Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา พฤศจิกายน 2554
สยามเมืองยิ้มที่หน้าแต่ในใจเราคิดอะไร             
โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
 





คำว่าสยามเมืองยิ้มเป็นสโลแกนที่ประเทศของเราใช้มาตั้งแต่สมัยก่อนซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่านานเท่าไหร่แล้ว แต่ที่แน่ๆ คือมาก่อนคำว่า อเมซซิ่งไทยแลนด์ ที่เร็วๆ นี้อาจจะกลายเป็นอาม่าชิ่งไทยแลนด์หลังจากที่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ของจีนที่มาสร้างจะเปิดดำเนินการทำเอาอาเจ็ก อาม่า ชาวจีนแถวเยาวราชและสำเพ็งเซ็งเป็ดไปตามๆ กัน หรือไม่ก็คำว่า อันซีนไทยแลนด์ ที่มีม็อบสารพัดชนิดออก มาแบบที่ไม่เคยมีชาติไหนในโลกเคยเห็นเหมือนกัน สยามเมืองยิ้ม หรือแลนด์ออฟสไมล์ก็ยังคงเป็นจุดขายที่ทำให้เราเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ควบคู่ไปกับการบริการที่เป็นมิตรซึ่งเราใช้นี้ได้สร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยมาจนถึงทุกวันนี้ แต่นั่นคือสิ่งที่คนไทย และคนต่างประเทศมองจากต่างประเทศเข้าสู่เมืองไทย แต่คนไทยในบ้านเราเองมองพวกเขาเป็นอย่างไร เป็นคำถามที่ผมไม่ค่อยได้คิดมาก่อน และอาจจะเลยไปถึงว่า เราเตรียมพร้อมสำหรับประชาคมอาเซียนในปี 2015 ดีแค่ไหน

โดยมากเวลาเจอชาวต่างชาติ เราจะมีกรอบ คำว่า แขกบ้านแขกเมือง หรือคำว่าเกรงใจที่ทำให้เราคิดว่าเขามาเราก็หยวนๆ เขาไป ให้เขาประทับใจให้มากที่สุด แต่เมื่อเราเริ่มคิดนอกกรอบและเอาสมมุติฐานที่เราเชื่อออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนทำให้ผมค่อนข้างประหลาดใจเพราะสิ่งที่เรา เคยเชื่อไม่ได้เป็นจริงเสมอไป ตรงนี้ผมไม่ได้บอกว่าเราไม่ยิ้มหรือไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่ผมอยากให้ ลองมองว่าเราทำด้วยใจหรือไม่ หลายครั้งหลายหนที่ผมจะได้ยินชาวไทยโดยเฉพาะชนชั้นกลางที่เข้าถึง สื่อจะมีทัศนคติในเชิงลบเกี่ยวกับคนชาติต่างๆ ทัศนคติของเราเวลาที่มองประเทศเพื่อนบ้านโดยมาก จะเป็นในเชิงลบ เรามักจะดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแน่นอนว่าผลที่ตามมาคือ เขาก็จะไม่พอใจประเทศ ไทย เรามักจะเอาชื่อประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ มาใช้แทนคำจำกัดความว่าไม่ทันสมัย ทำให้มีการเลย เถิดไปถึงกับภาพยนตร์ล้อเขาจนเขาโกรธประเทศไทยมาหลายต่อหลายหน ยกตัวอย่างเช่นภาพยนตร์ เรื่องหมากเตะที่สร้างกระแสต่อต้านจากรัฐบาลลาว กระแสต่อต้านจากฝั่งพม่าเวลาที่เราสร้างละครอิงประวัติศาสตร์ หรือปัญหาจากเขมร เริ่มมาจากกระแสละครไทยเมื่อหลายปีก่อน

