Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2529
“ตราบใดผมยังไม่ตาย ผมยังคุมแบงก์ตลอดไป..”             
 


   
search resources

ธนาคารสหธนาคาร
บรรเจิด ชลวิจารณ์




บรรเจิด ชลวิจารณ์ เพิ่งทำบุญวันเกิด 72 ปีเกือบอย่างเงียบ ๆ ไปเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหมาด ๆ ณ บ้านพักบนเนื้อที่ 20 ไร่ ในซอยอัฐมิตรหลังสำนักงานสหธนาคาร สาขาบางเขน สำหรับบรรเจิดแล้วแม้ว่าวัย 72 ปีของเขาสมควรจะพักผ่อน แต่เขาก็ไม่อาจจะละมือจากงานได้ เพราะความเป็นห่วงอย่างมากประสาคนที่คลุกกับงานมาตลอดชีวิต

บรรเจิดยังดูแข็งแรง ตีกอล์ฟกับลูกชาย-ลูกเขยอย่างมีความสุขในวันสุดสัปดาห์มิเคยขาด แววตาของเขายังดูว่าเป็นคนไม่ยอมคนง่าย ๆ แต่ภายในโรคร้ายไม่เคยละเว้น ทุกปีบรรเจิดต้องเดินทางไปผ่าตัดเนื้องอกที่คอยจะยึดพื้นที่ในกระเพาะอาหารเสมอที่โรงพยาบาลลอนดอนคลินิก ประเทศอังกฤษ

แม้ว่าห้วงชีวิตที่ยาวนานของเขาจะมีผู้คนห้อมล้อมในฐานะผู้นำธุรกิจภาคเอกชนคนเดียวซึ่งเคยกำกับบททั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมไทย และสมาคมธนาคารไทย แต่ชีวิตส่วนตัวของเขาค่อนข้างเหงา คนที่รู้ใจมีไม่มากนัก

คุณหญิงสวลี คู่ชีวิตซึ่งร่วมหอลงโลงกันมา 40 ปีเต็ม ย่อมเป็นคนหนึ่งที่รู้ใจ

คุณหญิงสวลี นามสกุลเดิม จำปามณี เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2464 เป็นชาวเชียงใหม่ พบรักกับบรรเจิดที่โรงเรียนแอตเวนตีสฯ ในขณะที่สวลีเป็นครูสาว บรรเจิดเป็นครูใหญ่หนุ่ม พอเกิดสงครามโลกครอบครัวคุณหญิงต้องอพยพไปตั้งหลักที่บ้านเกิดเชียงใหม่ ต่อมาบรรเจิดก็ได้ย้ายตัวเองตามไปเป็นสมุห์บัญชีบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ที่ลำปาง ความรักจึงเพาะได้ที่และแต่งงานกันเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2488 เป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่สองยุติลงพอดี

บรรเจิด-คุณหญิงสวลี มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 4 คน คนแรกปิยะบุตร ชลวิจารณ์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการสหธนาคาร ณรงค์ฤทธิ์ ชลวิจารณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการสหธนาคารสาขาติวานนท์ ศศิบุษบา สืบแสง (ภรรยารังสิน สืบแสง ผู้ช่วยผู้จัดการสหธนาคาร) อาจารย์จุฬาฯ และลาลีวรรณ กาญจนจารี (ภรรยาพรเสก กาญจนจารี แห่งซิว-เนชั่นแนล) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อและหลักทรัพย์สหธนาคารเช่นกัน

เรียกได้ว่าครอบครัวบรรเจิด ชลวิจารณ์ ปักหลักปักฐานทั้งชีวิตไว้ที่สหธนาคารเลยทีเดียว !?

แม้แต่คฤหาสน์หลังใหญ่ ที่ซอยอัฐมิตร ถนนพหลโยธิน ของเขาก็สร้างบนที่ดินอันเป็นสมบัติของสหธนาคารที่จัดสรรให้!?

