad) และร้านขายเพลงออนไลน์ ไอทูนส์ (iTunes)
สตีฟ จ็อบส์เป็นคนหนึ่งที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไป ทำการเปลี่ยนคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมาใส่ ในกระเป๋ากางเกงของพวกเรา สร้างโทรศัพท์มือถือที่มีความสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตและมัลติมีเดีย (Multimedia) ให้สามารถใช้งานส่งอีเมล ส่งข้อความ ส่งรูปภาพ ใช้เป็นแผนที่บอก ตำแหน่งการขับรถ พยากรณ์อากาศ ท่องอินเทอร์เน็ตผ่านทางซอฟต์แวร์ ฟังเพลง ถ่ายรูป โดยที่ไม่ต้องแม้แต่จะมีแป้นพิมพ์ โดยการทำงานทั้งหมด จะทำงานผ่านหน้าจอโดยการสัมผัสมัลติทัช (Multitouch) ผ่านคำสั่งต่างๆ เรียกได้ว่าถือเป็นการปฏิวัติ วงการข้อมูลสารสนเทศ ทำให้พวกเรา สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่อย่างสนุกสนาน และง่ายดาย
ในแง่ของทรัพย์สิน ในปี พ.ศ. 2553 นิตยสาร Forbes ประเมินทรัพย์สินของสตีฟ จ็อบส์อยู่ที่ 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท) หรือเรียกได้ ว่าประมาณหนึ่งในสี่ของ GDP ของประเทศ ไทยทั้งประเทศเลยทีเดียว ถือว่ามีทรัพย์สินมากเป็นอันดับที่ 39 ของบุคคลที่รวยที่สุดในสหรัฐอเมริกา
สิ่งที่น่าจับตามองคือเรื่องการศึกษา สตีฟ จ็อบส์จบการศึกษาจาก Homestead High School ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และได้สมัครเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยรีด (Reed College) ในมลรัฐโอเรกอน แต่ต้องลาพักการเรียนหลังจากเข้าเรียนได้เพียงหนึ่งภาคการศึกษา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือสตีฟ จ็อบส์จบการศึกษาชั้นสูงสุดเพียงแค่มัธยมปลาย
เหตุผลสืบเนื่องจากในขณะนั้น สตีฟ จ็อบส์เลือกมหาวิทยาลัยที่มีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ใช้แรงงานของเขามีปัญหาเรื่องเงินในการส่งเสียเขาเรียน หลังจากเรียนได้ 6 เดือน เขาก็เลยตัดสินใจลาออกจากวิทยาลัย แม้ว่าเขารู้สึกกลัวกับอนาคตที่ไม่แน่นอนของเขาเองในขณะนั้น แต่สตีฟ จ็อบส์กล้าตัดสินใจเลือก “คิดแตกต่าง” กล้าเดินตามฝันที่ตัวเองวาด
แม้ว่าหลังจากลาออกจากวิทยาลัยแล้ว สตีฟ จ็อบส์ก็ตัดสินใจไปลงเรียนคอร์ส สอนการคัดลายมือที่วิทยาลัยรีดเช่นเดิม คอร์สที่เขาเชื่อว่าเขาจะได้มาใช้ประโยชน์จริงๆ ซึ่งในภายหลังอีก 10 ปีต่อมา ตอนที่ เขากำลังออกแบบคอมพิวเตอร์แมคอินทอช รุ่นแรก เขาได้ประยุกต์ความรู้เหล่านี้ใส่ลงไปในแมคอินทอช ทำให้แมคอินทอชเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกในโลกเครื่องหนึ่งที่มีตัวพิมพ์ที่สวยงาม
ประเด็นเรื่องการศึกษานี้สำคัญ เพราะผมในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้บอกให้คุณผู้อ่านทั้งหลายลาออกไม่เรียนหนังสือกันหมดนะครับ แน่นอนครับ คนเราถ้าเจอตัวเองแล้ว มีความมานะพยายามในเป้าหมายจริงๆ
ปริญญาไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด การศึกษาไม่ใช่สิ่งที่ประกันความสำเร็จสูงสุดในชีวิต แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาจะเป็นสิ่งที่ประกันจุดต่ำสุดในชีวิต หมาย ความว่าอย่างไร หมายความว่า แม้ว่าเราตั้งใจเรียน เรียนจบมาแม้จะได้คะแนนดีที่สุดในประเทศ เราไม่สามารถรับรู้ได้หรอก ครับว่าอนาคตเราจะประสบความสำเร็จมากน้อยเท่าไหร่ คนที่เรียนเก่งที่สุด ก็ไม่ จำเป็นที่จะต้องประสบความสำเร็จในหน้าที่ การงานมากที่สุด แต่สิ่งที่การศึกษาประกันไว้ให้ก็คือ อย่างน้อยที่สุด คุณก็ไม่ลำบากมากจนไม่มีจะกิน อย่างน้อยก็ไปสมัครงาน ทำงานบริษัทได้ แต่ถ้าคุณไม่มีความรู้เป็นฐานเลย เมื่อไหร่ก็ตามเมื่อเราเจอปัญหาล้มเหลวในการทำธุรกิจ เราจะไม่สามารถมีอะไรรองรับจุดต่ำสุดในชีวิตไว้ได้เลย
แม้การจากไปของสตีฟ จ็อบส์ด้วยโรคมะเร็งจะเป็นสิ่งที่หลายๆ คน รวมถึง ตัวสตีฟ จ็อบส์เองพอจะคาดเดาได้
แน่นอนล่ะการสูญเสียครั้งนี้ถือว่าเราได้สูญเสียบุคคลสำคัญในวงการเทคโนโลยีสารสนเทศนี้ไป แต่ผมไม่ได้มองในเชิงมิติของเทคโนโลยีสารสนเทศเพียงอย่างเดียว แก่นจริงๆ นั้น ก็คือเราได้สูญเสียคน ที่เปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการมองโลกของพวกเรา สตีฟ จ็อบส์เป็นคนที่สร้างแรงบันดาล ใจให้หลายคนในโลกใบนี้ หลายๆ คนได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งความคิดสร้างสรรค์ การรู้จักเรียนรู้ เปิดใจกับทุกสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามา และการกล้าที่จะเลือก เดินทางที่เราชอบ มากกว่าทางที่คนอื่นคิดว่าดี
แม้ผมและคุณผู้อ่านอาจจะไม่รู้จักสตีฟ จ็อบส์เป็นการส่วนตัว แต่อย่างน้อยที่สุด การจากไปของสตีฟ จ็อบส์ก็สอนให้พวกเรารู้ว่า ถ้าในช่วงชีวิตที่เรามีชีวิตอยู่เราสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ไว้ เราก็จะยังไม่ตายไปจากจิตใจของผู้คน
ถึงแม้ว่าร่างกายเราจะสูญสลายไปจากโลกใบนี้แล้วก็ตาม Rest in Peace, Steve Jobs
|