หลายครั้งที่ผมได้ยินจากนักศึกษานานาชาติ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านของเรา ที่เรียนอยู่ในไทยเล่าประสบการณ์ที่ไม่ดีจากชาวไทย ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งคำพูดที่หยาบคาย ดูถูก และการพูดถึงประเทศของเขาในเชิงลบ เช่นนักศึกษา เวียดนามที่ศึกษาในไทยที่มักจะโดนดูถูกเรื่องต่างๆโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการที่พวกเขาบริโภคสุนัข ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้วก็ไม่ใช่ว่าคนเวียดนามทุกคนทานสุนัขกันหมด เช่นเดียวกับชาวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เขามองว่าเราแปลกเพราะทานเป็ด ในขณะที่ฝรั่งเขา เห็นเป็ดเป็นสัตว์ในสวนสาธารณะ เรายังมีคอมเมนต์ ว่า ฝรั่งโง่เนื้อเป็ดออกจะอร่อย ผมมองว่าคนเวียดนาม เขาก็อาจจะมองว่าคนไทยโง่ก็ได้ที่ไม่ทานสุนัข เพราะคนเกาหลีโดยเฉพาะดาราที่เราไปบ้าเห่อ ผมว่าเกินครึ่งต้องทานหมาตุ๋นกันมาแล้วทั้งนั้น เพราะอาหารเกาหลีแท้ๆ ต้องมีเนื้อหมา ไม่เชื่อไปถามคุณปิยะพงศ์ ผิวอ่อน ตอนที่ศูนย์หน้าในตำนานของไทยไปค้าแข้ง ที่เกาหลี ได้เห็นเขาทานสุนัขกันหรือไม่ ส่วนชาวลาว ผมว่าถ้าไม่โกรธคนไทยก็คงแปลกเต็มที เพราะเวลา เราจะว่าใครทำ อะไรเบ๊อะบ๊ะ เรามักจะยกสัญชาติลาวให้เขาเยาะเย้ยถากถาง ส่วนชาวพม่าที่เราเรียนในหนังสือไทยมักจะโดนความไม่เป็นมิตร เวลาที่เขา บอกว่าเขาเป็นพม่า เพราะว่าเราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ว่าเขาเคยมาเผาบ้านเผาเมืองเราเมื่อเกือบสองร้อยห้าสิบปีที่แล้ว ซึ่งชาวพม่าทุกวันนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเผากรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด เหลือแต่นักธุรกิจพม่า นักศึกษา พม่า แม้แต่คนงานพม่าที่มาอยู่ในบ้านเราเพื่อช่วยกระตุ้น เศรษฐกิจไทย ที่ผมมักจะได้ยินเกี่ยวกับอาการเหวี่ยงของชาวไทยต่อชาวพม่าที่เป็นลูกค้าหรือลูกจ้าง คำพูดใส่พวก เขาในเชิงลบ ตามที่เราเรียนมาจากหนังสือ หรือจากภาพยนตร์ที่สร้างมาเพื่อสร้างให้คนไทยรักชาติไทย และเกลียดเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะพม่า เขมร เวียดนาม จนล่า สุดลามไปถึงฝรั่งเป็นครั้งคราว เช่นละครที่ออกอากาศทางช่องสามหลังข่าวอยู่ทุกวันนี้