นอกจากคนภายในครอบครัวแล้ว บรรเจิดยังมีคนสนิทรู้ใจอีก 2 คน

คนแรก เฉลียว รักตะประจิต อดีตเลขานุการส่วนตัว ผู้ได้รับบำเหน็จความดีที่รับใช้บรรเจิดด้วยความซื่อสัตย์มากว่า 30 ปี เป็นผู้อำนวยการสำนักกรรมการผู้จัดการอันเป็นตำแหน่งสูงสุด และเกษียณอายุเมื่อ 65 ปี ตุลาคมปีที่แล้ว ปัจจุบันยังเป็นที่ปรึกษาธนาคาร เจ้าตัวบอกว่าขอช่วยงานอีกสัก 1 ปี

“ผมหอบแฟ้มกว่า 30 บริษัทที่ท่านได้รับมอบหมายจากจอมพลสฤษดิ์นั่งหน้ารถไปกับท่าน” เฉลียวเปิดภูมิหลังในฐานะเลขาฯ ประจำตัวใกล้ชิดบรรเจิดให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

“ตอนเช้าเจ้าหน้าที่บริษัทต่าง ๆ และสมาคมที่ท่านรับผิดชอบจะต้องมารอให้ท่านเซ็นหนังสือที่บ้านก่อนท่านจะตื่นนอนด้วยซ้ำ บ้านของท่านที่สะพานควาย” เจ้าหน้าที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยผู้เคยหอบแฟ้มไปรอบรรเจิดลงนามบ่อยเป็นพิเศษฟื้นความหลังกับ “ผู้จัดการ”

ปัจจุบันบ้านเก่าของบรรเจิดที่สี่แยกสะพานควาย ริมถนนพหลโยธินใกล้วัดไผ่ตันได้เปลี่ยนสภาพเป็นตึกแถวทำการค้าไปแล้ว “ท่านไม่ได้ขาย ท่านไม่ใช่คนที่ชอบขายสมบัติเก่ากิน ให้เขาเช่า อยู่ไม่ไหวหรอกคุณ พอความเจริญมาถึง มีตลาดขึ้น เครื่องขยายเสียงดังรบกวนเช้าเย็น ท่านจึงย้ายมาซอยอัฐมิตร ประมาณ 10 ปีแล้วเห็นจะได้” เฉลียวบอก

“ท่านรับผิดชอบกิจการบริษัทตั้งมากมายเช่นนั้น เวลาประชุมทำอย่างไร” เป็นคำถามที่ “ผู้จัดการ” ตั้งขึ้นอย่างง่าย ๆ “ไม่มีอะไรตายตัว ผมจะเป็นคนจัดตารางตามลำดับก่อนหลังให้ท่าน หากประชุมยืดออกไป อาจจะต้องข้ามรายการที่ 2 ไป แต่ส่วนใหญ่เขาจะต้องรอท่าน...ตอนนั้นท่านเป็นคนสำคัญของประเทศ หลายคนต้องรับฟัง” เฉลียวไขปัญหา

“แน่นอนถ้าคุณบรรเจิดมาประชุมด้วยมักไม่มีปัญหาโต้เถียง ท่านว่าอะไรทุกคนต้องว่าตาม เพราะความเห็นของท่านทุกคนทราบว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลเห็นชอบแล้ว” เจ้าหน้าที่อาวุโสสภาหอการค้าฯ เล่า และบอกต่อว่า บรรเจิดเป็นกรรมการหอการค้าเพียงปีเดียวก็ข้ามมาควบตำแหน่งประธานสภาหอการค้า “ท่านเป็นคนเดียวที่มาเร็วที่สุด”

เท่าที่สอบถามพ่อค้ารุ่นเก่า ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า บรรเจิดคือประธานสภาหอการค้าฯ ที่เขากลัวที่สุด !

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันว่าผลงานของบรรเจิด ชลวิจารณ์ ที่ฝากไว้ที่สภาหอการค้าฯ นั้นไม่น้อย ตั้งแต่หาเงินสร้างตึกสำนักงานของตนเองมูลค่า 3 ล้านบาท โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานเปิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2506 นอกจากนี้บรรเจิดยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ประสาทการวิทยาลัยหอการค้าด้วย

“ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมชื่นชมผลงานของท่านที่เดินทางไปขายข้าวที่อินโดนีเซียสำเร็จ” เฉลียว เลขาฯ คู่ใจเชื่อเช่นนั้นพร้อมเปิดเผยว่าเขาคือ 1 ใน 3 คนสำคัญในการเดินทางครั้งนั้น นอกจากบรรเจิดแล้วก็มีนาม พูนวัตถุ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศขณะนั้น “เป็นการเปิดตลาดครั้งแรกที่อินโดฯ ซื้อข้าวไทยถึง 1 แสนตัน ยุคของท่านส่งข้าวออกได้มากเป็นประวัติการณ์”

