|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

1 ปีหลังผ่านการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกในรอบ 20 ปี พม่าเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่เพียงเฉพาะมิติทางการเมืองระหว่างประเทศที่ต้องการแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยแล้วเท่านั้น แต่ในมิติเศรษฐกิจ สัญลักษณ์ และแนวคิดที่อิงกับระบบ “ทุนนิยม” ได้ปรากฏอยู่ในตัวเมืองและนักธุรกิจของพม่าแล้วเช่นกัน
หลายสิบปีที่ผ่านมา สังคมโลกรู้จัก สหภาพพม่า (Union of Myanmar) หรือชื่อใหม่ “สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์” (The Republic of Union of Myanmar) อดีตอาณานิคมอังกฤษ ผ่านมุมมองสื่อตะวันตกในฐานะประเทศที่มีรัฐบาลเผด็จการทหารปกครอง มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ฯลฯ
แน่นอน การสร้างภาพที่เลวร้ายให้พม่าจากสื่อตะวันตกเช่นนี้ สาเหตุหนึ่งคือ พม่าเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรประมาณ 60 กว่าล้านคน อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ จำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นที่หมายปองจากประเทศตะวันตก เพียงแต่ระบอบการปกครองที่เข้มงวดของรัฐบาลเผด็จการ ในช่วงที่ผ่านมาปิดกั้นโอกาสให้ประเทศเหล่านี้ เข้าไปตักตวงผลประโยชน์ จากจุดเด่นของพม่าจึงเป็นแรงสะท้อนกลับเพื่อบีบให้พม่าเปิดประเทศ
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่พม่ายังปกครอง ด้วยระบอบเผด็จการ ข้อมูลข่าวสารที่ถูกปล่อยออกมาจากประเทศนี้มีไม่มากนัก ดังนั้นสังคมโลกส่วนใหญ่จึงรับรู้แต่เนื้อหาที่ถูกปล่อยออกมาจากสื่อตะวันตกเพียงด้านเดียว
ไม่รู้เลยว่า แท้จริงแล้วภายในพม่า นั้นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร
โลกเริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่เปิดเผยของพม่า ภายหลังการเลือกตั้ง ใหญ่ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนปีที่แล้ว (2553) และเริ่มตระหนักรู้แล้วว่า พม่ากำลังผ่อนคลายความเข้มงวดที่เคยใช้ในระหว่างที่ถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการขึ้นมาทีละนิด ทีละนิด
มีการปล่อยตัวออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายต่อต้านที่ถูกจำกัดบริเวณอยู่ในบ้านมา นานปี และเริ่มเปิดโอกาสให้เธอออกมามีบทบาทในสังคมมากขึ้น
มีการยกเลิกการบล็อกเว็บไซต์ข่าวหลายสำนัก รวมถึงเว็บไซต์ยูทูบ เพื่อให้ประชากรของพม่าสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้กว้างขวางขึ้น
เริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เปิดโอกาสให้แรงงาน ชาวพม่ามีสิทธิมีเสียงมากขึ้น
การที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของพม่า ตัดสินใจยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนมิตโสนบนแม่น้ำอิรวดี มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ เพราะเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบ ในวงกว้าง ทั้งต่อประชากรและทรัพยากรของประเทศ ทั้งๆ ที่การตัดสินใจเช่นนี้มีผลกระทบต่อความรู้สึกของจีนที่เคยเป็นมิตรประเทศกับพม่ามาช้านาน
ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นท่าทีผ่อนคลายในมิติทาง การเมืองระหว่างประเทศ เพื่อแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า ณ วันนี้ พม่าเป็นประเทศประชาธิปไตยแล้วเท่านั้น
