|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ถ้าต้องมีชีวิตอยู่กับสภาพไฟฟ้าดับวันละ 2-8 ชั่วโมง คุณจะรู้สึกอย่างไร
คนที่มีไฟฟ้าใช้ 24 ชั่วโมงอย่างเราคงยากจะจินตนาการ แต่นั่นคือสภาพชีวิตประจำวันของชาวแคชเมียร์ ไม่เว้นแม้แต่ช่วงฤดูหนาวที่ปรอทมักอยู่ที่ -5-15 องศา แม้ว่าโดยทั่วไปการมีไฟฟ้าใช้ 24 ชั่วโมงถือเป็นฝันที่ยังไม่เป็นจริงของคนอินเดีย แต่แคชเมียร์ เป็นส่วนหนึ่งของรัฐจัมมูแคชเมียร์ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 20,000 เมกะวัตต์ แล้วทำไม เศรษฐกิจของแคชเมียร์จึงยังแคระแกร็น ทั้งๆ ที่มีศักยภาพการผลิตหลายด้าน เหตุเพราะไม่มีกระแสไฟฟ้าพอเพียง นั่นยังไม่รวมถึงวันคืนที่พวกเขาต้องอยู่ในความมืด
หากใครมีโอกาสไปเที่ยวศรีนคร เมืองหลวง ของแคชเมียร์เมื่อ 4-5 ปีก่อน ย่อมพบว่าตลาดและย่านชอปปิ้งมักอึกทึกไปด้วยเสียงเครื่องปั่นไฟที่ร้านค้าใหญ่น้อยอาศัยเป็นแหล่งไฟฟ้าในช่วงที่มีการตัดไฟ หรือ power-cut ซึ่งจะโดนสลับกันไป บางย่านช่วงเช้า บางย่านช่วงบ่ายไปถึงค่ำ รวมถึงแหล่งที่พักอาศัยตามชุมชนต่างๆ
จนเมื่อสองปีที่ผ่านมา เครื่องปั่นไฟอันตรธานหายไป แต่ใช่ว่าสถานการณ์ไฟฟ้าของเมืองจะดีขึ้น อาจเป็นได้ว่าร้านรวงต่างๆ เปลี่ยนไปใช้เครื่องสำรองไฟแทนเครื่องปั่นไฟแบบใช้น้ำมัน หรือหันมาใช้ระบบ เครื่องปั่นไฟกลางที่นิยมกันในหลายตำบลหลายหมู่บ้านของอินเดีย ซึ่งจะทำหน้าที่ปั่นไฟเลี้ยงบ้านที่เป็นสมาชิกในช่วงพาวเวอร์คัต และเก็บค่าบำรุงรายเดือนตามจำนวนจุดต่อเชื่อม
ขณะเดียวกัน การขโมยไฟฟ้าใช้ถือเป็นเรื่องปกติในแคชเมียร์ ซึ่งมักทำกันในสองรูปแบบ คือแบบ ใช้สายไฟปลายทำเป็นตะขอ แล้วนำไปเกี่ยวสายเมน ตรงจุดที่เป็นสายเปลือย อีกแบบคือการตัดต่อวงจรไฟฟ้าให้ไฟวิ่งตรงเข้าบ้านโดยไม่ผ่านมิเตอร์ โดยกิจกรรมทั้งสองรูปแบบจะทำกันเป็นกิจวัตรในช่วงเช้าและค่ำ นัยหนึ่งนอกเวลาราชการอาจมีพนักงาน การไฟฟ้ามาลาดตระเวนหรือจดมิเตอร์ และเวลาเช้า และค่ำนี้เองก็จะเป็นช่วงที่ชาวแคชเมียร์ใช้ไฟฟ้ากันเต็มสูบ ทั้งหุงหาอาหารและต้มน้ำอุ่นไว้ใช้ ส่วนเรื่อง เครื่องทำความร้อนซึ่งน่าจะสำคัญเพราะแคชเมียร์เป็นเมืองหนาว โชคดีว่าชาวแคชเมียร์ยังนิยมใช้ คังกรี’ หรือฮีตเตอร์เคลื่อนที่อันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งเป็นตะกร้าสานด้านในเป็นหม้อดินเผา เวลาอากาศหนาว ก็จะก่อถ่านใส่ไว้ในหม้อดิน ถือติดตัวไว้แก้หนาวได้ทุกที่ และนั่นคือเหตุผลที่ชาวแคชเมียร์ยังอยู่รอดผ่าน ฤดูหนาวโหดๆ มาได้หลายทศวรรษ แม้ว่าไฟฟ้ายังเป็นสิ่งขาดแคลนและบางคราวพวกเขาก็ต้องอยู่โดย ไม่มีไฟฟ้านานนับสัปดาห์ ขณะที่ทั่วทั้งหุบเขาขาวโพลนไปด้วยหิมะ