บรรเจิดเองก็กล่าวได้อย่างภาคภูมิใจในคำขวัญเนื่องในโอกาส 25 ปี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยถึงผลงานครั้งนั้นว่า “ความสำเร็จจากการขยายตลาดการค้าพืชไร่ของไทย (ในช่วงที่บรรเจิดเป็นประธานสภาหอการค้าฯ - เน้นโดยผู้เขียน) ทำให้ดุลการค้าซึ่งในปี 2501 ต้องขาดดุลการค้าถึง 3,500 ล้านบาท ได้ลดลงเหลือเพียงขาดดุล 300 ล้านบาทเท่านั้นในปี 2504”

เฉลียวพูดถึงอุปนิสัยของบรรเจิดตอนหนึ่งว่า “ท่านแป็นคนโมโหร้าย แต่ไม่มีอะไรขอให้ได้โพล่งเท่านั้น คนอื่นไม่เข้าใจก็อยู่กันไม่ได้ ผมอยู่กับท่านมานานเกินกว่าจะเข้าใจท่านผิด เพียงท่านมอง ผมก็รู้ทันทีว่าท่านจะเอาอะไร ตอนหลัง ๆ เราก็ชราด้วยกัน เวลายาวนานที่ผ่านมาความรู้สึกจึงเป็นแบบเพื่อนกันมากกว่า”

นอกจากเฉลียว รักตะประจิต แล้วก็มี ศรีบุตร อุประ ผู้ติดตามมาเกือบ 30 ปี ร่างเขาสูง บึกบึน ใคร ๆ จึงเรียกว่าเป็น “มือปืน” ประจำตัวบรรเจิด

ปัจจุบันแม้จะมีตำแหน่งหัวหน้าส่วนบริการ แต่ศรีบุตรยังพกปืนรักษาการณ์อยู่บริเวณหน้าห้องกรรมการผู้จัดการบนชั้นที่ 17 สำนักงานใหญ่สหธนาคาร

มีเกร็ดเล็ก ๆ ที่น่าทำให้รู้จักบรรเจิดมากขึ้น-บรรเจิด ชลวิจารณ์เป็นคนค่อนข้างเชื่อเรื่องโชคลางและไสยศาสตร์ ถึงขั้นมีหมอดูประจำตัวคือ ถาวร นิสัยสรการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายธุรการสหธนาคารปัจจุบัน

“คุณถาวรเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของสมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศ ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้ว นอกจากจะมีความรู้เรื่องก่อสร้าง คนแบงก์เชื่อกันนักหนาว่าเป็นหมอดูที่แม่นราวกับตาเห็น” พนักงานเก่าแก่สหธนาคารคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

“คุณบรรเจิดชอบผูกดวงของท่านกับดวงของธนาคาร และให้ความสำคัญมากเกี่ยวกับวันเวลาเปิดสำนักงานแบงก์” ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งกล่าว

บรรเจิดวันนี้ไม่มีงานรับผิดชอบมากมายเหมือนเมื่อ 5-10 ปีก่อนแทบจะเรียกได้ว่า บั้นปลายชีวิตของเขาอยู่ที่สหธนาคารแห่งนี้เท่านั้น

“ผมสร้างแบงก์นี้ขึ้นมาด้วยตัวเอง จนมั่นคงอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ เมื่อขยับขยายใหญ่โตขึ้นมาแล้ว ผมจะทิ้งไป ผมก็เป็นห่วง ตราบใดที่ผมยังไม่ตาย ผมยังคุมแบงก์ตลอดไป..” เขาเคยประกาศเมื่อต้นปี 2528

สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตบางทีก็เหลือเดา บทเรียนที่บรรเจิดประสบมาด้วยตัวเองที่บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย (อ่านล้อมกรอบ “ปี 2525 แห่งความเจ็บปวด ฟ้าผ่าบรรเจิดกระเด็นออกจากวงการน้ำตาล-ไม้ขีดไฟ”)

เรื่องนี้ “ผู้จัดการ” เชื่อว่าถาวร นิสัยสรการ จะเป็นผู้บอกบรรเจิดได้ดีกว่าใคร ๆ

สุดท้ายขอแนะนำ หากบรรเจิดมีเวลาน่าจะไปหาวิดีโอ-ภาพยนต์ทีวีชุดสุดฮิตในอเมริกาเรื่อง KANE & EBLE ซึ่งพอจะหาได้แถวถนนสีลม มาชมเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในห้วงเวลานี้ บางทีอาจมีแง่คิดในทางสร้างสรรค์ก็เป็นได้

ขอให้โชคดี....

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us