|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
คำว่า 'ความรุนแรงต่อผู้หญิง' หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า 'Violence against women' ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่ออ้างถึงเหตุการณ์หรือความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยมีผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำ ปัจจุบันผู้หญิงมักจะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้ายร่างกาย และการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เช่นการที่สามีตบตีภรรยาหรือลูก เป็นต้น
องค์การสหประชาชาติได้ให้คำจำกัดความคำว่า 'ความรุนแรงต่อผู้หญิง' ว่า การกระทำความรุนแรงใดๆ ก็ตามต่อผู้หญิงที่มีผลลัพธ์หรือผลกระทบ ต่อผู้หญิงทั้งทางร่างกาย จิตใจ เพศ หรือสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้หญิง เช่น การบังคับข่มขู่ การลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นในที่สาธารณะหรือ ในชีวิตส่วนตัว นอกจากนี้ในปฏิญญาว่าด้วยการขจัด ความรุนแรงต่อสตรี (The Declaration of the Elimination of Violence Against Women) ที่มี การประกาศบังคับใช้ในปี 2536 ระบุไว้ว่า บุคคล ทุกเพศทุกวัย คนในครอบครัว รวมไปถึงรัฐบาลล้วนสามารถเป็นผู้คุกคามทางเพศได้ทั้งนั้น
บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงจะเป็นผู้ใช้ความรุนแรง ต่อผู้หญิง ได้แก่ คนที่มีการศึกษาน้อย คนที่มีประสบ การณ์ในวัยเด็กเกี่ยวกับความรุนแรง เช่น เด็กที่มักจะเห็นพ่อทำร้ายร่างกายแม่ หรือเด็กที่มักจะถูกพ่อแม่ทำร้ายร่างกายเป็นประจำ คนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำแล้วชอบใช้ความรุนแรง และคนที่เห็นว่า การใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ผู้หญิงที่ต้องอยู่อาศัยกับบุคคลเหล่านี้จะมีโอกาสสูงมากกว่าผู้หญิงคนอื่นในการถูกทำร้าย
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ทำการสำรวจและศึกษาเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง และพบว่ามีผู้หญิงประมาณ 71% จากทั่วโลกที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทั้งทางร่างกาย และทางเพศ ส่วนใหญ่มักถูกบุคคลในครอบครัวหรือ บุคคลใกล้ชิดเป็นคนทำร้าย เช่น 15% ของผู้หญิง ญี่ปุ่นที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและ 70% ของผู้หญิงที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในเอธิโอเปียและเปรูถูกทำร้ายจากบุคคลในครอบครัว และมีผู้หญิงที่ถูกทำร้ายเพียงแค่ 11.5% จากทั่วโลกที่โดนทำร้ายจากบุคคลภายนอก
เมื่อคนใกล้ชิดหรือคนที่ไว้ใจกลับกลายมาเป็นคนที่ทำร้ายผู้หญิง โดยเฉพาะคนในครอบครัว เช่น บิดาหรือสามี เป็นต้น ทำให้ผู้หญิงที่โดนทำร้ายมัก จะยอมให้ตัวเองถูกทุบตีและไม่มีปากมีเสียง หรือพยายามปรึกษาคนอื่นเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไข เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว
ยกตัวอย่างเช่น ในครอบครัวที่ภรรยามักจะถูกสามีทำร้ายร่างกาย และไม่ยอมไปแจ้งความกับตำรวจเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว หรืออายที่จะไปแจ้งความ หรือเป็นเพราะว่าผู้ชายเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว หากไปแจ้งความกับตำรวจแล้ว ถูกดำเนินคดีก็จะทำให้ไม่มีเงิน และขาดคนที่เป็นเสาหลักของบ้านในการหาเงินมาจุนเจือครอบครัว
สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ทำให้ปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวนั้นมีการแจ้งความน้อยมาก แต่ว่า ปัญหานี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่และรุนแรงมาก ปัญหา เรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ แม้กระทั่งประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น ก็ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้
