
ต้นเดือนตุลาคม 2554 ผมมีนัดทานอาหารเย็นกับเพื่อนนักข่าวชาวฝรั่งเศสที่ทำงานอยู่ที่ฮ่องกง ซึ่งมีโอกาสแวะมาเยี่ยมเยียนกันที่กรุงเทพฯ
ตอนหนึ่งในบทสนทนาระหว่างมื้ออาหาร เพื่อนชาวฝรั่งเศสผู้กว้างขวางในแวดวงชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่บนเกาะฮ่องกงเล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้เมื่อไร ที่เทศกาลวันหยุดยาวของชาวจีนแผ่นดินใหญ่เวียนมาถึง อย่างเช่น ช่วงวันหยุดวันชาติต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อนของเขาที่เป็นผู้จัดการร้านหลุยส์ วิตตอง ซึ่งตั้งอยู่บนถนนแคนตัน ย่านจิมซาจุ่ยก็ยิ้มไม่หุบทุกที สาเหตุที่ยิ้มไม่หุบก็เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ต่างหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศเพื่อเข้าคิวเป็นแถวยาวเพื่อแย่งกันเป็นเจ้าของสินค้าแบรนด์ดังจากฝรั่งเศสราวกับเป็นของแจกฟรี
“ที่สำคัญคือเศรษฐีชาวจีนเพียบเลยที่ไม่ได้ควักกระเป๋าชอปปิ้งโดยซื้อแบบเดียว ชิ้นเดียว แต่เหมาซื้อ เช่น ซื้อแบบเดียวแต่ทุกสี ซื้อทุกอย่างตั้งแต่หัวจรดเท้า ที่สำคัญทุกอย่างซื้อด้วยเงินสด เงินหยวน เป็นฟ่อนๆ” เพื่อนชาวฝรั่งเศสเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
เว็บไซต์ The Epoch Times รายงานว่า ช่วงวันหยุดวันชาติจีนที่ผ่านมา คณะกรรมการการท่องเที่ยวฮ่องกงประเมินว่ามีคณะทัวร์จากจีนแผ่นดินใหญ่ เดินทางเข้ามายังฮ่องกงวันละกว่า 400 คณะ รวมในระยะเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์มีชาวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวที่ฮ่องกงกว่า 7 แสนคน และใช้จ่ายบนเกาะ ฮ่องกงกว่า 4,200 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือราว 16,000 ล้านบาท[1]
ในยุคที่เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรปกำลังตกสะเก็ดเช่นนี้ ไม่เพียงคนระดับผู้นำของยุโรปหรือสหรัฐฯ ที่อยากพบปะกับผู้นำของจีนเพื่อเจรจาขอยืมเงิน โดยจีบให้จีนซื้อพันธบัตรฯ ของประเทศตัวเองหรือซื้อสินค้าจากประเทศของตัวเอง แต่เหล่าพ่อค้าแม่ขายที่เป็นฝรั่งคอเคเซียนในประเทศต่างๆ ที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจล้วนแล้วแต่อยากเจอนักท่องเที่ยวผิวเหลือง โดยเฉพาะชาวจีนด้วยกันทั้งสิ้น
นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศ ในปี 2526 (ค.ศ. 1983) เมื่อรัฐบาลจีนอนุญาตให้ประชาชนของตัวเอง เดินทางออกไปท่องเที่ยวนอกประเทศได้มากขึ้น เริ่มจากเกาะฮ่องกง มาเก๊า เรื่อยมาถึงสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า "ซิน-หม่า-ไท่" อันเป็นสามประเทศแรกที่จีนอนุญาตให้ประชาชนเดินทางไปท่องเที่ยวได้โดยผ่านการจัดการของบริษัทนำเที่ยว ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา รอยเท้าของนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ก็เหยียบย่างกินพื้นที่ไปทั่วทุกทวีปตามภาวะเศรษฐกิจของจีนที่เติบโต และอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีน ที่แผ่ขยายเป็นเงาตามตัว
จากปี 2543 (ค.ศ.2000) อันเป็นปีแรกที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกไปต่างประเทศทะลุหลัก 10 ล้านคน อีก 3 ปีต่อมา ในปี 2546 (ค.ศ.2003) จำนวนชาวจีนที่ไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ก็เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเป็น 20 ล้านคน ปีถัดมา 2547 (ค.ศ.2004) ตัวเลขเดียวกันก็เพิ่มขึ้นเป็น 28 ล้านคน ผ่านมาอีกเพียง 6 ปี ในปี 2553 (ค.ศ.2010) สถิติชาวจีนที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 28 ล้านคนในปี 2547 เป็น 57 ล้านคนในปี 2553 [2]
องค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) คาดการณ์ว่าในสิบปีข้างหน้า หรือในปี 2563 ชาวจีนที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศจะทะลุหลัก 100 ล้านคน และจีนก็จะกลายเป็นตลาดส่งออกและนำเข้านักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก [3]
