จีน
ซ่ง เทา ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจีนเรียกพบเจ้าหน้าที่การทูตสามประเทศลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ไทย ลาวประจำปักกิ่ง และพม่า เพื่อเรียกร้องให้เร่งไต่สวนกรณีที่เรือสินค้าจีน 2 ลำ คือเรือหวาผิง และเรืออี้ว์ซิงหมายเลข 8 ถูกกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายดักปล้นและโจมตีกลางแม่น้ำโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ลูกเรือจีน 12 คน เสียชีวิต และอีก 1 คน หายสาบสูญ ซึ่งรัฐบาลจีนตกตะลึงและเศร้าใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอประณามผู้รับผิดชอบกรณีนี้อย่างรุนแรง หลังจากเกิดเหตุครั้งนี้จีนได้ประกาศหยุดการเดินเรือในแม่น้ำโขงเป็นการชั่วคราว
พม่า
รัฐบาลจีนเรียกร้องให้พม่าคุ้มครองสิทธิของบริษัทจากจีน หลังจากประธานาธิบดีเต็งเส่งมีคำสั่งระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตโสนบนแม่น้ำอิรวดี มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ เมื่อปลายเดือนกันยายน เขื่อนดังกล่าวเป็นโครงการลงทุนร่วมระหว่างจีนกับพม่า ได้รับการตรวจสอบอย่างถูกต้องแล้วจากทั้งสองฝ่าย แต่นักสิ่งแวดล้อมเตือนว่าเขื่อนแห่งนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นพื้นที่ขนาดเท่าเกาะสิงคโปร์ หมู่บ้านหลายสิบแห่งได้รับความเสียหาย และประชาชนอย่างน้อย 10,000 คน ต้องอพยพ รวมทั้งสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วย
ลาว
ทางการลาวอพยพราษฎรจำนวน 13 หมู่บ้าน ออกจากบริเวณที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำคาน 2 ในเขตเมืองเซียงเงิน แขวงหลวงพระบาง ซึ่งเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 เขื่อนแห่งนี้ รัฐบาลลาวลงทุนถึง 350 ล้านดอลลาร์ เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาด 130 เมกะวัตต์ โดยใช้เงินกู้จากจีนผ่านธนาคารส่งออกและนำเข้าของจีน มีบริษัทซิโนไฮโดรคอร์ปเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง กำหนดเปิดใช้การในปี 2557 ไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดจะนำเข้าระบบของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว เพื่อใช้ในหลายแขวงทางภาคเหนือของประเทศ
กัมพูชา
นาข้าวอย่างน้อย 1,125,000 ไร่ทั้งหมด 15,000,000 ไร่ ในกัมพูชาได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จัน สะรัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการสำรองอาหารของประเทศและการส่งออกข้าว เนื่องจากทางการสำรองเมล็ดข้าวไว้ประมาณ 3,450 ตัน ได้แจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทันทีหลังน้ำท่วม เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ 19 เมืองและจังหวัดต่างๆ ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ และมีประชาชนเสียชีวิตไปกว่า 200 คน
เวียดนาม
กลุ่มน้ำมันดิบคูเวต (KPI) เตรียมก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งที่ 2 ในเวียดนาม บนเนื้อที่ 962 เฮกตาร์ ในบริเวณเขตเศรษฐกิจงีเซิน อำเภอติ๋ญยา จังหวัดทาญฮว้า ห่างจากนครฮานอยไปทางทิศใต้ 215 กิโลเมตร โดยจะมีกำลังการกลั่นประมาณวันละ 200,000 บาร์เรล คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2558 ปัจจุบัน คณะกรรมการประชาชน จังหวัดทาญฮว้า เริ่มการเคลื่อนย้ายประชาชนนับร้อยครอบครัวออกไปจากพื้นที่ ซึ่งจะใช้สำหรับการก่อสร้างโรงงานแล้ว
|