ทัศนียภาพจากมุมสูงบนหลังคาบ้านและดาดฟ้าของอาคารรวมถึงสิ่งปลูกสร้างในญี่ปุ่นกำลังแปลงโฉมไปทีละน้อยพร้อมๆ กับเพิ่มหน้าที่ใหม่กลายเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ล่าสุดซึ่งดูละม้ายใบไม้แห่งโลกอนาคตที่จะผลิใบแผ่ขยายกิ่งก้านปกคลุมประเทศญี่ปุ่นนับจากนี้ไป
แต่บรรพกาลแล้วที่สิ่งมีชีวิตทั้งมวลล้วนได้รับประโยชน์จากแสงอาทิตย์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม พลังงานจำนวนมหาศาลเหล่านี้เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวส์ชั่นบนดวงอาทิตย์แล้วปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปแบบของรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นคลื่นแสงหลายชนิดที่เดินทางมาแสนไกลจนถึงผิวโลก ซึ่งส่วนหนึ่งถูกสะท้อนกลับสู่อวกาศเมื่อกระทบกับบรรยากาศโลกชั้นนอกและอีกส่วนหนึ่งถูกดูดกลืนไว้ในโมเลกุลของไอน้ำและก๊าซต่างๆ ในชั้นโอโซนอันเป็นกลไกธรรมชาติที่ช่วยกรองรังสีซึ่งเป็นอันตรายต่อสรรพชีวิตที่อาศัยบนพื้นโลกนี้ออกไป
ส่วนที่เหลือที่ส่องผ่านลงมาถึงพื้นโลกสามารถ จำแนกได้เป็น (1) แสงแดดประกอบด้วยคลื่นแสงสีม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ในช่วงความยาวคลื่นแสง 400-800 นาโนเมตรที่ส่องสว่างทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ในเวลากลางวันและเป็นช่วงคลื่นแสงที่พืชนำไปใช้สังเคราะห์แสงผลิตก๊าซออกซิเจนและแหล่งอาหารเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ
(2) คลื่นแสงที่ตามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ซึ่งมีอยู่ 2 ช่วงคือคลื่นที่มีความยาวแสงสั้นกว่า 400 นาโนเมตร ได้แก่ แสง Ultraviolet หรือที่เรียกย่อๆ ว่าแสงยูวีซึ่งมี 3 ชนิดคือ UV-A, UV-B, UV-C และคลื่นที่มีความยาวแสงมากกว่า 800 นาโนเมตรที่เรียกว่า Infrared ซึ่งสัมผัสได้ในรูปแบบของพลังงานความร้อน
เมื่อพิจารณาถึงอรรถประโยชน์ที่ได้รับแล้วคงไม่มีแหล่งพลังงานใดบนโลกจะยิ่งใหญ่เกินกว่าแสงแดดซึ่งไม่ต้องซื้อหาและไม่มีวันหมดอีกทั้งไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ หากมีกระบวนการจัดการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะนำพลังงานได้เปล่านี้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้แล้วแสงแดดก็จะกลายเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสามารถนำมาทดแทนพลังงานนิวเคลียร์รวมถึงพลังงานเชื้อเพลิง ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติที่จะร่อยหรอหมดไปภายใน 1-2 ทศวรรษหน้าได้
การวิจัยและพัฒนาโซลาร์เซลล์ในประเทศญี่ปุ่นเริ่มมานานกว่า 50 ปีแล้ว ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ชี้ นำให้ญี่ปุ่นหยัดยืนในฐานะประเทศผู้นำของเทคโนโลยีสาขานี้มาโดยตลอด เช่น สามารถประดิษฐ์วิทยุ ทรานซิสเตอร์พลังแสงอาทิตย์ได้สำเร็จและวางจำหน่ายเมื่อปี 1962, พัฒนาแผงพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับยานอวกาศและสถานีอวกาศในทศวรรษ 1980, เริ่มวางจำหน่าย Solar Panel ใช้ผลิตกระแส ไฟในบ้านตั้งแต่ช่วงปี 1990 เป็นต้น
อุบัติเหตุโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุคุชิมะแห่งที่ 1 ซึ่งมีสาเหตุจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อ 11 มีนาคม 2011* เป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้บทบาทของพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความสนใจมากขึ้นอีกครั้งถึงขั้นบรรจุรวมไว้ในแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติกำหนดเป็นนโยบายรัฐระยะยาวที่ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ของญี่ปุ่นให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้นอย่างเร่งด่วนเพื่อส่งเสริมให้ใช้แทนที่พลังงานนิวเคลียร์รวมถึงพลังงานเชื้อเพลิงในอนาคตอันใกล้นี้