แต่ความเปลี่ยนแปลงที่บ่งบอกมิติในเชิงเศรษฐกิจและธุรกิจ ยังปรากฏออกมาให้เห็นไม่ชัด
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว พม่าและนักธุรกิจของพม่าได้มีความปรับตัว พัฒนา ตัวเองเพื่อเตรียมพร้อมรับกับเศรษฐกิจระบบทุนที่ต้องตามเข้ามาภายหลังการเลือกตั้งใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้มาระดับหนึ่งแล้ว
โดยเฉพาะในเมือง “ย่างกุ้ง” อดีตเมืองหลวงที่ปัจจุบัน ดำรงบทบาทเป็นเมือง ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ
ผู้จัดการ 360 ํ เป็นนิตยสารฉบับหนึ่ง ซึ่งให้ความสำคัญกับพม่ามาโดยตลอด โดยเฉพาะการเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลง ของประเทศนี้ ในมิติเศรษฐกิจและธุรกิจ เพราะเชื่อว่าพม่าเป็นประเทศตัวแปรสำคัญ ต่อการก่อกำเนิดประชาคมอาเซียน (AEC) ที่จะเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม ในปี พ.ศ. 2558
(อ่าน “พม่า จุดเปลี่ยนอาเซียน?” เรื่องจากปกนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
จากการเดินทางเข้าไปยังเมืองย่างกุ้งครั้งล่าสุด เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราได้พบความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในมิติทางธุรกิจที่ปรากฏขึ้นในเมืองแห่งนี้
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่บ่งบอกสัญญาณว่าประเทศที่เคยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการมาช้านานแห่งนี้ได้เตรียมพร้อมแล้วที่จะเปิดประเทศ เพื่อรับกับเศรษฐกิจระบบทุน
พฤติกรรมของผู้คนในย่างกุ้ง เริ่มเปิดรับกับวิถีชีวิตในระบบทุนนิยมแล้ว...
“ย่างกุ้ง” อดีตเมืองหลวงของพม่าวันนี้ ยังคงความเป็นเมืองศูนย์กลางของประเทศ ตามภูมิศาสตร์ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นจุดกระจายสินค้าไปสู่ภาคต่างๆ ของประเทศ มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคมากกว่าเมืองอื่นๆ ของพม่า
หลังการโยกย้ายส่วนราชการสำคัญออกจากเมืองย่างกุ้งไปยังเนปิดอ เมืองหลวง แห่งใหม่ ย่างกุ้งในวันนี้เริ่มถูกปรับแต่งพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพฤติกรรม การบริโภคของผู้คน ที่ก่อนหน้านี้เคยถูก “เคอร์ฟิว” มาอย่างยาวนาน
ในอดีตคนพม่านิยมดื่มชาร้อนมากกว่ากาแฟ ดื่มได้ทั้งเช้า บ่าย เย็น ขณะที่พวกเขามองว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มสำหรับคนเจ็บไข้ได้ป่วย แต่บัดนี้ ณ ใจกลางนคร ย่างกุ้ง เริ่มมีร้านเบเกอรี่ ร้านกาแฟสุดหรู เกิดขึ้นแล้ว
รายงานการศึกษาของศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ระบุว่า ขณะนี้มีกาแฟสำเร็จรูปจำหน่ายในตลาดพม่าไม่ต่ำกว่า 15 ยี่ห้อแล้ว
ร้านค้าปลีก-ค้าส่งทันสมัยในรูปแบบ โมเดิร์นเทรดได้เกิดขึ้นให้เห็นในย่างกุ้งแล้ว ทั้ง Capital Hypermarket หรูหรากลางเมือง รวมถึง GANDAMAR Wholesale ศูนย์ค้าส่ง-ค้าปลีกที่เครือข่ายคนในอำนาจรัฐพม่าเพิ่งลงทุนเปิดขึ้นบริเวณชานกรุงย่างกุ้งราว 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้
ไม่รวมอาคารร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตรูปแบบทันสมัยที่เกิดขึ้นตาม 2 ฟากฝั่งถนนทุกเส้นทาง การปรับปรุง-ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ รูปทรงทันสมัย ปรากฏให้เห็นทุกย่านการค้าสำคัญของเมือง
ราคาที่ดินในย่างกุ้งพุ่งขึ้นหลายเท่าตัวหลังพม่ามีการเลือกตั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี โดยปัจจุบันที่ดินชานเมืองย่างกุ้ง มีการซื้อขายสิทธิ์กันที่ไร่ละกว่า 10 ล้านบาท
