กว่าหนังสือฉบับนี้จะออกวางแผงเราก็ได้ทราบชื่อของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้คำขวัญ
คิดใหม่ ทำใหม่ ของนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 พตท.ทักษิณ ชินวัตร ผลการเลือกตั้งครั้งนี้
การจัดครม.รวมไปถึงบรรยากาศทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีคุณเนวินกับ
คุณนที ขลิบทอง ที่ถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ไล่เรียงไปจนถึงกรณีที่มีข่าวว่า
รายชื่อ ครม. ท่านหนึ่งพัวพันกับยาเสพย์ติด ไปจนถึงกรณีวุฒิสภา เรื่องของคุณเฉลิมที่ถูกกล่าวหาว่าไปซื้อบริการทางเพศจากเด็กนักเรียน
หรือกรณีของคุณโกเมนที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วถูกตัดสินว่าผิดในกรณีกลั่นแกล้งลูกน้องของตนในชั้นศาลฎีกา
สิ่งเหล่านี้ถ้าเรามองเป็นกรณีๆ ก็คงจะจบในตัวเองเพียงแค่นั้น
แต่หากเราพยายามมองกรณีเหล่านี้เชื่อมโยงเข้า หากันภายใต้สภาพการเมืองปัจจุบัน
เราจะเห็นได้ว่า ความเสื่อมของสังคมไทยได้แสดงออกมาอย่างชัดเจนภาย ใต้การแสดงของตัวละครต่างๆ
เหล่านี้ โดยมีการเมืองไทยเป็นฉากหลัง
ความเสื่อมที่ว่านี้คือ มาตรฐานทางคุณธรรม และจริยธรรมของสังคมหายไป หรือหากจะมีก็เหลืออยู่น้อยเต็มที
และความเสื่อมที่ว่านี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า เราในฐานะของผู้ชมซึ่งมีส่วนในการกำหนดบทบาทของตัวละครเหล่านี้ก็เสื่อมลงไปด้วยเช่นกัน
ปรากฏการณ์ที่ผมคิดว่าสำคัญและเรากำลังมองข้ามไป คือ เรื่องของการยอมรับให้บุคคลที่มีมลทิน
หรือมีความมัวหมองในเรื่องสำคัญๆ ที่จะมีผลต่อประเทศชาติดำรงตำแหน่งที่จะมีผลกระทบต่อคนไทย
สังคมไทย และประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่น อิทธิพล
และยาเสพย์ติด รวมไปถึงคนที่ควรจะมีความเที่ยงตรงในการวินิจฉัยความถูกผิดของผู้อื่น
แต่กลับไม่สามารถวินิจฉัยความผิดของตน คนเหล่านี้ยังคงอยู่ในตำแหน่ง หรือสามารถรับตำแหน่งเสนาบดีในการบริหารประเทศอยู่ได้
ภาย ใต้เหตุผลว่า ศาลไม่ได้ตัดสินลงโทษ หรือเป็นการกล่าวหาโดยไม่มีมูลความจริง
หรือกระทั่งเหตุผลที่ว่า ความผิดของตนไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานในปัจจุบัน
ผมคิดว่าเหตุที่คนเหล่านี้ยังคงดำรงสถานะของการชี้ผิดถูก ชี้ทิศทางหรือความเป็นไปของสังคม
ไทยได้ต่อไปนั้น ไม่ใช่เหตุผลว่ายังต้องให้เขาพิสูจน์ตนเอง เนื่องจากศาลยังไม่ตัดสินหรือไม่มีหลักฐาน
เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมายกับบุคคลเหล่านี้ ดังที่ผมกล่าวไปเบื้องต้น
ความคิดความรู้สึกทางด้านจริย-ธรรมของบุคคลเหล่านี้ไม่มี หรือหากมีก็อยู่ในภาวะที่ต่ำมาก
คำว่ามัวหมองก็บอกอยู่แล้วว่า อาจจะไม่มีความผิดทางกฎหมายชัดเจน หรือไม่มีการจับกุม
หรือ ดำเนินคดี แต่สาธารณชนสงสัย และไม่ไว้ใจอีกต่อไป
กลับกลายเป็นว่าคนเหล่านี้มองว่าการลาออก จากตำแหน่งแสดงว่าตนผิด หากยังคงอยู่ในตำแหน่ง
ต่อไป หมายความว่ายังไม่ผิด ยังไม่มีข้อสรุป หรือหากลาออกไปก่อนเป็นการแสดงสปิริต
พอรัฐบาลหน้าก็กลับมารับตำแหน่งใหม่ได้ ที่ผมคิดว่าแย่ไปกว่านั้นก็คงจะไม่พ้นคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ว่า
ความผิด หรือปัญหาเกิดขึ้นในรัฐบาลก่อน ในรัฐบาลนี้ยังไม่มี ยังไม่เห็น หากเห็นจะจัดการ
ผมคิดว่าเราคงหวังอะไรไม่ได้มากนักจากรัฐบาล ชุดใหม่นี้ ไม่ต่างจากรัฐบาลชวนที่ผ่านมา
ที่คนส่วนใหญ่ ยินดีที่จะให้เป็นฝ่ายค้านทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาลใหม่