แม้ตลาดเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศไทยจะเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวหลักของนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่สำหรับชนชั้นกลางชาวจีนที่นับวันจะรวยขึ้นทุกทีๆ แล้ว สุดยอดแหล่งท่องเที่ยวที่พวกเขาใฝ่ฝันถึงมาตลอดก็คือ ...ทวีปยุโรป
อย่างไรก็ตาม นักเที่ยวชาวจีนไม่ได้มองยุโรป อย่างที่เราๆ มองกัน คือ มองแยกอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม ฯลฯ แต่ชาวจีนมองยุโรปเป็นองค์รวม ในฐานะแหล่งกำเนิดความศิวิไลซ์ของโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะในเชิงศิลปวิทยาการ ปรัชญาความคิด สินค้าชั้นดีมีระดับ ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่น มองอังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปในฐานะแหล่งการศึกษาของชนชั้นนำ, มองเห็นภาพของฝรั่งเศสในฐานะต้นกำเนิดของหลุยส์ วิตตอง และไวน์ชั้นเลิศ, มองเยอรมนีในฐานะบ้านเกิดของมาร์กซ์และนักดนตรีอมตะอย่างบีโธเฟน, มองสวิตเซอร์แลนด์เป็นแหล่งผลิตนาฬิกาโรเล็กซ์และธรรมชาติอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง, มองเบลเยียมในฐานะแหล่งผลิตช็อกโกแลตชั้นดี ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้กระแสความนิยมไปเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรปของชนชั้นกลางชาวจีนยุคนี้จึงมีผู้เปรียบเทียบว่าคล้ายคลึงกับแกรนด์ทัวร์ (Grand Tour) หรือค่านิยมของผู้ดีอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 17 ถึง 19 ที่มักจะให้ชายหนุ่มได้เดินทาง ท่องเที่ยวไปในแผ่นดินใหญ่ยุโรป เพื่อเปิดโลกทัศน์และศึกษาหาความรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งแนวคิด ดังกล่าวพูดไปแล้วเหมือนกับแนวคิดการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาความรู้หรือโหยวเสียว์ของปัญญาชนจีนในอดีตกาล
ประจวบเหมาะกับการที่ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษ ที่ 21 ที่ประเทศในยุโรป (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) เปิดให้ชาวจีนสามารถใช้ “เชงเก้นวีซ่า” ใบเดียวเพื่อ เดินทางเข้า-ออกประเทศต่างๆ ในยุโรปได้อย่างอิสระไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก อิตาลี ฯลฯ ทำให้นักท่องเที่ยว ชาวจีนเริ่มหลั่งไหลไปเที่ยวยุโรปมากขึ้นทุกปี
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวจีนไปเที่ยวยุโรปราวปีละ 3 ล้านคน ขณะที่จากการคาดการณ์ของวิทยาลัยบูรพศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน (SOAS) ระบุว่าตัวเลขดังกล่าว จะเพิ่มเป็น 4.5 ล้านคน ในปี 2558 (ค.ศ.2014) และน่าจะถึงหลัก 8.6 ล้านคน ในปี 2563 (ค.ศ.2020) โดยประเทศในยุโรปที่รองรับนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุด คือ เยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งต่างต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนมากกว่าปีละ 5-7 แสนคน [4]
ทั้งนี้ทั้งนั้น พฤติกรรมการท่องเที่ยวของชาวจีนในปัจจุบันถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 5-10 ปีที่แล้วมาก จากเดิมที่เราเคยได้ยินเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” หรือทัวร์ราคาถูกที่หลอกชาวจีนมาเที่ยวแต่หวังให้ซื้อของเพื่อฟันกำไร ทว่า ปัจจุบันด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วได้เพิ่มชนชั้นกลางและเศรษฐีใหม่ชาวจีนอีกนับร้อยล้านคน โดยคนเหล่านี้ได้เปลี่ยนสถานะนักท่องเที่ยวจากการเป็นนักท่องเที่ยวชั้นรอง เป็นนักท่องเที่ยวชั้นดีที่มีศักยภาพในการจับจ่ายระหว่างการ ท่องเที่ยวในระดับหัวแถวของโลก