U Aung Win ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมประเทศพม่า (UMFCCI) บอกว่าพม่ามีเสถียรภาพมากขึ้นและกำลังจะเปิดประเทศ ทุกด้านกำลังจะดีขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา หรือ Asian Corridor รวมถึงจีนก็กำลังทำอยู่ โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุนที่พยายามที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น โดยส่วนหนึ่งก็เรียนรู้จากพัฒนาการในประเทศไทย
U Moe Kyaw เลขาธิการ UMFCCI บอกว่าระบบการเมืองในพม่าเริ่มเปลี่ยนแปลง เพียงแต่โครงสร้างพื้นฐานอาจจะยังไม่ดีเหมือนประเทศอื่น ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เหมือนประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Grater Mekong Sub-Region: GMS) เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) หรือธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (JBIC) ยังไม่ได้เข้ามาให้การสนับสนุนเท่าที่ควร
“อย่าง ADB ก็ไม่ได้เข้ามาในพม่ามากในระยะที่ผ่านมา เพราะอเมริกาคุมอยู่ ซึ่งถ้าดูกลุ่มประเทศตามแนว EWEC หรือ East-West Economic Corridor จะเห็นชัดว่าประเทศอื่นๆ ทั้งเวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย ล้วนได้รับการสนับสนุนหมด แต่พม่ามีเข้ามาน้อยมาก”
U Moe Kyaw บอกอีกว่า อย่างไรก็ตาม วันนี้พม่าเริ่มดีขึ้นแล้ว หลายประเทศ กำลังจะเข้ามา อย่างในไทย เราเห็นมีบริษัทญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนจำนวนมาก ในอนาคตกลุ่มทุนญี่ปุ่นเหล่านี้ก็สามารถมาลงทุนในพม่าได้ เมื่อการเมืองพม่าดีขึ้น ระบบสาธารณูปโภคได้รับการพัฒนาขึ้น
เขาย้ำว่า รัฐบาลรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชนมากขึ้น เราสามารถเสนอความเห็นต่อรัฐบาลว่า ควรจะแก้ไขหรือปรับปรุง กฎระเบียบเรื่องไหนที่จะเอื้อต่อการพัฒนา การค้าการลงทุนได้มากกว่าเดิมมาก
ซึ่งกรณีนี้มีรูปธรรมชัดเจนก็คือการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์สหภาพพม่า ฉบับที่ 9/99 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 1999 ที่เคยห้ามนำเข้าสินค้า 15 รายการ (เดิมเคยมีประกาศฉบับที่ 5/98 ลงวันที่ 20 มีนาคม 1998 กำหนดรายการสินค้าที่ห้าม นำเข้าด้านชายแดน 10 รายการสินค้า) ประกอบด้วยผงชูรส น้ำหวาน เครื่องดื่ม (Soft drink) ขนมปังกรอบทุกชนิด (Biscuits) หมากฝรั่ง ขนมเค้ก ขนมเวเฟอร์ ช็อกโกแลต อาหารกระป๋อง (เนื้อสัตว์และผลไม้) เส้นหมี่ทุกชนิด เหล้า เบียร์ บุหรี่ ผลไม้ทุกชนิด ผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับใช้ในครัวเรือนและเครื่องใช้ส่วนตัวทุกชนิด สินค้าต้องห้ามอื่นๆ ที่มีกฎหมายปัจจุบันห้ามนำเข้า เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่าน มา เป็นต้น
Wah Wah Htun ประธานสภาธุรกิจสตรีแห่งสหภาพเมียนมาร์ (Myamar Woman Entrepreneur Association) ที่มีเครือข่ายสมาชิกทั่วประเทศกว่า 1,500 ราย และเป็นกรรมการ UMFCCI ให้ความเห็นว่า พม่ามีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก ทั้งประมง อาหาร ผลไม้ อัญมณี ป่าไม้ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ฯลฯ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่ถูกเปิดออกสู่สายตาชาวโลกอีกมหาศาล