นอกเหนือจากประเทศรอบข้างเราแล้ว หลายต่อหลายหนผมก็จะได้ยินคำพูดในเชิงลบเกี่ยวกับประเทศอื่นๆ ทั้งพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ประสบการณ์ตรงที่ผมได้รับเกิดจากการที่ผมและศาสตราจารย์ฝรั่งท่านหนึ่ง ที่มาดูการเลือกตั้งในไทยเพื่อเอาไปวิเคราะห์ข้อมูลเดินทางไปชมการปราศรัยใหญ่ของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ กลางสายฝนที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม นักวิชาการท่านนั้นได้พูดคุยกับประชาชนที่มาร่วมปราศรัย ซึ่งเวลาเดินผ่านจะยิ้มหรือทักทายฮัลโหลแบบที่เราคิดว่าเขาชอบ ชาวต่างชาติ แต่คำพูดที่ออกมาเป็นภาษาไทยกลับเป็นการด่าต่างประเทศตามกระแสคลั่งชาติ ทั้งเรื่องการเข้ามาเทกโอเวอร์เศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ผมรู้สึกอายแทนคนไทย เหล่านั้นไม่น้อย เพราะเราอาจจะไม่ทราบว่าที่จริงแล้วฝรั่งที่พูดไทยได้นั้นมีอยู่ คอมเมนต์จากศาสตราจารย์ท่านนั้นแบบว่าประหลาดใจกับคนไทยที่มีทัศนคติในเชิงลบต่อชาวต่างชาติขนาดนี้ ซึ่งถ้าผมมาดูจากการสอนในบ้านเราที่ปลุกเน้นชาตินิยมในยุคโลกาภิวัตน์ก็จะเห็นว่า การสวนกระแสดังกล่าวทำให้ประเทศไทยของเรามีความพร้อมต่อประชาคมอาเซียนเป็นที่ 8 จาก 10 ประเทศในขณะที่ลาว เขมร พม่า ญวน ต่างมีความพร้อมสูงกว่า เราโดยทั้งสิ้น

นอกจากนี้ก็ยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มักจะมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อทั้งคนไทยด้วยกันเองโดยเฉพาะเวลาที่เราพูดถึงสุภาพสตรีไทยที่มีแฟนเป็นฝรั่ง เรามักจะมีมุมมองเป็นแง่ลบ โดยเฉพาะในหมู่คนไทยด้วยกันเอง ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมในเมืองท่องเที่ยวหลายแห่งเช่นภูเก็ต หรือเชียงใหม่ จะมีคนไทยรวมถึงพนักงานโรงแรมที่จะมองว่าผู้หญิงไทยที่เดินเข้าไปในโรงแรมกับชาวต่างชาติในแง่ลบเสมอ โดยเฉพาะการให้คำจำกัดความว่าเธอเคย ทำอาชีพสีเทาหรือไม่ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา วิทยาลัย นานาชาติของมหาวิทยาลัยรังสิตได้จัดสัมมนาเรื่องรู้ทัน รักต่างแดน ก็ได้รับความสนใจในระดับหนึ่งโดยหัวข้อที่ผมเล่าเกี่ยวกับมุมมองในสังคมไทยเราเองก็เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจ

เวลาที่เราพูดถึงประเทศที่ด้อยกว่าเรา ก็มักจะเป็นในรูปแบบที่ดูถูกเหยียดหยาม ในขณะที่เวลาที่เราพูดถึง ประเทศที่เรามีความรู้น้อยเกี่ยวกับเขาก็จะตั้งสมมุติฐาน หรือเชื่อสื่อที่ไม่มีข้อมูลแน่นอน ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าเมื่อ สิบปีก่อน เราได้ข่าวเกี่ยวกับการล่มสลายของเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา เราก็เริ่มมีการตั้งสมมุติฐานว่าอาร์เจน ตินานั้นด้อยพัฒนาแสนสาหัส โดยเฉพาะข่าวที่ออกมาจากนักเขียนบางท่านยิ่งสร้างภาพว่าประเทศเขานี่ช่างกันดารจริงๆ มีแต่นักฟุตบอลดีที่เหลือเฮงซวยหมด ขับรถไปเที่ยวไหนก็โดนเก็บเงิน แต่พอผมได้ศึกษาจริงๆ ปรากฏว่าไปๆ มาๆ เขากลับมีเศรษฐกิจ รายได้ต่อหัวประชากรสูงกว่าไทย ซึ่งการที่เราไปว่าเขา ผมมานั่งคิดๆ ดูก็เหมือนเราไปวิจารณ์ว่ามาเลเซียด้อยพัฒนา ล้าหลังไทย เพราะจากสถิติแล้วรายได้ต่อหัวประชากรของอาร์เจนตินาและมาเลเซียเท่ากันที่ 14,700 ดอลลาร์ ขณะที่ไทยเราอยู่ที่ 8,700 ดอลลาร์ หรือล้าหลังกว่าเขามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งบอกว่าขับรถทางหลวงต้องจ่ายเงิน ผมก็ไม่เคยที่จะไม่จ่ายเวลาไปชลบุรี แล้วเราต่างกับเขาตรงไหน