อย่างเช่นที่ออสเตรเลียมีผู้หญิงแค่ประมาณ 9-11% เท่านั้นที่มาแจ้งความจากการถูกสามีทำร้าย และมีผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกคุกคามจากการข่มขู่ และการพูดจาหยาบคายจากสามีประมาณ 40% เท่านั้นที่จะมาแจ้งความ
นอกจากนี้รัฐบาลออสเตรเลียยังพบว่า ผู้หญิง ที่แต่งงานและถูกทำร้ายเป็นครั้งแรก มักจะไม่กล้าไปแจ้งความ มีผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงถึง 82% ด้วยกันที่เพิ่งถูกทำร้ายหลังจากแต่งงาน แต่ไม่กล้าพอที่จะไปแจ้งความ
ในทางกลับกัน ถ้าหากว่าผู้หญิงเคยมีอดีตที่ถูกทำร้ายมาก่อน เช่น เคยถูกอดีตสามีทำร้ายมาก่อน และมาแต่งงานใหม่ แต่ก็ยังถูกทำร้ายอีก ผู้หญิงเหล่านี้จะมีความกล้าที่จะไปแจ้งความต่อตำรวจ มากกว่าผู้หญิงที่เพิ่งถูกทำร้ายเป็นครั้งแรก เช่น มีผู้หญิง ถึง 61% ที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงและมีอดีตที่ถูกทำร้ายมาก่อนที่กล้าเข้าไปแจ้งความกับตำรวจ
เพราะคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวกลายเป็นคนร้าย จึงมักทำให้ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปปรึกษาใครเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา เนื่อง จากเป็นเรื่องภายในครอบครัวหากพูดมากไปคงจะไม่ดี ถ้าหากจะตัดสินใจไปแจ้งความเพื่อขอความช่วยเหลือ ก็อาจจะกลัวว่าไม่มีเงินพอใช้จ่ายสำหรับครอบครัว หรือผู้ชายอาจจะมาแก้แค้นในภายหลังถ้าหากว่าถูกดำเนินคดี องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงได้ออกมาช่วยกันรณรงค์หยุดการทำร้ายผู้หญิงและลดความรุนแรงในครอบครัว
องค์กรที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการลดความรุนแรงในครอบครัว จึงออกมาให้คำแนะนำเบื้องต้นกับผู้หญิงที่โดนทำร้ายอยู่บ่อยๆ ว่า
1) ควรจะมีการพูดคุยกันระหว่างสามีภรรยา ว่า จะทำอย่างไรเพื่อป้องกันการเกิดการทำร้ายกันขึ้น สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่นำไปสู่ความรุนแรงได้หรือไม่
2) ถ้าหากว่าไม่สามารถลดความรุนแรงเหล่า นี้ได้ จะหยุดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาและแยกกันอยู่ดีกว่าการอยู่ด้วยกันหรือเปล่า
3) ถ้าหากตัดสินใจจะหยุดความสัมพันธ์แล้ว ผู้หญิงสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้หรือไม่ สามารถหาที่ อยู่อาศัยใหม่หรือบ้านที่อาศัยอยู่มีความปลอดภัยแค่ ไหน ถ้าหากว่าสามีที่เลิกกันไปอาจกลับมาทำร้ายอีก
ทางองค์กรยังแนะนำและสนับสนุนให้ผู้หญิง ที่ถูกทำร้ายมีความกล้าที่จะก้าวออกมาจากวงโคจรของการเป็นเหยื่อของความรุนแรง และพยายามที่จะเปลี่ยนความเชื่อผิดๆ เช่น การทำร้ายผู้หญิงเป็นการแสดงให้ผู้หญิงเห็นถึงอำนาจ และควรที่จะเชื่อฟังผู้ชาย ทางองค์กรจึงพยายามที่จะให้ข้อมูลใหม่กับผู้ชายว่า สามีภรรยาคือคนที่รักกัน จึงตัดสินใจ มาอยู่ด้วยกัน คนรักกันจึงไม่ควรแสดงว่ารักกันด้วยการทำร้าย และการแสดงความมีอำนาจหรือพละกำลังของการเป็นผู้ชายด้วยการทำร้ายผู้หญิงที่เป็นภรรยาก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรเช่นกัน อย่างเช่นโครงการ Say No To Violence ของนิวซีแลนด์ หรือโครงการ Australia Say No! ของออสเตรเลีย
ถ้าหากผู้หญิงต้องเผชิญหน้ากับการถูกทำร้าย อยู่บ่อยครั้ง ปัญหาด้านสุขภาพจะกลายเป็นปัญหาที่ ตามมาทั้งด้านร่างกาย เช่น มีอาการปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้อง นอนไม่หลับ และไม่อยากอาหาร เป็นต้น ด้านจิตใจ เช่น มีความเครียดสูงจนไม่สามารถมีสมาธิกับสิ่งที่ทำอยู่ได้ และไม่สามารถพูดคุยได้อย่างปกติ เป็นต้น สำหรับคนที่มักถูกสามีบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วยก็อาจจะทำให้เกิดการตั้ง ครรภ์ทั้งที่ยังไม่พร้อมและอาจจะไปจบลงที่การทำ แท้งในที่สุด นอกจากนี้บุคคลใดที่ถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและทางเพศมาตั้งแต่เด็ก อาจทำให้กลายเป็นคนที่สูบบุหรี่จัด ติดการดื่มแอลกอฮอล์และอาจติดยาเสพติด นอกจากนี้คนที่ถูกทำร้ายมาตั้งแต่เด็ก ก็อาจจะเคยชินกับความรุนแรง และอาจจะใช้ความรุนแรงกับคู่ชีวิตในอนาคตก็เป็นได้