ความจริงอีกด้านของเหรียญซึ่งถือเป็นความเจ็บปวดของคนแคชเมียร์ก็คือ ภายในรัฐจัมมูและแคชเมียร์มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำมากมายหลายแห่ง มีกำลังผลิตรวมราว 2,500 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นของ National Hydroelectric Power Corporation (NHPC) อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลกลาง ที่ผ่านมารัฐจัมมูและแคชเมียร์ได้รับส่วนแบ่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้บนผืนดินและแหล่งน้ำของตนเพียง 12% โดยไฟฟ้าที่เหลือจะถูกส่งไปป้อนหัวเมืองในภาคเหนือ ของอินเดียโดยเฉพาะเมืองหลวงเดลี เห็นได้ชัดว่าส่วนแบ่งไฟฟ้าปริมาณน้อยนิดดังกล่าวไม่พอเพียงกับการใช้สอยในรัฐ ทำให้ต้องมีการซื้อไฟฟ้าเพิ่มในราคา 8-12 รูปีต่อยูนิต ทั้งที่ต้นทุนการผลิตของ NHPC อยู่ที่ 0.60 รูปีต่อยูนิต
ชาวแคชเมียร์โดยทั่วไปทราบความจริงข้อนี้ดี เช่นในช่วงการชุมนุมประท้วงแบบปิดรัฐยาวนานกว่า สองเดือนเมื่อกลางปีก่อน ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและคนหนุ่มเรียกรัฐบาลอินเดียว่าเป็นโจรขโมยไฟฟ้า ความไม่เป็นธรรมในเรื่องไฟฟ้าถูกเปิดโปง ชัดแจ้งขึ้น เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นของจัมมูและแคชเมียร์ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติใหม่เรียกดูสัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรแหล่งน้ำ พบว่าในการสร้าง โรงไฟฟ้าหลายแห่ง รัฐบาลจัมมูและแคชเมียร์ได้ทำข้อตกลงกับ NHPC ว่ารัฐจะต้องได้รับส่วนแบ่งไฟฟ้า 50% และ NHPC จะโอนโรงไฟฟ้าดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐหลังจากห้วงเวลาหนึ่ง ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้า Salal ควรมีการโอนในปี 2003 แต่ NHPC และรัฐบาลอินเดียก็เพิกเฉยมาโดยตลอด ยิ่งไปกว่านั้น โรงไฟฟ้าเหล่านี้ยังสร้างโดยไม่มีการทำสัญญาเช่าที่ดิน แต่อย่างใด หนำซ้ำ NHPC ยังถือว่าโรงไฟฟ้าเหล่านั้น เป็นสิทธิ์ขาดของตน ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าขัดต่อกฎหมายที่ดินของแคชเมียร์ที่ต่างจากรัฐอื่นๆ ในอินเดีย ที่ว่า ผู้ใดก็ตามที่ไม่ใช่ประชาชนชาวแคชเมียร์ไม่มีสิทธิ์ซื้อและถือครองที่ดินในแคชเมียร์ได้เลย