พอพูดถึงประเทศที่เจริญกว่าเรา ไม่ว่าจะในเอเชีย ยุโรป อเมริกา หรือออสเตรเลีย ก็จะมีพวกด่ากราดอาจจะมาจากประสบการณ์ไม่ดีที่เคยเจอตอนไปประเทศ ของเขา ซึ่งเมื่อผมมามองฝ่ายค้านวันนี้หรือรัฐบาล เมื่อปีก่อนโดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีผมได้คำตอบแล้วว่าทำไมประเทศ เราไม่ค่อยจะมีเพื่อนสักเท่าไหร่ เช่นเมื่อไม่นานมานี้ก็มีท่าน ส.ส. ฝ่ายค้านที่สมัยเป็นรัฐบาลชอบไปขู่ประเทศอื่นๆ ว่า ให้คิดให้ดีและระวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับไทยอาจจะมีปัญหา ซึ่งพอเป็นฝ่ายค้านก็ยังคงขู่ต่างชาติต่อไปจนเป็นที่ขำกันไปทั่วเพราะถึงเขาไม่ตอบท่าน ส.ส.แต่ผมว่าเขาคิดดีแล้วแน่นอนเพราะขณะที่ท่าน ส.ส.กำลังหลงว่ามีอำนาจ ท่านคงลืมไปว่าท่านไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วเขาจะไปสนใจท่านทำไม

ทุกครั้งที่นักศึกษาต่างชาติมาคุยกับผม เรื่องที่ผมได้ยินมาไม่น้อยก็คือเรื่องการโดนละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการพูดเหยียดหยาม หรือการพูดสองแง่สองง่ามทางเพศ ตรงนี้ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะบอก อ้าวไม่ชอบก็อย่ามาอยู่เมืองไทย อย่ามาเรียนเมืองไทย ผมว่า ถ้าท่านที่พูดอย่างนั้น จำนวนไม่น้อยก็ต้องเคยคิด หรือ บางท่านอาจจะส่งบุตรธิดาท่านไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะระยะสั้น ฝึกภาษา เรียนไฮสคูล ไปจนถึงตรี โท เอก ท่านลองมาคิดในทางกลับกันว่าถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดกับบุตรธิดาท่านล่ะ ผมเองก็คนหนึ่งที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศมาเกือบยี่สิบปี เคยทำงานในสังคมฝรั่ง ญี่ปุ่น รู้จักคนเกาหลี มามาก ถ้าถามว่าผมเคยโดนเหยียดสีผิวไหม โดนดูถูกไหม ผมบอกเลยว่าเมืองที่เขาบอกว่าเหยียดกันมากๆ ผมไปโดนเต็มๆ มาแล้ว คำพูดเหยียดสีผิว ผมรู้มากกว่าฝรั่งบางคนเสียด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าท่านใดที่ชอบบอกว่าไม่ชอบก็ไม่ต้องมาเมืองไทย ถ้าลูกหลานท่านโดนแบบนี้ที่อเมริกา อังกฤษ หรือญี่ปุ่น ผมถามเลยว่าท่านจะทำอย่างไรถ้าท่าน โดนคำตอบว่าไม่ชอบก็ไม่ต้องมาที่นี่ ท่านจะรู้สึกเช่นไร ถ้าเราเอาใจเขามาใส่ใจเรา ผมเชื่อว่าท่านคงได้คำตอบเอง ว่าเราควรทำอย่างไร ในต่างประเทศก็เช่นกัน เขาไม่ตอบ แบบที่เราๆ พูดกันเพราะเขากลั่นกรองทุกๆ อย่างที่จะพูด อย่างในกฎหมายของเขาก็กำหนดชัดเจนเรื่องการเหยียด สีผิว และมีบทลงโทษที่ตายตัวในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่เขาเห็นความสำคัญของการทำธุรกิจกับต่างประเทศ แต่เขาให้ความสำคัญของความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เฉพาะกับคนในสังคม แต่รวมไปถึงคนที่มาจากที่ต่างๆ เช่นกัน เช่นถ้าเกิดการเหยียดสีผิวและมีการแจ้งตำรวจ คนที่ทำการเหยียดโดนข้อหาแน่นอน รวมทั้งดารา พิธีกรที่พูดเรื่องพวกนี้ก็มีสิทธิตกงานอย่างมาก

