|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หากนับจุดผ่านแดนถาวรไทย-พม่า ตลอดแนวตั้งแต่เหนือจรดใต้จะมีเพียง 3 จุดคือ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในไทย-ท่าขี้เหล็ก ในพม่า, อ.แม่สอด จ.ตาก ในไทย-เมียวดีในพม่า และ อ.เมือง จ.ระนอง ในไทย-เกาะสอง ในพม่า แต่ในความเป็นจริง การค้าระหว่างไทย-พม่าเกิดขึ้นผ่านช่องทางชายแดนต่างๆ ในพื้นที่ 7 จังหวัดของไทย คือ แม่ฮ่องสอน (ด่านศุลกากรบ้านห้วยผึ้ง อ.เมือง) เชียงราย (ด่านศุลกากรแม่สาย) เชียงใหม่ (ด่านศุลกากรเชียงดาว) ตาก (ด่านศุลกากรแม่สอด) กาญจนบุรี (ด่านศุลกากรสังขละบุรี) ประจวบคีรีขันธ์ (ด่านศุลกากรบ้านสิงขร) และระนอง (ด่านศุลกากรระนอง)
ส่วนชายแดนด้าน จ.ราชบุรี เพชรบุรี และชุมพร นั้น ที่ไม่ปรากฏการค้าขายระหว่างกัน เนื่องจากพรมแดนที่ติดต่อกันกับพม่าเป็นพื้นที่ป่า ไม่มีชุมชนอาศัยอยู่
ทั้งนี้ สินค้าไทยจะถูกลำเลียงผ่านเส้นทางคมนาคมที่สำคัญคือ เส้นทางการค้าระหว่างแม่สอด-เมียวดี-ท่าเรือชายฝั่งเมาะละแหม่ง (ระยะทาง 150 กม.) ก่อนต่อไปยังกรุงย่างกุ้ง ระยะทาง 310 กม. ถนนสายนี้สามารถเชื่อมต่อไปยังบังกลาเทศ อินเดีย หรือต่อขึ้นไปทางเหนือถึงมัณฑะเลย์-ลาเฉียว-ชายแดนมูเซ/ลุ่ยลี่ หรือยุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองฯ เต๋อหง-นครคุนหมิง มณฑลหยุนหนันของจีน
(อ่าน “สาละวิน ลุ่มน้ำแห่งความหวังที่กว้างใหญ่ นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกันยายน 2553 และเรื่อง”เต๋อหง ช่องทางสินค้าจีนที่ไทยไม่อาจมองข้าม” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือแบบให้เปล่า พัฒนา เส้นทางจากเชิงสะพานมิตรภาพไทย-พม่าฝั่งเมืองเมียวดี จนถึงเชิงเขาตะนาวศรี ระยะทาง 17.35 กม. มูลค่า 122.9 ล้านบาท
ล่าสุด ในโอกาสที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย เดินทางไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามร่วมกันที่จะดำเนินการพัฒนาถนนสายนี้ต่อจากเชิงเขาตะนาวศรี-เมืองกอกะเร็ก ระยะทางประมาณ 27-28 กม. มูลค่าการก่อสร้าง 872 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางอินดู-พะอัน หรือผาอัน-ท่าตอน เชื่อมโยงเข้ากับถนนคอนกรีตเดิมที่สามารถขยายได้ในอนาคต ไปจนถึงกรุงย่างกุ้ง
รวมถึงการลงนามที่จะซ่อมแซมสะพานมิตรภาพไทย-พม่าข้ามแม่น้ำเมยที่ชำรุดมาหลายปีแล้วด้วย
(อ่านเรื่อง “แม่น้ำเมย: ลำน้ำหมื่นล้าน” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
นั่นหมายถึงโอกาสที่ด่านเมียวดีถูกทางพม่าสั่งปิดมาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2553 จะได้รับการคลี่คลายในโอกาสอันใกล้นี้ด้วย
ถ้าหากเส้นทางสายนี้ได้รับการพัฒนาจะทำให้สินค้าไทยที่ส่งผ่านช่องทางแม่สอด-เมียวดีเข้าถึงกรุงย่างกุ้งได้ภายในเวลาวันเดียว ก่อนจะกระจายไปยังเครือข่ายการค้าทั่วประเทศ โดยเฉพาะในหัวเมืองทางภาคใต้ของพม่าที่มีย่างกุ้งเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าโดยภูมิศาสตร์มาช้านานแล้ว
นอกจากนี้ยังสามารถส่งสินค้าต่อจากย่างกุ้งขึ้นไปถึงมัณฑะเลย์-มูเซ-คุนหมิงที่อยู่ห่างออกไป 2,020 กม. หรือย่างกุ้ง-ตามู 1,200 กม.
โดยพม่ามีเส้นทางรถไฟรองรับอยู่ในบางพื้นที่ รวมระยะทางกว่า 40,007 กม. โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงย่างกุ้ง และเส้นทางสายหลักคือ ย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ ระยะทาง 716 กม. ที่ถือเป็นเส้นทางรถไฟที่ได้มาตรฐานที่สุดของพม่าในขณะนี้
ในอนาคต ทางจีนก็มีโครงการที่จะพัฒนาเส้นทางรถไฟจากคุนหมิง-ลุ่ยลี่-มูเซ-ลาเฉียวเข้ามาเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟของพม่าด้วย โดย U Moe Kyaw เลขาธิการสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศพม่า (UMFCCI) ยืนยันว่าจีนสนใจที่จะพัฒนาเส้นทางรถไฟสายนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานในระดับรัฐบาล แต่ก็มีการส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจเบื้องต้นแล้วเช่นกัน
อีกเส้นทางหนึ่งที่ถือเป็นช่องทางส่งสินค้าเข้าพม่าที่ค้าขายกันมานาน คือเส้นทางจากเชียงราย-เชียงตุง เชื่อมต่อเข้าตองยี-มัณฑะเลย์ หรือขึ้นเหนือไปยังเชียงรุ่ง สิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน (เส้นทาง R3b)
ซึ่ง “มัณฑะเลย์” เป็นเหมือนศูนย์กลางการกระจายสินค้าในพื้นที่ภาคเหนือของพม่าอยู่ด้วย
(อ่าน “R3b เส้นทางที่ต้องมีพี่เลี้ยง” นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
นอกจากนี้ยังมีการค้าผ่านช่องทางชายแดนจังหวัดระนอง-เกาะสอง ที่เป็นจุดผ่านแดนถาวร และมีช่องทางเข้าออกหลายจุดคือ ท่าเทียบเรือสะพานปลา ต.นางริ้น อ.เมือง ระนอง, ปากน้ำระนอง ต.ปากน้ำ อ.เมือง ระนอง และท่าเทียบเรือของบริษัทอันดามันคลับ ต.ปากน้ำ อ.เมือง ระนอง
อนาคตอันใกล้ ไทย-พม่ายังมีโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม เส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือ-จังหวัดกาญจนบุรี (ถนน รถไฟ สายส่งไฟฟ้า และท่อก๊าซ-น้ำมัน เชื่อมต่อระหว่างเมืองทวายกับชายแดนไทย-พม่า ที่บ้านน้ำพุร้อน จ.กาญจนบุรี) ซึ่งรัฐบาลพม่าได้ทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ร่วมกับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ
โครงการนี้จะเป็นการเชื่อมโยงข่าย Economic Corridor ระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยที่สามารถลดระยะเวลาการขนส่งและพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ด้วย
|
|
|
|
|