นอกจากนี้ถ้าหากครอบครัวไหนมีบุตรแล้ว เด็กก็อาจจะต้องมารับรู้และเห็นการทำร้ายที่เกิดขึ้นซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็กอีกด้วย
ปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้มีเพียงแค่การทำร้ายร่างกายหรือบังคับให้ภรรยามีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่ความรุนแรงในที่นี้ยังรวมไปถึงการข่มขู่หรือบังคับภรรยาให้ทำตามที่ตัวเองต้องการ เช่น การบังคับให้ภรรยาอยู่บ้านและไม่ให้ออกไปทำงาน และการบังคับให้ภรรยาพบเจอหรือพูดคุยกับใคร เป็นต้น บางครั้งอาจบังคับให้ภรรยาทำผิดกฎหมาย ไม่ให้เกียรติภรรยาและปฏิบัติต่อภรรยาเหมือนกับว่า ภรรยาเป็นคนรับใช้ที่จะต้องทำตามคำสั่งทุกอย่าง และการทำให้ภรรยารู้สึกไม่ปลอดภัยเวลาที่อยู่ด้วย เช่นการทำลายข้าวของภายในบ้านในเวลาที่รู้สึกโมโห และการใช้คำพูดหยาบคาย เป็นต้น การกระทำที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็ถือว่า เป็นการกระทำที่ทำร้ายผู้หญิงเช่นกัน
การกระทำเหล่านี้ล้วนเป็นการกระทำที่เอาเปรียบผู้หญิง ในบางครั้งเมื่อผู้หญิงได้รับการปฏิบัติแบบนี้มาเป็นเวลานานก็อาจจะชินและไม่คิดว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการทำร้ายพวกเธอ
หากคุณเป็นผู้หญิง คุณควรคิดทบทวนดูว่าคุณได้รับการปฏิบัติจากสามีอย่างไร มีการกระทำไหน ที่เข้าข่ายการจะเป็นความรุนแรงในครอบครัวได้หรือไม่ หากคุณเป็นผู้ชายลองหยุดคิดสักนิดว่าการกระทำของคุณตอนนี้ถือว่าเป็นการนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัวหรือไม่ เพราะถ้าหากสามีหรือภรรยารู้ว่ามีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้น การพูด คุยกันแต่เนิ่นๆ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวก็อาจจะลดลงและไม่มีในที่สุด
นอกจากนี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียง ผู้หญิงเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ผู้ชายและเด็กต่างก็ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเช่นกัน มีเด็กผู้ชาย เป็นจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ มีผู้ชายประมาณ 5-10% จากทั่วโลกยอมรับว่าในวัยเด็กนั้นได้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ และยังมีผู้ชายอีกเป็นจำนวนมากที่ยอมรับว่า เคยตกเป็นเหยื่อของการถูกทำร้ายร่างกาย เช่น การตบ หรือทุบตีระหว่างที่ออกไปเดต
ยกตัวอย่างเช่นที่ประเทศแอฟริกาใต้ มีวัยรุ่น ชาย อายุตั้งแต่ 13-23 ปี ถึง 38% ยอมรับว่า เคยถูกทำร้ายร่างกายในเวลาที่ออกไปเดตกับแฟนสาว
เรื่องการหยุดใช้ความรุนแรงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลส่วนใหญ่เริ่มหาทางแก้ไข โดยเฉพาะ ปัญหาเรื่องการหยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง เพราะผู้หญิงมักจะตกเป็นเหยื่อมากกว่าผู้ชาย ตอนนี้รัฐบาล ส่วนใหญ่จึงให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้มีการหยุดทำร้ายผู้หญิง องค์การสหประชา ชาติประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี (International Day for the Elimination of Violence against Women) และมีการรณรงค์ให้ติดริบบิ้น สีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการสนับสนุนการหยุดทำร้ายผู้หญิงในวันนี้เพื่อเป็นการยอมรับว่า จะไม่ทำ ร้ายหรือนิ่งเฉยต่อการทำร้ายผู้หญิงในทุกรูปแบบ
เมื่อคุณอ่านบทความนี้จบ ลองหยุดคิดสักนิดว่า ตัวเองเข้าข่ายตกเป็นเหยื่อความรุนแรงหรือไม่ ถ้าหากกำลังเป็นเหยื่อความรุนแรงก็จะได้รีบหาทางแก้ไข ก่อนที่ทุกอย่างจะแย่ลงไปกว่าเดิม
|
|
|
|
|