ทุกวันนี้รัฐจัมมูและแคชเมียร์มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของตนเองราว 20 โครงการ รวมกำลัง ผลิตได้เพียง 760 เมกะวัตต์ ทำให้ยังต้องซื้อไฟฟ้าจาก NHPC เป็นช่องทางเสริมหลัก ครั้นเมื่อต้องการ สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม นอกจากจะไม่ได้รับการอุดหนุนช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง หลายโครงการต้องยกเลิกไปเนื่องจากขัดต่อ Indus Water Treaty สนธิสัญญาที่อินเดียเซ็นไว้กับปากีสถานในปี 1960 ซึ่งห้ามการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสายต่างๆ ที่มีต้นน้ำอยู่ ในอินเดียและมีปลายน้ำอยู่ในปากีสถาน
ล่าสุด เมื่อรัฐจัมมูและแคชเมียร์มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Kishenganga ขนาด 330 เมกะวัตต์ ที่กูเรซ ในเขตแคชเมียร์ โดยพยายามขอกู้ จากแหล่งทุนต่างประเทศ รัฐบาลกลางอินเดียนอกจากจะไม่ช่วยค้ำประกันเพื่อสร้างความมั่นใจแก่แหล่งเงินกู้ ยังผลักดันให้โอนโครงการดังกล่าวแก่ NHPC ด้วยข้อตกลงส่วนแบ่งไฟฟ้า 12% เท่าเดิม ในที่สุด รัฐบาลท้องถิ่นที่กำลังเผชิญทั้งปัญหาการเงิน และการขาดแคลนไฟฟ้าก็จำต้องยอมตาม
นอกจากปัญหาข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรม โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ยังเต็มไปด้วยปัญหาผลกระทบมากมาย นับจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่ง NHPC ไม่ยอมเปิดเผยผลการศึกษาใดๆ ต่อรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงการเวนคืนที่ดิน ทำให้ชาวบ้านราว 300 ครอบครัวต้องโยกย้ายถิ่นฐาน โดยทางโครงการได้จัดพื้นที่รองรับไว้ในเขตปริมณฑลของเมืองศรีนคร เทียบได้กับการ ย้ายชาวดอยจากเชียงรายมาไว้ที่มีนบุรี-หนองจอก ซึ่งชาวบ้านดังกล่าวเป็นชนเผ่า Dard Shin ที่พูดภาษา Shina ในทางมานุษยวิทยาเชื่อกันว่าเป็นกลุ่ม ชาติพันธุ์อารยันดั้งเดิมกลุ่มสุดท้าย การโยกย้ายเช่นนี้ ย่อมเป็นการตัดขาดพวกเขาจากรากวัฒนธรรมเดิม และจะทำให้วัฒนธรรมและภาษาของเขาสูญหายไป โดยรวดเร็ว ซึ่งนักภาษาศาสตร์บางท่านเชื่อว่าเป็นต้นรากของภาษาสันสกฤต ในทางโบราณคดียังถือว่า พื้นที่ดังกล่าว เคยมีการขุดพบจารึกอักษรโบราณตาม แผ่นหิน เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ ของแคชเมียร์และเอเชียกลาง เพราะกูเรซเคยเป็นทางด่านสำคัญที่เชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหม
ไม่ว่าภาคประชาสังคมและสื่อจะตั้งคำถามเท่าใด NHPC ก็ยังเดินหน้าโครงการเต็มสูบ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตของตนอีกสัก 330 เมกะวัตต์ ส่วนแคชเมียร์ซึ่งต้องเสียแหล่งน้ำและที่ดินกว่า 535 เอเคอร์ ก็คงไม่ได้รับประโยชน์อะไรมากไปกว่าเศษเสี้ยวไฟฟ้า 39 เมกะวัตต์ และคนแคชเมียร์ก็คงต้องทนอยู่กับวันคืนมืดๆ ต่อไป
|
|
|
|
|