ข้อมูลจาก Japan Energy Information Administration 2008 ระบุว่าญี่ปุ่นพึ่งพาพลังงานจากน้ำมัน 46%, ถ่านหิน 21%, ก๊าซธรรมชาติ 17%, นิวเคลียร์ 11%, พลังงานน้ำและพลังงานหมุนเวียน 5% ซึ่งเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นซึ่งขาดแคลนทรัพยากร ธรรมชาติต้องนำเข้าพลังงานส่วนใหญ่จากภายนอกกว่า 80% และพลังงานนิวเคลียร์ยังเป็นส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็นอยู่ในขณะนี้
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการใช้พลังงาน ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงหากจะเริ่มต้นกันอย่างจริงจังเนื่องเพราะผลกระทบจากอุบัติเหตุ โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุคุชิมะแห่งที่ 1 โดยเฉพาะมิติของการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้ากระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยตื่นตัวแสวงหาแผงโซลาร์มาติดตั้งบนหลังคาบ้านได้ราวกับตื่นทอง
กลไกตลาดตามกฎอุปสงค์และอุปทานของหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นจึงนำมาอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้เป็นอย่างดีกล่าวคือ เมื่อจำนวนผู้บริโภคพร้อมใจกันสนอง นโยบายด้านพลังงานของรัฐมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นราคาและค่าติดตั้งแผงโซลาร์ในท้องตลาดก็ค่อยๆ ลดลง
ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตชั้นนำในตลาดญี่ปุ่นได้แก่ Sharp, Kyocera, Sanyo (Panasonic), Mitsubishi และ Toshiba ต่างพร้อมเข้าแข่งขันกันตอบโจทย์ของตลาดด้วยสินค้าอันหลากหลายและบริการหลังการขายที่ดีที่สุดสำหรับบ้านแต่ละแบบของลูกค้าแต่ละราย
กระนั้นก็ตามปัจจุบันสนนราคาของแผงพลังงานแสงอาทิตย์ อาจจะยังไม่ถูกลงเสียทีเดียวแต่ประชาชนสามารถยื่นเรื่องเพื่อรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งคืนจากรัฐได้ส่วนหนึ่ง
เมื่อคำนวณในระยะยาวแล้วนับว่าคุ้มทุนทั้งด้านการเงินและด้านจิตใจ กล่าวคือกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ ในช่วงกลางวันจะถูกจ่ายโดยตรงไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านทุกชนิดแต่ในเวลากลางคืนไม่สามารถผลิตกระแสไฟได้เองก็ซื้อไฟจากการไฟฟ้า ตามปกติซึ่งจะช่วยให้ค่าไฟฟ้าต่อเดือนลดลง
หากวันไหนมีแสงแดดจัดสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากเกินความต้องการ กระแสไฟส่วนที่เหลือใช้ ก็สามารถขายให้กับการไฟฟ้าได้ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติและสามารถตรวจสอบรายละเอียดการซื้อ-ขายไฟฟ้าได้ ไม่เพียงเฉพาะที่บ้านเท่านั้น อาคาร สำนักงาน บริษัทห้างร้าน ไล่เรียงไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมก็สามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าได้ในลักษณะเดียวกัน
พลวัตของตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวส่งผลดีในระดับมหภาคช่วยสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านพลังงานรองรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นอีกแรงซึ่งหากสัดส่วน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วความจำเป็นในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์จะถูกทดแทนอันดับแรก จากนั้นจึงค่อยๆ ลดปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงชนิดอื่นลงตามลำดับความสำคัญ
นอกจากจะช่วยลดปริมาณนำเข้าเชื้อเพลิงแล้วยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้วางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ลง 25% ภายในปี 2020 (เมื่อเทียบกับปริมาณ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่ประเทศญี่ปุ่นปล่อยออกมาในปี 1990)
ควบคู่กันนั้นโมเดลพลังงานแสงอาทิตย์ของญี่ปุ่นที่สำเร็จเป็นรูปธรรมจับต้องได้นี้ก็สามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าส่งออกชนิดใหม่ไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเขตศูนย์สูตรที่มีปริมาณแสงแดดเหลือเฟือตลอดปี
|