แม้กระทั่งฝ่ายค้านชุดใหม่ก็คงจะทำอะไรไม่ได้มากนัก ทั้งเนื่องจากเสียงในการลงมติน้อยกว่า
อีกทั้งหากจะวิพากษ์วิจารณ์อะไรในรัฐบาลชุดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยี้ หรือเรื่องความมัวหมองของคน
ก็คงจะถูกตอกกลับมาว่า รัฐบาลชุดก่อนก็เคยทำมาแล้ว หรือหากจะกล่าวหาว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในรัฐบาลชุดใหม่นี้ล้มเหลว
ก็อาจจะถูกสวนกลับมาว่าที่จริงแล้วเศรษฐกิจ ดิ่งลงในรัฐบาลชุดเก่า ส่วนรัฐบาลชุดใหม่นี้มาแก้ไขทิศ
ทางให้ถูกต้อง
แม้กระทั่งการอภิปรายในสภาเองเราก็คงหวังกับ ระบบการตรวจสอบนี้ไม่ได้ เพราะหากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
พอลงมติชนะก็บอกว่าตนเองได้รับความไว้วางใจ ทั้งๆ ที่หากลงมติกี่ครั้งก็ต้องชนะทุกครั้ง
เพราะตัวเองเป็นพรรครัฐบาล หากยอมให้แพ้มติก็หมายความว่า รัฐบาลมัวหมองไปด้วย
เรื่องแบบนี้ไม่มีรัฐบาลที่ไหนยอม หรอกครับ
หากจะหวังองค์กรสูงสุด อย่างเช่น ตุลาการรัฐธรรมนูญ เราก็จะพบเห็น ความคลางแคลงใจที่มีต่อความเที่ยงตรงมีมาเรื่อยๆ
ในรัฐบาลชุดก่อน ตั้งแต่กรณีคุณสนั่น ที่จนบัดนี้ก็ไม่มีการสอบสวนออกมาว่ามีการติดสินบนจริงหรือไม่
มาจนถึงกรณีหลังสุดที่ตัวตุลาการเองถูกตัดสินว่าผิดในการใช้บรรทัดฐานของตนเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งบริหาร
ต้องยอมรับว่าอะไรหลายอย่างที่ดูแปลก ดูผิดที่ผิดทางจากจารีตที่ดีในการทำงานปรากฏ
และแสดงอย่าง ชัดเจนในยุคของรัฐบาลชวน ไม่ว่าจะเป็นการดึงบางส่วน ของพรรคประชากรไทยมาร่วมรัฐบาล
การให้คนที่มัวหมองมาดำรงตำแหน่งสำคัญ การปล่อยให้คนที่ถูกหน่วย งานของตนตัดสินว่ากระทำผิดลอยนวล
เช่น กรณีทุจริตยาในกระทรวงสาธารณสุข แม้กระทั่งคนของพรรคตนที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าผิดในกรณีปลอมแปลงหลักฐานทางการศึกษา
บุคคลนั้นและคนในพรรคเองก็ยังไม่ยอมรับคำตัดสิน
หลายคนอาจจะมีความหวังกับรัฐบาลใหม่ แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้คำขวัญ
คิดใหม่ ทำใหม่ (โดยคนหน้าเก่า) ก็คงต้องว่ากันไป เพราะหากไม่เลือก ไทยรักไทย
ก็ต้องเลือกประชาธิปัตย์ แต่ปัญหาที่เราดูเหมือนจะละเลย และไม่กล่าว ถึงกัน
คือปัญหาที่ผมกล่าวมาข้างต้น ปัญหาบรรทัด ฐานทางจริยธรรมไม่ได้จบเพียงเฉพาะ
เรา คนรุ่นเรา หรือ คนรุ่นที่เพิ่งจะหย่อนบัตรลงคะแนนไป แต่ผมเชื่อว่ามันจะตามหลอกหลอนไปยังคนอีกหลายรุ่น
คน รุ่นต่อไปอาจจะมีสายตาพร่ามัวเมื่อพิจารณาว่าอะไรถูก อะไรผิด เขาอาจจะทำในสิ่งที่กฎหมายไม่ได้บอกว่าผิด
แต่ขัดกับมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม หรือเขาอาจจะมั่นใจในการทำความผิดว่า
หากทำผิดก็อย่าให้ถูกจับได้ หรือหากถูกจับได้ก็อย่ารับสารภาพ หรือหากรับสารภาพแล้วก็ไปฟอกตัวและกลับมาทำผิดได้อีก
หากสังคมเราเต็มไปด้วยคนที่ยอมรับกฎหมาย และกฎระเบียบบนเงื่อนไขว่าอย่าให้ถูกจับได้เป็นพอ
สังคมนั้นจะเต็มไปด้วยความเสื่อม และความเสื่อมที่เกิดขึ้นนี้ คนรุ่นเราน่าจะมีส่วนรับผิดชอบอย่างมาก
หากม็อบสีลมออกมาขับไล่รัฐบาลชุดเดิมได้ด้วยข้อหาเรื่องการบริหารล้มเหลว
และผู้บริหารเป็นอัลไซเมอร์ (ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สังคมไทยทิ้งค้างไว้เฉยๆ)
เราจะมีม็อบของคนไทยที่ออกมาประท้วง หรือตรวจสอบความรับผิดชอบทางจริยธรรมและสังคมที่รัฐบาลจะมีต่อสังคมไทยได้หรือไม่