เมื่อหันมามองดูในไทย เรายิ้มรับคนจากชาติต่างๆ แต่บางครั้งเราเองกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น ผมไม่ได้บอกว่าคนต่างชาติทุกคนที่มาไทยเป็นคนดี คนไม่ดีมา สร้างปัญหาก็มีไม่น้อย แต่นั่นก็ต้องว่ากันไปตามเนื้อผ้า แต่ผมมานั่งคิดๆ ดูแล้ว ถ้าเราบอกว่าคนฝรั่งเหยียดสีผิว เพราะเราไปประสบมา แต่ถ้าเรามามองในทางกลับกัน ชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยก็คงรู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน

สมมุติว่าถ้าชาวเวียดนามหรือพม่าที่มาจากครอบครัวที่ฐานะดีและศึกษาต่อในไทย แต่โดนการดูถูกโดยเพื่อนนักศึกษาหรือคนรอบข้าง ย่อมไม่ทำให้เขาเกิดทัศนคติที่ดีต่อเราเช่นกัน เมื่อเขากลับไปก็จะสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อไปในอนาคต ทั้งๆ ที่เรามีโอกาสที่จะทำให้เขารักเรามากกว่าชาติใดทั้งปวง ผมเชื่อว่าถ้าเราหันมาสร้างทัศนคติใหม่ๆ ให้กับคนไทย เราต้องทราบว่าในเร็ววันนี้ประเทศไทยเองก็ต้องเปิดรับประชาคมอาเซียน

ในปัจจุบันนี้บรรดาเพื่อนบ้านของเราต่างรับรู้และตื่นตัวกับสิ่งที่กำลังจะมาถึงในปี พ.ศ.2558 จากการสำรวจประเทศลาวเป็นประเทศที่มีการตื่นตัวเป็นอันดับที่ 1 ประชาชนของเขามีความรู้และกำลังเตรียมความพร้อมกันอย่างมาก ในขณะที่ชาวไทยเราแทบจะเรียกว่าได้ที่โหล่อยู่แล้ว เด็กไทยจำนวนมากยังไม่มีความพร้อมหรือรับรู้ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงพวกเขาในปี 2558 หากเรายังเป็นอย่างนี้ต่อไป เราจะโดนอาเซียนและประชาคมโลกทิ้งห่างออกไป การแก้ไขปัญหาเพื่อรองรับสังคมโลกที่กำลังจะเข้ามาไม่ได้เริ่มยากเย็นแต่อย่างใด ทุกอย่างเริ่มง่ายๆ แค่คนไทยทุกคน ปรับทัศนคติต่อคนต่างชาติให้เป็นบวก เราเองก็จะทำอะไรด้วยความจริงใจมากขึ้น เราเองก็จะมีความพร้อมที่จะเป็นเจ้าบ้านที่ดี สำหรับโอกาสที่กำลังจะมาถึงใน 4 ปีข้างหน้า   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us