หลังพม่ามีรัฐบาลใหม่จนถึงขณะนี้เริ่มทำให้เศรษฐกิจของพม่ามีเสถียรภาพมากขึ้น มีพัฒนาการด้านการเมืองมากขึ้น เช่น กรณีของออง ซาน ซูจี ถือเป็นหนึ่งในการเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของพม่า
Wah Wah บอกอีกว่า นอกจากนี้อุปสรรคด้านการค้าการลงทุนที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ ก็ลดลงไปมาก เช่น กรณีที่นักลงทุนต่างประเทศต้องการเข้ามาลงทุนในพม่า หากมูลค่าการลงทุนเกินกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าเตรียมเอกสารทุกอย่างพร้อมสมบูรณ์ 100% ปัจจุบันจะได้รับการเซ็นอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับภายในวันเดียวเท่านั้น
“ภาคเอกชนของพม่าก็เริ่มมีบทบาทในการกำหนดนโยบายของประเทศมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากอดีต”
อภิรัฐ เหวียนระวี เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง บอกกับผู้จัดการ 360 ํ ที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ภายหลังเดินทางมามอบของช่วยเหลือแก่ทางการพม่าเมื่อปลายเดือนกันยายนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่าในตอนนี้ถือว่าดีมาก ด่านฯ แม่สอด-เมียวดี ที่ปิดมานานกว่า 1 ปีก็มีแนวโน้มที่จะเปิดในเร็ววันนี้ ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 23 กันยายน รัฐบาลพม่าได้เปิดรับให้ไทยเข้าไปช่วยซ่อมแซมถนนในฝั่งจังหวัดเมียวดีแล้ว ซึ่งหมายถึงการเปิดให้ไทยเข้าไปในเมียวดีได้แล้วนั่นเอง
ขณะที่กรุงย่างกุ้งถือได้ว่าพม่าเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นอีกมากมาย โดย สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ได้จัดสัมมนาเรื่องลู่ทางการค้าและการลงทุน ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน ซึ่งได้รับความสนใจ จากนักลงทุนไทยเดินทางไปร่วมจำนวนมาก และธนาคารไทยพาณิชย์ก็ตกลงในหลักการที่จะเข้าไปเปิดสำนักงานตัวแทนในพม่า ในอนาคตอันใกล้นี้
“วันนี้ เราเดินเที่ยวในย่างกุ้งได้อย่างสบายใจมาก ไม่ต้องกังวลเรื่องอาชญากรรม เพราะกฎหมายของเขาที่นั่นแรงมาก”
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย เพิ่ง เดินทางเยือนพม่า ซึ่งโอกาสนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ลงนามพัฒนาเส้นทางต่อจากเมียวดี-กอกะเร็ก ส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor; EWEC) ด้วย
(อ่าน “East-West Economic Corridor ประตูฝั่งตะวันตกที่รอการเปิด” นิตยสาร ผู้จัดการ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2551 และเรื่อง “มิงกลาบา: เมียวดี” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)
ที่สำคัญ นอกจากในปี 2556 พม่าจะมีโอกาสได้ขึ้นเป็นประธานอาเซียนแล้ว ในอีก 2 ปีข้างหน้า คือปี 2557 พม่าจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ นั่นหมายถึงโอกาสที่จะพม่าจะโปรโมตประเทศครั้งใหญ่ เปิดมิติใหม่รับการค้าการลงทุน และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้มากขึ้น
แน่นอน นั่นหมายถึงสัญญาณการแข่งขันช่วงชิงตลาดที่มีผู้บริโภค 57.5 ล้านคน ซึ่งไทยเคยมีมูลค่าการค้าอยู่ในระดับ 50,000 ล้านบาท/ปี และมีโอกาสที่จะถูกช่วงชิงจากประเทศคู่ค้ารายอื่นได้ทุกเมื่อ
ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นและช่วงชิงโอกาสที่กำลังจะเปิดขึ้นอย่างเต็มตัวแห่งนี้ได้ดีกว่ากัน เพราะตลาดพม่าอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
|
|
 |
|
|