ไม่เพียงแต่ฮ่องกง มาเก๊า เกาหลีหรือประเทศไทยบ้านเราเท่านั้นที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในทุกวันนี้ต้องพึ่งพานักเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะแม้แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของยุโรปก็เริ่มรู้สึกแล้วว่า พวกเขาสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำจากลูกหลานของประธานเหมา เจ๋อตง โดยจากรายงานซึ่งอ้างอิงจากการศึกษาของ SOAS ชี้ว่าในช่วงหนึ่งทศวรรษข้างหน้ายุโรปน่าจะทำเงินจากนักท่องเที่ยวจีนได้อย่างน้อยๆ ก็สองพันล้านยูโร
นี่เองเป็นสาเหตุว่าทำไมกลุ่มแอคคอร์ เครือโรงแรมระดับโลกของฝรั่งเศสจึงเริ่มสั่งให้โรงแรมของตัวเองในยุโรปใส่ช่องภาษาจีนกลางเข้าไปในรายการช่องโทรทัศน์ของโรงแรมทุกแห่ง มากกว่านั้นยังมีการปรับเปลี่ยนการตกแต่งห้อง เช่น ปรับหัวเตียงนอนไม่ให้อยู่ติดกับหน้าต่าง ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยของชาวจีน ขณะเดียวกันห้างสรรพสินค้า แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในยุโรปก็เริ่มคิดถึงการอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวชาวจีนให้มากขึ้นในทุกๆ แง่มุม
ไม่เพียงเมืองอย่างปารีส โรม เจนีวาและเมือง อื่นๆ ในยุโรปที่ตกตะลึงกับการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีน แม้แต่มหานครนิวยอร์ก เมืองหลวงทาง เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังทึ่งกับนักท่องเที่ยวจีนยุคนี้ (รวมฮ่องกง) ที่จับจ่ายอย่างมือเติบ โดยใช้จ่ายเฉลี่ย มากถึงคนละ 3,297 เหรียญสหรัฐ (ราว 1 แสนบาท) ต่อการเยือนหนึ่งครั้ง ทำให้ในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจ ของนครนิวยอร์กได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวจีนไปอย่างน้อยๆ 877 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตีเป็นเงินไทย ก็ราว 26,000 ล้านบาท [5]
ไม่นานมานี้ เพื่อนชาวจีนที่ทำงานในวงการแฟชั่นที่ปักกิ่งแวะเวียนมาหาผมที่กรุงเทพฯ เขาบอก ผมว่า คนจีนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้เลิกมาเที่ยวเมืองไทยกับกรุ๊ปทัวร์แล้ว เพราะต่างก็รู้สึกว่าพัทยาเป็นแหล่งท่อง เที่ยวดาดๆ ของคนไม่ค่อยมีเงิน ส่วนภูเก็ตที่เคยเป็นเกาะสวาทหาดสวรรค์ ดินแดนในฝันของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็เปลี่ยนแปลงกลายเป็นเมืองที่วุ่นวายพอๆ กับเมืองซานย่า เกาะไหหลำ (ไห่หนาน) ของจีน
“คราวหน้าฉันอยากบินไปเที่ยวกระบี่หรือพังงา ไปนอนริมชายหาด กินอาหารทะเล แล้วก็ไปดำน้ำ ผมจะไปกับแฟนสองคน คุณมีโรงแรมดีๆ แนะนำไหม” เขาเอ่ยปากถาม
ณ วันนี้ ชาวจีนเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่มีความหลากหลายทางรายได้ อุปนิสัย รสนิยม ความต้องการอย่างมากมายมหาศาล พวกเขาไม่ได้เป็น “ทัวร์จีน” อย่างที่พวกเราคุ้นเคยเมื่อหลายปีก่อนอีกแล้ว นับวันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทุกประเทศบนโลกใบนี้จะยิ่งต้องพึ่งพิงพวกเขามากขึ้นทุกที
อ่านเพิ่มเติม
- มอง “จีน” จากมุม “ญี่ปุ่น” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนสิงหาคม 2553
- การเดินทัพทางไกลครั้งใหม่ของนักเที่ยวชาวจีน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนมีนาคม 2548
หมายเหตุ
[1] Han Fei&Gary Pansey, Chinese Tourists Spend Freely on Bargains Abroad, The Epoch Times, 13 Oct 2011.
[2] Evan Osnos, The Grand Tour, The New Yorker, 18 Apr 2011.
[3] แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, เมษายน 2554, หน้า 6.
[4] Increasing Chinese outbound tourists to affect Europe’s tourism industry, Xinhua, 20 Oct 2011.
[5] Mayuri, New York Luxury Retailers Enjoying Increase in Number of Chinese Tourists, elitechoice.org, 18 Oct 2011.
|